ศัลยา ประชาชาติ : สภาพัฒน์-ธปท. เปิดตัวเลข เศรษฐกิจไทยเสี่ยง-วูบต่อเนื่ิอง

จวบจนถึงโค้งสุดท้าย เศรษฐกิจไทยยังคงชะลอตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี

โดยไตรมาสแรก ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัว 2.8% ไตรมาสสองขยายตัวลดลงที่ 2.3% และล่าสุด ไตรมาสสามขยายตัว 2.4% ต่อปี รวมแล้วเฉลี่ย 3 ไตรมาส GDP เติบโตเพียงแค่ 2.5% ต่อปี

ทำให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ต้องปรับประมาณการใหม่ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้ 2.6% จากการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ลดจากเดิมเคยคาดไว้ 3.7% การลงทุนภาครัฐโตที่ 2.3% จากเดิมคาดการณ์การเติบโต 4%

ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่าจะหดตัวลง -2% จากเดิมคาดการณ์ว่าจะหดตัวที่ -1.2% ส่วนการอุปโภคภาครัฐจะอยู่ในระดับทรงตัวที่ 2.2% และการบริโภคภาคเอกชนจะเติบโตดีขึ้นที่ 4.3% จากเดิม 4.2%

ทั้งนี้ สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าปีหน้า GDP จะเติบโตได้ระหว่าง 2.7-3.7% โดยค่ากลางอยู่ที่ 3.2% ต่อปี

 

ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออกที่หดตัวถึง -4.8% (ไม่รวมทองคำ) ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวตามไปด้วยที่ -1.5%

“ปัจจัยที่เป็นตัวดึงเศรษฐกิจปีนี้มี 5 ปัจจัย ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว 2.การส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่ยังทรงตัว และข้อตกลงเบร็กซิทระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป (EU) ที่ยังไม่แน่นอน 3.ค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่า 4.การลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงเรื่อยๆ จากที่เคยเติบโต 4-5% โดยไตรมาส 4 ปี 2561 เติบโตได้ 5.5% แต่มาปีนี้ล่าสุดเหลือ 2.4% ดังนั้น ทั้งปีน่าจะโตที่ 2.8% ซึ่งมาจากการส่งออกที่ส่งผลกระทบ และ 5.การลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี เพราะเป็นช่วงที่มีการเลือกตั้ง” ดร.ทศพรกล่าว

อย่างไรก็ดี สภาพัฒน์คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 4 จะผงกหัวขึ้น และมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องไปถึงปี 2563 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่จะขยายตัวได้ดีขึ้น การค้าระหว่างประเทศน่าจะดีขึ้นในปีหน้า

และที่สำคัญ มาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ดำเนินการต่อเนื่อง กับภาคการท่องเที่ยวที่จะปรับตัวดีขึ้น

แต่ทั้งหมดนี้ยังวางใจไม่ได้ ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและความผันผวนด้านค่าเงิน รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น ภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจทำให้เกิดภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า แนวทางการบริหารเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้าวางกรอบแนวทางไว้ 5 เรื่องคือ

1. ต้องเน้นการส่งออก ต้องพยายามทำให้กลับมาขยายตัวได้ที่ระดับ 3% โดยเน้นเจาะตลาดและสินค้าที่ยังมีโอกาส

2. ภาคการท่องเที่ยวต้องรักษาระดับการเติบโตไว้ให้ได้ และเน้นเจาะตลาดนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่มีการใช้จ่ายสูงให้มากขึ้น

3. ต้องให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐ โดยต้องเตรียมโครงการต่างๆ ให้พร้อมเบิกจ่ายทันที เมื่องบประมาณปี 2563 มีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยตั้งเป้าเบิกจ่ายภาพรวมที่ 92.3% เป็นงบฯ ประจำ 98% และงบฯ ลงทุน 70% ส่วนงบฯ เหลื่อมปีต้องเบิกไม่ต่ำกว่า 73% และรัฐวิสาหกิจต้องเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่า 80%

4. ต้องสร้างความเชื่อมั่นและขยายการลงทุนภาคเอกชน เร่งรัดให้มาตรการส่งเสริมการลงทุนเกิดผลโดยเร็ว

และ 5. ต้องดูแลกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ทั้งผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

 

ข้อมูลจากการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับรายละเอียดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2562 ซึ่งพบว่าแนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังเพิ่มขึ้น

โดย “ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะลูกหนี้ธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่งผลให้การเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงต่อเนื่องจาก 4.2% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 3.8%

ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจที่มีสัดส่วน 64.7% ของสินเชื่อรวม ขยายตัว 1.3%

สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.2% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 2.6% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัว 1.0% จากที่ขยายตัว 0.1% ในไตรมาสก่อน โดยเป็นการลดลงของสินเชื่อในธุรกิจ SME ทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก

ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่มีสัดส่วน 35.3% ของสินเชื่อรวมยังคงเติบโตในระดับสูง แม้อัตราการเติบโตจะลดลงจาก 9.2% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 8.7%

“หลักๆ เป็นผลจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เติบโตลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 หลังมีการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วงก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ และสินเชื่อรถยนต์ที่เติบโตลดลงตามยอดขายรถยนต์ที่ชะลอตัวลง ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง” นายธาริฑธิ์กล่าว

 

สําหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวม พบว่าสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.95% เป็น 3.01% ยอดคงค้าง NPL อยู่ที่ 4.695 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.9 หมื่นล้านบาท จากลูกหนี้รายใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อ SME เป็นสำคัญ ในขณะที่ยอดคงค้าง NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ยังเพิ่มขึ้น

ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention : SM) ลดลงจาก 2.74% ในไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 2.59% เนื่องจากลูกหนี้รายใหญ่บางรายถูกเปลี่ยนการจัดชั้นเป็น NPL

นายธาริฑธิ์กล่าวว่า การชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ เริ่มส่งผลกระทบต่อคุณภาพหนี้ธุรกิจขนาดกลางชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางที่มีขนาดสินเชื่อตั้งแต่ 100-500 ล้านบาท ในกลุ่มอาหาร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ซึ่งมีสัดส่วนราว 10% เมื่อเทียบกับสินเชื่อทั้งระบบ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะกีดกันทางการค้า ทำให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้อาจมีการสะดุดชั่วคราว หรือจำเป็นต้องปรับตัวในระยะสั้น ระหว่างที่มีปัจจัยสงครามการค้าที่ส่งผลให้การส่งออกลดลง

“ธุรกิจกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เราอยากให้สถาบันการเงินเข้าไปช่วยดูแล ซึ่งเราได้สื่อสารกับธนาคารไปว่า ลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL หากมีการปรับโครงสร้างหนี้โดยที่ไม่มีส่วนสูญเสีย เราจะไม่นับเป็นบุคคลล้มละลายเคยปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) ส่วนสินเชื่อที่เป็น NPL หากมีการปรับโครงสร้าง ต้องปล่อยเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มก็สามารถทำได้” นายธาริฑธิ์กล่าว

 

เมื่อประมวลข้อมูลทั้งที่มาจากสภาพัฒน์และแบงก์ชาติแล้ว นั่นพอจะช่วยให้มองเห็นภาพ “ความเสี่ยง” ของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีสูง

ที่สำคัญ นอกจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหรือประมาณการเอาไว้แล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะถดถอยต่อเนื่องข้ามไปถึงปี 2563 ด้วยเช่นกัน

ภาพทั้งหมดนี้สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่โซนอันตรายอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ และคงต้องติดตามว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือประคับประคองอย่างไรต่อไป