จรัญ พงษ์จีน : สื่อดิจิตอลขาลงก่ายหน้าผาก

จรัญ พงษ์จีน

เลือดไหลไม่หยุด “สื่อ-ดิจิตอล” ยุคเรือเหล็ก นับตั้งแต่ชนะประมูลคลื่นมาได้ มิต่างอะไรกับเผือกร้อน ล่าสุด “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า

“ขณะนี้มีผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลโทร.มาปรึกษา ว่าประกอบกิจการไม่ไหว แม้จะไม่ต้องจ่ายเงินค่าประมูลแล้วก็ตาม แต่ผลประกอบการยังขาดทุนเรื่อยๆ ดังนั้น มีผู้ประกอบการอีกหลายช่องอยากยุติการให้บริการ และอยากได้เงินคืนเหมือนผู้ประกอบการ 8 ช่องที่แจ้งความประสงค์คืนคลื่นก่อนหน้านี้”

แต่ “นายฐากร” สรุปว่า ในเรื่องนี้ คงต้องไปดูในข้อกฎหมายว่าจะทำได้หรือไม่ และต้องดูว่าจะสามารถใช้คำสั่ง คสช.มาตรา 44 เดิมได้หรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการที่จะคืนคลื่นในล็อตใหม่ อยากได้เงื่อนไขเหมือนผู้ประกอบการในล็อตแรก ดังนั้น จะเสนอเรื่องดังกล่าวไปให้อนุกรรมการเยียวยาพิจารณาก่อนว่าจะช่วยเหลือได้หรือไม่ และช่วยอย่างไร

“ขณะนี้ทีวีดิจิตอลเหลืออยู่ 18 ช่อง ยังไม่ทราบว่าจะคืนเท่าไหร่ ถ้าถามผมแนวโน้มที่จะช่วยเหลือเหมือนล็อตแรกคงยาก แต่จะดูให้ เพราะถ้าไม่เข้าไปช่วยผู้ประกอบการสามารถหยุดกิจการไปเลย รัฐไม่ต้องคืนเงิน แต่ผู้ประกอบการอยากได้เงินคืนก็ต้องทนดำเนินกิจการต่อไป ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาคาราคาซังไปเรื่อยๆ”

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มทีวีดิจิตอลเข้าคิวยืนขอคืนใบอนุญาตล็อตแรก รวมเป็นเงินค่าชดเชยที่ กสทช.ต้องจ่ายคืนให้กับผู้ประกอบการ ได้แก่ ช่องสปริง 26 จำกัด หมายเลข 26 เป็นเงิน 600 ล้านบาท, ช่องสปริงนิวส์ เทเลวิชั่น หมายเลข 19 จำนวน 498 ล้านบาท,ไบรท์ทีวี จำกัด หมายเลข 20 เป็นเงิน 278 ล้านบาท

“วอยซ์ ทีวี จำกัด” หมายเลข 21 จำนวน 378 ล้านบาท, “อสมท (มหาชน)” หมายเลข 14 เป็นเงิน 163 ล้านบาท “บีอีซี มัลติมิเดีย” ช่อง 3 เอสดี หมายเลข 28 รับเงินชดเชยสุทธิ 680 ล้านบาท “ช่อง 3 แฟมิลี่” หมายเลข 13 จำนวน 162 ล้านบาท

โดยสูตรการคำนวณเงินชดเชยกับทีวีดิจิตอลที่เข้าโครงการคืนใบอนุญาตนั้น ใช้วิธีนำวงเงินที่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้ชำระแล้วมาเป็นตัวตั้ง คูณด้วยระยะเวลาใบอนุญาตที่เหลือ หารด้วยระยะเวลาใบอนุญาตทั้งหมด แล้วนำมาหักลบกับสิทธิประโยชน์ตามคำสั่ง คสช.ที่ได้รับการอุดหนุนค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอล ค่าเช่าช่อง สัญญาณดาวเทียม เพื่อใช้เผยแพร่ภาพเป็นการทั่วไป

และหากผลประกอบการมีกำไร จะถูกนำมาหักออกด้วย ที่เหลือจะเป็นเงินเหลือสุทธิที่ กสทช.จะจ่ายคืนให้ แต่ตามคำสั่ง คสช.ยังกำหนดให้ช่องทีวีดิจิตอลยังต้องจ่ายเงินประมูลในส่วนของเงินงวดที่ 4 ตามประกาศประมูลเดิม ซึ่งไม่ว่าจะคืนช่องหรือไม่ก็ตาม

ยกตัวอย่างสูตรคำนวณ กรณีทีวีดิจิตอลช่องหนึ่งชำระค่าประมูลใบอนุญาตมาแล้ว 400 ล้านบาท คูณด้วย 10 ปี และหารด้วย 15 ปี เบื้องต้นจะได้เงินคืน 267 ล้านบาท แต่จะต้องนำค่าเงิน Mux ค่ามัสต์แครี่และกำไรมาหักลบออกก่อน จึงจะเหลือเป็นเงินสุทธิที่ กสทช.จะต้องจ่ายคืนกับช่องที่คืนใบอนุญาต

ช่องที่คืนใบอนุญาตจะได้รับการจ่ายเงินคืนให้ทันที หลังยุติออกอากาศ ไม่ต้องรอการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยจะใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะมาช่วยคืนให้ก่อน

 

ก่อนหน้านี้ หลัง “คสช.” ปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อปี 2557 “กสทช.” เปิดให้มีการประมูลคลื่น “ทีวีดิจิตอล” ขยายตัวจากที่มีอยู่จำกัด 3-5-7-9-11 อะไรประมาณนั้น ทำให้สัดส่วนช่องทีวีเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นดอกเห็ด รวม 24 ช่อง

แต่ไม่ทันไร หนึ่งในผู้ชนะการประมูลคลื่น 2 ช่อง ได้แก่ “ไทยทีวี-โลก้า” เครือข่ายทีวีพูล เหมือนนกรู้ อ่านอนาคตล่วงหน้าทะลุ ยอม “สามเพลงตกม้าตาย” ตีไพ่หมอบ ผู้บริหารหญิงเก่ง “เจ๊ติ๋ม-พันธุ์ทิพา สกุณต์ไชย” ตัดสินใจประกาศถอดปลั๊ก ยอม “จอดำ” แต่เนิ่นๆ เจ็บตัวก่อนใครเพื่อน

เหลือ 22 ช่อง ต้องวิ่งสู้ฟัดกันตาตั้ง ถอนขนหน้าแข้งกันหลายปี แต่สุดท้ายก็ทนขาดทุนไม่ไหว เนื่องจากเม็ดเงินโฆษณาที่วนเวียนอยู่ในสารบบมีจำกัดจำเขี่ย ราว 7 หมื่นล้าน/ปี

เค้กมีอยู่ก้อนเดียว แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ไม่คล่องคอเหมือนเก่า ต้องปรับจูนตัวเองกันทุกรูปแบบ ทั้งลดค่าใช้จ่ายสารพัด ปลดพนักงาน เซฟต้นทุน แต่กระนั้นก็แล้วยังกระท่อนกระแท่น เมื่อสบช่องทาง กสทช.เปิดประตูเยียวยา จึงมีผู้ประกอบการ 8 รายไม่รอช้า ตัดสินใจเข้าโครงการยอมรับเงินชดเชย ไม่เหนียมไม่อายทั้งช่องเอชดี ช่องข่าวสารและสาระอย่างไม่เป็นทางการ ช่องเด็ก ครอบครัว และเยาวชน

ปัจจุบันทีวีดิจิตอลลดโหลดเหลืออยู่เพียง 18 ช่อง ที่ยังตัดสินใจสู้กันเชิงธุรกิจ ยอมตายเอาดาบหน้า ทั้งๆ ที่ผลจากการสำรวจความนิยมของนีลเส็น ที่เก็บข้อมูลของผู้ชม วัดความนิยม หรือเรตติ้ง 9 เดือนของปี 2562 ผลประกอบการส่วนมากก็ไม่ค่อยจะลื่นไหลมากนัก

เรียงตามลำดับไหล่ ความนิยมของผู้ชม ที่นีลเส็นสำรวจ อันดับ 1 ปรากฏว่าแชมป์เก่า ช่อง 7 สี ทีวีหมายเลข 35 ทีวีเพื่อคุณ ยังนำโด่ง ยึดจ่าฝูงอยู่ ตามด้วยช่อง 3 หมายเลข 33 ลำดับที่ 3 โมโนหมายเลข 29 ลำดับที่ 4 เวิร์คพอยท์ หมายเลข 23 ลำดับที่ 5 ช่องวัน 31 ลำดับที่ 6 ช่องไทยรัฐ 32 ลำดับที่ 7 ช่องอมรินทร์ 34 ลำดับที่ 8 ช่อง 29 ตามด้วยลำดับที่ 9 เนชั่นหมายเลข 22 ลำดับที่ 10 พีพีทีวี 36

ลำดับที่ 11 ช่อง 9 ลำดับที่ 12 แกรมมี่ ลำดับที่ 13 ทรู ลำดับที่ 14 ไทยพีบีเอส ลำดับที่ 15 เอ็นอาร์ที ลำดับที่ 16 นิวส์ 18 ลำดับที่ 17 ทีเอ็นเอ็น และลำดับที่ 18 ททบ.5

แม้ทีวีดิจิตอลจำนวนช่องจะลดลงเหลือ 18 ช่อง ก็ใช่ว่าจะอยู่กันแบบสบาย บางส่วนก็ยังอาการไม่สู้ดี ยังโคม่า ทำท่าว่าจะไปไม่รอด ปิดช่องในต้นปีหน้า จึงมีผู้บริหารช่องติดต่อไปขอคืนคลื่นความถี่ เพื่อขอเข้าข่ายเดียวกับ 8 ช่องที่ได้รับอานิสงส์ไปก่อนหน้านี้ อีก 2-3 เจ้าดัง ซึ่ง “คุณฐากร” เลขาฯ กสทช.กำลังหาทางเยียวยาให้ต่อไป แต่เงื่อนไขคงจะไม่อีหรอบเดิม

สุดท้ายแล้วเชื่อว่าทีวีเมืองไทยคงจะกลับสู่ยุคเดิม คือเหลือเลขตัวเดียว ไม่เกิน 10 ช่อง