อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ระบอบฮุน เซน

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ท้าทายฮุน เซน (1)

เห็นผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชา สม รังสี ขึ้นเครื่องบินการบินไทยไม่ได้ แล้วเปลี่ยนสายการบินไปลงที่กัวลาลัมเปอร์ โดยปากก็บอกว่า อยากไปร่วมวันชาติของกัมพูชาเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ส่วนในภาพที่ตัดกัน เห็นภาพกองกำลังทหารหรือตำรวจกัมพูชาด้วยอาวุธทันสมัยครบมือแสดงตนที่ชายแดนกัมพูชา-ไทยที่เมืองปอยเปต ติดกับอำเภอสระแก้วของไทย ได้สะท้อนทั้งความแข็งแกร่งของระบอบฮุน เซน ที่พร้อมจัดการกับฝ่ายตรงกันข้ามทุกรูปแบบ ดูเหมือนว่ามีประสิทธิภาพสูงด้วย

ทว่า ในอีกภาพหนึ่งประชาคมโลกต่างอดสงสัยไม่ได้ว่า กองกำลังอาวุธครบมือกับการจับกุมผู้นำฝ่ายค้านคนเดียว ย่อมสะท้อนความหวาดกลัว ความเปราะบางและความแข็งตัวจนเกินไปของระบอบฮุน เซน หรือไม่

 

ระบอบฮุน เซน

ภาพการเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธของฮุน เซน ดังกล่าวก่อให้เกิดการตั้งคำถามการปกครองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแนวโน้มระบอบอำนาจนิยม (authoritarianism) เป็นลักษณะเด่นของภูมิภาคว่าระหว่างกัมพูชาระบอบอำนาจนิยมน่าจะเข้มข้นกว่าเมียนมาและไทย ตามลำดับ

พร้อมกับชี้ให้เห็นด้วยว่าสิ่งท้าทายต่อระบอบอำนาจนิยมของทั้งสามประเทศนี้มีโครงสร้างที่แตกต่างกัน

โดยย่อ เมียนมาระบอบอำนาจนิยมมีมรดกตกทอดจากระบอบทหารที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมต่อมาที่ยุคเปิดประเทศปี 1988 และการเลือกตั้ง 2010

ประเด็นท้าทายยังเป็นการเมืองชาติพันธุ์ (Ethnic Politics) พลังของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจ ผสมกับการผลักดันของกลุ่มการเมืองหลักของประเทศ เช่น กลุ่มพระสงฆ์และกลุ่มชาตินิยมสุดโต่ง (Nationalist extremism) บางกลุ่ม

ส่วนไทย ระบอบอำนาจนิยม เป็นพัฒนาการร่วมสมัยระหว่างการต่อสู้กันของพลังเก่ากับพลังใหม่ ที่ยังอยู่ในวังวน หากทว่า ได้ล่วงเลยช่วงเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสถาบันชั้นสูง การเมืองของรุ่น ในกองทัพสู่การก่อรูป เศรษฐกิจการเมืองในยุคดิจิตอล แพลตฟอร์มโดยเจ้าสัวไทยจีนที่ปรับรูปแบบอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางแรงกดดันของเทคโนโลยีและกติกาใหม่ของภูมิภาคนิยม โลกาภิวัตน์และ Disruptive Technology

ดังนั้น สิ่งท้าทายการเมืองไทยจึงซับซ้อน มีพลังและเหนือการควบคุม แต่ใช่ว่าเมียนมาและกัมพูชาจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้านี้ไปได้

 

องคาพยพของระบอบฮุน เซน

หากผู้อ่านเห็นองคาพยพระบอบฮุน เซน แล้วจะคิดว่าแทบไม่น่าเชื่อว่า ระบอบฮุน เซน จะอ่อนไหวต่อการเดินทางกลับประเทศของนายสม รังสี เพราะน่าจะกล่าวได้ว่า ระบอบฮุน เซน ก้าวสู่ทุกอณูของสังคม เศรษฐกิจและการเมืองกัมพูชาเลยทีเดียว

จากการศึกษาของธีระ นุชเปี่ยม วินิสา อุชชิน และดิเรก หงษ์ทอง1 โครงสร้างและกายวิภาค (anatomy) ของระบอบฮุน เซน ช่างเป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองอันมหัศจรรย์ในยุคศตวรรษที่ 21 เหลือเกิน

กล่าวคือ

ฮุน เซน ได้ใช้ระบบเครือญาติในการเสริมสร้างเครือข่ายของตน โดยการให้เครือญาติของตนได้รับตำแหน่งทางการเมือง ความมั่นคง และผลประโยชน์ทางธุรกิจ

เช่น ฮุน เนง (Hun Neng) พี่ชายของฮุน เซน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรค CPP จังหวัดกำปงจาม (Kampong Cham)

ฮุน ซาน (Hun San) พี่ชายอีกคนของฮุน เซน เป็นประธานบริษัทด้านการค้าและการขนส่ง 4 แห่ง

ดี โจ๊จ (Dy Chouch) ลูกพี่ลูกน้องของฮุน เซน เป็นผู้นำด้านกิจการค้าไม้

ในรุ่นลูกรุ่นหลานของคนเหล่านี้ ปรากฏว่าลูกหลานของฮุน เซน แต่งงานกับทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ และเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง

อาทิ ฮุน เซียงเฮง (Hun Seang Heng) ลูกชายของฮุน เนง พี่ชายของฮุน เซน แต่งงานกับซก โซะเพียะ (Sok Sopheak) ลูกสาวของซก พอล (Sok Phal) อธิบดีกรมการตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย

ฮุน กึมเลง (Hun Kimleng) ลูกสาวของฮุน เนง ได้แต่งงานกับเนด ซาเวือน (Neth Savoeun) ที่เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งกัมพูชา

ลูกคนโตของฮุน เซน คือ ฮุน มาเนต (Hun Manet) แต่งงานกับเป็จ จันมุนนี (Pich Chanmony) ลูกสาวของเป็จ โซพ็วน (Pich Sophoan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ฮุน มานา (Hun Mana) ลูกสาวคนโตแต่งงานกับดี วิจเจีย (Dy Vichea) ลูกชายของฮก ฬ็องดี (Huk Lundy) อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดี วิจเจีย ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ฮุน มาลี (Hun Maly) ลูกสาวคนรองแต่งงานกับซก ปุ๊ตทีวุต (Sok Puthyvuth) ลูกชายของซก อาน (Sok An) อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซก ปุ๊ตทีวุต เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม และเป็นประธานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (The Cambodian Rice Federation : CRF)

นอกจากการสร้างเครือข่ายด้วยการแต่งงานดังกล่าวแล้ว ฮุน เซน ได้ผลักดันให้ลูกๆ เข้ามาเสริมสร้างเสถียรภาพของเครือข่าย โดยการให้ลูกมีบทบาททางด้านการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจ

โดยฮุน มาเนต ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการถาวรพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP)

ฮุน มานิต (Hun Manith) เป็นผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองกองทัพที่เพิ่งมีการตั้งขึ้นใหม่ หน่วยข่าวกรองดังกล่าว ซึ่งขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลและกิจกรรมในการเลือกตั้ง ค.ศ.2018

ฮุน มานี (Hun Many) ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกำปงสะปือ (Kampong Speu) ฮุน มานา (Hun Mana) ลูกสาวคนโตเป็นประธานบริษัทบายนทีวี ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับพรรค CPP และคอยสนับสนุนงานของพรรค

อาทิ ฮุน เซน ต้องการที่จะพัฒนาถนนอันลองเวง (Anlong Veng หรือ “อ็อนล็วงแวง”) ไปยังปราสาทเขาพระวิหาร สถานีวิทยุโทรทัศท์บายนได้ให้การสนับสนุนในการสร้างถนนดังกล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการเผชิญหน้าระหว่างทหารไทยกับกัมพูชาที่เขาพระวิหาร สถานีวิทยุบายนได้เป็นผู้จัดรายการพิเศษเพื่อระดมความช่วยเหลือไปยังทหารที่อยู่แนวหน้า

การจัดรายการพิเศษในครั้งนั้นได้เงินจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ2

นอกจากนี้ ครอบครัวของฮุน เซน ยังถือหุ้นในบริษัทต่างๆ โดยจากรายงานของ Global Witness ค.ศ.2016 เรื่อง “Hostile Takeover : The Corporate Empire of Cambodia”s Ruling Family”3 ได้กล่าวว่าครอบครัวฮุน เซน มีผลประโยชน์ในบริษัทเอกชน 4 แห่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เครือข่ายชนชั้นนำของกัมพูชามีเครือญาติของฮุน เซน เป็นแกนกลางและแผ่เครือข่ายผลประโยชน์ครอบคลุมทั้งภาคการเมือง ความมั่นคง และธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังมีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลหล่อเลี้ยงเครือข่ายให้ธำรงอยู่อย่างมีเสถียรภาพ

 

พลังท้าทายจากชนบท

อย่างไรก็ตาม หากศึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชายุคฮุน เซน นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา โครงสร้างเศรษฐกิจของกัมพูชาเติบโตจากการขายทรัพยากรธรรมชาติคือ กิจการเหมืองแร่ การทำลายป่าไม้เพื่อไล่ที่ชาวบ้านไปเป็นที่ดินแปลงใหญ่ของบรรษัทข้ามชาติอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ไร่อ้อยและน้ำตาล การขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ในขณะเดียวกัน เริ่มเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อการส่งออกซึ่งกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรและโควต้าการส่งออกสิ่งทอจากทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

ทั้งหลายทั้งมวลนี้เปลี่ยนให้เศรษฐกิจกัมพูชาเป็นโรงงานผลิตสิ่งทอเพื่อการส่งออกที่มีแรงงานราคาถูกจากภาคชนบท

และเกิดการไหลบ่าของผู้คนจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่ เช่น พนมเปญ

โดยแรงงานส่วนใหญ่เป็น “แรงงานหญิง” ที่กลายเป็นแรงงานหลักของการผลิตเพื่อการส่งออกของประเทศในเวลาต่อมา

ดังนั้น การผลิตเพื่อการส่งออก กติการะหว่างประเทศ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ การตั้งสหภาพแรงงาน การละเมิดสิทธิแรงงาน รวมทั้งการเคลื่อนไหวของแรงงานทั้งในเมืองและชนบทจึงเป็นพลังท้าทายต่อระบอบฮุน เซน โดยตรง

ที่สำคัญ พลังท้าทายนี้อยู่เหนือการควบคุม แม้แต่ระบอบฮุน เซน

—————————————————————————————————–
(1) “เครือข่ายชนชั้นนำในกัมพูชา : อำนาจและสิ่งท้าทาย” รายงานชุดโครงการวิจัยเรื่อง ชนชั้นนำในอุษาคเนย์ : โครงสร้างและพลวัต โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางแม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอต่อสำนักงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ตุลาคม 2562.
(2) MGR Online. (2 มี.ค. 2558). เชื้อไม่ทิ้งแนว..สวยดุๆ ลูกสาว “ฮุน เซน” เข้าถึงเมื่อ 1 ตุลาคม 2559 จาก https://mgronline.com/indochina/detail/9510000099332
(3) Global Witness. (2016). Hostile Takeover : The Corporate Empire of Cambodia”s Ruling Family. Retrieved April 10,2019, from https://www.globalwitness.org/en/reports/hostile-takeover/