ต่างประเทศอินโดจีน : อุตสาหกรรมอำมหิต

มีหลายประเทศในเอเชียที่ยังคงกินเนื้อสุนัข ที่ขึ้นชื่อไปทั่วโลกก็เห็นทีจะเป็นในจีนแล้วก็ในเกาหลีใต้ กับในเวียดนาม แต่มีแนวโน้มลดลงเมื่อคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้น ชนชั้นกลางขยายตัว และครอบครัวเลี้ยงสุนัขกันมากขึ้น

ตรงกันข้ามในกัมพูชา แนวโน้มของการบริโภคเนื้อสุนัขกลับเพิ่มสูงขึ้น เฟื่องฟูขึ้นจนกลายเป็นอุตสาหกรรม

ตั้งแต่การไล่ล่าหาสุนัข, โรงชำแหละที่ไม่มีใบอนุญาต เรื่อยไปจนถึงภัตตาคารที่ขึ้นป้ายขาย “เนื้อพิเศษ”

“โฟร์ พอวส์” องค์การเพื่อการพัฒนาเอกชนบอกว่า ในพนมเปญเพียงเมืองเดียวตอนนี้มีร้านขายเนื้อพิเศษนี้มากกว่า 100 ร้าน ในเสียมราฐอีกราว 20 ร้าน

ทุกๆ ปี ในกัมพูชามีสุนัขถูกชำแหละเพื่อการนี้มากถึง 2 ล้านถึง 3 ล้านตัว

แหล่งใหญ่ที่สุดในการไล่ซื้อหาสุนัขก็คือบริเวณตอนเหนือของประเทศ ผู้รับซื้อตระเวนด้วยจักรยานยนต์ไปทั่วพื้นที่ชนบท ใช้หม้อ กระทะ ฯลฯ มาแลกกับสุนัขที่เจ้าของไม่ต้องการ

มีพ่อค้าคนกลางคอยรับซื้อสุนัขเป็นๆ ในกรงหลังอานจักรยานยนต์นี้อยู่หลายราย สนนราคาคิดกันตามน้ำหนัก ตกราว 2-3 ดอลลาร์ หรือ 60-90 บาทต่อกิโลกรัม

ยิ่งได้มากตัว รายได้ยิ่งงามมากขึ้นเท่านั้น

สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า วิธีการเช่นนี้ทำให้โรคระบาดในสัตว์อย่างเช่นโรคพิษสุนัขบ้าระบาดไปทั่วประเทศ การฉีดวัคซีนป้องกันไม่ได้ผล เพราะสุนัขที่ถูกฉีดถูกจับขาย

กัมพูชาจึงเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าสูงมากที่สุด

 

แต่ที่อำมหิตที่สุด เป็นกระบวนการฆ่าสุนัขก่อนชำแหละเอาเนื้อ

ส่วนใหญ่มักใช้วิธีง่ายที่สุด ไม่ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือใดๆ มากไปกว่าท่อนไม้แข็งๆ เหมาะมือ กับมีดคมๆ สักเล่ม

ใช้สำหรับทุบกะโหลกสุนัข ไม่รู้ว่าตายแล้วหรือไม่ก็จับโยนลงหม้อ

ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้เสียมราฐ ฮุน ฮอย อดีตทหารวัย 59 รับหน้าที่เป็นเพชฌฆาต จับสุนัขตัวที่ต้องการชำแหละผูกคอแล้วแขวนกับกิ่งไม้เตี้ย รอสองสามนาทีจนเหยื่อหยุดดิ้น แล้วจับโยนลงหม้อต้ม รอจนได้ที่เพื่อถอนขน

ฮุน ฮอย บอกว่า ถ้าขายดีๆ วันหนึ่งอาจต้อง “แขวนคอ” มากถึง 10-12 ตัว

“ก็สงสารอยู่นะ แต่ก็ต้องทำ ต้องแขวนคอพวกมัน”

ที่กัมปงจาม กับกันดาล ไม่นิยมวิธีนี้ แต่เลือกที่จะหย่อนพวกมันทั้งที่อยู่ในกรงลงในบ่อน้ำเน่า รอจนขาดใจ

ดารา วัย 30 ปี มือฆ่าบอกว่า วิธีนี้ดีตรงที่ไม่ต้องฟังเสียงโหยหวนให้รำคาญใจ

โรงชำแหละเถื่อนทำนองนี้ทำรายได้เดือนละ 20,000-30,000 บาท ซึ่งไม่เลวเลยในประเทศที่ค่าแรงสำหรับการทำงานในโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปตกเพียงแค่เดือนละ 6,000 บาทเศษๆ เท่านั้น

 

สุนัขที่ชำแหละแล้ว แยกเป็นชิ้นส่วนและเนื้อ จัดส่งให้กับร้านอาหาร กลายเป็นเนื้อเสียบไม้ย่างและเนื้อตุ๋น ขายดิบขายดีเป็นที่นิยมของเหล่าผู้ใช้แรงงาน เพราะราคาไม่แพง

ซุปเนื้อสุนัขตุ๋นหนึ่งถ้วย ตกราวๆ 40 บาทเท่านั้น

เขียว จัน เจ้าของร้านขายเนื้อสุนัข ยอมรับว่าเคย “เชือดคอ” พวกมันด้วยตัวเองวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 6 ตัว

ความทุรนทุราย การดิ้น เสียงร้องโหยหวนก่อนตาย เกาะกินความรู้สึกของคนฆ่า ชนิดแม้ตอนหลับยังเอาไปฝัน

แต่เขาบอกว่า ถ้าไม่ทำก็ไม่มีกิน ไม่มีอะไรเลี้ยงครอบครัว

โฟร์ พอวส์ จัดสรรที่ดินทำกินให้ ทำให้เขียว จัน เลิกกิจการ ยุติการฆ่าสุนัขไปเมื่อเร็วๆ นี้

ล้างมือจากกิจกรรมอำมหิตได้ คงนอนหลับได้สนิทเสียที