ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 พฤศจิกายน 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | ล้านนาคำเมือง |
ผู้เขียน | ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
เผยแพร่ |
คนล้านนามีความเชื่อเรื่องการสักยันต์มาแต่โบราณ ว่าเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ สร้างความเชื่อมั่น และความศรัทธา ทำให้จิตใจมีความเข้มแข็ง
ยันต์บางลายมีความหมายในด้านเมตตามหานิยม ป้องกันภูตผีปีศาจ กันและแก้คุณไสย
บางลายเป็นตบะเดชะ มีอำนาจ อยู่ยงคงกระพัน คุ้มครองให้ปลอดภัย ป้องกันศาสตราวุธทั้งหลาย เป็นต้น
การสักของคนล้านนาจึงต่างจากการสักทั่วไปที่มุ่งเน้นเรื่องความสวยงามหรือเพื่อเป็นศิลปะ แต่มีวัตถุประสงค์หลักในเรื่องของความเชื่อทางไสยศาสตร์
ขณะทำพิธีการสัก จะมีการอัญเชิญครูบาอาจารย์มาคุ้มครองรักษา ผู้สักจึงต้องมีความเคารพเชื่อฟัง มีคุณธรรมประจำใจ ต้องระลึกถึงทุกครั้งว่าตนมีครูบาอาจารย์ประจำกายอยู่
ในภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งเดิมเป็นอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง เหนือขึ้นไปจนถึงรัฐฉานในพม่า รวมถึงสิบสองปันนาและสิบสองจุไทในประเทศจีน การสักเป็นที่แพร่หลายทั่วไป
แต่การสักจะมีความแตกต่างกันและเรียกลักษณะการสักต่างกันไป เช่น สักตั้งแต่เอวถึงเข่า หรือสักทั้งตัวเว้นเพียงหน้าผากเรียกว่า ลาวพุงดำ หากเป็นการสักตั้งแต่หัวเข่าขึ้นถึงต้นขาส่วนบน เรียก ลาวพุงขาว
สมัยโบราณ ผู้ชายสักยันต์จะนุ่งผ้าต้อย โดยจะม้วนชายผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาซึ่งเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือการนุ่งผ้าโจงกระเบน คือดึงชายให้สูงร่นขึ้นไปเหนือเข่า
ว่ากันว่าผู้หญิงล้านนาจะเมินผู้ชายที่สะโพกขาว เพราะถือว่าเป็นคนขี้ขลาด ไม่สมเป็นชายชาตรี เมื่อผู้ชายคนใดนุ่งผ้าต้อยแล้วเห็นลายสักสีดำ จึงจะถือว่าเข้มขลังสมกับ สมกับเป็นชายชาตรี
สําหรับตำนานอันเป็นที่มาของประเพณีการสักของกลุ่มชนทั้งหลายบริเวณตอนเหนือนั้น พระอริยานุวัตร อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม ได้เล่าไว้ว่า
เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน บรรดาหัวเมืองต่างๆ พากันยกทัพมาแย่งชิงองค์พระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เพื่อนำไปจัดสร้างสถูป เจดีย์ บรรจุองค์พระสารีริกธาตุ ณ เมืองของตน
แต่กษัตริย์เมืองยูนนาน หนองแส แคว้นสิบสองจุไท มาในเวลาที่พระบรมสารีริกธาตุได้ถูกแจกจ่ายไปหมดแล้ว คงเหลือเพียงเถ้าถ่าน
กษัตริย์เมืองยูนนาน เมืองหนองแส ก็นำเถ้าถ่านนั้นกลับเมืองของตน แล้วพากันอธิษฐาน พระอังคารที่เกิดจากเถ้าถ่านก็แทรกซึมเข้าตามเนื้อ ตามตัว เกิดอิทธิฤทธิ์คงกระพันชาตรี มีกำลังเหมือนช้างสาร จึงเป็นเหตุให้เกิดการนิยมสักลายตามเนื้อตัวในเวลาต่อมา
สำหรับลวดลายที่ใช้ในการสักนั้น มีลายบัวพันกลีบ ลายอักขระที่เชื่อว่าเป็นคาถา ลายสัตว์ คือ เสือโคร่ง หงส์ สิงห์ มอม และรูปสัตว์ในป่าหิมพานต์ ตามความเชื่อพุทธศาสนา
ซึ่งในปัจจุบันการสักยันต์ค่อยๆ เลือนหายไป เหลือแต่คนเฒ่าคนแก่อายุราว 80 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่ยังมีรอยสักบนขาติดตัว เพราะสักมาตั้งแต่สมัยยังหนุ่มๆ ส่วนหมอสัก หรือครูสัก ก็แทบไม่มีเหลืออยู่
กระนั้นก็ยังมีความพยายามของคนรุ่นใหม่อยู่ส่วนหนึ่ง ต้องการสืบทอดการสักขาลายหรือสับหมึก ให้คงเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาต่อไป