บุก “ศูนย์กำจัดมูลฝอย อ่อนนุช” “ออฟฟิศ” ที่ไม่มีใครอยากไปเยือน หนึ่งในปลายทาง “ขยะ” ของ กทม.

ปัญหาขยะในประเทศไทยเป็นปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นวิกฤตการณ์ แม้ที่ผ่านมาเราจะเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น หลังการจากไปของสัตว์ทะเลนับไม่ถ้วน

ขณะเดียวกัน นับจากวันที่ 1 มกราคม 2563 ภาครัฐจะขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าทุกแห่ง รวมถึงร้านสะดวกซื้อ งดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้ว และเตรียมคลอดกฎหมายงดใช้พลาสติกในประเทศอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าทุกวันนี้การใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยกว่า 60 ล้านคน ได้สร้างขยะมากถึง 40 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สวนทางกับความสามารถในการจัดเก็บขยะ ซึ่งมีไม่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของขยะที่เกิดขึ้น ขยะมูลฝอยจึงตกค้างอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมทางอากาศ-น้ำ พาหะนำเชื้อโรค และสร้างทัศนวิสัยอันไม่น่ามอง

คำถามต่อเนื่องที่หลายคนไม่ค่อยนึกถึงก็คือ แล้วขยะจำนวนมหาศาลที่พวกเราทิ้งนั้น ปลายทางมันไปอยู่ที่ไหน?

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ทีมคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ของเพจเฟซบุ๊ก FEED ได้เดินทางไปยัง “ศูนย์กำจัดมูลฝอย อ่อนนุช” หนึ่งในสถานที่กำจัดขยะแห่งใหญ่ของกรุงเทพมหานคร เพื่อพูดคุยกับบุคคลซึ่งทำหน้าที่สำคัญ “คัดแยกและกำจัดขยะ”

เมื่อเดินทางใกล้ถึงศูนย์กำจัดมูลฝอย อ่อนนุช ทีมงานรู้สึกตกใจไม่น้อย เพราะหากมองจากระยะไกล จะเข้าใจผิดคิดว่าพื้นที่หลายสิบไร่ในเมืองหลวงแห่งนี้มีภูเขาโผล่ขึ้นมากลางกรุง

บริเวณทางเข้าพบรถเก็บขยะจอดเรียงรายเป็นแถวตามแนวถนน บ้านเรือนประชาชน ตลอดจนพื้นที่รกร้างข้างทาง มีชาวบ้านมาจับจองทำธุรกิจคัดแยกขยะและรับซื้อขยะรีไซเคิลหลายเจ้า

เมื่อเข้าไปภายในศูนย์กำจัดมูลฝอย อ่อนนุช จึงพบว่าภูเขามหึมาทั้งหมดที่เห็นเป็น “ภูเขาขยะ” ที่เยอะจนละลานตาเต็มไปหมด ภาพที่เห็นมาพร้อมกับกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว

ศูนย์กำจัดมูลฝอย อ่อนนุช ถูกจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 ส่วนใหญ่ๆ ประกอบด้วย พื้นที่สำนักงาน, จุดรับขยะจากรถเก็บขยะมูลฝอย, จุดคัดแยกขยะมูลฝอย, จุดหมักขยะมูลฝอย และจุดฝังกลบขยะมูลฝอย โดยมีพนักงานทำหน้าที่คัดแยกขยะกันตลอด 24 ชั่วโมง

สถานที่แห่งนี้ทำให้เราได้พบกับ “พี่ต่าย – อนัญญา วรรณา” ผู้ควบคุมงานคัดแยกขยะ ประจำศูนย์กำจัดมูลฝอย อ่อนนุช

“พี่ต่าย” เล่าว่า ที่ศูนย์มีพนักงานหลากหลายทั้งเพศชายและหญิง วัยรุ่นไปจนถึงคนสูงวัย แบ่งกันทำหน้าที่หลายส่วน ตั้งแต่รับขยะจากรถเก็บขยะของกรุงเทพมหานคร, คัดแยกขยะ และกำจัดขยะ

พนักงานทุกคนต้องปรับตัวให้ชินกับกลิ่นขยะ หากเป็นพนักงานใหม่ๆ บางคนถึงขั้นอาเจียน เวียนศีรษะ กินข้าวไม่ได้ก็มี

นี่คือภาพจำของอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ “ขยะ” ซึ่งหลายคนไม่อยากทำ เพราะต้องเผชิญหน้ากับกลิ่นเหม็น ความสกปรก และไม่ได้แต่งตัวสวยๆ เหมือนผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ

พี่ต่ายเล่าเส้นทางชีวิตของตัวเอง ที่เข้าสู่อาชีพคัดแยกขยะตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น

“สมัยเป็นวัยรุ่น พี่ไม่รักเรียน เรียนไม่จบ ม. 3 คิดแต่เล่นสนุกไปวันๆ จากนั้นพ่อ-แม่ได้มาเป็นคนงานก่อสร้างศูนย์กำจัดมูลฝอย อ่อนนุช พี่ก็เลยตามมาด้วย

“เมื่อศูนย์แห่งนี้ก่อสร้างเสร็จ พี่เริ่มทำงานคือการคัดแยกขยะ เริ่มจากคัดขวด กระป๋อง แก้ว ได้เงินวันละ 20-30 บาท ทำๆ ไป ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่คนอื่นๆ เขาได้เงินวันละหลายร้อยบาท”

เมื่อไม่ชอบเรียนหนังสือ พ่อ-แม่จึงดัดนิสัยด้วยการให้พี่ต่ายไปทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง กระทั่งเธอเริ่มเข้าใจว่าการทำงานในโลกความจริงนั้นเหนื่อยหนักขนาดไหน หากจะต้องหาเงินให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน

พี่ต่ายตัดสินใจกลับไปเรียนหนังสือจนจบ และนำวุฒิการศึกษาระดับ ปวส. มาสมัครเป็น “ผู้ควบคุมงานคัดแยกขยะ”

“หลังจากพี่เรียนจบ พี่ก็ตัดสินใจกลับมาทำงานที่เดิม เพราะพี่รู้สึกคุ้นเคยกับที่นี่ และเข้าใจกระบวนคัดแยกขยะและการรีไซเคิลขยะ ว่ามันสามารถสร้างเงินได้เป็นอย่างดี”

พี่ต่ายเล่าว่า ทุกคนที่ทำงานภายในศูนย์กำจัดมูลฝอย อ่อนนุช ไม่มีใครมองขยะว่า “ไร้ค่า” แต่พวกเขาเห็นมันเป็น “สินค้า” และคิดเสมอว่าอาชีพที่หลายคนรังเกียจนี้คืออาชีพที่น่าภาคภูมิใจ เพราะพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกำจัด-จัดการขยะให้กับบ้านเมืองของเรา

“เราไม่เคยมองขยะว่าเป็นขยะ แต่เรามองขยะเป็นสินค้า มันทำรายได้ให้กับทุกคน ขยะมันทำให้พวกเรามีรายได้จริงๆ เราทำเงินจากมันได้ บางคนอาจจะรังเกียจเพราะไม่เคยสัมผัสมันมากกว่า

“และพี่จะทำงานที่นี่ไปเรื่อยๆ เพราะขยะมอบชีวิต รายได้ และครอบครัวให้กับพี่ บางครั้งพนักงานหลายคนก็มีโชคจากงานคัดแยกขยะ เจอของมีค่าปะปนมากับขยะ เช่น เพชร ทอง เงิน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นโชคใครโชคมัน”

พี่ต่ายยังฝากถึงประชาชนซึ่งเป็นต้นทางทิ้งขยะ ว่าขอให้คัดแยกขยะครัวเรือน เช่น ขยะที่ย่อยสลายได้คือ เศษอาหาร ใบไม้ กิ่งไม้ สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปใช้ทำปุ๋ย ส่วนขยะจำพวกกระดาษ ขวดแก้ว พลาสติก สามารถคัดแยกนำไปขายเพื่อรีไซเคิล อันจะเป็นการลดปริมาณขยะที่นำเข้าสู่กระบวนการกำจัดให้เหลือน้อยที่สุด

ที่สำคัญ ทุกคนไม่ควรทิ้ง “สิ่งปนเปื้อน” ลงในถังขยะ เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายกับเจ้าหน้าที่จัดเก็บและคัดแยกขยะ

ปัจจุบันมีขยะถูกส่งมากำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย อ่อนนุช ประมาณ 4,300 ตันต่อวัน

ขยะส่วนใหญ่ที่พบมากที่สุดคือขยะพลาสติกและขยะครัวเรือน เมื่อเจ้าหน้าที่รับขยะมาแล้ว ขยะทั้งหมดจะถูกนำมากองรวมกัน ก่อนลำเลียงส่งขึ้นไปตามสายพาน มีพนักงานคอยคัดแยกตลอด 24 ชั่วโมง โดยแบ่งเวลาทำงานเป็นกะ

พนักงานจะแบ่งหน้าที่กันทำ ผ่านการแยกชนิดของขยะที่สามารถส่งรีไซเคิล ได้แก่ พลาสติก กระดาษ และขวดแก้ว

จากนั้นขยะที่เหลือทั้งหมดจะถูกส่งเข้าเครื่อง “Attrition Drum Scrubber” แล้วใช้เวลาประมาณ 8 ถึง 12 ชั่วโมง เพื่อลดขนาดของขยะให้เล็กกว่า 80 มิลลิเมตร

20 เปอร์เซ็นต์ของขยะส่วนนี้จะถูกนำไปหมักบ่มประมาณ 40 วัน ก่อนนำไปร่อนเพื่อใช้เป็นสารปรับปรุงดิน ส่วนอีก 80 เปอร์เซ็นต์ จะถูกนำไปอัดก้อนและฝังกลบ

นี่คือเรื่องราวของผู้คนที่ทำงานอยู่ตรงปลายทางสุดท้ายในกระบวนการกำจัดขยะ

อย่างไรก็ตาม พวกเราทุกคนคือต้นเหตุที่ก่อให้เกิดขยะในแต่ละวัน ดังนั้น หากทุกคนร่วมใจกันลดการสร้างขยะและรู้จักคัดแยกขยะในครัวเรือน

โลกก็จะน่าอยู่ยิ่งขึ้น ส่วนเพื่อนมนุษย์ในศูนย์กำจัดขยะทุกแห่งก็จะทำงานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม