เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | จังหวะกับเสียงในกาพย์กลอน

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 2046 บทความเรื่อง “พื้นฐานสำคัญกว่าพื้นที่” จำเพาะบทกวีประกอบชื่อ “กวีวรรณ” นั้นมีผิดวรรคสุดท้าย ซึ่งที่ถูกคือ “ผจงเนรมิตกวี” ที่พิมพ์ผิดเป็น “ผองเนรมิตรกวี”

เป็นความผิดของผู้ส่งต้นฉบับเอง ด้วยเขียนลายมือ หางตัว จ.ที่ม้วนเกินไปทำให้ผู้พิมพ์คิดว่าเป็นตัว อ.อ่างไปได้ คำ “ผจง” ก็เลยกลายเป็น “ผอง” ไปได้ด้วยประการฉะนี้

อีกคำคือ “เนรมิต” ที่พิมพ์เป็น “เนรมิตร” มีตัว “ร” ซ้อนตัว “ต” นั้นผิด ด้วยคำเนรมิตที่แปลว่า “สร้างหรือบันดาลด้วยอำนาจฤทธิ์ หรืออภินิหารให้บังเกิดเป็นขึ้น มีขึ้นโดยฉับพลัน” นั้น ต้องเป็นคำนี้คือ “เนรมิต” ไม่ใช่ “เนรมิตร” ไม่มี “ร” ตาม “ต”

นี้เป็นความละเอียดอันอลังการของภาษาไทย ซึ่งแม้ใช้กันเป็นประจำก็อาจผิดพลาดได้ ดังตัวอย่างที่ยกมานี้

ประการหนึ่งคือ ภาษาไทยมีที่มาจากภาษาอื่นทั้งโดยตรงและโดยอิทธิพล

โดยตรงคือ มีที่มาจากภาษาอื่น เช่น ภาษาบาลี สันสกฤต เป็นต้น ซึ่งมีมากเป็นพิเศษ

โดยอิทธิพลคือ การกลายความ การกร่อนคำ ภาษาปาก จนถึงวาทกรรม ที่คลี่คลายจนเป็นศัพท์ที่มีความหมายใหม่ขึ้นมา รวมถึงศัพท์บัญญัติทั้งหลายด้วย

แม้คำว่า “เชย” ซึ่งมีความหมายที่ดี มากลายเป็น “เชย” ในความหมายว่า “ล้าสมัย” ไปได้

ก็ด้วยบทบาทและบุคลิกของตัวละครในนิยายชุดพล นิกร กิมหงวน ที่ชื่อ “เชย” อันเป็นบทประพันธ์ของ ป.อินทรปาลิต นั้นเอง

กลับมาที่วรรคกวี “ผจงเนรมิตกวี” วรรคนี้แหละ อาจยกเป็นตัวอย่างสะท้อน “พื้นฐาน” สำคัญของลักษณะกวีได้ โดยเฉพาะเรื่อง “เสียงและจังหวะ”

บทเต็มของวรรคนี้คือ

เสกใจจนแจ้งใจ

ให้หัวใจได้รจนา

มธุรทัศน์ทิพย์ศรัทธา

ผจงเนรมิตกวี

นี้เป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ยานี 11 ที่กำกับ 11 ไว้ด้วย ก็เพราะกาพย์ยานีนี้รวมสองวรรคมีสิบเอ็ดคำโดยประมาณ คือบางคำอาจมีสองพยางค์ อย่างคำ “รจนา” ในวรรคสองนั้น นับเป็นสองคำได้ทั้งที่มีสามพยางค์

นี่คือเคล็ดของ “จังหวะ”

“เสกใจจนแจ้งใจ”

วรรคนี้เป็นวรรคต้นบท กำหนดให้มีห้าคำ ซึ่งวรรคนี้มีห้าคำตามกำหนด ส่วนวรรคสองคือ

ให้หัวใจได้รจนา

อ่านเต็มตามพยางค์จะได้เสียงเป็นเจ็ดพยางค์ซึ่งเกินกำหนด ด้วยตามกำหนดนั้นวรรคสองต้องมีหกคำ ตามกฎของกาพย์ยานี 11 วรรคแรกห้า วรรคหลังหก รวมเป็นสิบเอ็ด

แต่ถ้าใช้คำที่มีพยางค์ลงตัว คือลงจังหวะของวรรคได้ไม่สะดุด ก็อนุโลมให้นับรวมเป็นคำเดียวได้ตามจังหวะของแต่ละวรรค

วรรคแรกของกาพย์ยานีห้าคำ แบ่งช่วงจังหวะดังนี้

00-000

คือสอง กับสาม

เสกใจ (สองคำ) จนแจ้งใจ (สามคำ)

วรรคสองของกาพย์ยานี หกคำแบ่งช่วงจังหวะดังนี้

000-000

คือสาม กับสาม

ให้หัวใจ (สามคำ) ได้รจนา (อนุโลมเป็นสามคำได้)

เพราะฉะนั้นการรู้ “จังหวะ” ของคำประพันธ์ต่างๆ ตามประเภทของโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย กระทั่ง “แร็พ” จึงสำคัญ อันถือเป็น “ศิลปะ” อย่างหนึ่งของการแต่งบทร้อยกรอง

นอกจาก “จังหวะ” สำคัญยิ่ง อีกเรื่องคือ “เสียง” จากกาพย์บทนี้

เสกใจจนแจ้งใจ ให้หัวใจได้รจนา

สองวรรคนี้เล่นเสียงตัว “จ.” โดยเฉพาะทั้งเสียงและคำ “ใจ” กระทั่งคำ “รจนา” ก็มีเสียงตัว “จ” อยู่ด้วย

อนึ่ง กาพย์ยานีนั้นไม่บังคับสัมผัสระหว่างวรรค นอกจากท้ายวรรคสองกับท้ายวรรคสามเท่านั้นที่บังคับให้ “ต้อง” มีสัมผัส ดังกาพย์บทนี้คือคำว่า “รจนา” (ท้ายวรรคสอง) สัมผัสกับคำว่า “ศรัทธา” ท้ายวรรคสามคือ “นากับธา” นั่นเอง

นอกจากนี้ ระหว่างวรรคอื่นไม่จำเป็นต้องมีสัมผัสเชื่อมระหว่างวรรคด้วยได้เลย

เมื่อไม่บังคับ เพราะฉะนั้น จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ดังกาพย์ยานี เห่เรือ ที่มีสัมผัสแพรวพราวแทบทุกวรรคนั้น ต่างกับกาพย์ของ “นายผี” และจิตร ภูมิศักดิ์ ที่มักไม่มีเอาเลย หากไปเน้นคำและความเป็นสำคัญ

อย่าง “เสกใจจนแจ้งใจ ให้หัวใจได้รจนา” นี่ก็ต้องการเล่นเสียงและย้ำคำ “ใจ” นั่นเอง โดยไม่ให้เสียจังหวะด้วย

วรรคสาม ห้าคำ (ช่วงจังหวะ)

มธุรทัศน์ ทิพย์ศรัทธา

รวมคำ “มธุรทัศน์” ซึ่งอยู่ในจังหวะสองคำได้แม้จะมีถึงสี่พยางค์ก็ตาม วรรคนี้เล่นเสียงคำตัว “ท” คือ “ธุ-ทัศน์-ทิพย์-ธา”

จนวรรคสุดท้าย คือ “ผจงเนรมิตกวี”

ที่ใช้คำ “ผจง” ก็เพื่อต้องการเล่นเสียงตัว “จ” ดังมีอยู่ในวรรคหนึ่งกับวรรคสองด้วยนั้นเอง

นี้คือศิลปะของการใช้จังหวะกับเสียงในกาพย์กลอน

ซึ่งผู้เขียนต้อง “ผจง”

ฉันทลักษณ์กวี

๐ ฉันทลักษณ์ฉลักรสบทกวี

ให้ดนตรีจำเรียงเสียงอักษร

ให้จังหวะจะโคนย้ำโยนยอน

มธุรสบทกลอนกวีไทย

สามัญ เอกโทตรี จัตวา

คือเสียงห้าเสียงเสนาะจำเพาะให้

เลือกลีลาเหลื่อมล้ำลำดับใช้

กระเพื่อมไหวไพเราะเป็นลำนำ

มีสระสำหรับรับสัมผัส

ให้รู้จัดจังหวะเจรียงร่ำ

เป็นกระบวนแบบบทให้จดจำ

คือเสียงคำเสียงสระสร้างฉันลักษณ์

คือรูปแบบที่ดีที่พอใจ

อันผู้ชอบผู้ใช้ได้ประจักษ์

มารองรับเนื้อหาค่าอนรรฆ

เป็นสร้อยศักดิ์วรรณศิลป์ จินดามณี

รูปแบบกับเนื้อหาอันสำแดง

คือศาสตร์แห่งสรรพศิลป์เป็นปิ่นศรี

สัมผัสนอกสัมผัสใน ไพเราะวลี

แต่กวีใช้คำ…สัมผัสใจ!