เกษียร เตชะพีระ | ระบบนิรนาม (1)

เกษียร เตชะพีระ

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เขียนบทความเรื่อง “หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์” เผยแพร่ทางเว็บข่าวประชาไท เมื่อวันที่ 29 กันยายน ศกนี้ (https://prachatai.com/journal/2019/09/84547) เพื่อวิเคราะห์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเรื่องนายกรัฐมนตรีกล่าวนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยถ้อยคำไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ

บทความดังกล่าวนับเป็นข้อเขียนชิ้นสำคัญที่บรรยายแจกแจงลักษณะการทำงานอันประหลาดพิกลแบบหัวมังกุท้ายมังกรของระบบการเมืองการปกครองที่เรามีอยู่ปัจจุบันอย่างทื่อเที่ยงถี่ถ้วนตรงไปตรงมาที่สุด แม้สุดท้ายท่านจะไม่ได้สรุประบุเรียกว่ามันเป็นระบบอะไร แต่มิติแปลกใหม่อัศจรรย์ของมันก็มากพอที่จะทำให้ท่าน (ซึ่งอย่าลืมว่าเรากำลังพูดถึงนักประวัติศาสตร์แถวหน้าสุดของไทย) ประเมินว่ามันเป็น “หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์” ทางการเมืองการปกครองไทยทีเดียว

หากลองพลิกหน้าเก่าของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475) ย้อนหลังไปดู ก็จะพบว่านักวิชาการเคยเจอะเจอปัญหาระบบแปลกใหม่ที่เรียกชื่อไม่ถูกหรือระบบนิรนาม (a nameless system) นี้มาก่อนเช่นกัน

ในหนังสือที่สถาปนาแนวคิดทฤษฎี Bureaucratic Polity หรือ “รัฐราชการ” (สำนวนแปลของผม) ขึ้นเป็นกระบวนทัศน์หลักในการวิเคราะห์เข้าใจระบบการเมืองไทยหลัง พ.ศ.2475 ชื่อ Thailand : The Modernization of a Bureaucratic Polity (ค.ศ.1966) ศาสตราจารย์เฟรด ริกส์ (Fred W. Riggs, ค.ศ.1917-2008) นักรัฐศาสตร์อเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยฮาวายซึ่งเป็นผู้เขียนได้อธิบายสภาพที่เป็น “ระบบนิรนาม” ของรัฐราชการไทยไว้ตอนหนึ่งว่า :

“ระบบการปกครองที่เป็นผลลัพธ์จากการนั้นซึ่งผมเรียกว่า “รัฐราชการ” ในความหมายหนึ่งก็เป็นระบบนิรนาม (a nameless system – เน้นโดยผู้เขียน) ที่มันนิรนามก็เพราะไม่มีใครหาญกล้าบอกได้ว่าอะไรคือฐานแห่งความชอบธรรมทางการเมืองของมันที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่ามันควบคุมอำนาจไว้อย่างได้ผล

“ปัญหาสิทธิอำนาจ. ระบบรัฐสยามแต่ดั้งเดิมมาได้ความชอบธรรมจากพระราชสิทธิอำนาจหรือสิทธิอำนาจเหนือธรรมชาติขององค์พระมหากษัตริย์ ระบบรัฐสมัยใหม่ซึ่งบรรดานักเรียนนอกที่กลับจากยุโรปหวังจะสร้างขึ้นนั้นตั้งสิทธิอำนาจของมันอยู่บนความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของประชาชน น่าสังเกตที่ว่าในแนวคิดเรื่องระบบรัฐทั้งสองนั้น ระบบราชการถูกคาดหมายให้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือ กล่าวคือ เป็นข้าราชการในระบบแรก และข้าราษฎรในระบบหลัง ไม่มีใครหน้าไหนเลยที่อวดอ้างจะสร้างสูตรลัทธิการปกครองที่ซึ่งระบบราชการถูกมโนทัศน์ให้ไม่เพียงแต่เป็นกลุ่มปกครองเท่านั้น หากยังเป็นที่สถิตของอำนาจอธิปไตยด้วย…”

สุดท้าย เฟรด ริกส์ ก็อ้างทราซีมาคัส ผู้วิวาทะกับโสกราตีสในหนังสือ Republic ของเพลโตมาตอบว่า :

“…ในบรรดารัฐทั้งปวง มีหลักแห่งความยุติธรรมอันเดียวกันอยู่ ซึ่งก็คือผลประโยชน์ของรัฐบาลที่ถูกสถาปนาขึ้น และในเมื่อรัฐบาลพึงต้องมีอำนาจ ข้อสรุปที่สมเหตุผลเพียงประการเดียวก็คือมีหลักแห่งความยุติธรรมอยู่อย่างเดียวทุกหนแห่ง นั่นคือผลประโยชน์ของผู้ที่เข้มแข็งกว่า” (Riggs, Thailand, p. 323)

ต่อมา ในบทความแบ่งยุคแบ่งสมัยที่ท้าทายและพลิกเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไทยศึกษาอย่างถึงรากถึงโคนของศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson, ค.ศ.1936-2015) ชื่อ “Studies of the Thai State: The State of Thai Studies” (ค.ศ.1978) ครูเบ็นได้อธิบายขยายความ “ระบบนิรนาม” ของเฟรด ริกส์ รวมทั้งเหตุผลเบื้องหลังอาการนิรนามของมันว่า :

“ปัญหาการเมืองที่แท้จริงในสยามได้เป็นและยังคงเป็นสิ่งนี้คือ : ไม่มีการแตกหักอย่างเด็ดขาดของประชาชนกับ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์” อันเป็นการแตกหักที่ขับเคลื่อนโดยเชื้อเพลิงแห่งแนวคิดขุดรากถอนโคนทางสังคมและชาตินิยมของมวลชนนั่นเอง

“กลไกระบบราชการของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์นั้นโดยตัวมันเองไม่สามารถแตกหักกับมุมมองและประเพณีของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ได้ แต่กระนั้น โดยลักษณะที่หลากหลายต่างแบบกันและความชำนัญหน้าที่เฉพาะด้านของมันเอง ระบบราชการก็ไม่สามารถก่อกำเนิดความชอบธรรมทางโลกย์ซึ่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เคยมีมาแต่ปางก่อนขึ้นมาได้ด้วย อันที่จริงแล้ว “รัฐราชการ” ของริกส์ก็คือรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์อันถือหลักว่า “รัฐหรือก็คือกู” ซึ่งล้มเหลวนั่นเอง ในสภาพที่มันห้อยต่องแต่งค้างเติ่งอยู่ระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับชาตินิยมของประชาชน “รัฐราชการ” สมัยใหม่จึงทั้งอนุรักษนิยมอย่างลึกซึ้งและไร้เสถียรภาพอย่างสูง ทั้งนี้ หาใช่เพราะนั่นเป็น “เอกลักษณ์ไทย” แต่อย่างใดไม่ หากเป็นเพราะมันปราศจากรากฐานหรือบรรทัดฐานสำหรับความชอบธรรมไม่ว่าภายในหรือภายนอกที่แท้จริงอยู่ในตัวมันเองแต่อย่างใดเลยต่างหาก

“ภาวะห้อยต่องแต่งค้างเติ่งนั้นเริ่มมาถึงจุดสิ้นสุดลงเอาก็เมื่อต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1960 นี่เอง และส่วนใหญ่แล้วก็เป็นไปโดยไม่ตั้งใจด้วย เมื่ออำนาจการทหารของอเมริกาและทุนนิยมบรรษัทยักษ์ใหญ่ยัดเยียดตัวมันเองลงในระเบียบการเมืองที่ชะงักงัน (“ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์” ของสฤษดิ์นั้นก็เหมือนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งราชวงศ์จักรีตรงที่เป็นไปได้ด้วยอาศัยเงื่อนไขของการสร้างภาวะสงบสันติจากภายนอกและการสนับสนุนจากภายนอกเท่านั้น) การบุกทะลวงเข้ามาอย่างขนานใหญ่ดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็วยิ่ง (ทั้งที่วางแผนไว้และไม่ได้วางแผน) ในสังคมไทยซึ่งตัวระบบราชการเองยังจินตนาการไปไม่ถึงเลย อย่าว่าแต่จะเป็นผู้ก่อให้มันเกิดขึ้น มิไยว่ามันจะมีระเบียบพิธี “ทำให้ทันสมัย” อย่างไรอยู่ก็ตาม ในทางกลับกัน จากความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายแหล่นี้ ชาตินิยมของประชาชนไทยก็ได้พัฒนาขึ้นมาซึ่งผมเชื่อว่ามันเป็นลักษณะที่สำคัญที่สุดของฉากสถานการณ์ร่วมสมัย”

(Benedict Anderson, “Studies of the Thai State”,1978, Exploration and Irony in Studies of Siam over Forty Years, 2014, pp. 39-40)

สรุปรวมความก็คือ การระบุเรียกชื่อระบบการเมืองการปกครองหนึ่งๆ ด้านหลักแล้วก็เรียกตามฐานความชอบธรรมของระบบการเมืองนั้นๆ เช่น

ถ้าฐานความชอบธรรมคือหลัก “พระราชสิทธิอำนาจหรือสิทธิอำนาจเหนือธรรมชาติขององค์พระมหากษัตริย์” (royal or supernatural authority of its kings) มันก็คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy)

แต่ถ้าหากฐานความชอบธรรมของมันคือหลัก “อำนาจอธิปไตยของประชาชน” (popular sovereignty) มันก็คือระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา (parliamentary democracy)

อาการไม่มีชื่อ เรียกไม่ออกบอกไม่ถูก หรือนิรนาม (namelessness) ของระบบการเมืองการปกครองจึงเกิดจากสภาวะขาดฐานความชอบธรรมที่ยึดเป็นหลักมั่นอย่างกระจ่างแจ้งชัดเจนคงเส้นคงวาในการดำเนินการของระบอบนั่นเอง

[รัฐราชการ] ในอดีต และ [ระบอบ คสช. ที่ไม่มี คสช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับ “ไม่น่ารัก” พ.ศ.2560] ในปัจจุบันออกอาการ “นิรนาม” เดียวกันก็เพราะมันลักลั่น เหลื่อมซ้อน อีหลักอีเหลื่อ ผีเข้าผีออก หัวมังกุท้ายมังกรในแบบแผนการใช้อำนาจทางปฏิบัติว่าตกลงตัวมันตั้งมั่นอ้างอิงอาศัยอยู่บนหลักความชอบธรรมใดกันแน่

จนกระทั่งแสดงออกเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองการปกครองผิดแปลกแหวกแนวแบบไม่เคยมีมาก่อน ดังที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ร้องทักมาแต่เนิ่นว่า “อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้มาเห็น และอะไรที่เคยเห็น ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว” ไม่ว่ากรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล หรือพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562

ผมเห็นคล้อยตามอาจารย์นิธิว่าระบบนิรนามปัจจุบันส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวงชนิดพลิกหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ต่อวิถีดำเนินของการเมืองการปกครองไทยอันสืบเนื่องจากอดีตมา ถึงขั้นที่จะพลิกกลับรื้อถอนมรดกแห่งการปฏิวัติ 2475 และการปฏิวัติ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เลยทีเดียว

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)