กรองกระแส / บทเรียน ความล้มเหลว จากกรณี ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

กรองกระแส

 

บทเรียน ความล้มเหลว

จากกรณี ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ถึง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

 

ไม่ว่ากระบวนการที่ใช้จัดการกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน นายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าด้วยวิธีรัฐประหาร ไม่ว่าด้วยวิธียุบพรรค

เสมอเป็นเพียงกระบวนการในพรมแดนแห่ง “การกำจัด” เสมอเป็นเพียงกระบวนการในพรมแดนแห่ง “การปราบปราม”

มิได้เป็นกระบวนการใน “การต่อสู้”

ตัวอย่างก็คือ เมื่อยุบพรรคไทยรักไทย ก็เกิดพรรคพลังประชาชน เมื่อตามมายุบพรรคพลังประชาชนซ้ำอีกก็เกิดพรรคเพื่อไทย

การคงอยู่ของพรรคเพื่อไทยคือตัวอย่างอันเด่นชัดว่า การปราบปราม การกำจัด ไม่ได้ผล

เพราะหากได้ผล พรรคพลังประชาชนคงไม่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนจนได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง เพราะหากได้ผล พรรคเพื่อไทยคงไม่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนจนได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง

เท่ากับสะท้อนให้เห็นว่า การปราบปราม การกำจัด ไม่ได้ผล

เพราะในทางเป็นจริง ผลงาน ความสำเร็จ และโดยเฉพาะความคิดในแบบของพรรคไทยรักไทยยังดำรงคงอยู่ ผลงาน ความสำเร็จ และโดยเฉพาะความคิดในแบบนายทักษิณ ชินวัตร ยังดำรงคงอยู่

ดำรงคงอยู่กระทั่งก่อให้เกิดพรรคการเมืองอย่างพรรคอนาคตใหม่

 

ก้าวต่อ ไทยรักไทย

ก้าวแห่ง อนาคตใหม่

 

คล้ายกับว่าอุบัติแห่งพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 จะเหมือนกับอุบัติแห่งพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 อาจเป็นเช่นนั้น หากมองจากฐานของผู้ถือธงนำของพรรค

นั่นก็คือ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนักธุรกิจที่มีพื้นฐานมาจากการเป็นข้าราชการ นั่นก็คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็เป็นนักธุรกิจที่มีพื้นฐานมาจากการเป็นนักต่อสู้ภาคประชาสังคม

ทั้ง 2 เป็นนักธุรกิจเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ “พื้นฐาน”

ยิ่งกว่านั้น การปรากฏขึ้นของพรรคไทยรักไทย การปรากฏขึ้นของนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อเดือนมกราคม 2544 กับการปรากฏขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ การปรากฏขึ้นของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ยังแตกต่างกัน

แตกต่างทั้งสภาพทางการเมือง แตกต่างทั้งสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และโดยเฉพาะเทคโนโลยี

 

สภาพการณ์ สังคม

สภาพการณ์ เศรษฐกิจ

 

ในทางสังคม พรรคไทยรักไทยเป็นการเชื่อมต่อระหว่างการเมืองยุคก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กับการเมืองยุคหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

พรรคไทยรักไทยก่อผลสะเทือนอย่างสูงในทางความคิด ในทางการเมือง

พรรคไทยรักไทยเสนอนวัตกรรมทางการเมืองที่มีนโยบาย และที่สำคัญคือแปรนามธรรมแห่งนโยบายเป็นรูปธรรมทางการปฏิบัติที่เป็นจริง การเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548 คือดอกผลของพรรคไทยรักไทย

ดอกผลของพรรคไทยรักไทยไม่เพียงสะท้อนผ่านความสำเร็จผ่านพรรคพลังประชาชน ผ่านพรรคเพื่อไทย หากแต่ยังส่งอานิสงส์ไปยังความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่

ขณะเดียวกัน สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และโดยเฉพาะเทคโนโลยี ทำให้ความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ดำเนินไปอย่างก้าวกระโดดผ่านยุคแห่งการทำลายล้างโดยนวัตกรรมในทางเทคโนโลยีที่ทำให้สภาพการณ์ทางการเมืองเก่าต้องสั่นสะเทือน

หากเทคโนโลยีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจการเงิน เศรษฐกิจการบริหาร เศรษฐกิจการสื่อสารและสื่อมวลชน เทคโนโลยีก็จะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมการเมืองอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง

นั่นก็คือ ก่อให้เกิดการกระจายอำนาจ กระจายการบริหารอย่างใหญ่หลวง

 

บทเรียน ไทยรักไทย

บทเรียน อนาคตใหม่

 

มีความพยายามในการปราบปราม ทำลายล้างและกำจัดพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน นายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ไม่สำเร็จ

ทั้งๆ ที่เป็นความพยายามที่ล้มเหลวอย่างเด่นชัดมาตลอดกว่า 1 ทศวรรษ แต่ก็ยังมีความพยายามแบบเดียวกันที่จะปราบปรามทำลายล้างและกำจัดพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

นั่นก็เพราะเป็นความพยายามที่ชู “การปราบปราม” แต่ล้มเหลวในด้าน “การต่อสู้”

นั่นก็เพราะเน้นไปทางด้านปราบปราม ทำลายล้างและกำจัดในทางกายภาพ แต่ไม่ได้เน้นในเรื่องของการต่อสู้ในทางความคิดอย่างจริงจัง

    จึงเสมอเป็นเพียง “การกำจัด” โดยที่ไม่สามารถ “ขจัด” ลงได้