ธุรกิจพอดีคำ | “นวัตกรรม กับ การจีบสาว”

เมื่อหลายวันก่อน

ได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่อง “นวัตกรรม” ให้กับองค์กรใหญ่แห่งหนึ่งฟัง

มีผู้ฟังคนหนึ่งยกมือถาม

“การสร้างนวัตกรรม สำหรับคุณต้องเปรียบเหมือนกับอะไรครับ”

ทำให้ผมนึกถึงบทความ “บทแรก” ที่ได้มีโอกาสเขียนให้กับ “มติชนสุดสัปดาห์” เมื่อสี่ปีที่แล้วครับ

นำมาอ่าน ปัดฝุ่น

แล้วพบว่าน่าสนใจทีเดียว

อยากขออนุญาตให้ลองอ่านกันดูครับ

ถ้าผมบอกว่า มี “นวัตกรรม” ที่จะทำให้คุณผู้ชายจีบสาวที่คุณหมายปองได้สำเร็จ

โดยที่ไม่ต้องหล่อ ไม่ต้องรวย ไม่ต้องใช้กำลังภายในใดๆ

คุณจะสนใจมั้ยครับ

ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง ชื่อ “แป๊ะ”

แป๊ะเป็นหนุ่มตี๋ หน้าตาปานกลาง ฐานะปานกลาง ค่อนข้างหนักไปทางขัดสน

ประมาณว่า นั่งรถเมล์ไปทำงาน กินอาหารข้างทาง เป็นเรื่องปกติ

แป๊ะเป็นคนซื่อๆ พูดเหน่อหน่อยๆ สำเนียงภาคกลางตอนบน

แต่ที่ทำให้เพื่อนๆ อิจฉาตาร้อนได้ตลอดคือ “อ้ายแป๊ะ” เนี่ย มีแฟนสวย หุ่นดี ระดับพริตตี้ทุกคน

ถ้าถามแป๊ะว่า “นายทำยังไงถึงได้มีแฟนสวยทุกคนเลย”

แป๊ะมักจะ “เผย” เคล็ดไม่ลับของมันอย่างภาคภูมิใจ ว่า “………”

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมเคยได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย “สแตนฟอร์ด” ประเทศอเมริกา

ซึ่งตั้งอยู่ ณ ใจกลาง “ซิลิคอน วัลเลย์” หรือ “หุบเขาเทคโนโลยี”

บ้านเกิดของธุรกิจเทคโนโลยีหลายแห่งที่หมุนโลกใบนี้ให้เร็วยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล (Google) เฟซบุ๊ก (Facebook) หรือแอปเปิ้ล (Apple)

ผมเชื่อว่าคนไทยนับล้านใช้บริการของบริษัทเหล่านี้ทุกๆ วัน วันละหลายๆ ครั้ง

ถามว่า บริษัทเหล่านี้สร้าง “นวัตกรรม” เปลี่ยนโลก อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ได้อย่างไร

ผมขอเริ่มด้วย “เรื่องเล่าสั้นๆ” สักหนึ่งเรื่อง ซึ่งเกิดขึ้นในวันแรกที่ผมได้มาเหยียบสถานที่แห่งนี้

ในระหว่างที่ผมกำลังมองดูนาฬิกาข้อมือของตัวเอง และง่วนกับหา “สมุดจด”

อาจารย์ผิวดำท่านหนึ่งก็เดินเข้ามาในห้องเรียน พร้อมกับส่งยิ้มทักทาย

ท่านยืนนิ่งอยู่กลางห้อง พักหนึ่ง พอให้ความเงียบของอากาศเข้ามาแทนที่เสียงอื้ออึงของนักเรียน

และถามขึ้นมาว่า “ถ้ามนุษย์เราแบ่งได้เป็นสองประเภท คุณจะแบ่งอย่างไร”

พลันนักเรียนต่างยกมือตอบ “คนดี-คนเลว คนอ้วน-คนผอม คนรวย-คนจน…”

คำตอบจากสัญชาตญาณพรั่งพรูออกมาให้ได้ยินกันในชั้นเรียน

อาจารย์ท่านฟังสักพัก ก็เอ่ยแทรกขึ้นมาว่า “ที่นี่เรามองคนเป็นสองจำพวก”

พวกแรก (Type 1) “กลัวความล้มเหลว” คนเหล่านี้ไม่เคยทำอะไรผิด แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้กับโลกนี้

พวกที่สอง (Type 2) “กลัวเสียโอกาส” คนเหล่านี้ใช่ว่าไม่กลัวความล้มเหลว แต่กลัวเสียโอกาสที่จะลอง “ของใหม่” มากกว่า

คนประเภทหลัง เปรียบ “ความล้มเหลว” คือ “โอกาสในการเรียนรู้” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นหนทางสู่ความสำเร็จ

และที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เราอยากให้นักเรียนของเราเป็น “พวกที่สอง”

เพราะฉะนั้น ผมขอนะครับ

“ระหว่างที่คุณอยู่ที่นี่ จงล้มเหลวให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้”

ในวินาทีนั้น ภาพในหัวของผมย้อนกลับไปในวัยเรียน และพบว่า

ผมสามารถเรียนเอาตัวรอดมาได้ด้วยการ “ทำถูก” มาโดยตลอด

น้อยครั้งนักที่เราจะได้มีโอกาส “ลองผิด”

ทำถูกมากเข้า ก็ปลูกนิสัย “กลัวการทำผิด”

หรือกลัวความล้มเหลวไปโดยปริยายอย่างไม่รู้ตัว

ผลิตผลของการศึกษาแบบไทยๆ อย่างผมนี่แหละครับ

“พวกแรก (Type 1)” ตัวจริงเลย

คําพูดของอาจารย์ในวันนั้น จุดประกาย

ทำให้ผมสนใจศึกษาเรื่อง “การสร้างนวัตกรรม” อย่างจริงจัง ตลอด 2 ปีที่อยู่ที่อเมริกา

และหวังว่าจะนำมาทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศของเรา

ที่บริษัท Facebook นั้น จะมี “วัฒนธรรม” หนึ่งอย่าง ที่มีชื่อแปลเป็นไทยตลกๆ ว่า

“เคลื่อนที่ให้ไว และทำลายข้าวของ” หรือ “Move Fast and Break Things”

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงว่า “นวัตกรรม” ไม่ได้มาพร้อมกับ “ความถูกต้อง ความเนี้ยบ”

แต่กลับกัน “ออกจะดูรีบและรก” ด้วยซ้ำไป

ในสุดสัปดาห์ของ “อาทิตย์ที่รีบร้อน” หลายๆ ครั้งในหนึ่งปี

Facebook จะจัดชุมนุมพนักงานที่เรียกว่า “แฮกกาธอน (Hackathon)”

ที่จะ “อนุญาต” ให้คนหนุ่มสาวมาประลองฝีมือ ออกความคิด ทำอะไรใหม่

พร้อม “ลงมือสร้างต้นแบบ (Prototype) อย่างคร่าวๆ”

ทำกันทั้งวันทั้งคืน ไม่ต้องกลับบ้าน เอาสนุกๆ

ความคิดดีๆ นับร้อย ถูกสร้างให้ออกมาเป็น “รูปร่าง”

บ้างใช้ได้ บ้างใช้ไม่ได้ “ลองผิด” ได้ ไม่ว่ากัน

นวัตกรรมที่พลิกโฉม Facebook อย่างปุ่ม LIKE ที่เรากดกันอยู่ทุกวัน วันละหลายสิบรอบ

ก็เป็นผลพวงจากการ “อนุญาต” ให้ “ทำลายข้าวของ” บ้าง นี่แหละครับ

การ “ลองผิด” จึงเป็นส่วนผสมที่สำคัญมากของการสร้างนวัตกรรม

ในประเทศไทย หลายๆ ท่านคงจะรู้จักคุณอนันต์ อัศวโภคิน

เจ้าของอาณาจักรแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กับธุรกิจที่มีค่าเป็นหมื่นๆ ล้าน

ทำทั้งบ้านจัดสรร ทั้งธนาคาร และห้างดังใจกลางเมืองอย่าง Terminal 21

เคยมีคนถามคุณอนันต์ว่า “ทำไมทำอะไรก็ประสบความสำเร็จ”

“ผมทำสำเร็จอยู่ 3-4 อย่าง คนก็เอาไปพูดกันเยอะ”

คุณอนันต์หยุด และพูดต่อ “แต่ไม่เคยมีใครถามเรื่องที่ผมทำเจ๊งมา 40 กว่าอย่าง”

แกบอกว่า “ประสบการณ์จากความล้มเหลว ทำให้แกมาได้จนถึงทุกวันนี้”

เพราะเบื้องหลังของคนที่ประสบความสำเร็จทุกคนคือ “การเรียนรู้ผ่านความล้มเหลว”

ผมจึงขออนุญาตยกคุณอนันต์คนนี้เลยครับ เป็น “พวกที่สอง (Type 2)” ตัวจริง เสียงจริง

ที่อเมริกา มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสร้าง “นวัตกรรมในองค์กร” อันดับต้นๆ ของโลก

อาจารย์คนนี้ชื่อ “โรเบิร์ต ซัตตัน (Robert Sutton)” ครับ

งานวิจัยของท่านสรุปได้ว่า

“ในประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้ ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา

อัตราส่วนของความสำเร็จและความล้มเหลว มีความคงที่ประมาณ 1 ต่อ 5 เสมอมา”

หมายความว่า ถ้ามีสิ่งที่สำเร็จเกิดขึ้น 1 ครั้ง จะมีสิ่งที่ล้มเหลวเกิดขึ้น 5 ครั้งในเวลาเดียวกันเสมอ

คำถามที่ชวนคิดก็คือว่า “ถ้าเราอยากได้ความสำเร็จเพิ่มขึ้น 2 เท่า จาก 1 ครั้งเป็น 2 ครั้งล่ะ ต้องทำอย่างไร”

ใครเคยเรียนเลขมาบ้าง คงจะตอบได้ไม่ยาก ว่า

“คุณก็ต้องเพิ่มความล้มเหลวให้มากเป็น 2 เท่า” น่ะสิ

อยากได้ความสำเร็จ 2 ครั้ง ก็ต้องล้มเหลวให้ได้ 10 ครั้ง

สรุปคือ อยากจะสำเร็จเยอะ ก็ต้อง “ล้มเหลว” ให้มากครั้ง

อย่างที่ “คุณอนันต์” และบริษัทอย่าง Facebook ได้แสดงให้เห็น

นี่แหละครับ จุดเริ่มต้นของ “การสร้างนวัตกรรม” ในทุกหนแห่ง

คุณพ่อคุณแม่ล้วนอยากให้ลูกน้อยมีความคิดสร้างสรรค์

คุณครูล้วนอยากให้ลูกศิษย์ได้หัดคิดนอกกรอบ

หัวหน้าล้วนอยากให้ลูกน้องสร้าง “นวัตกรรม” ให้องค์กร

เพราะการไม่เคย “ล้มเหลว” ก็เหมือนการไม่เคยเริ่ม “สิ่งใหม่”

การ “ลองผิด” จึงเป็นภูมิคุ้มกัน “ความล้าสมัย” ที่ดีที่สุด

นวัตกรรม ใครๆ ก็สร้างได้ เริ่มจาก “ตัวเรา” ครับ

เกือบลืม เรื่องเทคนิคจีบสาวของ “อ้ายแป๊ะ”

มันเผยเคล็ดลับว่า “ก็จีบหลายๆ คนสิวะ แป้กเยอะๆ เข้า บ่อยๆ ครั้ง เดี๋ยวก็ถูกเข้าสักที”

ทำให้ผมนึกถึงเนื้อเพลงหนึ่งของวงมะลิ “เจ็บบ่อยๆ ค่อยๆ ชิน…”

คุ้นชินกับการ “ลองผิด” คือหนทางแห่งการ “ถูก” เข้าสักวัน

นี่แหละครับ “นวัตกรรมการจีบสาว”

จีบสาวยังต้องฝึกฝีมือ

นวัตกรรมก็เช่นเดียวกันครับ