ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ทำไมพงศาวดารเหนือ จึงระบุว่า วัดมเหยงคณ์ สร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

วัดมเหยงคณ์สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา หรืออาจจะก่อนหน้า ข้อมูลตามพงศาวดารฉบับต่างๆ เช่น พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2223 มักจะระบุตรงกันว่าวัดมเหยงคณ์สร้างขึ้นในรัชสมัยของเจ้าสามพระยา ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าไม่ระบุว่าสร้างปี พ.ศ.1967 ก็จะระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.1981

แต่ข้อมูลในพงศาวดารเหนือ ที่เรียบเรียงขึ้นโดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 มีข้อความระบุมีที่สร้างต่างออกไปว่า

“จุลศักราช 671 (พ.ศ.1852) ปีเถาะ เอกศก พระองค์ทรงสร้างวัดกุฎีดาววัด 1 พระอัครมเหสีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์วัด 1”

พระองค์ที่เป็นผู้สร้างวัดกุฎีดาวนั้นหมายถึงพระเจ้าธรรมราชา ซึ่งข้อมูลในพงศาวดารเหนือระบุเอาไว้ว่าเป็นกษัตริย์องค์ที่ 8 ของยุคก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อ พ.ศ.1893 โดยพงศาวดารเหนืออ้างว่า พระเจ้าธรรมราชานั้นครองราชย์อยู่ระหว่าง พ.ศ.1844-1853

ส่วนพระอัครมเหสีของพระเจ้าธรรมราชา ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์นั้นทรงพระนามว่า พระนางกัลยาณี ดังนั้น ถ้าหากจะเลือกเชื่อตามพงศาวดารเหนือ วัดมเหยงคณ์จะสร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 41 ปีเลยทีเดียวนะครับ

คำถามที่สำคัญก็คือว่า ทำไมพงศาวดารเหนือจึงระบุทั้งประวัติและปีที่สร้างวัดมเหยงคณ์ไว้ต่างจากพงศาวดารฉบับอื่นๆ?

 

มเหยงคณ์เป็นคำศัพท์ภาษาบาลี แปลว่าภูเขา หรือเนินดิน แต่ชื่อของวัดมเหยงคณ์นั้น น่าจะตั้งตามชื่อของมหิยังคณะเจดีย์ อันเป็นเจดีย์สำคัญแห่งหนึ่งในเกาะศรีลังกามากกว่า

ตำนานในมหาวงศ์พงศาวดารของลังกาทวีป ได้เล่าว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 9 เดือน ก็เสด็จมายังเกาะลังกาเป็นครั้งแรก ณ ขณะนั้น พวกยักษ์ได้ปกครองเกาะแห่งนี้อยู่ เมื่อพระพุทธองค์ทรงพบกับหัวหน้าของเหล่ายักษ์ที่ชื่อว่าสามน พระองค์ก็เลยทรงเทศนาพระธรรมคำสอนให้แก่ยักษ์สามนได้สดับ

หัวหน้ายักษ์ผู้นี้ซาบซึ้งในรสพระธรรมเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เอ่ยถามกับพระพุทธเจ้าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปแล้ว พวกเขาจะบูชาพระธรรมคำสอนและพระพุทธเจ้าได้อย่างไร?

พระพุทธองค์จึงทรงลูบไปที่พระเศียร แล้วส่งมอบพระเกศาธาตุให้กับยักษ์สามน เพื่อใช้เป็นตัวแทนสำหรับบูชาพระองค์

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับชมพูทวีป หัวหน้ายักษ์ตนนี้จึงสร้างพระเจดีย์องค์น้อยที่ชื่อ “มหิยังคณะเจดีย์” เพื่อประดิษฐ์พระเกศาธาตุ และถือว่าเป็นเจดีย์แห่งแรกในเกาะลังกา

แต่ตำนานใช่ว่าจะจบเพียงเท่านี้นะครับ

หนังสือมหาวงศ์ยังเล่าต่อไปด้วยว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อว่าสรภู ได้นำพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระกัณญมณีคือลูกกระเดือก ของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์แห่งนี้

จึงทำให้มีการต่อเติมมหิยังคณะเจดีย์จากพระเจดีย์องค์น้อยขึ้นเป็นเจดีย์ใหญ่ที่สูงถึง 5.5 เมตร

ต่อมาก็มีการบูรณะต่อเติมพระเจดีย์องค์นี้อยู่เนืองๆ จนกระทั่งมีความสูงถึง 37 เมตรในปัจจุบัน

การที่ตั้งชื่อวัดว่าวัดมเหยงคณ์ตามชื่อมหิยังคณะเจดีย์ จึงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ที่สยามถือว่าศักดิ์สิทธิ์ และเป็นคำสอนตามลัทธิเถรวาท ที่ถือว่าบริสุทธิ์ที่สุด

เพราะนอกจากจะได้รับพระธรรมคำสั่งสอนจากพระพุทธเจ้าโดยตรงแล้ว พระพุทธศาสนาในชมพูทวีปก็เสื่อมโทรมลงไปอีกด้วย

ดังนั้น การที่ใช้ชื่อว่า “วัดมเหยงคณ์” นั้น จึงอาจจะมีความหมายแฝงอยู่ด้วยว่า เป็นการประดิษฐานพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ลงในกรุงศรีอยุธยาเป็นแห่งแรก เช่นเดียวกับที่ “มหิยังคณะเจดีย์” เป็นเจดีย์แห่งแรกที่สร้างขึ้นบนสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับบนเกาะลังกา

 

และก็เพราะความสัมพันธ์กับพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์อย่างนี้เอง ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะอย่าง อ.สุรพล ดำริห์กุล แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอว่าการสร้างวัดมเหยงคณ์อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่ถูกระบุไว้ในหนังสือเก่าแก่เล่มหนึ่งของล้านนาที่ชื่อว่าชินกาลมาลีปกรณ์ ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2071

โดยมีข้อความระบุว่า ในสมัยของสมเด็จเจ้าสามพระยานั้นได้มีพระสงฆ์ชาวอยุธยา 2 รูป ชื่อว่าพระพรหมเถระ และพระโสมเถระ เดินทางไปศึกษาพระศาสนาแบบลังกาวงศ์ สายสีหล ที่เกาะศรีลังกาแล้วได้เดินทางกลับมาพร้อมกับกลุ่มพระสงฆ์ชาวเชียงใหม่, ชาวลพบุรี และชาวมอญ ที่นำโดยพระมหาธรรมคัมภีร์จำนวน 33 รูป ซึ่งเดินทางไปศึกษาพระศาสนานิกายเดียวกันที่เกาะศรีลังกาในช่วงเวลาเดียวกัน

หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ยังระบุไว้ด้วยว่า พระสงฆ์กลุ่มนี้พร้อมด้วยพระพรหมเถระ และพระโสมเถระได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาอยู่ถึง 4 พรรษา โดยในระหว่างนั้นได้อุปสมบทใหม่ให้พระมหาเถรสีลวิสุทธิ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระเทวีของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา และพระมหาเถรสัทธัมมโกวิทแห่งกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

การอุปสมบทให้ใหม่นี้ หมายถึงการเปลี่ยนจากนิกายดั้งเดิมของตนเองเข้าไปอยู่ในนิกายใหม่คือพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ สายสีหล

และการที่พระผู้ใหญ่ระดับพระมหาเถระ ผู้เป็นพระอาจารย์ของพระเทวีของพระมหากษัตริย์ได้ทำการอุปสมบทใหม่ ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงการเข้ามามีอิทธิพลของพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในกรุงศรีอยุธยา

ซึ่งก็ดูจะสอดคล้องกับการที่พงศาวดารอยุธยาหลายฉบับระบุว่า วัดมเหยงคณ์ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยาด้วย

โดยเฉพาะเมื่อคำว่า “มเหยงคณ์” นั้นมาจากคำว่า “มหิยังคณะ” อันเป็นชื่อของเจดีย์แห่งแรกบนเกาะลังกาเช่นกัน

 

แต่นอกจากชื่อของวัดแล้ว วัดมเหยงคณ์ยังมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ที่สำคัญอยู่อีกอย่างหนึ่งก็คือเจดีย์ช้างล้อม เพราะเป็นรูปแบบของเจดีย์ที่นิยมอยู่ในเกาะศรีลังกา

พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยได้ทรงสันนิษฐานเอาไว้ว่า เจดีย์ช้างล้อมที่วัดมเหยงคณ์นั้นได้แบบอย่างมาจากเจดีย์ชัย ที่พระเจ้าทุฐคามณีอภัยมหาราชแห่งลังกาทวีป ซึ่งทรงช้างชื่อกุณฑลทำสงครามชนะ จนได้เสด็จขึ้นครองราชย์ จึงได้สร้างเจดีย์ช้างล้อมเอาไว้ พร้อมทั้งทำนุบำรุงพุทธศาสนาในศรีลังกาจนรุ่งเรือง

แต่นักประวัติศาสตร์ศิลปะกระแสหลักของไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้นมักจะเชื่อว่า เจดีย์ช้างล้อมวัดมเหยงคณ์นั้นสามารถเปรียบเทียบรูปแบบทางงานช่างได้กับเจดีย์ช้างล้อม กลุ่มที่สร้างในงานช่างแบบสุโขทัย ทั้งที่เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร

ซึ่งรับอิทธิพลโดยตรงมาจากศิลปะลังกา และนิยมมาก่อนงานช่างแบบอยุธยามากกว่า

ลักษณะอย่างนี้ชวนให้นึกถึงข้อความในพงศาวดารเหนือ ที่ระบุว่าพระอัครมเหสีของพระเจ้าธรรมราชาเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ขึ้นมา เพราะพระนาม “ธรรมราชา” นั้นเป็นพระนามที่นิยมอยู่ในสายกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ที่มีพื้นฐานมาจากกลุ่มรัฐสุโขทัย

เช่นเดียวกับชื่อพงศาวดารเหนือ เพราะคำว่า “เหนือ” ในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึงภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน แต่หมายถึงกลุ่มรัฐสุโขทัย ซึ่งผู้คนในกรุงศรีอยุธยาถือว่าเป็นกลุ่มรัฐทางตอนเหนือสุด ที่นับลำดับพระญาติกันได้กับราชวงศ์ในกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

ดังนั้น ข้อมูลในพงศาวดารเหนือ จึงเป็นร่องรอยของสิ่งที่บอกเล่ากันอยู่ในสายราชวงศ์สุโขทัย หรือสายราชวงศ์พระร่วง ที่สัมพันธ์อย่างแนบชิดอยู่กับพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์มาก่อนอยุธยา

เป็นไปได้หรือเปล่าว่า การที่พงศาวดารเหนือระบุว่าวัดมเหยงคณ์สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าธรรมราชา ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยานั้น

นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของวัดมเหยงคณ์กับราชวงศ์พระร่วงแล้ว ก็ยังเปิดเผยให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการที่วัดแห่งนี้จะสร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893

แต่อาจจะมีการสร้างเจดีย์ช้างล้อมขึ้นเพิ่มเติมในสมัยของสมเด็จเจ้าสามพระยา

พร้อมๆ กับการเข้ามาของพุทธศาสนาลังกาวงศ์ สายสีหล ที่เข้ามาใหม่อีกระลอก พร้อมๆ กับการสถาปนาวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่อีกครั้ง?