มนัส สัตยารักษ์ | รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ

ข่าวก่อตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ “พิจารณาศึกษาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560” ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่น่ายินดีขึ้น 2 ประการที่สวนทางกัน

ประการแรก เป็นปรากฏการณ์ความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างพรรคฝ่ายค้านทั้งหลายกับอีกพรรคหนึ่งทางฝ่ายรัฐบาล คือพรรคประชาธิปัตย์

อีกประการหนึ่งก็คือ เป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ของความขัดแย้งทางการเมือง

ทั้ง 2 ประการดูด้วยตาเปล่าจะเห็นว่า “สวนทางกัน” อย่างชัดเจน แต่ก็เป็นที่น่ายินดี เพราะทั้งสองทาง จะทำให้ได้รู้กันเสียทีว่า ใครเป็นใคร อยู่จุดไหน และคิดอย่างไร ความขัดแย้งที่แตกหักเป็นที่ต้องการของประชาชนคนกลาง มากกว่าความอึมครึม ขู่คำรามกันไปมาไม่มีที่สิ้นสุด

ถ้าถือเอาตัวเองเป็นเกณฑ์ ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่มีวัยวุฒิระดับใกล้เคียงกับผมก็ย่อมต่อต้านรัฐธรรมนูญ 2560 มาตั้งแต่แรก หรือตั้งแต่เราพบว่าเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช. หรืออำนาจรัฐประหาร หรืออำนาจทหาร

เป็นรัฐธรรมนูญ “ปราบโกง” ที่ไม่มีใครในรัฐบาลปฏิบัติตามมาโดยตลอด

และเราก็ต่อต้านทั้งที่มีส่วนดีอยู่หลายประการ ไม่ “เฮงซวย” ไปทุกมาตราก็ตาม

เราต่อต้านทุกรัฐบาลที่ยึดอำนาจมาตั้งแต่รู้จักคำว่า “การเมือง” ต่อต้านทั้งๆ ที่ยังไม่หายแค้นรัฐบาลเก่าที่คอร์รัปชั่น เพราะรัฐบาลที่ล้มล้างอำนาจเก่ามาได้นั้น ล้วนแต่กลายเป็นเหลือบตัวใหม่ไปในระยะไม่นาน

คณะรัฐประหารที่ได้อำนาจไปหลัง 22 พฤษภาคม 2557 ก็เช่นกัน ทางเดียวที่จะรอดไปได้จากกรรมนี้ก็คือ เขียนรัฐธรรมนูญให้ “สืบทอดอำนาจ” ไว้อย่างน้อย 20 ปี หรือจนกว่าจะสิ้นยุคคนจงรักภักดี คสช.!

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงประหนึ่งไข่ในหินของพรรคแกนนำรัฐบาลทีเดียว

รัฐธรรมนูญ 2560 นอกจาก “โครงสร้างอำนาจ” หลักๆ แล้ว ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “กับดัก” อยู่มากมาย ที่เห็นกันชัดๆ ก็คือ

“ยุทธศาสตร์ชาติ” ซึ่งเหมือน “บังคับ” ให้คนไทยในอนาคตต้องคิดตามกรอบของคนปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ชาติไม่รับรู้ว่าเทคโนโลยีในอนาคตของโลกจะก้าวไปไกลกว่าปัจจุบันมาก

“มาตรฐานจริยธรรม” เป็นของใหม่ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นเพียง “นามธรรม” มากกว่าจะเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ กล่าวคือ เป็นเพียงอุดมการณ์ ค่านิยม และการ “ตีความ” เท่านั้น

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายและชัดเจนก็คือ จริยธรรมของนักการเมืองในการ “แจ้งบัญชีทรัพย์สิน” ถูกตีความตามอัตวิสัยว่า “ทรัพย์สินมีค่าหลายร้อยล้านที่อ้างว่ายืมเพื่อนมา ไม่แจ้งก็ได้” หรือสร้างตรรกะเพี้ยนๆ ว่า “ผู้บริหารระดับสูงไม่ทุจริต” ไม่จำเป็นต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน เป็นต้น

“กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูป 2 ฉบับ” คือปฏิรูปตำรวจและการศึกษา และคณะกรรมการปฏิรูป (โดยคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 2 ชุดแต่งตั้งโดยรัฐบาลปัจจุบัน)

“กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ” หรือกฎหมายลูก 10 ฉบับ ตรงจุดนี้ทั้งประชาชน ข้าราชการและองค์กรอิสระ ต่างได้ประสบกับตัวเองมาแล้ว จะเห็นได้ว่าความสับสนวุ่นวายยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

กล่าวอย่างสรุป ความ “ขี้ริ้ว” ของรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่ตรง “อำนาจวุฒิสมาชิก” ที่มากและพิสดารหลุดโลกเกินไป จนเห็นได้ชัดว่า คณะผู้ร่างมีเจตนา “สืบทอดอำนาจ คสช.”

โดยปกติประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอาจจะมีหรือไม่มีวุฒิสมาชิกก็ได้ หรือมีวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง และอาจจะมีที่แต่งตั้งมาบางส่วนตามสาขาอาชีพก็ได้ ทั้งนี้ จะเป็นอย่างไรนั้นก็แล้วแต่รูปแบบการปกครองของประเทศรวมทั้งคุณภาพของประชากร

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปสมาชิกวุฒิสภาจะอยู่ในฐานะพี่เลี้ยงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง

แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจพิเศษและพิสดารต่อวุฒิสมาชิก 250 คน มากกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก ตัวอย่างเช่น…

มาตรา 219 มีอำนาจในการให้ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในการจัดทำ “มาตรฐานทางจริยธรรม” เพื่อบังคับใช้ต่อองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

มาตรา 256 หากมีข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณา ในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อย 1 ในสาม (84 คน) จึงจะสามารถแก้ไขได้ มาตรานี้จึงเท่าเป็นฐานอำนาจให้แก่ คสช.

มาตรา 272 กำหนดว่า สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงมติให้ความเห็นชอบเลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในระยะห้าปีแรกนับตั้งแต่มีสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ มาตรานี้ก็เท่ากับ “ชิงทรัพย์ซึ่งหน้า”

นอกจากนั้น ยังมีมาตราอื่นๆ ให้อำนาจวุฒิสมาชิก ที่ทำให้พวกเขามีบารมีผุดพรายขึ้นมาโดยทันที เช่น อำนาจในการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลที่เข้าทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ หรือองค์กรที่มีบทบาท และที่สำคัญคือมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร มีอำนาจตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี เป็นต้น

และในมาตรา 236 บัญญัติให้วุฒิสมาชิก ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อกันให้ได้จำนวนมากกว่า 150 คน ก็สามารถกล่าวหาและถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่ ฯลฯ

ทั้งหมดล้วนเป็นการเพิ่มฐานะ เพิ่มบารมีให้แก่สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งต้องตอบแทนบุญคุณแก่ผู้ที่แต่งตั้งตนเข้ามาทั้งสิ้น

อำนาจเป็นสิ่งเสพติดที่หอมหวาน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ยังไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ” และประกาศว่าจะไม่ร่วมมือแน่ ถ้าลิดรอนอำนาจ ส.ว.

เห็นทีคนอยากแก้รัฐธรรมนูญต้องรอ ส.ว.ที่มีมันสมองของตัวเอง และไม่คิดตามนายเสรี สุวรรณภานนท์ อีก 84 คนเป็นอย่างน้อย หรือไม่ก็ต้องรอให้ประเทศไทยหมดคนรุ่น คสช. และมีนักรัฐประหารรุ่นใหม่!

ในระหว่างที่รออย่างลมๆ แล้งๆ ก็ติดตามข่าว “แย่งชิงการนำ” คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ไปพลาง

ถ้าเห็นว่ามันเป็นข่าวที่ไร้สาระและห่างไกลตัวเกินไป ก็อาจจะติดตามดูพฤติกรรมของ ส.ส.ที่กินยาผิดซองไปพลางๆ ก็ได้

อย่างน้อยก็มีความบันเทิงเจือปนความน่ารำคาญอยู่บ้าง