สุรชาติ บำรุงสุข | รำลึกกำแพงเบอร์ลิน! 30 ปีสิ้นสุดสงครามเย็น

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“คำพูดที่น่าภาคภูมิใจที่สุดเมื่อสองพันปีที่แล้วคือ ข้าพเจ้าเป็นพลเมืองชาวโรมัน แต่ในโลกของเสรีภาพวันนี้ คำที่น่าภาคภูมิใจที่สุดคือ ข้าพเจ้าเป็นชาวเบอร์ลิน… เสรีชนทั้งหลาย ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ท่านคือพลเมืองชาวเบอร์ลิน ดังนั้น ในฐานะเสรีชน ข้าพเจ้ามีความภูมิใจที่จะประกาศว่า ข้าพเจ้าเป็นชาวเบอร์ลิน”

ประธานาธิบดีเคนเนดี้, 26 มิถุนายน 1963

9พฤศจิกายน 1989… จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการเมืองโลกร่วมสมัย และจุดเริ่มต้นนี้มีกำแพงเบอร์ลินเป็นตัวแทน

บทความนี้จึงขอย้อนอดีตด้วยคำกล่าวที่มีชื่อเสียงของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในวลีทองของยุคสงครามเย็น ที่กล่าวด้วยภาษาเยอรมันว่า “Ich bin ein Berliner” (I am Berliner – ข้าพเจ้าเป็นชาวเบอร์ลิน)

9 พฤศจิกายน 2019… สงครามเย็นสิ้นสุดไปนานถึง 30 ปีแล้ว วันนี้กำแพงที่เป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งโลกที่สำคัญที่สุดชุดหนึ่งของยุคสงครามเย็นกลายเป็นประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับที่สงครามเย็นกลายเป็นประวัติศาสตร์สุดท้ายของการสิ้นสุดสงครามใหญ่ของโลกในศตวรรษที่ 20

ในอีกด้านก็เห็นการเติบโตของเยอรมนีในยุคหลังสงคราม ที่วันนี้เยอรมนีเป็น “เสาหลัก” สำคัญหนึ่งของยุโรป

โลกใหม่หลังสงคราม

7พฤษภาคม 1945… เยอรมนีประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข การสิ้นสุดของสงครามโลกตามมาด้วยเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในเวทีการเมืองโลกคือ การแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ และการต่อสู้ที่เกิดขึ้นนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการที่คู่แข่งขันมีสถานะเป็น “รัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์”

ดังนั้น ภายใต้สภาวะเช่นนี้ทำให้รัฐมหาอำนาจทั้งสองไม่สามารถขยายความขัดแย้งให้กลายเป็นสงครามในแบบเดิม เช่นที่เกิดขึ้นในยุคสงครามโลกทั้งสองครั้ง

กล่าวคือ รัฐมหาอำนาจทั้งสองจะไม่เสี่ยงที่จะยกระดับความขัดแย้งที่เกิดให้เป็น “สงครามร้อน” (hot war) คือจะไม่ยอมให้เกิด “ความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ” ระหว่างรัฐมหาอำนาจ เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์

ผลจากสภาพเช่นนี้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่เกิดขึ้นถูกจำกัด และจะไม่ใช้อาวุธต่อสู้กันโดยตรง

สงครามจึงมีสภาพเป็น “เย็น” ไม่ใช่ “ร้อน” ในแบบสงครามทั่วไป

หรือเรียกภาวะเช่นนี้ว่า “สงครามเย็น” (The Cold War) คือเป็นสงครามที่รัฐมหาอำนาจใหญ่รบไม่ได้ มิฉะนั้น สงครามที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ หรือในทางทฤษฎีคือจะไม่เกิดสิ่งที่เป็น “open armed conflict”

ทว่าการต่อสู้กลับมีความเข้มข้นในมิติอื่น โดยเฉพาะการต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อชักจูงให้ผู้คนในอีกฝ่ายหนึ่งคล้อยตามและตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายตน การต่อสู้อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการใช้ “สายลับ” เพื่อดำเนินภารกิจลับในการแสวงข้อมูลด้านข่าวกรองของฝ่ายตรงข้าม

การใช้สายลับเกิดขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตะวันตกหรือฝ่ายตะวันออก

จนสายลับกลายเป็นภาพของตัวแทนชุดหนึ่งของโลกสงครามเย็น (หนังสือและภาพยนตร์อย่างเจมส์ บอนด์ 007 เป็นตัวแทนที่ดีของเรื่องนี้)

ในอีกด้านการแข่งขันยังปรากฏในรูปของการสร้างความเหนือกว่าทางเศรษฐกิจ (วัดจากความเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละค่าย)

ยังรวมถึงการแข่งขันในทางสังคมจิตวิทยา (เช่น ค่ายตะวันตกหรือตะวันออกจะได้เหรียญทองมากกว่ากันในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก)

และการแข่งขันด้านอวกาศ (เช่น ใครจะส่งดาวเทียมและสิ่งมีชีวิตขึ้นสู่อวกาศได้ก่อน)

ทั้งหมดนี้เกิดจากความแตกต่างทางอุดมการณ์ของแต่ละฝ่าย ที่ความต่างนี้มีความชัดเจนในตัวเอง เช่น ในทางการเมืองคือการต่อสู้ระหว่าง “เสรีนิยม vs สังคมนิยม”

ในทางเศรษฐกิจคือการแข่งขันระหว่างเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยม vs วางแผนจากส่วนกลาง”

ความแตกต่างเช่นนี้นำไปสู่ปัญหาความมั่นคงที่สำคัญคือ ต่างฝ่ายต่างมองอีกฝ่ายเป็นภัยคุกคาม แต่ภัยเช่นนี้ก็ไม่สามารถทำลายลงได้ด้วยเงื่อนไขสงคราม ต่างจากเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างมากที่อุดมการณ์ “เสรีนิยม + สังคมนิยม vs สังคมชาตินิยม (ฟาสซิสต์)” และจบลงด้วยการพ่ายแพ้ของลัทธิฟาสซิสต์ แล้วสองอุดมการณ์ที่เหลือก็แข่งขันกันอย่างเต็มที่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

การต่อสู้ที่เกิดขึ้นจึงมีพื้นฐานของทัศนะ (perception) ในเรื่องของความกลัว ความหวาดระแวง การแข่งขัน ความต้องการเอาชนะเพื่อแสดงให้เห็นความเหนือกว่า การมองฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรูและ/หรือเป็นภัยคุกคาม (และเป็นศัตรูที่ไม่อาจประนีประนอมได้) และความเชื่อว่าอีกฝ่ายต้องการทำลายวิถีชีวิตและค่านิยมของฝ่ายตน

ทัศนะเช่นนี้จึงแยกโลกออกเป็น “สองค่าย” อย่างชัดเจนระหว่างฝ่ายตะวันตกและตะวันออก ขณะเดียวกันรัฐมหาอำนาจก็สร้างและขยายเขตอิทธิพลในเวทีโลกทั้งด้วยการสร้างแรงจูงใจให้เข้าร่วมกับฝ่ายตน ด้วยการให้ความช่วยเหลือทั้งในทางเศรษฐกิจและการทหาร และถ้าจำเป็นก็อาจมีการใช้กำลังบังคับให้รัฐเป้าหมายกระทำตามนโยบายของรัฐมหาอำนาจ

ทิศทางการเมืองโลกเช่นนี้แตกต่างจากการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจในแบบเดิมอย่างมาก ภายใต้ข้อจำกัดจากการมีอาวุธนิวเคลียร์

แต่ขณะเดียวกันก็มีการเผชิญหน้าและการแข่งขันอย่างเข้มข้น และสภาวะเช่นนี้ก่อตัวเป็น “ระเบียบใหม่ระหว่างประเทศ” ในยุคหลังสงคราม หรือเรียกว่า “ระเบียบยุคสงครามเย็น” ที่มีการแข่งขันระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกเป็นพื้นฐาน

และมีการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ทุนนิยมและสังคมนิยมเป็นแกนกลางของปัญหา

ปัญหาเยอรมนี

30 เมษายน 1945… ฮิตเลอร์ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในบังเกอร์ที่เบอร์ลิน และในวันเดียวกันนั้นครื่องบินรัสเซียได้พา Walter Ulbricht ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันที่หลบหนีภัยนาซีออกไปอยู่ที่รัสเซียตั้งแต่ปี 1933 กลับเข้าเบอร์ลิน เพื่อเตรียมการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

และในวันที่ 2 พฤษภาคม เบอร์ลินก็ยอมแพ้แก่รัสเซีย อันนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลนิยมโซเวียตขึ้นในเบอร์ลินและในเยอรมันตะวันออกในเวลาต่อมา

ในอีกด้านสงครามจบลงด้วยการขยายอิทธิพลของโซเวียตในยุโรปตะวันออก อันเป็นผลของการปลดปล่อยของกองทัพรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นในโปแลนด์ บัลแกเรีย ฮังการี โรมาเนีย เยอรมนี (ส่วนตะวันออก)

แม้ในกรณีของยูโกสลาเวียจะไม่ถูกปลดปล่อยจากนาซีด้วยกองทัพแดง แต่ประเทศก็ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม

ส่วนกรีซอาจจะไม่ได้ถูกปลดปล่อยโดยกองทัพแดง แต่ขบวนการใต้ดินที่ต่อต้านนาซีเป็นพวกนิยมคอมมิวนิสต์ ปัญหาความมั่นคงของยุโรปในช่วงหลังสงครามจึงเริ่มเห็นถึงการแบ่งพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ออกเป็นสองส่วนคือ ยุโรปตะวันตกและตะวันออก

ผลสืบเนื่องจากการสิ้นสุดสงครามเช่นนี้นำไปสู่การแบ่งเบอร์ลินออกเป็นสี่ส่วน ภายใต้การยึดครองของรัฐมหาอำนาจ 4 ฝ่าย คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต และเยอรมนีก็ถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วนเช่นเดียวกันด้วย

แต่กระนั้นประเด็นสำคัญที่ไม่มีข้อยุติในระหว่างชาติพันธมิตรทั้งสี่ก็คือ ปัญหาเยอรมนี… จะดำเนินการกับอนาคตของเยอรมนีอย่างไร (หรือที่เรียกกันว่า “The German Question”)

และก็หวังว่าวันหนึ่งเยอรมนีจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว แต่ในความเป็นจริงคือเอกภาพและการรวมชาติของเยอรมนีนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยในสถานการณ์เช่นนั้นที่สำคัญ ทั้งสี่ส่วนมีการบริหารและการจัดการที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการเมือง เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การศึกษา และการจัดการกับปัญหานาซี

และความต่างเช่นนี้เห็นได้ชัดระหว่างโซนของสหรัฐกับรัสเซีย

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเยอรมนีที่ถูกแบ่งเป็นสองประเทศ และเบอร์ลินก็ถูกแบ่งเป็นสองโซนเช่นเดียวกัน

การแบ่งเช่นนี้เกิดท่ามกลางการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่มีแต่ความหวาดระแวงและความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

แบ่งด้วยกำแพง!

ในที่สุดแล้วสหรัฐและอังกฤษมีความเห็นที่จะรวมเยอรมนีภายใต้การควบคุมของตนเข้าเป็นหนึ่งเดียวในปี 1947 และต่อมาในปี 1948 ฝรั่งเศสก็เข้าร่วมด้วย

ฝ่ายตะวันตกมีความเห็นที่ชัดเจนว่า การผลักดันให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมันจะเป็นหลักประกันที่สำคัญที่จะป้องกันไม่ให้เยอรมนีเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยการจัดทำแผนการมาร์แชล (The Marshall Plan) และจะเป็นโอกาสที่จะสร้างเยอรมนีตะวันตกที่เป็นเอกราช ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนให้เกิดเงินสกุลของเยอรมันเองอีกด้วย (หมายถึง Deutsche Mark) อันจะทำให้เยอรมนีตะวันตกมีความเข้มแข็งขึ้นในอนาคต

แน่นอนว่าสตาลินเฝ้ามองการก่อตัวของเยอรมนีตะวันตกด้วยความหวาดระแวง เพราะเบื้องหลังคือการดำเนินการของฝ่ายตะวันตก

รัสเซียตอบโต้ด้วยการจัดตั้งโคมินฟอร์ม (Cominform) ซึ่งฝ่ายตะวันตกตีความว่า องค์กรนี้คือ Comintern ที่ทำหน้าที่ในการเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และจัดทำเงินสกุลของเยอรมันตะวันออก (The East Mark) แต่ฝ่ายตะวันตกไม่อนุญาตให้ใช้ในเบอร์ลินตะวันตก และนำเอาเงินสกุลของเยอรมันตะวันตกเข้ามาใช้

ผู้นำรัสเซียจึงตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการ “ปิดล้อมเบอร์ลิน” (The Berlin Blockade)

23 มิถุนายน 1948… สำนักข่าวของรัสเซียได้ส่งข้อความให้กับหนังสือพิมพ์ในเบอร์ลินว่า “พรุ่งนี้ในเวลา 06.00 การจราจรเข้าและออกจากเบอร์ลินจะปิด เพราะความยุ่งยากทางเทคนิคบางประการ” ถ้ารัสเซียปิดเบอร์ลินจริง สหรัฐจะทำอย่างไร

24 มิถุนายน 1948… เบอร์ลินตะวันตกที่อยู่ลึกเข้าไปดินแดนของเยอรมนีตะวันออกที่อยู่ภายใต้การควบคุมของโซเวียตถึง 160 กิโลเมตร ถูกปิดการเข้า-ออกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นถนน คลอง เส้นทางรถไฟ

การปิดล้อมเช่นนี้ท้าทายรัฐมหาอำนาจตะวันตกเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมืองสามารถอยู่รอดได้ด้วยอาหารและเชื้อเพลิงเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น

และการปิดล้อมนี้เป็นการบีบให้ฝ่ายตะวันตกต้องยอมจำนนและถอนตัวออกจากการครอบครองเบอร์ลินตะวันตก มิฉะนั้นแล้วชาวเบอร์ลินตะวันตกจะอดตาย

25 มิถุนายน 1948… สหรัฐตัดสินใจรักษาเบอร์ลินด้วยปฏิบัติการทางอากาศอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

การส่งความช่วยเหลือทางอากาศแบบตลอดวัน (round-the-clock) เริ่มขึ้น เพราะเส้นทางอากาศไม่ได้ถูกปิด ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “การขนส่งทางอากาศที่เบอร์ลิน” (The Berlin Airlift)

สหรัฐเชื่อว่าถ้าเสียเบอร์ลินตะวันตก ก็จะเสียเยอรมนีตะวันตก เครื่องบินขนส่งของสหรัฐบินเข้าเบอร์ลินตลอดเวลา… เครื่องลงทุกสามนาที ในช่วงสูงสุดนั้น การขนส่งความช่วยเหลือมากถึง 13,000 ตันต่อวัน

12 พฤษภาคม 1948… รัสเซียยกเลิกการปิดล้อม แต่ทั้งหมดนี้ล้วนตอกย้ำว่าเบอร์ลินแบ่งเป็นสองและเยอรมนีก็แบ่งเป็นสองเช่นกัน

แต่การแบ่งนี้ไม่มีอุปสรรคขวางกั้นการหลบหนีของชาวตะวันออก ประมาณว่าระหว่างปี 1949-1961 มีคนหลบออกจากเยอรมนีตะวันออกมากถึง 2.8 ล้านคน

สำหรับผู้นำรัสเซียแล้ว การอพยพนี้ไม่เพียงทำลายภาพลักษณ์ของค่ายคอมมิวนิสต์เท่านั้น หากยังทำให้เกิดการไหลของแรงงานที่มีฝีมือในการสร้างรัฐสังคมนิยมเยอรมันออกไปด้วย… ถึงเวลาที่จะต้องปิดบ้านแล้ว!

13 สิงหาคม 1961… รัสเซียนำเอาลวดหนามชุดแรกแบ่งพื้นที่ระหว่างโซนของรัสเซียกับของฝ่ายตะวันตก และในอีกสี่วันถัดมา ลวดหนามก็ถูกแทนด้วยก้อนคอนกรีต อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกำแพงเบอร์ลิน

นับจากนี้กำแพงกลายเป็นทั้งจุดแบ่งค่ายทางการเมืองและเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งโลกของยุคสงครามเย็น ที่สำคัญคือการบอกว่าการรวมชาติเยอรมนียังอยู่ห่างไกล

กำแพงพัง!

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดกับการเปลี่ยนผู้นำของโซเวียตในช่วงปลายทศวรรษ 1980 เช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นโปแลนด์ ฮังการี รวมทั้งในเยอรมนีตะวันออก จนในที่สุดอำนาจรัฐในเบอร์ลินตะวันออกพังลง คลื่นของการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว

9 พฤศจิกายน 1989… เยอรมนีตะวันออกยอมเปิดพรมแดน การสิ้นสภาพของอำนาจรัฐเยอรมนีตะวันออกกลายเป็นผลกระทบกับรัฐในยุโรปตะวันออกโดยตรง และบ่งบอกถึงอำนาจในการควบคุมของรัสเซียที่เกิดตั้งแต่หลังสงครามกำลังสิ้นสุดลง

4 ธันวาคม 1989… ประธานาธิบดีบุชและประธานาธิบดีกอร์บาชอฟพบกันในการประชุมสุดยอดที่เกาะมอลตา และประกาศถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกว่าสงครามเย็นมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว…

สงครามเย็นยุตินาน 30 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าวันนี้สงครามเย็นครั้งใหม่กำลังก่อตัวขึ้น!