วิกฤติศตวรรษที่ 21 | การเร่งรัดพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของจีน

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (24)

การเร่งรัดพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของจีน

ด้านหนึ่ง เป็นการต่อเนื่องกับนโยบายสี่ทันสมัยที่ปฏิบัติตั้งแต่สมัยเติ้งเสี่ยวผิง เมื่อ 40 ปีมาแล้ว

นั่นคือการทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร อุตสาหกรรม การทหาร การป้องกันประเทศของจีนทันสมัย ด้านที่สืบทอดมีทั้งหลักการแนวทาง เช่น การยึดมั่นในการนำของพรรค การเห็นว่าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญของชนชั้นคนงานในการขับเคลื่อนประเทศให้ทันสมัย ระหว่างนั้นมีการประกาศแผนการใหญ่ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์หลายครั้ง ครั้งท้ายในปี 2006 ประกาศ “แผนระยะปานกลางและระยะยาวเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี 2006-2020”

เป้าประสงค์สำคัญในการแปรประเทศจีนเป็น “ประเทศนวัตกรรม” ในปี 2020 โดยเสริมสร้างความสามารถในนวัตกรรมเชิงปัญญา

ปรากฏว่าในปี 2019 จีนได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมสูงสุดในประเทศรายได้ปานกลาง 7 ปีต่อเนื่องกัน

และติดอันดับที่ 14 ของประเทศที่มีนวัตกรรมสูงสุดของโลก สหรัฐอยู่อันดับ 3

(มองในด้านประเทศขนาดใหญ่ที่มีนวัตกรรมขั้นสูง จีนก็เป็นรองแต่สหรัฐ)

อีกด้านหนึ่ง การเร่งรัดของจีนเกิดจากความต้องการปรับตัวชิงขึ้นหน้าตะวันตกในสถานการณ์พลิกผัน ซึ่งพื้นฐานเกิดจากวิกฤติใหญ่การเงินโลกในปี 2008 บีบให้ประเทศต่างๆ คิดค้นหาทางออกจากวิกฤติด้วยมาตรการทางการเงินการคลัง เป็นต้น

และที่สำคัญในระยะปานกลางและระยะยาว ได้แก่ การคิดทำปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ เพื่อให้พ้นจากภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ

จีนเข้าร่วมขบวนนี้ด้วยการประกาศยุทธศาสตร์ “ทำในประเทศจีน 2025” ที่เน้นการแปรเป็นดิจิตอล

ในเดือนมีนาคมปี 2016 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในโลกปัญญาประดิษฐ์ เมื่อบริษัทดีพมายด์ในเครือกูเกิลได้สร้างโปรแกรมอัลฟาโกะ สามารถเล่นชนะแชมป์มืออาชีพระดับ 9 ชาวเกาหลีได้ แสดงความรุดหน้าของสหรัฐ ในเรื่องนี้ เปิดก้าวใหญ่แห่งการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แก่ประเทศทั้งหลาย

ในเดือนกรกฎาคม 2017 รัฐบาลจีนประกาศ “แผนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่” มีเป้าหมายสามขั้นด้วยกัน

ขั้นแรก ในปี 2020 ต้องการให้บริษัทและสถาบันการวิจัยและพัฒนาของจีน ก้าวสู่ระดับเดียวกับมหาอำนาจอย่างเช่นสหรัฐ

ขั้นที่สอง ในปี 2025 ให้จีนสามารถแซงหน้าในงานปัญญาประดิษฐ์บางด้านที่เป็นหัวใจของการแปรโฉมเศรษฐกิจของจีน

และขั้นสุดท้าย ในปี 2030 จีนจะกลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ระดับต้นของโลก

ที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์อาจเข้าใจอย่างง่ายๆ ในเบื้องต้นว่า เป็นระบบที่สามารถทำงานที่ปรกติต้องใช้ปัญญาของมนุษย์ ได้แก่ การเรียนรู้ การวางแผนและความสามารถในการสรุปความทั่วไป

ปัญญาประดิษฐ์อย่างแคบสามารถทำงานได้เฉพาะอย่าง เช่น แปลภาษา

ปัญญาประดิษฐ์อย่างกว้างมีอำนาจในการรับรู้คล้ายมนุษย์ สามารถแก้ปัญหาและทำงานได้หลายอย่าง

ปัญญาประดิษฐ์ในขณะนี้อยู่ในขั้นอย่างแคบ เป็นที่เห็นได้ง่ายว่า ผู้ที่ได้เปรียบทางปัญญาประดิษฐ์ ย่อมได้เปรียบทางการเกษตร อุตสาหกรรม การทหารและกิจกรรมอื่นๆ ปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ต่อยอดสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีเดิมให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว แม่นยำ สร้างมูลค่าได้มาก

ทำให้ทุกสิ่งที่มันต่อยอด กลายเป็นสิ่ง “ฉลาด” สามารถนำพาเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะชะงักงันได้

สำหรับจีนยังมีพิเศษกว่านั้น คือเป็นโอกาสทองในการพลิกสถานการณ์ให้ขึ้นมาเอาชนะในการแข่งขันเป็นประเทศทันสมัยได้ ไม่ต้องเที่ยวไล่ตามเทคโนโลยีด้านอื่นทีละด้านหรือหลายด้าน และจีนยังสามารถใช้ความได้เปรียบที่มีอยู่

เช่น การมีประชากรที่ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ใช้สมาร์ตโฟนและอินเตอร์เน็ตมากกว่าประเทศใดในโลก ได้รับผลดีอย่างสูงจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ มีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีทันสมัย

เป็นที่สังเกตว่าการสร้างแผนและยุทธศาสตร์ของจีน เกิดขึ้นในกระบวนการตัดสินใจที่ยาวนานและต่อเนื่อง ทั้งจากล่างขึ้นบนและบนลงล่าง

ไม่ใช่เป็นรวมศูนย์สั่งการจากข้างบนอย่างเดียวที่เข้าใจกัน มีการสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับองค์การที่ไม่ใช่ภาครัฐ ที่สำคัญคือภาคธุรกิจเอกชน การสื่อสารระหว่างภายในพรรคและภายนอกพรรค คือองค์กรพันธมิตรต่างๆ และสาธารณชนทั่วไป

ดังนั้น แนวทางนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ศูนย์การนำของจีนออกมาในช่วงหลายสิบปีมานี้ จึงค่อนข้างมีเอกภาพทั้งภายในพรรค รัฐบาล กองทัพ

ภาคธุรกิจเอกชนรวมทั้งในหมู่ชาวจีนและสังคมจีนได้พอสมควร เมื่อเทียบกับที่เป็นไปในประเทศมหาอำนาจตะวันตก อย่างเช่น สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่เกิดความแตกแยกในแนวทางนโยบายของประเทศอย่างหนัก

เมื่อศูนย์กลางกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์แล้ว หน่วยงานอื่นก็รับลูกมาปฏิบัติ ที่สำคัญได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปลายปี 2017 ได้ออก “แผนปฏิบัติงานสำหรับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ระหว่างปี 2018-2020” ประกอบด้วย 4 ภารกิจใหญ่ ได้แก่

(1) การพัฒนา “ผลผลิตที่ฉลาด” 8 ประเภท ได้แก่ ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองแบบเครือข่าย (ผ่านอินเตอร์เน็ตซึ่งจะทำให้สามารถสร้างยานยนต์ขนาดเล็กและปลอดภัยกว่า)

หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถให้บริการต่างๆ ในบ้านจากการทำความสะอาด ดูแลคนชราไปจนถึงช่วยเด็กทำการบ้าน ในบริการสาธารณะ เช่น การตรวจตรา การนำทาง และการช่วยเหลือจากอัคคีภัย การเชื่อมต่อคนกับคอมพิวเตอร์ บริการทางการแพทย์ เช่น หุ่นยนต์ผ่าตัด ในปี 2020 สร้างความรุดหน้าในด้านสร้างความตระหนักใน สิ่งแวดล้อม การเชื่อมต่อระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์แบบเป็นธรรมชาติเหมือนเมื่อผู้คนพบปะสนทนากัน

ภารกิจข้อที่ (2) การเสริมความมั่นคงพื้นฐานอุตสาหกรรมทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ได้แก่ การก้าวรุดหน้าในรากฐานใจกลาง คือ การผลิตชิพโครงข่ายประสาทเทียม ซึ่งสหรัฐนำหน้าจีนไปไกล การผลิตอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ฉลาด สร้างแพลตฟอร์มแบบเปิดเผย (ไม่มีค่าตอบแทน) ซึ่งช่วยสร้างไล่ทันสหรัฐ

ภารกิจข้อที่ (3) ส่งเสริมการพัฒนา “การผลิตอุตสาหกรรมเชิงปัญญาประดิษฐ์”

และภารกิจข้อที่ (4) สร้างปัญญาประดิษฐ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น เร่งการพัฒนา “อินเตอร์เน็ตปัญญาประดิษฐ์รุ่นต่อไป”

ตัวอย่างการใช้ปัญญาประดิษฐ์ทางสาธารณะผ่านอินเตอร์เน็ต เช่น การเปิดศาลอินเตอร์เน็ตกรุงปักกิ่งเป็นศาลไซเบอร์ ผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ในคดีเกี่ยวกับการช้อปปิ้งออนไลน์ ข้อพิพาทสัญญาการให้บริการ การกู้เงินออนไลน์ การละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

และมีการใช้ผู้พิพากษาปัญญาประดิษฐ์ ช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีความต่างๆ ช่วยงานด้านการรับคดีความและงานประจำพื้นฐานอื่นๆ เป็นการแบ่งเบางานของผู้พิพากษาให้ทำงานด้านการพิจารณาคดีแท้ๆ เหล่านี้ช่วยงานตุลาการให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและเปิดกว้างขึ้น

แม้มีบางส่วนติงว่าอาจเป็นการเปิดเผยเรื่องส่วนตัวของผู้คนมากเกินไป

ในปีเดียวกันนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังได้จัดประกวดให้ทุนแก่โครงการที่มีลักษณะแปรโฉมเทคโนโลยีของจีนใน 13 ประเภทโครงการ โดยต้องแล้วเสร็จในปี 2021 เป็นการกระตุ้นอีกทางหนึ่ง ซึ่งมีโครงการหนึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาชิพเชิงปัญญาประดิษฐ์ที่ให้มีพลังสูงกว่าชิพที่ผลิตโดยบริษัทเอ็นวิเดียของอเมริกา นำมาสู่การตั้งคณะทีมงานปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติขึ้น นำด้วยบริษัทใหญ่ทางด้านข่าวสารการสื่อสารและปัญญาประดิษฐ์ อย่างเช่น ไป่ตู้ อาลีบาบา เท็นเซนต์ และไอฟลายเทค เพื่อเร่งการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น

พร้อมกันนั้น เร่งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยในปี 2018 มีข่าวการก่อสร้างอุทยาน หรือวิทยาเขตปัญญาประดิษฐ์ขนาดใหญ่มูลค่า 13.8 พันล้านหยวน (ราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สามารถรองรับบริษัทต่างๆ ได้ถึง 400 บริษัท กำหนดแล้วเสร็จในอีกห้าปีข้างหน้า สามารถสร้างงานเป็นมูลค่า 50 พันล้านหยวนต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานแผนปัญญาประดิษฐ์ของจีน ทำหน้าที่ในการทำให้ยุทธศาสตร์นี้เป็นจริงในทางปฏิบัติ สร้างความร่วมมือของหลายฝ่าย และมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการแผนปัญญาประดิษฐ์ในปลายปี 2017 เพื่อทำการวิจัยทางด้านยุทธศาสตร์และให้ข้อเสนอแนะ

การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของจีนมีลักษณะเฉพาะ ต่างกับการพัฒนาบางเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น เช่น การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในแบบนั้นอาศัยรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะการรถไฟจีนเป็นสำคัญ ในเวลาเพียงราว 10 ปี ใช้เงินหลายแสนล้านดอลลาร์ สามารถสร้างเครือข่ายทางรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศความยาวราว 29,000 กิโลเมตร มากกว่าทุกประเทศในโลกรวมกัน แต่การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์มีความซับซ้อนกว่านั้น

ปัญญาประดิษฐ์ต้องการการพัฒนาหลายด้าน คือ การมีข้อมูลใหญ่และการประเมินผลได้ การเรียนรู้หรือการตัดสินใจเชิงอัลกอริธึ่ม การมีคอมพิวเตอร์อำนาจคำนวณสูง เป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์และควอนตัมคอมพิวเตอร์ และท้ายสุดการสร้างแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้อย่างหลากหลายครอบคลุม

เหล่านี้เกินความสามารถของภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่จะแบกรับปฏิบัติให้สำเร็จได้ในระยะสั้น ต้องอาศัยภาคธุรกิจเอกชนและผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือกลุ่ม สตาร์ตอัพ เพื่อพัฒนาแผ่ขยายระบบปัญญาประดิษฐ์ของจีนทั้งภายในและระหว่างประเทศ

นโยบายนี้ได้รับผลสำเร็จระดับสูง จีนสามารถสร้างบริษัทด้านดิจิตอลและปัญญาประดิษฐ์ อย่างเช่น ไป่ตู้ อาลีบาบา เทนเซนต์ หัวเว่ย เป็นต้น เทียบชั้นบริษัทชั้นนำระดับโลกของสหรัฐคือ แอมะซอน แอปเปิล และกูเกิลได้ และในปี 2019 สถาบันบางแห่งผู้จัดอันดับบริษัทยูนิคอร์น (บริษัทสตาร์ตอัพที่มีมูลค่ากิจการกว่า 1 พันล้านดอลลาร์)

รายงานว่าจำนวนบริษัทยูนิคอร์นของจีนได้แซงหน้าของสหรัฐไป โดยจีนมีบริษัทยูนิคอร์น 206 แห่ง ขณะที่สหรัฐมี 203 แห่ง

แต่สำนักจัดอันดับอื่นระบุว่าจำนวนบริษัทยูนิคอร์นของสหรัฐยังทิ้งห่างจีน

งานพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ ถือว่าเสร็จครบถ้วนในขั้นต้น เมื่อกลุ่มสถาบัน (เช่น สถาบันปัญญาประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง) และบริษัทชั้นนำ (เช่น ไป่ตู้) ด้านปัญญาประดิษฐ์ของจีน ประกาศหลักจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ปักกิ่ง เดือนพฤษภาคม 2019 ซึ่งมีหลักจริยธรรม 13 ข้อ แบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การนำไปใช้ และการจัดการ

ในส่วนแรก การวิจัยและพัฒนา มีหลักการว่า จะต้องเอื้อประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ ได้แก่ ความเป็นส่วนตัว ศักดิ์ศรี เสรีภาพ และเป็นอิสระ

ส่วนที่สอง การนำไปใช้ เน้นหลักการ ความมั่นคงและความปลอดภัยทางปัญญาประดิษฐ์อย่างต่อเนื่อง การได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง ไม่ให้เกิดการถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และการเปิดกว้าง

ในส่วนที่สามคือ สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ หลีกเลี่ยงการแข่งขันทางปัญญาประดิษฐ์ที่ส่งผลร้าย เป็นอันตรายต่อสังคมและประชาชน การวางแผนระยะยาวในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ก้าวหน้าขึ้น

(ดูบทวิเคราะห์ของ Sophie-Charlotte Fischer ชื่อ Artificial Intelligence : China”s High-Tech Ambitions ใน etnz.ch กุมภาพันธ์ 2018 และหัวข้อ AI Policy- China ใน futureoflife.org 2019)

คำประกาศนี้ควรถือว่ามีความสำคัญ ที่มันเสริมแนวทางนโยบายหลักของจีน 4 ประการ เป็นสัญญาที่ให้แก่ชาวจีนเป็นเบื้องต้น และแก่ชาวโลกทั่วไปว่า จีนจะเป็นพลังในการสร้างความเจริญไพบูลย์ มีระดับวัฒนธรรมสูง มีการพัฒนาที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยึดถืออารยธรรมนิเวศ และสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ

เป็นการรุกทางวัตถุและอุดมการณ์ครั้งใหญ่ต่อสหรัฐ ไม่ได้ตั้งรับด้านเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและความยากจนล้าหลัง เหมือนอย่างเดิม

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงปัญญาประดิษฐ์กับการทหาร และจรวดตงเฟิงของจีน