สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ (จบ) เรียนน้อยงานหนัก เรียนหนักงานเบา

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจบปาฐถถาลง พิธีกรประกาศเชิญครูอรพินท์ ครูกาญจนา ครูสุเทพ และครูนูรีซาน เจะยอ ครูต้นแบบการสอนภาษามลายู แห่งโรงเรียนนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา ขึ้นเวทีเสวนา หัวข้อ ห้องเรียนสร้างแรงบันดาลใจ บทเรียนจากอาจารย์และครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

“รู้สึกท้าทายอย่างไรในการเข้าร่วมโครงการครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ” พิธีกรโยนคำถามแรกให้ทุกคนสะท้อนคิด

 

ครูอรพินท์ขอตอบเป็นคนแรก

“รู้สึกดีใจที่นักศึกษาจะไปเรียนรู้กับเรา ดิฉันเป็นศิษย์เก่า วค.ยะลา มาถึงจุดนี้ได้ จึงอยากถ่ายทอดประสบการณ์ให้น้องๆ น่ารักมาก ทุกรุ่นที่ไป ครูรู้สึกภูมิใจมากกับมหาวิทยาลัย ทุกคนมีความเป็นครูค่อนข้างสูง แม้เวลาไม่นานมาก แต่เขาเรียนรู้ เก็บเกี่ยวได้เยอะ”

ต่อด้วยครูกาญจนา “ยินดีที่ได้เป็นแบบอย่างกับคนอื่นได้ มีคำถามว่าสอนเอกสังคมจะให้นักศึกษาไปดูอะไร ในความเป็นครูไม่ใช่แค่เนื้อหา แต่ได้เรียนรู้จรรยาบรรณครู ระเบียบวินัย จิตวิทยาการสอน เนื้อหาอาจไม่ได้มาก แต่จิตวิญญาณ อุดมการณ์ เป็นครูด้วยหัวใจ สิ่งนี้ได้รับการปลูกฝังมาจากโครงการเพชรในตมที่ประสานมิตร ไม่ใช่แค่อาชีพรับราชการ รับเงินเดือน”

ครูนูรีซานรับไมค์ต่อ “ดีใจ ยินดีมากค่ะ มีสถาบันจากภายนอกไปศึกษาดูงานที่โรงเรียน เพิ่งเป็นครูภาษาต่างประเทศ รุ่น 2 อยากเน้นน้องๆ เป็นครูด้วยใจ เน้นสอนคิดให้เกิดความอยากรู้ อยากเรียน วิชาเอกภาษามลายู เปิดโอกาสให้นักเรียนที่สนใจเข้ามาเรียน แต่ครูมีคนเดียว จำเป็นต้องผลิตออกมา”

ครูสุเทพเล่าภูมิหลัง “ผมจบจากราชภัฏยะลาปี 2532 อาศัยความเป็นตัวของตัวเองด้วยหลายกระบวนการ สิ่งแรกรู้จักตัวเราเองก่อน ทั้งกาย วาจา ใจ ถามตัวเราก่อน อยู่อย่างไรหากเพื่อนไม่อยากอยู่ด้วย เราต้องปรับตัวเองก่อน วาจาการพูดการคุย เสวนากับเพื่อนเราพูดแรงไปไหม กับผู้ใหญ่กว่าเรา น้องๆ เรา เรื่องของจิตใจต้องนำมาคิด

ประเด็น 2 ผมจบเอกอนุบาล เป็นผู้ชายคนเดียวเป็นไข่แดง ทำอย่างไรให้เป็นไข่แดงที่มีพลัง ตั้งชมรมนักศึกษาครู ผู้ทำประโยชน์ต่อสถาบัน ตัวเราต้องเอาตัวให้รอด หากไม่สอนให้ศิษย์รู้วิธีการเอาตัวรอดก็ไม่เกิดประโยชน์ ต้องรู้ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ดึงสังคมมาร่วมบูรณาการ สอนการงานพื้นฐานอาชีพ ด้วยความจนของเราเอง เคยกินน้ำแทนขนม เด็กรุ่นใหม่พ่อ-แม่พร้อมทุกอย่าง อยู่ที่เราจะเอาหรือไม่เอา มองตัวเองก่อน อยากจะย้ำว่า เรียนน้อยงานหนัก เรียนหนักงานเบา

ทำศูนย์ช่างที่โรงเรียนใช้เวลาว่างมาฝึก รับจ้างเพื่อเอาเงินมาใช้สำหรับการเรียนการสอน ดูแลเด็กมาโรงเรียน เด็กมาสายเขารู้ตัวเองอยู่แล้วผิดระเบียบโรงเรียน เราเป็นครูต้องถาม จะได้อะไรดีๆ จากเด็กอีกเยอะ บางคนไม่ตอบ กว่าจะพูดความจริงออกมา ว่าเขาต้องช่วยพ่อ-แม่ดูแลน้อง เก็บยาง มาสายเด็กก็ต้องการมาโรงเรียน ถึงแม้รู้ว่าครูจะตีก็ยังมา ต้องช่วยดูแลเด็กเหล่านี้ เขาจะจำเราไม่ลืม

“หัวใจของความเป็นครูอยู่ตรงนี้”

 

ผู้ฟังทั้งห้องยังใจจดใจจ่อกับคำตอบของครูแต่ละคน พิธีกรป้อนคำถามสองต่อ ข้อเสนอแนะต่อโครงการครูผู้สร้างแรงบันดาลใจมีอย่างไร

ครูอรพินท์ “อยากให้เด็กไปฝังตัวให้นานกว่านี้ อยู่หลายวันจะรู้จักนักเรียนมากขึ้น อย่างน้อย 1 สัปดาห์ จะเห็นวิธีการเรียนการสอน การปฏิบัติ การใช้ชีวิตของครู ได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง จะได้อะไรมากกว่านี้ อยากให้นำมาปรับในชีวิตตัวเอง ด้านจรรยาบรรณครู รูปแบบ กิจกรรม เอามาประยุกต์ใช้ให้ได้ ให้เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ทำในสิ่งที่รัก รักในสิ่งที่ทำ”

ครูกาญจนาขอคิวต่อ “ครูยุคใหม่ต้องทันเด็ก รู้จักเด็กมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร พยายามปรับให้ทันเด็ก ให้ช่วยตัวเอง ปฏิบัติด้วยตัวเอง”

ครูสุเทพรับไมค์ต่อ “ประสบการณ์ของคนเรามี 2 ประเภท สมหวัง กับเจ็บช้ำ ผิดหวัง ต้องนำประสบการณ์เหล่านั้นหาแนวทางสร้างเป็นนวัตกรรมของเรา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำไมการศึกษาถึงตกต่ำ เอาประสบการณ์ไปช่วยกันแก้ปัญหา แนวทางนำไปใช้กับสังคม ชุมชน ครอบครัว

ผศ.ดร.เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เสริมต่อ “กิจกรรมปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู ความสุขจากการเป็นผู้ให้ เปรียบเทียบไม่ได้กับอะไร ความรัก ความปรารถนาดีไม่ได้มาจากการเรียน แต่มาจากการฝึก การปลูกฝัง ขอเป็นกำลังใจ เก็บพลัง ความหวัง ความฝัน เก็บแรงใจไว้หล่อเลี้ยง อย่างครูชาตรี สำราญ เปิดบ้านเป็นอาศรมให้ลูกศิษย์ไปเรียนรู้ ทุกเรื่อง เขียนแผนการเรียนการสอน เป็นแหล่งเรียนรู้ของครูในพื้นที่ชายแดนภาคใต้”

การเสวนาช่วงเช้าจบลงด้วยความอิ่มเอมใจของผู้ฟังทุกฝ่าย ช่วงบ่ายคณะผู้ดำเนินโครงการเปิดการหารือต่อ เพื่อหาแนวทางว่าจะต่อยอดโครงการและหล่อหลอมนักศึกษาครูรุ่นใหม่อย่างไร

 

ครูอรพินท์เสนอว่า ต้องถามเด็ก ครูที่เขาประทับใจเป็นใคร เป็นอย่างไร ชวนครูเหล่านี้มาพูดคุย เพื่อเป็นต้นแบบของนักศึกษา ให้เด็กเขียนความในใจที่มีต่อครู อีกอย่างทัศนคติของครูในโรงเรียนต่อนักศึกษาที่ไปฝึกประสบการณ์ก็มีส่วนสำคัญ

ครูชาตรีเสนอให้ความเห็นว่า การเตรียมความพร้อมเด็กก่อนไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพเป็นเรื่องสำคัญ อย่ารีบ รีบจะได้ของเลว ไม่รีบจะได้ของเรียบ จัดกลุ่มเด็ก ระดมความคิด พีแอลซี ครูรวกๆ เด็กก็จะรวก ถ้าฝึกเขาแน่นแล้ว วิจัย เก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาต่อ

ครูสุเทพสะท้อนว่า ให้เด็กไปหาโรงเรียน จัดการชีวิตเอง เจออะไรในการแสวงหาก็ไม่ต้องห่วง ให้เด็กคิดเอง ทำเอง มหาวิทยาลัยเพียงแนะนำ เตรียมเด็ก เตรียมโรงเรียน บริหารจัดการหลักสูตร การมีส่วนร่วมไม่ตัดขาดจากชุมชน ผู้นำพื้นที่ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ต้องทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของชุมชน

“ห้องเรียนเปลี่ยนไป โลกสมัยใหม่ ครู บวกเทคโนโลยี เด็กสนใจมือถือมากกว่า เราจะจัดการอย่างไร เพราะเด็กหาความรู้เองได้มากกว่าครู ตัวอยู่ที่นี่ ใจเขาอยู่ไหน สมองอยู่ไหน จะจัดการเรียนรู้อย่างไร มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ เหมือนเป็นสะพานให้กับมหาวิทยาลัยที่จะไปเชื่อมเครือข่ายต่างๆ ทำงานร่วมกัน” รองอธิการบดีสรุปเสวนา

สมาชิกต่างหวังว่าโครงการพัฒนาเครือข่ายครูนักสร้างแรงบันดาลใจในสถาบันผลิตครูจะขยายต่อไป ไม่ใช่เพียงแค่ 3 มหาวิทยาลัยเท่านั้น