นิธิ เอียวศรีวงศ์ | พุทธ-พราหมณ์-ผี หรือ ผี-พราหมณ์-พุทธ (1)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

สูตรสำเร็จอันหนึ่งในการพูดถึงพุทธศาสนาในเมืองไทยก็คือ “พุทธ-พราหมณ์-ผี”

แต่ทั้งสามชื่อนั้นล้วนกำกวมไม่ชัดเจนทั้งนั้นว่าหมายถึงความเชื่อและแบบปฏิบัติอย่างไรกันแน่ สมมุติกันว่าในศาสนาพุทธและพราหมณ์ ให้ถือว่าความเชื่อและแบบปฏิบัติที่ถูกตราไว้ในคัมภีร์คือมาตรฐาน แต่ที่เรียกว่า “คัมภีร์” ในสองลัทธิความเชื่อนี้มีความหลากหลายมาก แม้แต่ในกลุ่มเถรวาทที่อาศัยต้นแบบการฟื้นฟูพุทธศาสนาในลังกาเหมือนกันก็มีความแตกต่างหลากหลาย ต้องอาศัยการตีความของอาจารย์เพื่อทำให้ความหมายของคัมภีร์ที่หลากหลายนั้นมีเอกภาพ

และอาจารย์ระดับนั้นคงมีในสมัยโบราณหรอก แต่ท่านจะเผยแพร่ความหมายที่เป็นเอกภาพของท่านในวงกว้างได้อย่างไร ดังนั้น ถึงหากจะมีอาจารย์ดังกล่าวจริง ก็คงมีหลาย “สำนัก” ซึ่งสอนอะไรไม่ตรงกันนัก

ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงก็เช่นเจ้าพระฝาง หรือสังฆราชแห่งเมืองฝาง (สวางคบุรีในอุตรดิตถ์ปัจจุบัน) สำนักของท่านสอนอะไรก็ไม่ทราบ แต่เป็นคำสอนที่ราชสำนักในภายหลังเห็นว่านอกรีต

ความเชื่อที่ถูกเรียกในเมืองไทยว่าศาสนาพราหมณ์ก็เช่นกัน เมื่อความเชื่อนั้นถูกขยายจากแหล่งกำเนิดในลุ่มน้ำสินธุออกไปภายนอก ก็ถูกตีความให้สอดคล้องกับความเชื่อท้องถิ่นจนกระทั่งเกิดแบบปฏิบัติที่แตกต่างกันมากมาย นักวิชาการอินเดียท่านหนึ่งชื่อศรีนิวาส ไม่เรียกการขยายลัทธิความเชื่อนี้ว่า Hinduization แต่เรียกว่า Sanskritization หรือการขยายภาษาสันสกฤต (และปรากฤต) ให้เป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์นอกเขตลุ่มน้ำสินธุ เช่น ไปสู่อินเดียใต้ (และเลยไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) พูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่เกี่ยวกับความเชื่อเท่ากับยอมรับให้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์

ศาสนาผียิ่งแล้วใหญ่ เพราะไม่มีคัมภีร์กลางอะไรให้อ้างถึงเลย และมักถูกเหมารวมว่าคือความเชื่อในศาสนาพราหมณ์อยู่เสมอ

ดังนั้น เวลาเราพูดถึงพุทธแบบไทย จึงมีความหมายที่หลวมมาก เหมือนอะไรที่ถูกขยายด้วยคุณศัพท์ว่า “แบบไทยๆ” ทั้งหลายแหละครับ สื่อความได้แต่ว่า “แบบกู ไม่ใช่แบบมึง” เท่านั้น แต่ก็อีกนั่นแหละ ทั้ง “กู” และ “มึง” ก็ไม่เคยหยุดนิ่งให้เรานิยามได้ชัดๆ สักที

ที่ผมสนใจเป็นพิเศษและอยากนำมาชวนคุยก็คือศาสนาผี และปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนาผีกับพุทธในเมืองไทย โดยเฉพาะเมื่อพุทธก็ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะผมมีความเห็นตรงกันข้ามกับนักวิชาการทั่วไปที่ถือเอาพุทธศาสนาเป็นแกนกลางของศาสนาไทย โดยมีผีและพราหมณ์เป็นเปลือกห่อหุ้มอยู่บ้าง ผมกลับคิดว่า จะเข้าใจศาสนาไทยได้ดีกว่า หากถือเอาศาสนาผีเป็นแกนกลาง โดยมีพุทธและพราหมณ์เป็นเปลือกห่อหุ้มอยู่ภายนอก

แทนที่จะพูดถึงผีสางนางไม้และการเซ่นวักตั๊กแตนที่ปฏิบัติกันในท้องถิ่นต่างๆ จนทำให้ความเชื่อเรื่องผีไม่มีความเป็นเอกภาพที่พอจะบรรยายถึงอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ผมคิดว่าเราควรพยายามมองหา “หลักการ” ร่วมกันบางอย่างในศาสนาผี ที่ในทางพิธีกรรมอาจแตกต่างกันในท้องถิ่นต่างๆ เพราะ “หลักการ” เหล่านี้ต่างหากที่ต้องเผชิญกับ “หลักการ” ของศาสนาจากภายนอก และศาสนาผีหรือศาสนาภายนอกจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเข้าหากันอย่างไร…

และผมอยากเตือนไว้ก่อนว่า ปรับสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้างด้วย

ประการแรก ในหลักการของศาสนาผีก็คือ สิ่งที่มีฤทธิ์มีอำนาจล้วนอยู่ภายนอกมนุษย์ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือฤทธิ์และอำนาจที่อาจให้คุณและให้โทษล้วนอยู่ภายนอกทั้งสิ้น จิตวิญญาณหรือผีที่ทำให้ต้นตะเคียนมีฤทธิ์อำนาจ ไม่ได้เกิดในไม้ตะเคียนเอง แต่จรมาจากภายนอกต้นตะเคียน แล้วเข้าสิงให้ตะเคียนต้นนั้นมีอำนาจมากกว่าตะเคียนต้นอื่น

และนี่อาจเป็นเหตุผลให้เราไม่อาจเรียกศาสนาผีของไทยว่า animism ได้ในทุกความหมายของคำนี้ เพราะเจ้าแม่ตะเคียนไม่ได้เกิดกับต้นตะเคียนเอง (มีตะเคียนอีกหลายต้นที่ไม่มีเจ้าแม่) วัตถุสิ่งของหรือสัตว์และคนไม่ได้มี “ผี” หรือ “จิตวิญญาณ” อยู่ในตัว อย่างที่ใช้ในความหมายหลักของคำ animism

พระพุทธรูปสำคัญมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ไม่ใช่เพราะเป็น “เจดีย์” หรือเครื่องรำลึกถึงพระพุทธเจ้า (เพราะพระพุทธรูปส่วนใหญ่ไม่ได้ “ศักดิ์สิทธิ์” เช่นนั้น มีเพียงบางรูปเท่านั้น) แต่เพราะผี (หรือเทพ) ที่รักษาพระพุทธรูปนั้นต่างหาก การปฏิบัติต่อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แต่ละองค์จึงไม่เหมือนกัน เพราะผี (หรือเทพ) ที่รักษาพระพุทธรูปเป็นผีต่างตนกัน

เมื่อคนแต่ก่อนนำเอาไข่ต้มและปลาร้าไปถวายพระแก้วมรกต เขาไม่ได้ถวายองค์พระแก้วโดยตรง แต่เพราะพระแก้วประทับอยู่ในเวียงจันทน์มานาน ผี (หรือเทพ) ที่รักษาองค์พระแก้วจึงน่าจะเป็น “ลาว” ซึ่งชอบกินไข่ต้มกับปลาร้า พระพุทธรูปองค์อื่นก็ชอบอย่างอื่น เมื่อจะแก้บนก็ต้องถวายสิ่งอื่น นับตั้งแต่ละครชาตรี, ปี่พาทย์, หนังใหญ่ หรือ “ภักษาหาร” อื่นๆ

กราบพระกับกราบผีจึงเป็นเรื่องเดียวกัน

เทพเจ้าฮินดูนั้นเรานับถือมาก่อนรับพุทธศาสนาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แต่เราทิ้งเทพเจ้าฮินดูไม่ได้ เพราะตรงกับหลักในศาสนาผีของเราที่เชื่อในอำนาจภายนอก พิธีกรรมในราชสำนักซึ่งอ้างถึงเทพเจ้าฮินดูจำนวนมาก มีความ “ศักดิ์สิทธิ์” ขึ้นไม่ใช่เพราะตรงกับศาสนาพราหมณ์อย่างเดียว แต่สอดรับกับความเชื่อในศาสนาผีของประชาชนด้วย

อย่างไรก็ตาม ในขั้น “ปรมัตถ์” ของศาสนาต่างแดนทั้งสอง คือพราหมณ์และพุทธเชื่อว่า โดยการฝึกตนมนุษย์ก็จะมีฤทธิ์อำนาจขึ้นในตัว (นับตั้งแต่รวมเข้ากับพรหมหรือบรรลุพระนิพพาน เหาะเหินเดินอากาศและ ฯลฯ) ฤทธิ์อำนาจที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มาจากภายนอก แต่มีเชื้ออยู่ในความเป็นมนุษย์อยู่แล้ว จึงสามารถฝึกให้มันเจริญงอกงามขึ้นได้

ผมคิดว่าอำนาจมาจากภายนอกหรืออำนาจอยู่ภายในนี้เป็นความขัดแย้งหลักของศาสนาผีและศาสนาจากภายนอก หากจะเผชิญหน้ากันก็อยู่ตรงนี้ หากจะประนีประนอมกันก็อยู่ตรงนี้ ที่นักปราชญ์แต่ก่อนตำหนิพระ (บ้านนอก) ว่า เทศนาแต่เรื่องชาดก ที่จริงแล้วชาดกเป็นอาวุธต่อสู้กับศาสนาผีที่ตรงประเด็นที่สุด เพราะหากไม่เทศน์เรื่อง “ปรมัตถ์” แล้ว จะหาอะไรมาเทศน์ให้เห็นและยอมรับว่ามีอำนาจที่อยู่ภายในได้ดีไปกว่าชาดกเล่า

ในปัจจุบัน ขณะที่หลักการว่าอำนาจอยู่ภายในของพุทธสามารถยึดกุมพื้นที่การศึกษาทั้งของสงฆ์และฆราวาสได้อย่างเด็ดขาด แต่ในทางปฏิบัติของชีวิตประจำวัน หลักการอำนาจอยู่ภายนอกของศาสนาผีกลับปรากฏให้เห็นทั่วไป ครูที่สอนวิชาศีลธรรมพุทธในห้องเรียนอาจบูชาพระเครื่องไว้เต็มคอ พุทธเจดีย์ทั้งหลายถูกปฏิบัติเหมือนอำนาจภายนอกที่อาจโน้มนำเข้าสู่ตนได้ด้วยพิธีกรรมที่ถูกต้อง

หลังการปฏิรูปพุทธศาสนาที่ดำเนินมาเป็นเวลากว่าศตวรรษในประเทศไทย ศาสนาพุทธและศาสนาผีก็อยู่คู่กันมา หลักการของพุทธเป็นหน้าเป็นตาให้เราเผชิญกับศาสนาอื่นๆ ได้ทั้งโลก ในขณะที่หลักการของศาสนาผีครอบงำวิธีคิดและการดำเนินชีวิตจริงของคนไทยส่วนใหญ่ต่อไป

แต่อำนาจจากภายนอกนั้นมีจริง โดยเฉพาะในโลกสมัยใหม่ ซึ่งพุทธที่เป็นทางการไม่มีหนทางจะตอบสนองหรือจัดการนอกเหนือไปจากพิธีกรรม (เช่น สวดมนต์ข้ามปี, ไหว้พระเก้าวัด, ทำบุญประเทศ ฯลฯ) พระสงฆ์ไม่มีกิจที่จะลดการใช้ถุงพลาสติก, กระจายรายได้และโอกาส, พิทักษ์สิทธิของประมงชายฝั่ง หรือแรงงานข้ามชาติ, ต่อต้านการรัฐประหาร ฯลฯ อันล้วนเป็นอำนาจภายนอกที่คุกคามชีวิตคนไทยทั่วไป พุทธแบบไทยสอนให้สร้างอำนาจภายในด้วยการ “ปลง” ให้ได้เท่านั้น

หลักการประการที่สองของศาสนาผีคือ การนับถือบูชาผีบรรพบุรุษ

การนับถือผีบรรพบุรุษอาจเป็นความเชื่อสากล คือพบได้ในทุกวัฒนธรรมกระมัง หากทว่าในแต่ละวัฒนธรรมรูปแบบและเนื้อหาของลัทธินับถือบรรพบุรุษมีลักษณะเฉพาะ ไม่ตรงกันทั่วไป เช่น ผีบรรพบุรุษของไทยนั้นอยู่ใกล้ชิดกับลูกหลานตลอดเวลา อาจเข้ามาแทรกแซงในชีวิตลูกหลานได้ทุกเมื่อ ในขณะที่ผีบรรพบุรุษของจีนจะสื่อสารหรือสัมพันธ์กับลูกหลานเฉพาะในวันสำคัญ เช่น ตรุษสารทหรือเช็งเม้ง

ในตำนานนิทานสร้างโลกของไท-ลาว ผีบรรพบุรุษของชนชั้นปกครองคือแถน ดังนั้น เมื่อคนเหล่านั้นสิ้นชีวิตลง ก็จะกลับไปอยู่บนฟ้าหรือกลับไปเป็นแถนอีก แต่ก็อยู่ใกล้ชิดกับลูกหลาน เพราะในตำนานเรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจืองบอกว่า เมื่อกลุ่มเจ้าเหล่านี้ดื่มเหล้าบนพื้นโลก เป็นธรรมเนียมที่จะชูจอกเหล้าขึ้นถวายแก่บรรพบุรุษแถน แล้วสาดเหล้าในจอกไปข้างหลัง ทั้งนี้ ยังไม่นับเรื่องแถนยกกองทัพมาช่วยลูกหลานรบกับข้าศึก

ความคิดเกี่ยวกับบรรพบุรุษของชนชั้นปกครองเช่นนี้ ทำให้สอดรับกับคติยกกษัตริย์ขึ้นเป็นอวตารของเทพเจ้าฮินดู ซึ่งเรารับจากราชสำนักกัมพูชา นอกจากกษัตริย์จะเสด็จ “สวรรคต” หรือไปสวรรค์แล้ว ยังมีการสร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์เพื่อสืบทอดอำนาจลงมาแก่ลูกหลาน ยังไม่นับที่อาจมีสาระของบรรพบุรุษสิงสถิตอยู่ใน pustaka (ภาษามลายูแปลว่ามรดกศักดิ์สิทธิ์) เช่น เครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระมหาเศวตฉัตร เป็นต้น

ส่วนผีบรรพบุรุษของสามัญชนแม้ไม่ใช่แถน แต่ก็อยู่ใกล้ชิดกับลูกหลานเหมือนกัน ทุกครอบครัวล้วนมีผีเรือน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความประพฤติของลูกหลาน โดยเฉพาะด้านเพศและการเลือกคู่ ผีเรือนนั้นคือผีบรรพบุรุษแน่ แต่ดูเหมือนไม่ได้หมายถึงบรรพบุรุษคนใดคนหนึ่งชัดๆ เป็นบรรพบุรุษรวมๆ คือผีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ในหมู่บ้านยังอาจมีศาล “ผีปู่ย่า” ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษของกลุ่มตระกูลใหญ่ในหมู่บ้าน ถึงไม่มีศาลเฉพาะในหมู่บ้าน ก็อาจมีครอบครัวบางครอบครัวที่เป็น “เค้าผี” หรือเป็นต้นตอของผี ซึ่งสืบทอดทางสายผู้หญิง และเป็นศูนย์กลางสำหรับจัดงานบูชาประจำปีให้แก่สมาชิกของกลุ่มตระกูล แม้ได้อพยพออกไปถิ่นอื่นแล้ว

(ความใกล้ชิดระหว่างผีบรรพบุรุษกับลูกหลานในทัศนะของ Anthony Reid ใน Southest Asia in the Age of Commerce อาจเป็นลักษณะทั่วไปที่พบได้ในหลายวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

ความใกล้ชิดระหว่างผีบรรพบุรุษกับผีอื่นที่ดูแลสาธารณูปโภคของหมู่บ้าน มีหน้าที่สำคัญคือบังคับใช้กฎเกณฑ์ศีลธรรมทางสังคม จึงกำกับควบคุมความสัมพันธ์ทางสังคมในหมู่บ้านให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ ผู้ที่ละเมิดกฎเกณฑ์เหล่านี้ก็อาจถูกลงโทษ เสียค่าปรับ (เป็นเงินหรือแรง) เพื่อกลับคืนสู่ความสัมพันธ์เดิมได้ใหม่ โดยไม่ระคายเคืองแก่ทุกฝ่าย เป็นอำนาจภายนอกที่มีความสำคัญแก่สังคมเป็นอย่างยิ่ง

แต่พุทธศาสนาแบบไทยที่ถูก “ปฏิรูป” แล้ว ตัดส่วนที่เป็นอำนาจภายนอกเช่นนี้ออกไป ทำให้พุทธแบบไทยขาดศีลธรรมทางสังคม (ในตัวคำสอนอาจมี แต่ไม่มีกลไกทางสังคมสำหรับการบังคับใช้ที่ได้ผล) ในขณะที่กลไกรัฐไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับศีลธรรมทางสังคมให้ได้ผล ผู้มีอำนาจจึงอาจยึดทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของชุมชนไปใช้ส่วนตัว โดยไม่ต้องกลัวผี และไม่ต้องเกรงกฎหมาย พระเอาสมบัติของวัดไปขายแก่นักเล่นของเก่า เพราะ “เสื้อวัด” ไม่ทำงานเสียแล้ว และรัฐก็ไม่มีสมรรถนะจะทำงานแทนได้

(ยังมีต่อ)