วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิถังอันเกรียงไกร

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

กำเนิดถัง (ต่อ)

แต่หากเป็นการเคลื่อนไหวในเรื่องเดียวกันของหลี่ซื่อหมินแล้ว คำอธิบายจะใช้ภาษาที่ทำให้เข้าใจว่าหลี่ซื่อหมินเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมที่สูงส่ง

เช่น เมื่อที่ปรึกษาเสนอให้เร่งจัดการสองพี่น้องของตน หลี่ซื่อหมินก็ถามกลับว่ามีทางอื่นที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อหรือไม่ หรือเมื่อบริวารมาแจ้งข่าวว่าสองพี่น้องของตนหมายจะเอาชีวิตตัวเองแล้วก็กล่าวว่า คิดไม่ถึงว่าพี่น้องร่วมอุทรจะมีจิตใจเหี้ยมโหดถึงเพียงนี้ และหวังว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องจริง

หรือกล่าวว่า พี่น้องก่อศึกสายเลือดถือเป็นเรื่องที่น่าอัปยศอดสูอย่างยิ่ง

ครั้นเมื่อที่ปรึกษาเร่งเร้าให้เป็นฝ่ายจัดการสองพี่น้องก่อนขึ้น หลี่ซื่อหมินก็ตัดสินใจโดยรอให้พี่น้องทั้งสองของตนเป็นฝ่ายลงมือก่อนแล้วค่อยตอบโต้ หรือพอตัดสินใจจะเป็นฝ่ายลงมือก่อนแล้ว หลี่ซื่อหมินก็ขอทำพิธีเสี่ยงทายก่อนจะลงมือ

จนเหล่าที่ปรึกษามิอาจทนได้อีกต่อไปและเร่งกดดันหนักขึ้น หลี่ซื่อหมินจึงถอนหายใจแล้วกล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ก็มิอาจฝืนเจตนาของเหล่าที่ปรึกษาของตนได้อีกต่อไป

โดยสรุปแล้ว เหตุการณ์ภราดรฆาตจนถึงเมื่อยึดอำนาจจากถังเกาจู่ ล้วนเป็นความประสงค์ของเหล่าที่ปรึกษาทั้งสิ้น ส่วนหลี่ซื่อหมินทำด้วยความจำใจ

 

หากละประเด็นการเขียนประวัติหลี่ซื่อหมินให้ดูดีดังกล่าว และหันมาพิจารณาจากความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์ทั้งหมดมีเงื่อนปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นและเข้าใจได้ไม่ยาก

เงื่อนปัจจัยที่ว่านี้เริ่มจากตัวของหลี่ซื่อหมินเอง ที่เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีบทบาทที่โดดเด่นกว่าหลี่เจี้ยนเฉิงกับหลี่หยวนจี๋ ความโดดเด่นนี้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ด้วยกฎเกณฑ์ที่ให้โอรสองค์โตเป็นรัชทายาทโดยประเพณี การคิดในเชิงเปรียบเทียบระหว่างบุคคลย่อมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หลี่ซื่อหมินจะคิดว่า ตนมีบทบาทที่โดดเด่นมากกว่า แต่กลับมิอาจเป็นรัชทายาทได้ หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หลี่เจี้ยนเฉิงจะคิดว่า หลี่ซื่อหมินมีบทบาทโดดเด่นกว่าตน หลี่ซื่อหมินอาจแย่งชิงอำนาจจากตนก็ย่อมได้

และเพราะเงื่อนปัจจัยที่ว่านี้จึงได้นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง โดยระหว่างนั้นต่างฝ่ายต่างหาทางเอาชนะอีกฝ่ายให้ได้ และเพื่อชัยชนะแล้วประเด็นคุณธรรมและจริยธรรมย่อมยากที่แต่ละฝ่ายจะยึดถือเอาไว้ และเพราะเหตุนั้นเหตุการณ์ภราดรฆาตจึงเกิดขึ้นในที่สุด

ที่สำคัญและควรกล่าวด้วยอย่างยิ่งก็คือ หลังจากกำจัดพี่น้องทั้งสองแล้ว หลี่ซื่อหมินยังได้สั่งประหารบุตรชายสิบคนของทั้งสองอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้เป็นเสี้ยนหนามในภายภาคหน้า และเป็นปฏิบัติการที่ยึดถือกันมาก่อนหน้านี้ช้านาน

และโดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยอ้างหรืออิงแอบกับประเด็นคุณธรรมหรือจริยธรรมแต่อย่างไร

อย่างไรก็ตาม หากกล่าวเฉพาะหลี่ซื่อหมินในฐานะผู้ชนะแล้ว คุณธรรมและจริยธรรมที่ถูกขับเน้นในบันทึกกระแสหลักนั้น ย่อมเป็นบันทึกที่มีขึ้นหลังจากที่เขาเป็นจักรพรรดิไปแล้ว แต่คุณธรรมและจริยธรรมนี้จะไม่ปรากฏได้อย่างแน่นอน หากหลี่ซื่อหมินไม่ได้สร้างผลงานที่เป็นที่เลื่องลือหลังเป็นจักรพรรดิไปแล้ว

เหตุดังนั้น ผลงานของหลี่ซื่อหมินที่เป็นที่เลื่องลือสืบต่อกันมาถึงทุกวันนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง ว่าเป็นผลงานอย่างไรจึงได้มีส่วนเข้ามาขับเน้นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมไปด้วย

 

มหาจักรวรรดิถัง

หากถังเกาจู่เป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์ถังและเริ่มนำจีนกลับเข้าสู่สภาวะปกติอีกครั้งแล้ว ถังไท่จง (ครองราชย์ ค.ศ.626-649) ก็คือผู้ทำให้ถังเข้าสู่ความรุ่งเรืองด้วยการสร้างจีนเป็นจักรวรรดิอีกครั้ง โดยหลังจากนั้นจักรพรรดิองค์ต่อมาของถังก็สืบทอดรากฐานที่ถังไท่จงได้วางเอาไว้

และทำให้จีนคงความรุ่งเรืองเอาไว้ได้อย่างยาวนาน

จากเหตุนี้ การกล่าวถึงบทบาทของถังไท่จงจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงกระนั้นก็ควรกล่าวด้วยว่า แม้ถังจะมีรากฐานที่มั่นคงจากที่ถังไท่จงได้วางเอาไว้ แต่ก็มิได้หมายความว่าการเมืองของถังจะมั่นคงราบรื่นโดยตลอด

ด้วยถึงที่สุดแล้วถังก็ไม่ต่างกับราชวงศ์อื่นๆ ของจีนที่ย่อมมีจักรพรรดิที่อ่อนแอ หรือถูกแทรกแซงบทบาทการนำโดยบุคคลอื่นด้วยเช่นกัน

ปัญหานี้ได้นำมาซึ่งความยุ่งยากให้แก่ถังในบางช่วง และยิ่งเป็นปัญหาความอ่อนแอของจักรพรรดิด้วยแล้วก็ได้นำมาซึ่งความเสื่อมของถัง ก่อนที่ถังจะล่มสลายไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การที่ถังรุ่งเรืองขึ้นมาได้นี้นอกจากรากฐานที่มั่นคงแล้ว นโยบายต่างๆ ก็ถือเป็นประเด็นที่มีส่วนต่อความรุ่งเรืองอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

โดยเฉพาะนโยบายที่มีต่อชนชาติที่มิใช่ฮั่นและประเทศอื่นที่อยู่นอกจักรวรรดิ ที่ไม่เพียงเป็นนโยบายที่ดูเหมือนจะผูกมิตรมากกว่าจะผูกศัตรูเท่านั้น หากลึกลงไปแล้วยังเป็นนโยบายที่มีรายละเอียดมากกว่าการเป็นมิตรหรือศัตรูอีกด้วย

ซึ่งจนถึงที่สุดแล้วเป็นนโยบายที่เปิดกว้างของถัง จนทำให้ถังเป็นจักรวรรดิที่คลาคล่ำไปด้วยชนนานาชาติที่มีชีวิตชีวาที่เรียกกันว่า จักรวรรดินานาวิสาสะ (Cosmopolitan Empire) อันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเห็นได้น้อยลงหรือไม่เห็นอีกเลยหลังจากยุคนี้ไปแล้ว

ภาพรวมที่กล่าวมานี้จึงมีประเด็นที่พึงศึกษาเป็นลำดับไป

 

ปฐมบทแห่งถังไท่จง

ก่อนจะเป็นถังไท่จงที่เป็นรัชกาลที่สองของถังนั้นบุคคลนี้ย่อมต้องคือ หลี่ซื่อหมิน ผู้ซึ่งเป็นบุตรคนที่สองของหลี่ยวนหรือถังเกาจู่ คำว่า ซื่อหมิน อันเป็นชื่อของเขามาจากคำเต็มว่า จี้ซื่ออันหมิน ที่หมายถึงผู้ยังความสงบแก่โลกแลทวยราษฎร์

ส่วนปีเกิดของเขาที่แม้งานศึกษานี้จะระบุเป็น ค.ศ.598 ก็ตาม แต่ก็เป็นปีที่ยังไม่มีมติที่แน่นอน เพราะยังมีที่ระบุแตกต่างกันออกไประหว่างปี ค.ศ.597, 598, 599 และ 600 สุดแท้แต่ผู้ระบุจะใช้ทฤษฎีใดมาอธิบาย

อย่างไรก็ตาม การเป็นบุตรของหลี่ยวนย่อมหมายความถึงภูมิหลังที่สูงศักดิ์ของหลี่ซื่อหมินไปด้วย แต่สิ่งที่พึงย้ำถึงภูมิหลังในที่นี้ก็คือ หลี่ซื่อหมินมิใช่บุคคลที่เป็นชนชาติฮั่นโดยแท้ หากเป็นบุคคลที่มีเลือดผสมของชนชาติฮั่นกับชนชาติที่มิใช่ฮั่นมากกว่าหนึ่งชนชาติ

ดังนั้น การเป็นผู้สูงศักดิ์ย่อมทำให้เขาได้รับการศึกษาที่ดีดังกุลบุตรทั่วไป และความรู้จากการศึกษาย่อมเป็นลัทธิขงจื่อ แต่สิ่งที่หลี่ซื่อหมินได้จากการศึกษาในเรื่องหนึ่งก็คือ ความสามารถในการเขียนพู่กันลายสือจีน

ควรกล่าวด้วยว่า การศึกษาบนฐานคิดของลัทธิขงจื่อนั้น เป็นไปโดยที่หลี่ซื่อหมินมีฐานคิดของศาสนาพุทธเป็นพื้นเดิมมาตั้งแต่เยาว์วัยอยู่ด้วย ซึ่งก็เป็นดังที่ชาวจีนทางเหนือในเวลานั้นมีกัน แต่ที่ขาดไม่ได้สำหรับกุลบุตรในอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การที่หลี่ซื่อหมินต้องเรียนรู้เรื่องการเป็นนักรบ

ว่ากันว่าหลี่ซื่อหมินฉมังในธนูและช่ำชองในอาชา จนมีเรื่องเล่าที่สะท้อนความเป็นอัจฉริยะของเขาในการเป็นนักรบที่หาญกล้าอยู่มากมาย

ดังปรากฏเป็นรูปปั้นนูนต่ำในสุสานของเขาเอง เช่นเล่าว่า หลี่ซื่อหมินได้นำทัพไปทำศึกกับเติร์กตะวันออกในขณะที่มีอายุ 15 ปี

ในศึกนี้เขาได้นำทหารเข้าช่วยสุยหยังตี้ให้รอดพ้นจากถูกล้อมของข้าศึก เป็นต้น

 

เรื่องทำนองนี้ถูกเขียนขึ้นภายหลังจากที่เขาเป็นจักรพรรดิแล้ว ดังนั้น ในแง่ของข้อเท็จจริงจึงยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่เช่นกัน

ถึงกระนั้นก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ หลี่ซื่อหมินได้ผ่านการศึกมายาวนานก่อนที่เขาจะเป็นจักรพรรดิ ประสบการณ์นี้ทำให้เขามีความมั่นใจในตัวเอง และเขาก็ประสบความสำเร็จในฐานะผู้บัญชาการรบหลายครั้ง

แต่จากความตรากตรำในการศึกนี้เองที่ทำให้เขามีบุคลิกภาพเฉพาะตนเมื่อเป็นจักรพรรดิ คือมีบุคลิกภาพที่น่าเกรงขามและผึ่งผายเวลาออกว่าราชการ แต่ก็มีอารมณ์ที่อ่อนไหวต่อการยั่วยุได้ง่าย โดยหากเกิดอารมณ์เช่นว่าแล้วใบหน้าของเขาจะแดงก่ำด้วยความเดือดดาล

จนพร้อมที่จะปะทะกับคนรอบข้างทุกเมื่อ