จัตวา กลิ่นสุนทร : เรื่องอดีตของสิ่งพิมพ์ค่ายสยามรัฐ

ขอย้อนเวลากลับไปยังนิตยสาร “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ซึ่งยังมีปกหน้าเป็นสี “ฟ้า-ดำ” หน้ากลาง เป็นสารคดีภาพ เรื่องสั้น ของนักเขียนมีระดับ และคอลัมน์ไม่หนักไม่เบาเสียดสีการเมืองแสบๆ คันๆ

จำได้ว่าตรงหน้าการเมืองจะเป็น “การ์ตูน” ของสุดยอดฝีมือของประเทศ (ท่าน) “ประยูร จรรยาวงษ์” (ถึงแก่กรรม) ซึ่งต่อมาได้ไปเขียนประจำในหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ทุกๆ วันพร้อมกันอีกด้วย

เมื่อหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเอาบรรณาธิการนิตยสารชาวกรุง (รายเดือน) มาแทน “สยามรัฐรายวัน” พร้อมโยกคนเก่าจากรายวันไปนั่งเป็นหัวเรือ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ก่อนจะกลายเป็นหนังสือแท็บลอยด์ไซซ์ ไม่มีปก ลดทั้งราคา จำนวนหน้า

ปัจจุบันบรรณาธิการทั้ง 2 ท่าน 2 ฉบับดังกล่าวได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว

แต่ค่าย “สยามรัฐ” ยังสู้เพื่อหยัดยืนให้ได้ในยุคดิจิตอลต่อไป

 

อันที่จริงหนังสือพิมพ์ขนาดแท็บลอยด์ มันมีที่มาพอสมควร ในยามที่สยามรัฐไม่ค่อยราบรื่นเรื่องธุรกิจ ต้องพยายามปรับปรุง ชาวสยามรัฐมักคุยกันเสมอๆ ว่าจะหาทางปรับเปลี่ยนอย่างไรได้บ้าง เพื่อหาทางลดต้นทุนการผลิตสู้กับราคากระดาษที่ขณะนั้นแพงมาก อีกทั้งหาซื้อยากด้วย

เป็นที่ทราบกันทั่วไปในยุคสมัยว่าเจ้าของผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ฉบับนี้คือท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (ถึงแก่กรรม) ผู้ซึ่งศึกษาเล่าเรียนจบจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยท่านได้เริ่มต้นเรียนหนังสือในเมืองไทย (พ.ศ.2458) เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (วังหลัง) โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

จากนั้นเดินทางไปเรียนต่อยังประเทศอังกฤษ ที่ Trent College,The Queen”s College, มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วิชาการเมือง ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ (Philosophy,Politics and Economics) (เกียรตินิยม) ปริญญาตรี/โท

ท่านศึกษาอย่างลึกซึ้งจนเข้าใจเรื่องราวรากเหง้าการเมือง เศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม และความเป็น “ประชาธิปไตย” ของประเทศนั้นดี

ท่านมักพูดกับคนใกล้ชิดเสมอๆ ว่า “ท่านเป็นลูกอังกฤษ” ชอบหนังสือพิมพ์ สไตล์ รูปแบบอย่างอังกฤษ ซึ่งเป็นหนังสือ “แท็บลอยด์ไซซ์” ซึ่งยังตีพิมพ์จำหน่ายกระทั่งทุกวันนี้

ประวัติความเป็นมาของปราชญ์แห่งแผ่นดิน อดีต “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 13) ที่มาจากการ “เลือกตั้ง” บุคคลสำคัญของโลก ศิลปินแห่งชาติ นักคิด-นักเขียน นักพูด ฯลฯ ท่านนี้ เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไป

แต่ที่ต้องนำมากล่าวถึงบ่อยๆ เพียงแค่ได้ระลึกถึงท่าน รวมทั้งต้องการให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้จดจำเรียนรู้กันต่อๆ ไปบ้างเท่านั้น

 

เมื่อพวกเรา (กองบรรณาธิการสยามรัฐ เมื่อ 40 กว่าปี) สุมหัวกันเพื่อหาทางปรับเปลี่ยน “สยามรัฐ” ในยุคประมาณปี พ.ศ.2520 เป็นต้นมา จึงมีผู้หยิบยกความชอบพอของอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ก่อตั้งขึ้นมานำเสนอ พร้อมกันนั้นได้พูดถึงอนาคตว่าน้ำมันจะมีราคาสูงมาก ราคากระดาษไม่อยู่กับที่ ขยับปรับเปลี่ยนขึ้นลงเสมอๆ

หนังสือขนาด (4 หน้ายก) แท็บลอยด์ ใช้กระดาษน้อยกว่าหนังสือพิมพ์รายวันทั่วๆ ไป เมื่อออกจากแท่นพิมพ์นำเอาออกจำหน่ายได้เลย ไม่ต้องเย็บกลาง ไม่ต้องสอดไส้ หยิบถือก็ง่าย อ่านในรถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า (ขณะนั้นไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น/ปัจจุบันมีแล้ว)

แต่หลายท่านบอกว่าหนังสือพิมพ์ขนาดดังกล่าวนั้นจะมีพื้นที่ขายโฆษณาได้น้อย ไม่เป็นที่นิยมของเอเยนซี่โฆษณา และผู้อ่านคนไทยย่อมจะหาโฆษณาไม่ได้ หรือยากมาก

ต่างยกเหตุผลหลากหลายรอบด้านมาถกเถียง สุดท้าย “สยามรัฐรายวัน” ไม่ได้เปลี่ยนแปลง กลับเป็น “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถูกเปลี่ยนไปเป็นหนังสือขนาดแท็บลอยด์ดังกล่าว ซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จ ชาวสยามรัฐด้วยกันเองยังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร?

ในที่สุดผมได้รับมอบหมายให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ขึ้นใหม่ เพิ่มเนื้อหา จำนวนหน้า เป็นหนังสือขนาด 4 หน้ายก ปกพิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ต 4 สี เนื้อตั้งแต่ การเมือง เศรษฐกิจ สารคดี ศิลปวัฒนธรรม ครบครันตามสไตล์หนังสือพิมพ์ในประเทศไทย ตามที่ได้กล่าวถึงบ่อยๆ ไปหลายครั้งแล้วเช่นกัน

 

ย้อนเวลากลับไป “การเมือง การทหาร” อีกสักครั้ง ภายหลัง พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ (ถึงแก่กรรม) เป็นหัวหน้าคณะทำการ “รัฐประหาร” รัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ท่านหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช (ถึงแก่กรรม) เป็น “นายกรัฐมนตรี” เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

ต่อมา “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” เปลี่ยนสถานะเป็น “สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” โดยส่ง (ท่าน) ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 14) ซึ่งต่อมารัฐบาลนี้ได้รับสมญานามว่า “รัฐบาลหอย” โดยมีสภาปฏิรูปฯ ซึ่งมีสมาชิกสภา 340 คน เป็นเปลือกหอยห่อหุ้มให้ความคุ้มครอง

ว่ากันว่าระยะเวลาดังกล่าวกองทัพค่อนข้างขาดเอกภาพ หลังจากที่ “พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา” (อดีต) ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่ยังไม่ทันได้ปฏิบัติหน้าที่ได้ถึงแก่อสัญกรรม เท่ากับว่าสิ้นนายทหารซึ่งสามารถสร้างความเป็นเอกภาพในกองทัพไป

“พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ” ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกในสมัยรัฐบาลท่านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และมีแนวโน้มได้รับการสนับสนุนสู่ตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก” ที่นายทหารทุกท่านปรารถนา แต่รัฐบาลของท่านได้ “ยุบสภา” เสียก่อน และนายกรัฐมนตรีรักษาการ “สอบตก” ด้วยการถูกปฏิเสธจากทหาร เมื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตทหาร (เขต 1 ดุสิต) แปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่ากองทัพไม่สนับสนุนนโยบายรัฐบาลของท่าน

ทราบกันเป็นอย่างดีว่า “ทหาร” จ้องจะ “ยึดอำนาจ” รัฐบาลท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตลอดเวลา

แม้กระทั่งวันที่ตำรวจเดินขบวนบุกเข้าทำลายสิ่งของพังบ้านพักในซอยสวนพลูของท่าน นายทหารใหญ่ระดับหัวแถวคุมกองทัพได้โทรศัพท์มาสอบถามเรื่องราวพร้อมทั้งจะส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยเคลียร์

อาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกล่าวภายหลังลงจากตำแหน่งแล้วกับศิษย์ใกล้ชิดว่า ถ้าให้เอากำลังออกมาเคลียร์เสร็จเรียบร้อย เขาคงไม่เอากำลังกลับกรมกอง “ผมยอมเสียทรัพย์สิน ซึ่งหาเอาใหม่ได้ มากกว่าจะให้เกิดการปฏิวัติขึ้นในรัฐบาลของผม”

พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ได้ถูกย้ายไปประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด โดยรัฐบาลท่านหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และเมื่อ “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ยึดอำนาจรัฐบาลเรียบร้อยแล้วได้มีคำสั่งให้นายทหารไปรายงานตัว

แต่ พล.อ.ฉลาดไม่ปฏิบัติตามจึงถูกคำสั่ง “ปลดออกจากราชการ”

 

ความไม่เป็นเอกภาพของกองทัพเป็นที่มาของการ “รัฐประหาร” รัฐบาลหอยของท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี หลังดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลได้ราว 5 เดือน โดย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ เป็นหัวหน้าคณะ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2520

แต่เพราะความไม่พร้อมในการยึดอำนาจครั้งนั้นจึงถูกต้านจนเกิดอุบัติเหตุขึ้นทำให้ “พล.ต.อรุณ ทวาทศิน” ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ถูกยิงเสียชีวิต ทหารจากกองพลที่ 1 ไม่ให้การสนับสนุน

การ “ปฏิวัติ รัฐประหาร” ล้มเหลวจึงกลายเป็น “กบฏ” พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ถูกตัดสินยิงเป้า เป็น “กบฏคนสุดท้ายที่ถูกตัดสินประหารชีวิต” บรรดาพี่ๆ เพื่อนๆ ที่คุ้นเคยกับผมหลายคนได้เข้าร่วมก่อการครั้งนี้เช่นกัน จึงถูกจับกุมคุมขังด้วย โดยบางท่านเสียชีวิตไปแล้ว ไม่จำเป็นนำชื่อมากล่าวอีกแล้ว

“วันที่ 20 ตุลาคม 2520” ประมาณ 7 เดือนต่อมา “รัฐบาลหอย” ได้ถูก “ยึดอำนาจ” ส่งให้ “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ เป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 15) พร้อม “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” (ถึงแก่กรรม) เข้าสู่การเมือง ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” และ “สยามรัฐรายวัน” ยังทุ่มเททำงานด้วยความมุ่งมั่นในอาชีพสื่อมวลชน ขณะที่พรรค “กิจสังคม” ซึ่งหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ยังอยู่ซีกฝ่ายค้านอันเต็มไปด้วยคุณภาพ

ยังมีเรื่องจากอดีตมาบอกเล่ากันต่อไปอีก