คุยกับทูต ‘โจอาคิม อามารัล’ ติมอร์-เลสเต กับความหวังเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 11

คุยกับทูต โจอาคิม อามารัล (1) ติมอร์-เลสเต กับความหวังเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 11

“เพื่อรำลึกถึงการได้รับเอกราชจากโปรตุเกสเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ.1975 วันชาติของติมอร์-เลสเตจึงตรงกับวันที่ 28 พฤศจิกายนของทุกปี แม้ว่าหลังจากปีนั้นชาวติมอร์จะต้องต่อสู้กับกองทัพอินโดนีเซียอีกกว่า 24 ปี”

นายโจอาคิม อามารัล (Joaquim Amaral) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำประเทศไทยคนที่สอง ซึ่งมารับหน้าที่เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.2015 เริ่มต้นสนทนาถึงความเป็นมาของประเทศติมอร์-เลสเต ตลอดจนความสัมพันธ์ที่ทวีความแน่นแฟ้นระหว่างกัน

“ผมได้รับแต่งตั้งให้มาประจำประเทศไทยอย่างไม่คาดคิดมาก่อน ด้วยเหตุที่กระทรวงต่างประเทศติมอร์-เลสเต ถือว่าภาระหน้าที่ที่กรุงเทพฯ มีความสำคัญมาก ดังนั้น ผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้มารับตำแหน่งนี้ที่นี่”

“ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างติมอร์-เลสเตกับราชอาณาจักรไทยเริ่มต้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2002 ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมา เราทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอย่างแท้จริง”

“ความสัมพันธ์นี้รวมถึงการสนับสนุนโครงการตามพระราชดำริเพื่อการศึกษาในมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในประเทศติมอร์-เลสเต โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นเรื่องอาหารในโรงเรียน (SCHOOL FEEDING) สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา เพื่อต่อสู้กับภาวะขาดสารอาหาร รวมถึงการส่งเสริมคุณภาพของครู เห็นได้ว่าน้ำพระทัยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นั้นยิ่งใหญ่ไพศาล”

“ในทุกๆ สองปี ติมอร์-เลสเตคัดเลือกอาจารย์เพื่อเข้ารับรางวัล PRINCESS MAHA CHAKRI AWARD ท่ามกลางผู้รับรางวัลจาก 11 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน + ติมอร์-เลสเต)”

“ประเทศไทยคงความสัมพันธ์ที่ดียิ่งกับประเทศติมอร์-เลสเต ตั้งแต่ได้รับเอกราชปี ค.ศ.1999 ด้วยการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพทางทหาร (PKF) ไปร่วมกับกองกำลังนานาชาติเพื่อติมอร์ตะวันออก (INTERFET) นำโดยออสเตรเลีย เพื่อฟื้นฟูสันติภาพและความสงบสุข”

“ในช่วงเวลาที่ทหารไทยไปปฏิบัติหน้าที่นั้น ทหารไทยได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวท้องถิ่น โดยการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์การทำการเกษตรแบบไทยให้แก่ชุมชนท้องถิ่น มิตรภาพและปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวยังคงตราตรึงในใจชาวติมอร์ตลอดมา”

จากชื่อติมอร์ตะวันออก มาเป็นติมอร์-เลสเต ความหมายยังคงเป็นความหมายเดียวกัน เพียงแต่คำว่า “เลสเต” นั้นคือภาษาโปรตุเกสที่แปลว่า ตะวันออก

ติมอร์-เลสเต มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนานมาหลายศตวรรษ หลักฐานทางโบราณคดีซึ่งรวมถึงศิลปะหินโบราณและงานแกะสลักหินบ่งบอกว่ามีผู้คนอาศัยอยู่ในติมอร์-เลสเตมานานกว่า 4,000 ปี ผู้อพยพชาวออสโตรนีเชียน (Austronesian) ในยุคต้นได้รวมกลุ่มกับผู้อพยพชาวเอเชียซึ่งมาช่วยแนะนำเรื่องการเกษตร แต่ติมอร์-เลสเตแบ่งออกเป็นอาณาจักรเล็กๆ ในภายหลัง และมีการปะทะกันบ่อยครั้งระหว่างกลุ่มชนเผ่าที่แตกต่างกัน

ชาวโปรตุเกสเดินทางมายังเกาะติมอร์ในปี ค.ศ.1518 มีบันทึกว่าดินแดนแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยเฉพาะไม้จันทน์ขาวที่ชาวมัวร์ในอินเดียและชาวเปอร์เซียถือว่าเป็นไม้มีค่ายิ่ง รวมทั้งน้ำผึ้งและขี้ผึ้ง

ส่วนชาวโปรตุเกสที่แต่งงานกับชาวพื้นเมืองที่นี่ ทายาทเรียกว่าเป็น “โทปาส” (Topasses) หรือ “ชาวโปรตุเกสดำ”

ดินแดนติมอร์ตกเป็นอาณานิคมของประเทศโปรตุเกสตั้งแต่ปี ค.ศ.1520 นานกว่า 400 ปี ต่อมาอินโดนีเซียส่งทหารเข้ายึดครองติมอร์โดยผนวกเข้าเป็นจังหวัดที่ 27 ของประเทศอินโดนีเซีย

และได้ถูกคัดค้านจากประชาชนชาวติมอร์ ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นจากการชุมนุมทางศาสนาเมื่อปี ค.ศ.1991 และเปลี่ยนเป็นการเรียกร้องเอกราช โดยมีนายชานานา กุฌเมา (Xanana Gusm?o) เป็นผู้นำที่มีบทบาทสูง

ในที่สุดรัฐบาลอินโดนีเซียยินยอมให้ชาวติมอร์ตะวันออกลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากอินโดนีเซีย

และในวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ.1999 ชาวติมอร์ตะวันออกกว่าร้อยละ 80 ออกเสียงสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช จึงก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงในติมอร์ตะวันออกโดยกลุ่มกองกำลังมิลิเทีย (militia) ที่นิยมอินโดนีเซีย

สหประชาชาติจัดตั้งกองกำลังนานาชาติ (INTERFET) เมื่อ 15 กันยายน ค.ศ.1999 เพื่อส่งเข้าไปรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก ก่อนที่จะประกาศเอกราชในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.2002

โดยสหประชาชาติดำเนินการสนับสนุนติมอร์ตะวันออกภายใต้ United Nations Mission of Support in East Timor (UNMISET) ตั้งแต่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.2002

กรุงดิลี เป็นเมืองหลวงของประเทศติมอร์-เลสเต ซึ่งมีประชากรประมาณ 1.3 ล้านคน ภาษาโปรตุเกสและภาษาเตตุม (Tetum) เป็นภาษาราชการ ส่วนภาษาอังกฤษและภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารทั่วไป ประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 91 นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก การเมืองการปกครองอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี

ภาษาเตตุม (Tetum) หรือเตตุน (Tetun) เป็นภาษาประจำชาติของประเทศติมอร์-เลสเต เป็นภาษากลุ่มออสโตรนีเชียน ที่มีคำจำนวนมากมาจากภาษาโปรตุเกส รวมถึงภาษามลายูและภาษาอินโดนีเซีย

ปัจจุบันติมอร์-เลสเตเป็นประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังอยู่ในขั้นตอนสมัครเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ของอาเซียน และยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

โดยมีประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นายฟรานซิสโก กูเตร์เรส (Francisco Guterres)

ประวัตินายโจอาคิม อามารัล (Joaquim Amaral)

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำประเทศไทย

DATE OF BIRTH : June 17, 1968 in Viqueque, Timor-Leste

EDUCATION : Civil Engineering & Planning from Petra Christian University; Architecture from Merdeka University, Surabaya Indonesia

PROFESSION :

– Adviser of Infrastructure for the Minister of Estate and Coordinator for Economic Affairs and Minister of Agriculture, focal point on Infrastructure Coordination for The Ministry of Transportation, Communication and Public Works

– Member of Diagnostic Team for Ministry of Agriculture

– Member of Economic Reform and Fomentation Plan 2015-2017

– Member of Inter-Ministerial task force for Dili Port Reform 2015

– Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary of Timor-Leste to the Kingdom of Thailand and Permanent Representative to the United Nation, ESCAP on November 19, 2015

SOCIAL : Sports, Travel, Photographs, Architecture & Culture and Politics which is demonstrated by his dynamic responsibility as a member of the Fretilin Central Committee and Secretary of the Oversight National Committee of FRETILIN Party 2012-2017.

FAMILY : Married to Mrs. Josefa Alvares Pereira Soares, Member of Parliament 2017-2023