อภิญญา ตะวันออก : เมืองพระนคร-ตอนทาสไพร่-กะเทย

อภิญญา ตะวันออก

ต่อการเผยถึงความเป็นพหุสังคมที่เกิดจากความหลากหลายของประชากรและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนครธมนี้ ทำให้ทราบว่า อย่างน้อยความอลังการของหลักฐานในประติมากรรมนูนต่ำแห่งเทวาลัยปราสาทนครธมและลานเพนียดคล้องช้าง หนึ่งในนวัตกรรมศิลปะสมัยเมืองพระนครที่ร่วมสมัยในปัจจุบัน สำหรับราชธานีที่เก่าแก่กว่า 800 ปีนั้น

โดยรหัสนัยของความเป็นมนุษยชาติและสุนทรียศาสตร์ ที่ไม่ใช่แต่บทสรรเสริญระหว่างความเป็นองค์เทพเจ้ากับมนุษย์ที่พบบนแผ่นศิลาจารึกนั่น หากแต่มาจากเผ่าพันธุ์การดำรงชีพที่สถิตเป็นวัฒนธรรม ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของฤดูกาล ธาราศาสตร์วิทยา พืชพันธุ์สัตว์และทรัพยากรธรรมชาติ

ตัวอย่าง ชาวนครธมมีความรู้ดีมากด้านการทำเหมืองเกลือสมุทรที่ระเหยจากทะเลเพื่อการบริโภคและค้าขาย โดยผลิตขึ้นบริเวณชายฝั่งทะเล : Chen-pu และอีกหลายแห่ง

นอกจากนี้ เกี่ยวกับสัตว์น้ำ คือผลผลิตจำนวนมากเกินและหลากหลายในชนิดปลาต่างๆ โดยปลาบางชนิดนั้นพบว่ามีความยาวมากเท่ากึ่งความยาวของลำเรือ อีกสัตว์น้ำอื่นๆ ซึ่งมีหน้าตาประหลาดและเป็นสัตว์กึ่งดึกดำบรรพ์อย่างเต่ายักษ์ ซึ่งมีขนาดปลายเท้าตั้งแต่ 8 ถึง 9 นิ้วเป็นอย่างน้อย กุ้งปีศาจซึ่งมีขนาดเท่ากับมังกร (?) และจระเข้นครธมซึ่งมีความยาวเท่ากับลำเรือ 4-5 เมตร

ส่วนกลุ่มสัตว์ป่า ช้าง แรด เสือหลากหลายพันธุ์ หมีป่า วัวป่า แพะ ชะนี ม้าป่า ลิง ไก่ เป็ด นกแก้ว ปลา นก นกยูงก็ไม่ขาดแคลนและมากมาย

เช่นเดียวกับผืนป่าดิบที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเหล่าพืชพันธุ์ หวาย เถาวัลย์ ครั่ง แก่นจันทร์ มะเกลือ กระวาน กานพูล ผลิตกรรมจากน้ำผึ้ง งาช้าง เขาสัตว์ เรซิ่น

อนึ่ง การท่วมบ่าของน้ำจากทะเลสาบใหญ่ในฤดูมรสุมและลดลงในฤดูแล้งและระบบชลประทานที่คาดว่าสามารถปลูกข้าวได้ปีละหลายครั้งและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เป็นจำนวนมาก โดยจะเห็นว่าทาสไพร่ไร่นาประชากรชาวนครธมสามารถใช้อุปกรณ์ทำการกสิกรรม คันไถ คราด จอบ เคียวอย่างชำนาญเช่นเดียวกับการฝึกสัตว์ควายกระบือเพื่อเป็นแรงงานในการทำนา

ไม่เพียงเท่านั้น วิทยาการของการถนอมอาหาร เช่น การทำน้ำหมักจากพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ จนเกิดความเปรี้ยว กลายเป็นน้ำส้มสายชูที่มีคุณภาพสูง หรือน้ำหมักเหล้าไหสุรา (สรา) เพื่อการดื่มกินในท้องถิ่นชุมชน การถนอมทั้งสัตว์น้ำและสัตว์ป่า ดังจะเห็นได้จากภาพประติมากรรมนูนต่ำแห่งปราสาทบายนนั่น

ดังที่เชื่อกันว่า ชาวนครธมรู้จักการถนอมอาหารด้วยเกลือทะเลมานานแล้ว และการผลิตเกลือสมุทรก็มาจากการนี้ โดยวิธีหมักทำปลาจากทะเลสาบใหญ่จำนวนมากทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และยังเป็นวัฒนธรรมตามจันทรคติฤดูกาลข้างขึ้นข้างแรมของเดือนเก้า

ชาวนครธมนั้น ด้านหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้มีต่อมรับรสทางประสาทสัมผัสที่ดีและมีวิทยาการทางศิลปะสูง

 

หากสิ่งที่รวมอยู่ในหม้อซุปใบใหญ่ของชาวเมืองพระนคร คือพหุสังคมที่คลาคล่ำไปด้วยชนวรรณะต่างๆ อาทิ กษัตริย์ พระ ปุโรหิต นักรบ ทาส ไพร่

และในจำนวนนี้ก็มีเพศที่ 3

เริ่มจากชนชั้นนักบวชของราชธานีซึ่งถือพุทธศาสนาแบบมหายาน และมีภิกษุผู้โกนศีรษะ เดินเปลือยเท้า ห่มจีวรเหลืองพาดซ้ายเปิดไหล่ขวา ฉันภัตตาหาร 2 มื้อ ปฏิบัติศาสนกิจภายในสำนักอารามที่มีภาพใบหน้าของพระศรีศากยมุนี หรือที่สำเนียงท้องถิ่นเรียกว่าพระ (เปรี๊ยะ/Po-lai)

ศ.จอร์จ เซเดส อ้างว่า ราวปี ค.ศ.1308 พระบาทชัยวรมันที่ 3 ทรงสละราชสมบัติและออกผนวชเป็นพระสงฆ์ของนิกายมหายาน เช่นเดียวกับโจว ต้ากวน ซึ่งเดินทางมาถึงอาณาจักรแห่งนี้ราวปี ค.ศ.1296-1297 มีบันทึกว่า กษัตริย์พระองค์หนึ่งมักแปรพระราชฐานคราวละนานๆ ณ พระวิหารทองคำ

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่ามีศาสนาอย่างน้อยอีก 2 ลัทธิ ที่ 1 ในนั้นคือลัทธิเต๋า ซึ่งโจว ต้ากวน ไม่ได้อธิบายว่าหมายถึง “เต๋าไชนิส” หรือไม่?

หากแต่มีสำนักและวิหารซึ่งปูหลังคาด้วยกระเบื้อง และนักบวชของนิกายนี้ไม่ดื่มสุรา การบิณฑบาต การรับบริจาคและการแบ่งปันและฉันภัตตาหารเฉพาะหมู่ตนไม่ปะปนกับวรรณะอื่น เนื่องจากเป็นลัทธิที่ไม่เปิดเผยต่อโลกภายนอก ทำให้ไม่ทราบพิธีกรรมศาสนาและการวิปัสสนา

ด้านวรรณะปุโรหิตซึ่งนับเป็นหน่วยสังคมที่มีอิทธิพลต่อราชสำนักเล่า พี่น้องพราหมณ์แห่งราชสกุล “ชัย” ดูจะถูกบันทึกว่าบนแผ่นศิลาว่าด้วยพระราชทินนาม “ชัยมหาปรารถนา” และ “ชัยมังคัลธเทวา”

อนึ่ง ยังพบอีกว่า สตรีแห่งวรรณะปุโรหิตนี้เองที่มักได้รับการถวายตัวสมรสกับพระมหากษัตริย์

โดยนอกจากสกุลไศเวทย์ลัทธิหรือหริชิเกษที่มีเชื้อสายพม่าแล้ว ยังมีนักรบอีกวรรณะหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญไล่รองลงมา

ที่เหลือประชาชนและพ่อค้า และในบรรดาชนวรรณะล่างสุดนั้น คือทาส-ไพร่ทั้งหลาย ซึ่งแบ่งเป็น : หนึ่ง-ทาสชั้นต่ำสุด ผู้ไร้ทักษะการสื่อสาร ภาษาและวัฒนธรรม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่

คนกลุ่มนี้นอกจากกล่าวว่าดุร้ายยังสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อหยาบ ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่อาศัยในป่าเขา มีสัญลักษณ์เป็นหม้อน้ำดินเผาที่ทูนไว้บนศีรษะ

ส่วนทาสกลุ่มที่ 2 จะเป็นทาสชาวเมืองซึ่งมีมูลค่าในการซื้อขาย มีอารยธรรมทางสังคมเมืองด้านการสื่อสาร สามารถฝึกฝนด้านแรงงาน กสิกรรม เพาะปลูก ตลอดจนอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม สำหรับทาสชั้นต่ำที่ขาดทักษะการสื่อสารนี้ กลับพบว่าเป็นกลุ่มที่สามารถรักษาอัตลักษณ์และโครงสร้างทางกายภาพ การเปลี่ยนแปลงสถานะที่น้อยมาก แม้อันที่จริงแล้วจะมีภาษาเฉพาะตน ทว่าเมื่อเทียบกับชาวกัมพูชาปัจจุบัน กลับพบว่ามีการข้ามสายพันธุ์จากการสมรส การอพยพถิ่นฐานและการค้า รวมทั้งการเปลี่ยนวิถีทางวัฒนธรรมมากกว่าคนกลุ่มใดทั้งหมด

จากข้อสันนิษฐานนี้ ทำให้เป็นที่เชื่อว่า ชาวเขมรป่าดงหรือ “ชนเชียด” ในป่าตอนล่างของเทือกเขาพนมดงรัก น่าจะเป็นลูกหลานของทาสชั้นล่างกลุ่มนี้

 

ใช่แต่ทาสไพร่ที่ขับเคลื่อนสังคมเท่านั้น หากแต่ยังมีกลุ่มเพศที่สามรวมอยู่ด้วยในบรรดาชุมชนของชาวเมืองนครธม ซึ่งหลังยุครัชกาลพระบาทชัยวรมันที่ 7 ไปแล้วราว 78 ปี หรือในสมัยพระบาทอินทรวรมันที่ 3 ซึ่งตามบันทึกโจว ต้ากวน พบว่ามีกลุ่ม “กะเทย” อยู่ในสังคมชาวพระนครปีนั้นด้วย

นับเป็นความน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก สำหรับเพศที่ 3 แห่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยนอกจากเพศทางเลือกที่น่าจดจำกลุ่มนี้ วิถีการแสดงออกทางสังคมก็เป็นสิ่งที่พึงกล่าวไว้ในอัตลักษณ์ด้วยเช่นกัน

กล่าวคือ กะเทยสมัยนครธม ดูจะมีเสรีภาพอย่างเพียงพอในการแสดงออกต่อสาธารณชน โดยเพียงบรรทัดเดียวก็ทำให้เข้าใจว่า ณ ตลาดชุมชนของเมืองพระนคร ได้มีพ่อค้าจีนถูกชาวเพศที่ 3 แห่งเมืองพระนครคุกคามด้วยพฤติกรรมอันน่ารังเกียจจากเอาตัวเข้าพัวพันเพื่อหวังทรัพย์สินมีค่าบางอย่าง

แต่สำหรับนักการศึกษาแล้ว มีเรื่องที่น่ายินดีนักในการที่จักทราบว่า ชาวกะเทยเมืองพระนคร มิได้ถูกจำกัดสิทธิเยี่ยงทาสไพร่แต่อย่างใด

อย่างน้อย เมื่อเทียบกับพลเมืองเจ็นวายของบางประเทศในปัจจุบัน ชาวกะเทยนครธมในสมัยเขมรยุคกลางดูจะมีเสรีภาพกว่า

ปมเหตุมาจากการที่ชาวท้องถิ่นผู้ทำการค้าของเมืองพระนครส่วนใหญ่เป็นสตรีเพศ จึงบางครั้งผู้ค้าขายสตรีพวกนี้จำเป็นต้องอาศัยตัวแทนซึ่งเป็นเพศที่ 3 เพื่อติดต่อเจรจากับพ่อค้าบางกลุ่ม โดยเฉพาะกรณีที่เป็นต่างชาติด้วยแล้ว (?)

เช่นกัน มิพักต้องกล่าวถึงราชสำนักที่ต้องผ่านสู่สตรีฝ่ายใน เธอเหล่านี้ย่อมต้องการตัวแทนในการพบปะติดต่อผู้คน ซึ่งในที่นี้น่าจะหมายถึง “กะเทยเพศ” แห่งเมืองพระนคร

 

อนึ่ง เกร็ดเพิ่มเติมอันเกี่ยวกับพ่อค้าจีนนี้ ตามบันทึกพบว่า เหตุผลของการทำการค้าอาณาจักรขอมยุคกลางก็คือ

1.ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ การกสิกรรมทำได้โดยง่าย 2.บ้านเรือนอาศัยปลูกสร้างไม่ซับซ้อน 3.เสื้อผ้าอาภรณ์ไม่ขาดแคลน และ 4.ทำการค้าขายไม่ยุ่งยาก

โดยเมื่อย้อนดูยุทธศาสตร์การค้าปัจจุบันของจีนต่อภูมิภาคอุษาคเนย์ ยุคสงครามการค้าแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเต็มไปด้วยการลงทุนด้านคมนาคมสมัยใหม่ และกฎหมายการค้าระหว่างประเทศตลอดจนอิทธิพลของระบบทุนข้ามชาติและเทคโนโลยี การแย่งชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ซึ่งแผ่อิทธิพลจากเขมรถึงลาวรวมทั้งประเทศไทยและภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงส่วนหนึ่งของอาเซียนเกือบทั้งหมด

ล้วนมาจากความสำเร็จที่เกิดจาก “ระบอบการปกครอง” ของกลุ่มประเทศนี้ ที่มีลักษณะคล้ายกับยุคกลางสมัยเมืองนครธม