ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ / MIDWAY ‘ยุทธการมิดเวย์’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

MIDWAY

‘ยุทธการมิดเวย์’

 

กำกับการแสดง Roland Emmerich

นำแสดง Ed Skrein Patrick Wilson Woody Harrelson Luke Evans Mandy Moore

Dennis Quaid Aaron Eckhart

 

อเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองเป็นทางการหลังจากฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์บนเกาะโออาฮู มลรัฐฮาวาย ถูกโจมตีทางอากาศแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941

โดยไม่ได้เอะใจหรือมีสิ่งใดเตือนล่วงหน้า ฝูงบินของญี่ปุ่นจู่โจมเข้าทิ้งระเบิดใส่ฐานทัพ สร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่กองเรือ และส่งผลให้เรือรบแอริโซนาจมลงใต้ทะเล

เพิร์ลฮาร์เบอร์เป็นฐานทัพเรือของสหรัฐที่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ และเกือบจะเป็นกึ่งทางระหว่างหมู่เกาะญี่ปุ่นกับแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐ

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวนับล้านยังคงหลั่งไหลเข้าไปชมอนุสรณ์สถานที่เพิร์ลฮาร์เบอร์กันหนาแน่น รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ที่สร้างเหนือจุดที่เรือจม คร่าชีวิตลูกเรือกว่าพันคนไปด้วย

อันเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้อเมริกาตัดสินใจประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะและเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการ

 

เพื่อเป็นการตอบโต้ อเมริกาส่งฝูงบินเข้าโจมตีกรุงโตเกียวทางอากาศเมื่อวันที่ 16 เมษายนของปีถัดมา นำโดยจิมมี่ ดูลิตเทิล (อารอน เอ็กฮาร์ต)

นับเป็นการโจมตีอย่างบ้าบิ่น นักบินทุกคนภายใต้การนำของดูลิตเทิลตระหนักดีในความเสี่ยงอย่างสูงของยุทธการนี้ เนื่องจากเครื่องบินรบต้องบินเป็นระยะทางไกลกว่าจะไปถึงนครโตเกียว และไม่เหลือเชื้อเพลิงพอให้บินกลับฐานได้แน่นอน

แผนการที่วางไว้หลังจากการทิ้งระเบิดโจมตีแล้ว คือให้บินไปลงในเขตปกครองของจีนซึ่งเป็นศัตรูของญี่ปุ่น แต่กระนั้นเครื่องบินก็มีทางที่น้ำมันจะหมดกลางทาง และต้องร่อนลงในทะเลก่อนจะบินไปลงบนแผ่นดินได้

ตามประวัติศาสตร์แล้ว การโจมตีทางฝูงบินของดูลิตเทิลไม่ได้ก่อผลเสียหายแก่ฝ่ายญี่ปุ่นสักเท่าไรนัก แต่ส่งผลทางขวัญและกำลังใจแก่อเมริกา

และเป็นการหยามน้ำหน้าคนญี่ปุ่นที่ภาคภูมิใจนักหนาว่านครหลวงของพวกเขาไม่เคยมีใครรุกรานเข้าไปถึง พระจักรพรรดิของพวกเขาทรงปลอดภัยอยู่ในการอารักขาสูงสุดแบบที่ไม่มีอะไรเข้าไประคายเคืองเบื้องยุคลบาทได้

 

หนังเริ่มที่การแนะนำให้คนดูรู้จักกับนายทหารอเมริกัน เอ็ดวิน เลย์ตัน (แพทริก วิลสัน) ผู้พูดภาษาญี่ปุ่นได้คล่องแคล่วและเข้าใจวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นอย่างดี

เลย์ตันประจำอยู่ฝ่ายข่าวกรองและคุมงานข่าวกรองที่ได้จากการดักฟังวิทยุสื่อสารของญี่ปุ่น โดยมีทีมถอดรหัสที่ส่งข้อความสั่งการไปยังที่ต่างๆ เมื่อเกิดสงคราม นักดนตรีประจำวงของกองทัพเรือก็ถูกเกณฑ์มาเป็นนักถอดรหัส เนื่องด้วยความชำนาญในการอ่านโน้ตดนตรีซึ่งถือว่าจะช่วยทำให้อ่านความหมายของรหัสได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

นักถอดรหัสที่เก่งกาจของกองทัพเรือซึ่งเลย์ตันเชื่อถือในสัญชาตญาณที่แทบไม่เคยพลาดคือ โจเซฟ รอชฟอร์ต (เบรนนัน บราวน์) เขาแกะรหัสที่ข้าศึกส่งข่าวสื่อสารกันได้หลายครั้ง แต่เมื่อส่งไปถึงกองบัญชาการที่วอชิงตัน ก็ไม่ได้รับการเชื่อถือ เพราะไม่ได้รับการยืนยันจากข่าวกรองด้านอื่นๆ

เมื่อเกิดเหตุการณ์โจมตีแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ เลย์ตันถือว่านั่นเป็นความล้มเหลวด้านข่าวกรองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันเลยทีเดียว

ปล่อยให้ข้าศึกมาประชิดตัวและลงมือโดยไม่ได้มองเห็นล่วงหน้า จึงไม่ได้เตรียมการป้องกันหรือต่อสู้ไว้เลยแม้แต่น้อยนิด

 

ท่ามกลางความเป็นไปของสงครามระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่นในช่วงเดือนแรกๆ เลย์ตันพยายามหาข่าวกรองด้วยการถอดรหัสสัญญาณสื่อสารที่ดักฟัง โดยแทบไม่ได้หลับได้นอน เพื่อเตือนให้เบื้องบนวางกลยุทธ์ตอบโต้ได้ทันการ

ซึ่งเป็นความยากลำบากที่จะยืนยันข่าวกรองของทีมงานเขา เนื่องจากหลายอย่างเป็นการคาดเดาจากสัญชาตญาณ แบบที่หาข้อพิสูจน์มายืนยันชัดเจนได้ยาก

ตรงนี้เลย์ตันยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ข่าวกรองนั้นเปรียบเสมือนกับข่าวสารที่เราเก็บเล็กผสมน้อยมาได้ เหมือนกับว่าเราไม่ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานแต่งงาน แต่เราก็สามารถล่วงรู้ว่าจะมีการจัดงานอะไรที่ไหนเมื่อไรได้จากการติดต่อจองสถานที่ การพูดคุยติดต่อกับร้านดอกไม้ บริกรและร้านอาหารเพื่อการตระเตรียมงานทางด้านสถานที่และอาหารสำหรับจำนวนแขกกี่คน เป็นต้น เท่านั้นเราก็จะได้ข้อสรุปว่าจะมีการจัดงานอะไร ที่ไหนและเมื่อไร

ในการนี้เขาถอดรหัสแบบเก็บเล็กผสมน้อยจากที่โน่นที่นี่มาว่ากองทัพเรือญี่ปุ่นจะโจมตีหมู่เกาะมิดเวย์ ซึ่งได้ชื่อเรียกนี้มาเพราะอยู่กลางทางระหว่างทวีปอเมริกากับทวีปเอเชียพอดี

มิดเวย์ตั้งอยู่ห่างจากฮาวายไปทางทิศตะวันตกไม่ไกลนัก

ในทางยุทธศาสตร์ หากฝ่ายญี่ปุ่นยึดครองมิดเวย์ได้ จะถือเป็นก้าวสำคัญในสงครามที่จะเปิดประตูไปสู่การเข้ารุกรานมาตุภูมิของสหรัฐ ทางชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาได้

แต่ตามประวัติศาสตร์แล้ว วัตถุประสงค์ของญี่ปุ่นอยู่ที่การเอาชนะกองทัพเรือสหรัฐอย่างเด็ดขาดในการโจมตีแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวอีกครั้ง ซึ่งจะบั่นทอนกำลังใจของทหารสหรัฐ และสามารถต่อรองสงบศึกได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากการทำสงครามยืดเยื้อกับอเมริกานั้นจะไม่ส่งผลดีต่อญี่ปุ่นและอาจไม่มีทางชนะสงครามอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้

แต่ทว่า ด้วยข่าวกรองที่คาดเดาการเข้าโจมตีที่มิดเวย์ การสั่งการเพื่อตอบโต้ได้ทันการ (ไม่เหมือนกับที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ซึ่งกว่าจะรู้ตัว ข้าศึกก็เข้ามาถึงตัวเสียแล้ว) และความกล้าหาญของเหล่านักบินโจมตีสหรัฐ การรบที่มิดเวย์จึงมีผลอย่างที่เราทราบกันในปัจจุบัน

นักประวัติศาสตร์ถือว่ายุทธการมิดเวย์เป็นจุดพลิกผันที่สำคัญในสมรภูมิแปซิฟิก

 

ฮอลลีวู้ดทำหนังในชื่อเดียวกันนี้มาแล้วใน ค.ศ.1976

ครั้งนั้นมีนักแสดงระดับดาราสองคน คือชาร์ลตัน เฮสตัน และเฮนรี่ ฟอร์ด

แต่คราวนี้หนังหันมาเน้นที่เรื่องราวของตัวละครในการรบ โดยไม่สร้างเลิฟสตอรี่เข้ามาสร้างอารมณ์สะเทือนใจ

ตัวละครสำคัญทุกตัวมีบทบาทสำคัญในชีวิตจริง ในยุทธการมิดเวย์

ไม่ว่าจะเป็น ดิ๊ก เวสต์ (เอ็ด สไกรน์) เอ็ดวิน เลย์ตัน (แพทริก วิลสัน) เชสเตอร์ นิมิตซ์ (วูดดี้ แฮร์เรลสัน) เวด แม็กคลัสกี้ (ลูค เอแวนส์) วิลเลียม ฮัลซีย์ (เดนนิส เควด) และจิมมี่ ดูลิตเทิล (อารอน เอ็กฮาร์ต)

โดยบทบาทสำคัญตกอยู่กับดิ๊ก เวสต์ นักบินบ้าบิ่นฝีมือขั้นเทพ ซึ่งกลายมาเป็นหัวหน้าฝูงบินที่แบกภาระรับผิดชอบชีวิตลูกน้องภายใต้การนำของเขา และมีตอนจบที่น่าสะเทือนใจในชีวิตจริง

และการทำงานอย่างทุ่มเทของทีมงานข่าวกรอง เพื่อแข่งกับเวลาและเพื่อยืนยันให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงเชื่อในการคาดเดาแผนการของข้าศึกจนตัดสินใจซ้อนแผนเอาชนะศัตรูได้ทันการ

เราได้เห็นความกล้าหาญและวีรกรรมของทั้งสองฝ่าย ทั้งอเมริกาซึ่งเป็นตัวนำเรื่อง แต่ขณะเดียวกัน ฝ่ายญี่ปุ่นก็ได้รับบทบาทที่สมศักดิ์ศรี เป็นฝ่ายตรงข้ามกับตัวเอก แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้ร้ายเสียทีเดียว

แถมยังมีฉากน่าสะเทือนใจสวยงาม ในลักษณะนักรบซามูไรเลือดบูชิโด ที่ยอมสละชีพโดยไม่ยอมเสียเกียรติและศักดิ์ศรีของนักรบ

 

ผู้เขียนชอบการตัดสินใจของผู้กำกับฯ และผู้สร้างที่ไม่แทรกเรื่องราวความรักโรแมนติกของหนุ่มสาวเข้ามา เหมือนอย่างใน Pearl Harbor เป็นอาทิ

นับเป็นหนังที่เน้นน้ำหนักและความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ของยุทธการมิดเวย์ให้โดดเด่นขึ้นมา

จากฝีมือของโรแลนด์ เอมเมอริช (Independence Day, 2012) ผู้กำกับฯ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งภัยพิบัติแบบล้างผลาญวินาศสันตะโร