สุจิตต์ วงษ์เทศ/ นครราชสีมา แรกสุดอยู่สูงเนิน ‘เมืองโคราชเก่า’

วังเจ้าเมืองนครราชสีมา สมัยต้นอยุธยา เป็นคันดินรูปสี่เหลี่ยม ในคูน้ำคันดินเมืองเสมารูปกลมใหญ่ที่อยู่ด้านเหนือ [แผนผังจากหนังสือ โคราชของเรา สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2558 หน้า 91]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

นครราชสีมา

แรกสุดอยู่สูงเนิน

‘เมืองโคราชเก่า’

 

นครราชสีมา สมัยแรกสุดอยู่ “เมืองโคราชเก่า” อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา

ต่อมาสมัยหลังสร้างเมืองใหม่บริเวณปลายลำตะคอง อ.เมืองนครราชสีมา สืบจนทุกวันนี้

 

นครราชสีมา เมือง “พญามหานคร”

 

เมืองเสมา สูงเนิน คือ เมืองนครราชสีมา ที่พบในกฎมณเฑียรบาล พ.ศ.2011 แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กรุงศรีอยุธยา [ครองราชย์ 1991-2031]

เมืองนครราชสีมา เป็น 1 ใน 8 เมือง “พญามหานคร” ของกรุงศรีอยุธยา ที่ระบุไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่าได้เข้าพิธีถือน้ำสาบานต่อพระเจ้าแผ่นดิน เรียก “ถือน้ำพระพัท” [พิพัฒสัตยา] ได้แก่ 1.เมืองพิษณุโลก 2.เมืองศรีสัชนาลัย 3.เมืองสุโขทัย 4.เมืองกำแพงเพชร 5.เมืองนครศรีธรรมราช 6.เมืองนครราชสีมา 7.เมืองตะนาวศรี 8.เมืองทวาย

เมือง “พญามหานคร” ทั้งเจ็ด [ยกไว้ก่อนเมืองนครราชสีมา] มีศักดิ์ศรีที่รู้กันทั่วไปว่าความเป็นมาเก่าแก่ยาวนาน, วงศ์กษัตริย์สืบทอดไม่ขาดสาย, เกี่ยวดองใกล้ชิดกรุงศรีอยุธยา

เมืองเสมา สูงเนิน มีศักดิ์ศรีสมเป็นเมือง “พญามหานคร” ดังนี้

  1. ความเป็นมาเก่าแก่ยาวนานตั้งแต่ราว พ.ศ.1000 [มักเรียกสมัยทวารวดี]
  2. วงศ์กษัตริย์ “ศรีจนาศะ” สืบทอดไม่ขาดสาย พบรายพระนามในศิลาจารึก
  3. เกี่ยวดองใกล้ชิดกรุงศรีอยุธยา ดังนี้

3.1 เมืองเสมา คือ เมืองราด ของพ่อขุนผาเมือง เป็นเครือญาติใกล้ชิดกับกษัตริย์เมืองละโว้ เมืองอโยธยา ที่ต่อไปคือกรุงศรีอยุธยา ตามการค้นคว้าวิจัยของนักปราชญ์หลายท่าน ได้แก่ มานิต วัลลิโภดม, จิตร ภูมิศักดิ์, ศรีศักร วัลลิโภดม

3.2 พ่อขุนผาเมือง คือ พระยาแกรก ครองกรุงอโยธยา ในพงศาวดารเหนือ พระยาแกรกเป็นตำนานวีรบุรุษคนสำคัญ ไม่ใช่เรื่องจริง แต่แสดงความเกี่ยวดองอย่างยิ่งใหญ่และใกล้ชิดของเมืองเสมา, เมืองราด, เมืองอโยธยา, กรุงศรีอยุธยา

3.3 พระแสงขรรค์ชัยศรี พ่อขุนผาเมืองรับพระราชทานจากกษัตริย์กัมพูชา ตกทอดถึงกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา พบในตำนานพระยาแกรกในพงศาวดารเหนือ และคำบอกเล่าอยู่ในคำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด

3.4 ศิลาจารึกศรีจนาศะ เดิมอยู่เมืองเสมา สูงเนิน ถูกเชิญไปเข้าพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง [น่าสงสัยว่าจะถูกเชิญเข้าพิธีถือน้ำพระพัท?] ที่โบสถ์พราหมณ์ [ชีกุน อยุธยา] ในพระนครศรีอยุธยา เซเดส์บอกว่า “ตั้งแต่ครั้งพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี”

3.5 เมืองเสมา คือ เมืองพระงามของกรุงศรีอยุธยา พบชื่อในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา “ฉบับปลีก” ระบุชื่อบ้านเมืองในอำนาจที่อยู่บริเวณต้นลำน้ำมูลว่า “เมืองพระงามพุทราทานธะริก” หมายถึงเมืองทั้งสามตามแนวเดียวกัน ได้แก่

เมืองพระงาม คือ เมืองเสมาที่สูงเนิน [พระงาม คือ พระนอน ราวหลัง พ.ศ.1000 (แบบทวารวดี) วัดธรรมจักรเสมาราม]

เจ้าเมืองพระงามมีนามทางการว่า “ขุนกำแหงพระอินทร” สอดคล้องนามเชื้อสายละโว้-สุโขทัย ได้แก่ “คำแหงพระราม” [น้องพ่อขุนผาเมือง บิดาของมหาเถรศรีศรัทธา] และนามเจ้าเมืองนครราชสีมาสมัยหลังว่า “คำแหงสงคราม” ล้วนเป็นพยานสำคัญว่าเมืองพระงาม คือ เมืองเสมา อยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยานานมาแล้วก่อนหน้านั้น

พุทรา คือ เมืองพุทรา อยู่ระหว่าง อ.ขามทะเลสอ กับ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา

ทานธะริก หมายถึง เมืองที่ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ลำเชียงไกร อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา

ซากวัดและชิ้นส่วนพระพุทธรูป สมัยต้นอยุธยา ชาวบ้านเรียกวัดโคกพระยา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา [ภาพ วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2562]

พื้นที่อำนาจ “เมืองโคราชเก่า”

 

ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักโบราณคดีผู้ควบคุมการขุดค้นเมืองเสมา เมื่อ พ.ศ.2545 พบว่า พื้นที่ศูนย์กลางเมืองนครราชสีมา [แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กรุงศรีอยุธยา] อยู่เมืองเสมา สูงเนิน บริเวณที่เรียก “เมืองนอก” มีคันดินรูปสี่เหลี่ยมเสมือนวังเจ้าเมือง นอกจากนั้นยังพบร่องรอยสถูปเจดีย์และเครื่องมือเครื่องใช้ เรือน พ.ศ.2000 กระจัดกระจายอีกหลายแห่งรอบนอกคูน้ำคันดิน

“ส่วนเมืองโคราชปัจจุบันสร้างในสมัยพระนารายณ์ ทั้งนี้ เปรียบเทียบจากกําแพงเมือง คูเมือง เหมือนกับเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเอมอริเยได้เขียนผังไว้เป็นกําแพงเมืองรูปสี่เหลี่ยมว่าเป็นเมืองใหม่” ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ อธิบายความเป็นมาของการสร้างเมืองใหม่นครราชสีมา

พ.ศ.2011 เมืองนครราชสีมา ที่เมืองเสมา สูงเนิน ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ น่าจะอยู่ระหว่างสร้างชุมชนใหม่ เพื่อสร้างเมืองใหม่ บริเวณทุกวันนี้เป็น อ.เมืองนครราชสีมา

โคราชของเรา พิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก พ.ศ.2558 ผมรวบรวมแล้วเรียบเรียงไว้ไม่ครบถ้วน และบางตอนคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะเรื่อง “เมืองโคราชเก่า” ต้องแก้ไขตามที่พบหลักฐานใหม่นี้