เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ / เมื่อสุพจน์ เฆี่ยนตีผม

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

เมื่อสุพจน์ เฆี่ยนตีผม

 

ผมได้รับหนังสือ “เมื่อความจน เฆี่ยนตีผม” ที่เขียนโดยวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ โดยเล่มนี้เจ้าของเรื่องคือ “คุณสุพจน์ ธีระวัฒนชัย” ได้มอบให้กับทีมงานในวันที่มาบันทึกเทปรายการ “เจาะใจ”

ก็ขอป่าวประกาศไว้ล่วงหน้าเดือนกว่าๆ กันเลยว่า รายการเจาะใจที่สัมภาษณ์คุณสุพจน์ เจ้าของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง จะออกอากาศในวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม เวลา 3 ทุ่มทางช่อง MCOT HD ช่อง 30

แต่ในเครื่องเคียงฯ ตอนนี้จะพูดจากที่ได้อ่านหนังสือเรื่องราวสู้ชีวิตของคุณสุพจน์เขา ที่พออ่านแล้วเห็นสมควรอย่างยิ่งที่จะตั้งชื่อตอนว่า “เมื่อสุพจน์ เฆี่ยนตีผม” เพราะสุพจน์ได้เฆี่ยนตีผู้อ่านด้วย “บทเรียนชีวิต” ที่ประเมินค่ามิได้ เฆี่ยนตีความคิดและปัญญาของเราเหลือเกิน

อ่านจบแล้วต้องร้องโอดโอย…เจ็บเหลือเกิน

 

ในหน้าสุดท้ายของหนังสือ ได้ทิ้งคำพูดของสุพจน์ไว้ว่า

“ผมพลาดมากเรื่องการคิดเร็วด่วนได้ คิดน้อย คิดสั้น เคยผ่านมาหมดแล้ว หลงตัวเอง ใจร้อน ประเมินผิด อ่านสถานการณ์ผิด คิดด้านเดียว คือคิดแต่ชนะ ไม่คิดด้านแพ้”

ใช่ครับ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในหนังสือตลอดเวลา สุพจน์จะเล่าถึงความผิดพลาดของเขาให้เราได้เห็น ชี้ถึงข้อไม่ดีของตัวเอง ข้อผิดพลาด ที่เหมือนเอาตัวเองมาประจาน แต่ก็เพื่อเป็นสติปัญญาให้กับผู้อ่าน

สุพจน์ได้เลือดค้าขายมาจากความเป็นครอบครัวคนจีน รู้จักทำงานช่วยที่บ้านหาเงินมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ทำมาทั้งขายน้ำอัดลมสีเขียวสีแดง โดยยืมเงินจากแม่ 10 บาทมาเป็นทุน ปรากฏว่าขายดี และกำไรก็ดีด้วย

แถมคิดกลยุทธ์ให้น้ำขายดีขึ้น โดยเอาขนมปังมาขายควบคู่กันไปด้วย กินขนมแล้วก็มักจะต้องซื้อน้ำตาม ชี้ให้เห็นว่าเป็นคนช่างสังเกต และคิดต่อยอดเป็น

ไม่พอ เขายังขยายกิจการค้าเพื่อสนองผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเด็กๆ เหมือนกับเขาโดยเอาแผงจับสลากมาขาย ที่เด็กๆ เรียกกันว่า “จกเบอร์” โชคดีก็มีรางวัลติดมือกลับบ้านไป

เขากับพี่น้องช่วยแม่พับถุงกระดาษขายเพื่อหารายได้เสริม เป็นสิ่งที่ทำเพิ่มจากช่วยงานทำเสื้อยืดขายที่มีแม่เป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งทำให้เขารู้จักวิธีการทำเสื้อยืดอย่างดี รู้แหล่งของ รู้เรื่องการตัดเย็บและทำลวดลาย รู้ไปถึงการวางบิลและเก็บเช็ค

ซึ่งเมื่อเขาโตมาก็ได้นำความรู้เรื่องทำเสื้อยืดมาสร้างธุรกิจของตนเองจนตั้งตัวได้ ตอนช่วงรุ่งๆ ทำรายได้ถึงเดือนละ 5 แสนบาทมาแล้ว ซึ่งสำหรับคนอายุไม่ถึง 30 ปีในสมัยเมื่อ 20 ปีก่อนต้องถือว่าไม่น้อยเลย

แต่ด้วยความเป็น “อะไร” อย่างที่เอ่ยไว้ตอนต้นของเขา ทำให้เขาผิดพลาดครั้งใหญ่ของชีวิต เกิดย่ามใจ เห็นแต่หนทางที่สำเร็จ ไม่คิดให้รอบคอบ โดยตัดสินใจกู้เงินธนาคารมาสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนเยอะ ใช้คนงานมากขึ้น ซึ่งก็ต้องมีฝีมือด้วย แต่การณ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น

ทุกอย่างไม่เป็นไปตามคาด รายได้ตก ค่าใช้จ่ายสูง หนี้สินพอกพูน สุดท้ายก็ต้องปิดโรงงานของตนเองลง

เขาทุกข์อยู่กับมันพักใหญ่ ก่อนจะลุกจากการเลียบาดแผลเพื่อสู้ชีวิตครั้งใหม่ เป็นการสร้างชีวิตที่เดิมพันสูงมากในช่วงวิกฤตของเศรษฐกิจประเทศ นั่นคือช่วงหลัง “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

 

ใช่แล้วครับ เขากับหุ้นส่วนชื่อ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ลุกขึ้นมาทำร้านอาหารขนาด 1,000 ที่นั่ง ที่มีเบียร์เยอรมันและอาหารไทยเป็นสินค้า นั่นคือ “โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง”

เขานำความผิดพลาดที่ผ่านมามาเป็นบทเรียน และทำใหม่แบบมีสติ มีความรู้ ความเข้าใจ และมีแผนรองรับ

สิ่งหนึ่งที่เห็นจากหนังสือเล่มนี้อย่างหนึ่งคือ “ต้องรู้จริง” ในเรื่องที่ทำ

เขาและหุ้นส่วนต้องศึกษาเรื่องเบียร์อย่างถ่องแท้ รู้กรรมวิธีการผลิตอย่างชัดเจน เดินทางไปติดต่อเจรจากับผู้ผลิตเบียร์เอง จนซื้อเครื่องผลิตเบียร์จากเขาได้ เบียร์เยอรมันก็ต้องควบคุมด้วยคนเยอรมัน สุพจน์ได้ Brew Master ชาวเยอรมันมาทำงานด้วย

ครั้งหนึ่งเบียร์ที่ผลิตออกมา 2,000 ลิตร มีข้อบกพร่อง สุพจน์ให้เททิ้งทั้งหมด เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องดื่มเบียร์ที่ไม่ได้คุณภาพ

 

ไม่เฉพาะแต่เบียร์ ต้องดูแลไปถึงแก้วใส่เบียร์ที่ต้องสะอาด และวิธีการรินเบียร์ให้ได้ฟองสวยน่าดื่มที่พนักงานบริการต้องฝึกทุกคน

เรื่องอาหาร ก็เสาะหาพ่อครัวที่มีฝีมือมาประจำร้าน โดยมีเขาเป็นคนคิดเมนูเอง และเพื่อให้เข้าถึงกระบวนการทำครัวจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร เขาลงทุนไปเทกคอร์สเรียนที่วิทยาลัยดุสิตธานีจริงๆ จังๆ เลย ได้ความรู้มาเขาก็มารื้อครัวทำใหม่ทั้งหมด จนลูกน้องตกใจเพราะของเดิมก็ลงทุนไปเยอะ

เขาต้องการให้ครัวของเขาถูกต้องตามหลักการทำอาหารทุกประการ สามารถผลิตอาหารได้คล่องตัว ว่องไว สะอาด จากที่ไปเรียนทำให้เห็นข้อเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญ เช่น อ่างล้างมือควรอยู่ใกล้พ่อครัว เพราะเขาจะได้ล้างมือ ล้างอาหารได้บ่อยๆ อาหารก็จะสะอาด หรือตู้เย็นแบบไหนควรอยู่ซ้าย หรืออยู่ขวา เป็นต้น

เขายังให้ความสำคัญกับ “วัตถุดิบ” เพราะถ้าได้วัตถุดิบดี มีคุณภาพ ก็จะควบคุมคุณภาพอาหารได้ เขาจึงสั่งของจากเกษตรกรที่ตอบสนองเขาได้เท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ของดี ตรงเวลา

ในหนังสือ เราได้เห็นถึงความใส่ใจในเรื่องนี้อย่างมาก อย่างเขาบอกว่า ผักกะหล่ำปลีหนึ่งหัวจะใช้ได้แค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่จะนำมาทอดกับน้ำปลาได้อร่อย แสดงว่าเมนูนี้ 1 จานต้องใช้กะหล่ำปลีถึง 3 หัว

 

ที่ผมประทับใจอย่างมากคือ ไม่ใช่ใส่ใจกับ “ของ” และ “สถานที่” แต่เขาให้ใจมากๆ กับ “คน” ด้วย ทีมงานของเขาจะได้รับการดูแลอย่างดี ไม่เอาเปรียบ มีวิธีการสอนงานและพัฒนางาน รวมทั้งพัฒนาวิธีคิดและชีวิตด้วย

เขายอมไม่ได้ถ้ามี “การโกง” เกิดขึ้น เขาให้ออกทันที ที่นี่จึงไม่มีปัญหาเงินๆ ทองๆ หรือของที่ลืมในห้องน้ำก็จะได้คืนเกือบทั้งหมด

เขาจะให้เงินพิเศษแก่พนักงานที่ตลอดเดือนมีการทำงานที่ไม่ผิดพลาด ทำให้ทุกคนตั้งใจทำงานอยู่เสมอ และเขาอยากให้พนักงานรู้จักหาความรู้ สอนให้คิดเรียนต่อ สนับสนุนให้มีความก้าวหน้าในชีวิต พนักงานบางคนเขาออกเงินให้เรียนจนจบปริญญามาแล้วก็มี

พนักงานหลายคนเป็นวัยรุ่นจึงมีโอกาสข้องแวะกับยาเสพติด เขาประกาศว่าใครติดยาให้มาบอกเขา เขาจะออกเงินและพาไปรักษาตัวเอง

สุพจน์บอกว่า ถ้าพนักงานมีความสุขมีความมั่นคงในการทำงาน ชีวิตครอบครัวเขาก็จะมีความสุขไปด้วย มีพนักงานคนหนึ่งเล่าให้เขาฟังด้วยน้ำตาแห่งความดีใจว่า หลังจากได้มาทำงานที่นี่ ลูกของเธอได้กินนมที่ชงจากนมผงแล้ว ในขณะที่แต่ก่อนต้องให้ลูกกินนมที่ชงจากนมข้นหวาน

เขาภูมิใจว่าในฐานะที่เป็นเจ้าของโรงเบียร์แห่งนี้ เขาก็ตั้งใจจะทำให้สังคมของเขามีความสุข ลูกค้ามีความพอใจ พนักงานอยู่ดีกินดี มีอนาคต มีความเจริญก้าวหน้า

 

นั่นคือสิ่งที่สวยงามในความเป็นเขา ที่ไม่ได้เอาตัวเองให้รอดอย่างเดียว แต่คิดถึงคนอื่นด้วย คิดให้ คิดแบ่งปัน คิดมอบสิ่งดีๆ

ในหน้าสุดท้ายเช่นกัน ที่เขาทิ้งท้ายว่า “ผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเก่ง ตรงกันข้าม กลับรู้สึกอยู่ตลอดว่าตัวเองไม่เก่ง…นั่นคือเราต้องระวังตน ต้องคิดให้มาก ต้องเป็นนักเรียนน้อย ลดอีโก้ลงเยอะๆ อย่าหลงตน…”

นี่ไงที่บอกว่า สุพจน์เขาได้เฆี่ยนตีผม เข้าไปแล้ว…โอย โอย