คนมองหนัง | โอกาสใหม่ๆ ของ “อภิชาติพงศ์” การร่วมโปรเจ็กต์ “Mekong 2030” ของ “อโนชา”

คนมองหนัง

“Memoria” ได้ผู้จัดจำหน่ายในอเมริกาเหนือ

แม้ที่ผ่านมา “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” คนทำหนังเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำหนึ่งเดียวของไทย จะมีสถานะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์แนวอาร์ตเฮาส์อันดับต้นๆ ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติขนาดใหญ่ทั่วโลก

แต่ในแง่สัมฤทธิผลทางการตลาด ต้องยอมรับว่าหนังของเขายังไม่เคยเดินทางไปสู่กลุ่มผู้ชมวงกว้าง (ระดับแมส) มาก่อน

กระทั่งสามารถกล่าวได้ว่า “หนังอภิชาติพงศ์” คือ “หนังศิลปะ” มิใช่ “หนังทำเงิน”

อย่างไรก็ตาม “Memoria” โครงการภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของเขา ที่เพิ่งปิดกล้องในประเทศโคลอมเบียไปหมาดๆ อาจก่อกำเนิดขึ้นพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงบางประการ

“Memoria” น่าจะออกฉายในปี 2020 และอาจเปิดตัวที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ เวทีแจ้งเกิดแห่งแรกของอภิชาติพงศ์

แต่ข่าวคราวแปลกใหม่ล่าสุดที่เผยแพร่ออกมาก็คือบริษัทผู้ได้ถือครองสิทธิในการจัดจำหน่ายหนังเรื่องนี้ในทวีปอเมริกาเหนือ จะได้แก่ “NEON” ซึ่งกำลังประสบความสำเร็จขนานใหญ่ กับการนำหนังเกาหลีดีกรีรางวัลปาล์มทองคำอย่าง “Parasite” ไปบุกตลาด-โกยเงินดอลลาร์ที่สหรัฐอเมริกา

โปรเจ็กต์ “Memoria” ได้นำพาผู้กำกับฯ ฝีมือดีชาวไทย ไปพบพานกับสิ่งที่ถือเป็น “ครั้งแรก” ของชีวิตในหลายๆ เรื่อง

ทั้งการออกไปถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดยาวนอกประเทศไทย (และไม่ใช้ตัวละครหลักเป็นคนไทยที่พูดภาษาไทย) เป็นครั้งแรกสุด

ยิ่งกว่านั้น นี่ยังเป็นหนแรกที่หนังยาวของอภิชาติพงศ์ได้ดาราผู้มีชื่อเสียงระดับสากลอย่าง “ทิลดา สวินตัน” มาร่วมสวมบทบาทในฐานะนักแสดงนำ

ที่สำคัญ นี่คือครั้งแรกที่ผลงานของอภิชาติพงศ์จะเดินหน้าเข้าตลาดอเมริกันอย่างจริงจัง

แม้ “Memoria” อาจไม่ได้ไปไกลถึงขั้น “Parasite” ที่ทำรายได้ในสหรัฐไปเกือบ 10 ล้านเหรียญ (สถิติ ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน) และทำเงินทั่วโลกเกิน 100 ล้านเหรียญ

แต่หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่าหนังเรื่องนี้ของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” จะมีโอกาสเข้าถึงกลุ่มคนดูที่กว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าเดิมแน่ๆ

“อโนชา” เป็นตัวแทนจากไทย ในโปรเจ็กต์ “Mekong 2030”

เทศกาลภาพยนตร์หลวงพระบางประกาศจัดสร้างภาพยนตร์ “omnibus film” (หนังยาวที่ประกอบด้วยหนังสั้นหลายเรื่องในธีมเดียวกัน) ภายใต้ชื่อโปรเจ็กต์ว่า “Mekong 2030”

ผลงานรวมหนังสั้นข้ามพรมแดนเรื่องนี้ จะมีเนื้อหาว่าด้วยการครุ่นคำนึงถึงอนาคตของแม่น้ำโขงและสภาพชุมชนริมฝั่งน้ำใน ค.ศ.2030 หรืออีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้า

นี่เป็นการใช้สื่อภาพยนตร์ส่องสะท้อนชะตากรรมของแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านประเทศจีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับปัญหามลพิษและผลลัพธ์จากการก่อสร้างเขื่อนหลายแห่ง อันก่อให้เกิดวิวาทะข้อถกเถียงตามมา

“Mekong 2030” จะประกอบด้วยหนังสั้นจำนวนห้าเรื่องจากลาว, กัมพูชา, เมียนมา, ไทย และเวียดนาม (แต่ไม่มีหนังจากจีน)

ในส่วนหนังสั้นไทยที่ชื่อ “The Line” นั้น เป็นผลงานการกำกับฯ ของ “อโนชา สุวิชากรพงศ์”

หนังสั้นฝีมืออโนชาจะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินรายหนึ่ง ซึ่งกำลังเตรียมตัวเปิดแสดงนิทรรศการศิลปะ ที่มุ่งความสนใจไปยังประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อในเรื่องวิญญาณและสิ่งเหนือธรรมชาติ กับระบบนิเวศของแม่น้ำโขง

หนังจะนำเสนอวิถีที่พรมแดนเส้นแบ่งระหว่างงานศิลปะกับโลกที่งานศิลปะดังกล่าวนำเสนอ ได้ค่อยๆ หลอมรวมเข้าหากัน ภายในพื้นที่เฉพาะ ซึ่งเปิดโอกาสให้ความรู้หลากหลายแบบมาประสานบรรจบซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ “Krabi, 2562” หนังยาวเรื่องล่าสุดที่อโนชากำกับฯ ร่วมกับ “เบน ริเวอร์ส” ศิลปินชาวสหราชอาณาจักร เพิ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในงานเอเชีย แปซิฟิก สกรีน อวอร์ดส์

ข้อมูลและภาพประกอบจาก

Apichatpong Weerasethakul’s upcoming Memoria gets a big deal

https://www.hollywoodreporter.com/news/neon-nabs-memoria-starring-tilda-swinton-north-america-1253137

https://www.instagram.com/burningbluecine/

https://www.hollywoodreporter.com/news/mekong-2030-anthology-focus-plight-mekong-river-1251960

Mekong 2030