จากเหตุไฟใต้ระอุ! ยิง ชรบ.ดับ 15 บทพิสูจน์ฝีมือ “บิ๊กแหมว” ผบช.ภ.9 ร่วมทหาร-ศอ.บต.ลุย “โจทย์ยาก”

กว่า 16 ปีที่ไฟปัญหาชายแดนภาคใต้ยังลุกโชนอย่างต่อเนื่อง ภาพความรุนแรงและผลกระทบที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปรากฏในข่าวอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดเป็น “ภาพจำ” ที่ฝังลึกในความรู้สึกของคนไทยจำนวนมาก

นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจำนวนมากของราชการเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ที่ค่ายกองพันทหารพัฒนา อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ตามมาด้วยเหตุการณ์ “มัสยิดกรือเซะ” จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่มีผู้เสียชีวิต 108 คน รวมไปถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 84 คนนั้น

นับได้ว่าปี พ.ศ.2547 เป็นปีแห่งความรุนแรง และเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่สงบนานารูปแบบ ทั้งการกราดยิง วางระเบิด ทำลายสาธารณูปโภคใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้-ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมกับ 4 อำเภอใน จ.สงขลา ในช่วงกว่า 16 ปีที่ผ่านมา

โดยฐานข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 เวลา 12.00 น. เผยว่า ตั้งแต่มกราคม 2547-ตุลาคม 2562 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบถึง 20,451 ครั้ง เสียชีวิต 7,053 คน และบาดเจ็บ 13,209 คน

และส่วนมากผู้เสียชีวิตเป็นอาสาสมัครป้องกันภัยหมู่บ้าน ซึ่งกลุ่มโจรใต้เชื่อว่าเป็นคนแจ้งเบาะแสข้อมูลต่างๆ แก่ตำรวจและทหารในพื้นที่

เหตุการณ์ความรุนแรงล่าสุด เกิดโศกนาฏกรรมกลุ่มคนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนสงคราม ทั้งปืนอาก้า เอ็ม 16 และปืนลูกซองบุกยิงถล่มป้อมจุดตรวจชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่บ้านทุ่งสะเดา ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 15 คน และบาดเจ็บ 5 คน เมื่อคืนวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยกลุ่มคนร้ายยังโรยตะปูเรือใบบนถนนเพื่อขัดขวางเจ้าหน้าที่

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งตลอดเวลา 16 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ “บีอาร์เอ็น” ออกมาเผยแพร่เอกสารทางโซเชียลมีเดียเป็นภาษารูบี จำนวน 3 หน้า ยอมรับว่าการถล่ม ชรบ. 15 คน เป็นการปฏิบัติการของแนวร่วมในพื้นที่ ซึ่งผ่านการตัดสินใจของแกนนำในพื้นที่ เพื่อตอบโต้ความไม่จริงใจของรัฐบาลไทยกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

หลังเกิดเหตุ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. บินด่วนลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมให้ขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและตรวจสถานที่เกิดเหตุ รวมถึงติดตามความคืบหน้าของคดีที่เกิดขึ้นทันทีในฐานะ “มือนักสืบฉมัง” หาเบาะแสคนร้ายที่ก่อเหตุ พร้อมบูรณาการกำลังออกสืบสวนติดตามจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย กำชับมาตรการในการป้องกันเหตุ และการตรวจตราสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

สำหรับการสืบสวนจับกุมตัวผู้กระทำผิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มือสืบสวนชั้นดีอย่าง “บิ๊กแหมว” พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบช.ภ.9 ซึ่งทำงานดับไฟใต้มาหลายปีมาควบคุมดูแลคดีดังกล่าว และเป็นโจทย์หนักในการพิสูจน์ฝีมือการติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดี

ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สนธิกำลังเข้าทำการตรวจค้นเป้าหมายต้องสงสัยจำนวน 6 จุด ในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี รอยต่อเขต อ.เมืองยะลา ซึ่งมีกองกำลังเจ้าหน้าที่ จ.ยะลา เข้าทำการตรวจค้นเช่นเดียวกันจำนวน 13 จุด ผลการปฏิบัติครั้งนี้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 9 ราย ทำประวัติพบไม่เกี่ยวข้อง 3 ราย จึงได้ปล่อยกลับ

คงเหลือควบคุมผู้ต้องสงสัยจำนวน 6 ราย พร้อมของกลางเป็นผ้าพันแผล เป้สนามจำนวนหนึ่ง จึงได้นำตัวทั้งหมดไปควบคุมที่กองอำนวยการร่วมชั่วคราวภายใน วัดลำใหม่ อ.เมืองยะลา ซึ่งจากการตรวจสอบบุคคลต้องสงสัยทั้ง 6 คนนั้น บางรายมีหมายจับและมีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

กระทั่งวันที่ 11 พฤศจิกายน พล.ต.ท.รณศิลป์เปิดเผยว่า พยานหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุสามารถออกหมายจับผู้ต้องหาได้แล้ว 2 ราย คือนายซะอุดี ติงอูเซ็ง มีหมายจับในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่พบเลือดในที่เกิดเหตุ และนายนัสรูเลาะห์ สะมะ มีคดีความมั่นคง อ.กาบัง อ.ยะหา จ.ยะลา พบดีเอ็นเอในที่เกิดเหตุ และพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเผาบริษัทชิณวรณ์ ปี 2561 คดีระเบิดจุดตรวจกรงปินัง, คดีเผาการไฟฟ้า อ.กาบัง ส่วนผู้ต้องสงสัยที่เหลืออยู่ระหว่างซักถามและรอผลตรวจดีเอ็นเอ

รายงานจากฝ่ายสืบสวนระบุว่า สำหรับกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักคือ

3 พี่น้องตระกูลหลำโซะ มีนายบูคอรี หลำโซะ นายชอบรี หลำโซะ นายรอซาลี หลำโซะ เป็นแกนนำกลุ่มจาก จ.ปัตตานี

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มของนายอับดุลเลาะ โต๊ะเต้ เป็นกลุ่มจาก จ.ยะลา ร่วมปฏิบัติการกับกลุ่มเปอร์มูดอในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มเปอร์มูดอคือกลุ่มแนวร่วมกลุ่มใหม่ที่ผ่านการฝึกการปฏิบัติการ และทางฝ่ายความมั่นคงยังไม่มีข้อมูล

โดยสองกลุ่มหลักนี้รวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อปฏิบัติการในครั้งนี้

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขบวนการบีอาร์เอ็นได้ส่งชุดปฏิบัติการพิเศษ เป็นเยาวชนที่ผ่านการฝึกหลักสูตรโจมตีแบบกองโจรอาร์เคเค จากประเทศเพื่อนบ้าน เรียกว่า “กลุ่มคนหน้าขาว” ซึ่งล้วนไม่เคยมีประวัติก่อเหตุร้ายมาก่อน ง่ายและสะดวกต่อการเคลื่อนไหว เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีประวัติในแฟ้มอาชญากรรม

โดยแบ่งกำลังออกเป็นชุด ชุดละ 6 คน หากมีภารกิจเข้าโจมตีจะต้องรวมกลุ่มตั้งแต่ 20 คนร่วมปฏิบัติการ เข้ามาปฏิบัติการใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้ปฏิบัติการไปแล้วอย่างน้อย 2 จุด คือ โจมตีป้อมตรวจ ชรบ.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา และคาร์บอมบ์หน้า สภ.ไม้แก่นหลังเก่า จ.ปัตตานี

แม้ในรัฐบาล คสช. “ประยุทธ์ 1” จนในรัฐบาลปัจจุบัน “ประยุทธ์ 2” ได้มีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติปัญหาด้วยการ “พูดคุยสันติภาพ” แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด ฝ่ายความมั่นคงวิเคราะห์ว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงต้องสร้างสถานการณ์เพื่อแสดงศักยภาพและเพิ่มอำนาจต่อรอง

เป็นโจทย์ใหญ่ให้ฝ่ายความมั่นคงและ ศอ.บต.ที่ทำงานพัฒนา นำไปทบทวนว่าจะป้องกันกันอย่างไร ในวาระใกล้ครบ 16 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ ที่เหตุการณ์ความไม่สงบอาจปะทุขึ้นมาอีกครั้ง??