เทศมองไทย : จาก “ลำพะยา” ถึง “บีอาร์เอ็น”

แอนโธนี เดวิส แห่งเอเชียไทม์ส เขียนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เอาไว้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้น่าคิดมากว่า แม้จะเกิดกรณีใหญ่โตขึ้นที่กิ่งอำเภอลำพะยา จังหวัดยะลา ก็ตาม

แต่ในความเป็นจริงแล้ว อิทธิพลของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกำลังถดถอย และจางหายลงไปอย่างช้าๆ แต่แน่นอนมากขึ้นทุกที

เดวิสหยิบยกเอาสถิติความรุนแรงขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า การก่อเหตุรุนแรงเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ ให้ตรวจสอบได้นับตั้งแต่ปี 2014 เรื่อยมา ก่อนที่จะลดลงเป็นสถิติต่ำสุดในปีนี้

ที่น่าสนใจก็คือ ในปีนี้จำนวนวันที่ปลอดจากการก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดกับอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาต่อเดือนเพิ่มขึ้นสู่ระดับเลข 2 หลัก เดือนกันยายน ไม่มีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้นถึง 15 วัน และในเดือนตุลาคมเพิ่มเป็น 17 วัน

ตุลาคมที่ผ่านมา ถึงกับมีวันที่ปลอดเหตุก่อความไม่สงบต่อเนื่องกันนาน 1 สัปดาห์ ตั้งแต่ 15 จนถึง 21 ตุลาคม เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2004 ตั้งแต่แรกเกิดเหตุก่อความไม่สงบเรื่อยมา

ในช่วงระหว่างปี 2011 จนถึงปี 2016 การวางระเบิดแสวงเครื่องในพื้นที่เกิดขึ้นเฉลี่ยแล้วเดือนละ 20 ครั้ง แต่ในช่วง 2017-2018 ที่ผ่านมาลดลงมาเหลือเฉลี่ยเพียงเดือนละ 10 ครั้ง ในปีนี้ยังลดลงไปอีกเหลือเพียง 6 ครั้งต่อเดือน นับรวมทั้งที่เป็นระเบิดด้าน และถูกถอดชนวนได้ทันท่วงที

สถิติการเสียชีวิตระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมปีนี้อยู่ที่ 14 ราย บาดเจ็บ 19 ราย นี่เป็นสถิติการตายจากเหตุรุนแรงทุกชนิด ซึ่งรวมทั้งการค้ายาเสพติดและความขัดแย้งส่วนตัวเข้าไปด้วย เทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนแล้วจะเห็นได้ชัด เพราะอัตราการตายในพื้นที่ในปีนั้นอยู่ที่ราว 50 ราย บาดเจ็บอีกระหว่าง 80-100 คน

 

แอนโธนี เดวิส บ่งชี้สาเหตของการที่เหตุก่อความไม่สงบลดลงอย่างเห็นได้ชัดดังกล่าวไว้หลายอย่าง ตั้งแต่จำนวน “นักรบ” ที่ยึดมั่นในแนวทางและมีประสบการณ์ มีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ ทางหนึ่งนั้นเป็นผลมาจากปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายที่ดำเนินมาต่อเนื่องหลายปี ค่อยๆ ปรับปรุงด้านการข่าวทั้งทางเทคนิคและทางบุคลากรได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีการจับกุมตัวและจู่โจมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้บ่อยขึ้น

ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในสายตาของเดวิสก็คือ การที่กลุ่มแกนนำบีอาร์เอ็น ซึ่งสูงอายุมากแล้ว ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภูมิภาค และการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยรวม

ไม่มีสื่อในมือ ไม่สามารถพัฒนายุทธศาสตร์ทางการเมือง หรือยุทธศาสตร์ในการเจรจาที่ฉกฉวยประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ทันท่วงที

ถึงจุดหนึ่งผลตอบแทนในรูปของ “เสรีภาพ” หรือ “เมอร์เดกา” ที่คลุมเครือ เป็นนามธรรมอย่างยิ่ง ก็หมดเสน่ห์สำหรับคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ไป

ในระดับท้องที่ เช่น ตำบลหรือหมู่บ้าน กองกำลังติดอาวุธที่รับผิดชอบประจำท้องที่ ซึ่งถูกเรียกขานว่าอาร์เคเค ซึ่งเป็นหน่วยย่อยรับผิดชอบในการสังหารเป้าหมายที่เป็นคนมุสลิมซึ่ง “สมคบ” กับคนพุทธ และก่อการด้วยระเบิดแสวงเครื่องขนาดเล็ก ลดจำนวนลงมากมาย

ในระดับอำเภอและระดับจังหวัด กลุ่มก่อการที่ผ่านการฝึกทางทหารและเชี่ยวชาญในการก่อการร้าย ที่เคยเป็น “เอทีม” ซึ่งเคยถูกยกให้เป็นกองกำลังหัวหอก เรียกขานกันว่า “คอมมานโด” หรือ “ฮาริเมา เมลายู-เสือมาเลย์” ทั้งหลายก็ลดน้อยลงมาก และชัดเจนยิ่งกว่าในระดับท้องที่

ยิ่งเห็นได้ชัดหากเปรียบเทียบกับในยุคที่รุ่งสุดขีดคือช่วงระหว่างปี 2009-2013

 

เหตุการณ์การโจมตีครั้งใหญ่อย่างที่เกิดขึ้นกับฐานอาสาสมัครชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน (ชรบ.) ลำพะยานั้น เดวิสเชื่อว่าเกิดขึ้นได้นานๆ ครั้ง และไม่มีสิ่งบ่งชี้ใดๆ ว่าบีอาร์เอ็นจะปฏิบัติการซ้ำซ้อนมากกว่าหนึ่งครั้งแล้วในขณะนี้

เดวิสอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับบีอาร์เอ็น ระบุเอาไว้ว่า เหตุการณ์ที่ลำพะยานั้น เกิดขึ้นจากแรงกดดัน “จากมาเลเซีย” ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลัง ให้บีอาร์เอ็นเจรจาทำความตกลงยุติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้กับทางการไทย ซึ่งเกิดขึ้นและหยุดชะงักเป็นช่วงๆ มาตลอด

การโจมตีที่ลำพะยาจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น เพื่อพยายามสร้างอำนาจต่อรองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เท่านั้นเอง