“ทีมถอดรหัสอีนิกมา”ชะตากรรมและการอุทิศตนที่ถูกปิดลับ ในสงครามโลกครั้งที่2

ทีมนักถอดรหัสกำลังคร่ำเคร่งกับงานที่เบลทชลีย์ปาร์ก บทบาทของคนเหล่านี้เป็นความลับเสียจนการอุทิศตนของพวกเขาถูกปิดเป็นความลับจนถึงศตวรรษที่1970

มีความลับไม่กี่อย่างระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ถูกรักษาเอาไว้อย่างยิ่งยวด โครงการที่ถือว่าเป็นความลับมากที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง คือโครงการถอดรหัสลับของอังกฤษ ซึ่งสามารถทำลายรหัสอีนิกมาของเยอรมนีได้สำเร็จ

วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคยกล่าวถึงโครงการดังกล่าวนี้ไว้ว่าเป็น “ห่านที่ออกไข่เป็นทองคำ”

แต่เจ้าหน้าที่ 9,000 คน ประจำเบลทชลีย์ปาร์ก อันเป็นกองบัญชาการใหญ่ของการปฏิบัติการนี้ ถูกห้ามเด็ดขาดตลอดหลายสิบปี ไม่ให้เอ่ยปากถึงการอุทิศตนที่สำคัญยิ่งยวดต่อการทำสงครามครั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความลับของทางราชการ

จนกระทั่ง เฟรเดอริค วินเทอร์บอทแธม สมาชิกผู้ก่อตั้งหน่วยข่าวกรองอัลตรา ตีพิมพ์หนังสือชื่อ “ความลับแห่งอัลตรา” ออกมาเผยแพร่ เมื่อ ค.ศ. 1974 บรรดาชาย หญิง ทั้งหลายเหล่านี้ (กว่า80เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้หญิง) จึงได้รับการยอมรับเชิดชูอย่างที่พวกเขาสมควรได้รับ

เรื่องราวเกี่ยวกับรหัสอีนิกมาเริ่มตั้งแต่กว่าครึ่งศตวรรษก่อนหน้านั้น อันที่จริงเริ่มมาตั้งแต่ปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยซ้ำ วิศวกรชาวเยอรมันชื่อาร์เธอร์ แชร์บิอุส ยื่นขอจดสิทธิบัตรอุปกรณ์สำหรับเข้ารหัสเพื่อการพาณิชย์ และก่อตั้งธุรกิจนี้โดยร่วมหุ้นกับ ริชาร์ด ริทเทอร์ และผลิตเครื่องนี้ออกจำหน่ายโดยพยายามเรียกร้องให้กองทัพเยอรมนีสนใจ แต่ไม่เป็นผล ไบรอัน ฟอร์ด นักวิทยาศาสตร์และนักเขียนชาวอังกฤษ เคยกล่าวว่า นี่เป็น “ผลงานระดับมานเตอร์พีซ” ทีเดียว

อิตาลีเป็นพวกแรกที่มองเห็นศักยภาพของอีนิกมาต่อการจารกรรมทางทหาร แล้วไม่นานฝ่ายเยอรมันตะวันตก ก็ตระหนักเรื่องนี้ และพัฒนาอุปกรณ์ให้มีความสามารถสูงขึ้นไปอีก

สิ่งที่ฝ่ายเยอรมันไม่รู้ก็คือ กองทัพทั้งหลายทำงานเพื่อต่อต้านเครื่องอีนิกมานี้แล้ว โดยอังกฤษได้รับมอบเครื่องอีนิกมานี้มาจากโปแลนด์ ซึ่งเรียกชื่อมันว่า “ระเบิดรหัสวิทยา” เครื่องที่ถูกส่งมาให้อังกฤษ ถูกส่งต่อไปยัง “ดาวรุ่ง” ประจำหน่วยปฏิบัติการ ที่ชื่อ “อลัน ทัวริ่ง” นักคณิตศาสตร์ วัย 27 ปี ชาวอังกฤษ ที่ถือว่าปราดเปรื่องที่สุดในยุคสมัยของเขา

และในที่สุด อลัน ทัวริ่งและทีมของเขาก็สามารถพัฒนาเครื่องถอดรหัส ที่ใช้เวลาเพียง 20 นาทีในการประมวลผลได้สำเร็จ และช่วยให้การทำสงครามสามารถประสบผลสำเร็จได้ในหลายยุทธการ เพราะข้อความสื่อสารเข้ารหัสอีนิกมาของฝ่ายศัตรู สามารถถูกดักจับได้

อลัน ทัวริ่ง

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง หญิงและชายหลายพันคนที่ทำงานหนักในฐานะนักถอดรหัสสงคราม ยามสงครามสงบกลับได้รับการยอมรับเพียงผิวเผินเท่านั้น เพราะพระราชบัญญัติว่าด้วยความลับทางราชการผูกมัดไม่ให้พวกเขาเอ่ยอ้างถึงบทบาทของตนเอง แม้กระทั่งในช่วงสงครามเย็น ทั้งหมดกลับไปทำงานพลเรือนอีกครั้ง

อลัน ทัวริ่ง ทำงานบุกเบิกวิจัยเครื่องจักรเพื่อการประมวลผลและปัญญาประดิษฐ์ต่อไป ในปี ค.ศ.1952 เขายอมรับสารภาพว่ากระทำความผิดข้อหาพฤติกรรมลามกอนาจาร โดยยอมรับว่าตนมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ซึ่งในเวลานั้นถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายอังกฤษ

เหตุการณ์นั้นส่งผลกระทบต่อการทำงานของทัวริ่งมาก เขาถูกยกเลิกการรักาษาความปลอดภัยที่จำเป็นในการทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านรหัสวิทยาประจำกองบัญชาการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของอังกฤษ อันเป็นหน่วยงานที่สืบทอดงานของสำนักเพื่อการเขียนและเข้ารหัสของรัฐบาลในช่วงสงคราม

ทัวริ่ง ทำอัตวินิบาตกรรม ในปี ค.ศ.1954 และแทบจะถูกลืมเลือนไป จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้เองเขาถึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติสำหรับบทบาทของเขา ที่ช่วยให้ฝ่ายอังกฤษประสบความสำเร็จด้านการถอดรหัสในสงครามโลกครั้งที่ 2

เรียบเรียงจากหนังสือ แฟ้มลับสงครามโลกครั้งที่2 “WORLD WAR TWO IN SECRET” เขียนโดย Gavin Mortimer แปลโดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์