ต่างประเทศ : สุญญากาศการเมืองโบลิเวีย

สถานการณ์การเมืองในโบลิเวีย ประเทศแลนด์ล็อกแถบเทือกเขาแอนดิสในภูมิภาคละตินอเมริกา ตอนนี้เรียกว่าตกอยู่ในภาวะวุ่นวายหนักจากวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ หลังจากเพิ่งผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปได้ยังไม่ทันครบเดือนดี

นั่นเป็นเพราะ อีโว โมราเลส ประธานาธิบดีที่เป็นชนพื้นเมืองคนแรกของโบลิเวีย ในวัย 60 ปี เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งติดต่อเป็นสมัยที่ 4 หลังจากโมราเลสท้าทายอำนาจรัฐธรรมนูญปกครองประเทศที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเนื่องเอาไว้ ด้วยการดึงดันลงสังเวียนเลือกตั้งต่อเป็นสมัยที่ 4 โดยการอาศัยอำนาจศาลที่ถูกระบุว่าก็เป็นพรรคพวกพันธมิตรของนายโมราเลสเอง ช่วยเปิดทาง เปิดไฟเขียวให้เขาฝ่าผลประชามติปี 2016 ที่คัดค้านเขาลงสนามเลือกตั้งอีก ให้ได้ลงสนามเลือกตั้งได้

ยิ่งไปกว่านั้นผลคะแนนเลือกตั้งที่โมราเลสได้รับในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งเอาชนะคาร์ลอส เมซา คู่แข่งจากพรรคการเมืองคู่ปรับ ก็ไม่ได้เป็นคะแนนเสียงเด็ดขาด

ท่ามกลางเสียงครหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้น หนำซ้ำยังมีเสียงหนุนย้ำสำทับจากองค์การรัฐอเมริกัน (โอเอเอส) ที่ยื่นมือเข้ามาตรวจสอบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีโบลิเวียในครั้งนี้ ชี้ว่าพบความผิดปกติในทุกมิติที่โอเอเอสทำการตรวจสอบ

พร้อมกันนี้โอเอเอสยังเสนอแนะโบลิเวียให้ประกาศชัยชนะของโมราเลสเป็นโมฆะ!

 

เป็นคำชี้แนะที่ยิ่งเป็นการเร่งเชื้อไฟให้ฝ่ายต่อต้านนายโมราเลสออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมบนท้องถนนในการต่อต้านการกุมอำนาจปกครองของนายโมราเลส จนเกิดการปะทะกับกลุ่มผู้สนับสนุนนายโมราเลส ลุกลามกลายเป็นเหตุม็อบชนม็อบ

และทำให้กรุงลาปาซลุกเป็นไฟ โดยเหตุประท้วงรุนแรงในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะนองเลือด 3 ราย บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

วิกฤตความขัดแย้งมาถึงจุดสุกงอม ที่กองทัพโบลิเวียภายใต้การนำของนายพลวิลเลียมส์ คาลิแมน ผู้บัญชาการกองทัพบก ตบเท้าร่วมกับกองกำลังตำรวจบีบเค้นให้โมราเลสลงจากอำนาจ

พร้อมๆ กับที่เหล่าพันธมิตรทางการเมืองของโมราเลส ทั้งรองประธานาธิบดี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาล่าง ตลอดจนรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลโมราเลสต่างพร้อมใจกันลาออก

กระทั่งวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน โมราเลสจึงยอมประกาศลาออกจากตำแหน่ง และลี้ภัยการเมืองหนีไปอยู่ประเทศเม็กซิโก เพื่อหนีการถูกไล่เช็กบิลทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้าม

 

มีเสียงก่นประณามตามหลังจากบรรดารัฐบาลซ้ายนิยมในละตินอเมริกาที่เป็นพันธมิตรทางการเมืองของโมราเลส อย่างบราซิล อาร์เจนตินา ชิลี เอกวาดอร์ รวมถึงเม็กซิโก และคิวบา ที่ตราหน้าการโค่นอำนาจโมราเลสว่าเป็นการรัฐประหารของฝ่ายเผด็จการอำนาจฟาสซิสต์ ด้วยอาจหวั่นใจว่าการสิ้นอำนาจลงของผู้นำหัวซ้ายนิยมอย่างโมราเลส อาจจะส่งผลสะเทือนถึงรัฐบาลที่มีแนวคิดอุดมการณ์เดียวกันขึ้นตามมาได้

โดยโมราเลสเป็นชนเชื้อสายอินเดียนแดงชาวไอย์มารา จากครอบครัวชนชั้นกรรมกร เดิมเป็นอดีตเกษตรกรปลูกต้นโคคาและเคยเป็นหัวหน้าสหภาพแรงงาน ก่อนดิ้นรนต่อสู้จนได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์ของโบลิเวียที่เป็นชนพื้นเมืองในปี 2006 ท่ามกลางอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายนิยมที่มาแรงในห้วงเวลานั้น

พูดได้ว่านอกจากนายฮูโก ชาเวซ อดีตประธานาธิบดีเวเนซุเอลาผู้ล่วงลับ ที่เป็นผู้นำซ้ายนิยมที่มีบทบาทกล้าท้ากล้าชนกับชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลานั้นแล้ว โมราเลสก็เป็นผู้นำอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทโดดเด่นในภูมิภาคละตินอเมริกา

หนึ่งในจุดแข็งที่ทำให้โมราเลสชนะใจผู้คนในระดับรากหญ้า และทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งยืนยาวที่สุดถึงเกือบ 14 ปี คือผลงานการต่อสู้กับความอดอยากหิวโหย ความยากจน และทำให้เศรษฐกิจของโบลิเวียเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

หากแต่การยึดติดในอำนาจ จนกล้าท้าทายรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการก้าวพลาดอย่างมหันต์ของโมราเลส ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้กับการกระทำที่ไม่ชอบธรรมดังกล่าว

จนเป็นผลให้โมราเลส ผู้นำคนสุดท้ายแห่งยุค Pink Tide หรือคลื่นผู้นำฝ่ายซ้ายยุครุ่งเรืองในละตินอเมริกาเมื่อเกือบ 2 ทศวรรษก่อนต้องร่วงหล่นจากอำนาจไป

เหลือไว้เพียงความสับสนวุ่นวายทางการเมืองที่ครอบงำโบลิเวียอยู่ต่อไป!