อุรุดา โควินท์ / อาหารไม่เคยโดดเดี่ยว : เยื่อใยจากวัยเยาว์

ฉันบอกเขาว่า ฉันอยากปลูกกล้วย พูด แล้วชี้บริเวณที่แดดบ่ายส่องถึง

ฉันเพิ่งคิดเรื่องนี้ตอนที่หิ้วถุงหยวกขึ้นบ้าน เราไม่ควรซื้อหยวก ยายกับตาต้องหัวเราะแน่ ถ้ารู้ว่าบ้านหลังนี้ไม่ได้ปลูกอะไรที่กินได้เลย รากลิ้นจี่ครอบคลุมที่ดินทั้งผืน ปลูกอะไรลงดินก็ไม่งาม แต่กับกล้วย อาจเป็นข้อยกเว้น ฉันอยากลอง

“ต้นกล้วยเราก็มีนะ อยู่ใกล้ๆ ราวตากผ้าไง” เขาว่า

ตอนแรกฉันก็คิดว่ามันกินได้เหมือนกัน กระทั่งน้องที่มาตัดหญ้าบอกฉันว่า มันเป็นกล้วยประดับ

เรายังมีกล้วยน้ำว้ากอเล็กริมรั้วด้านหลัง แต่น้องเผลอตัดไปเดือนก่อน มันโตไม่ทันกิน ฉันอยากปลูกเพิ่ม เพราะกล้วยมีประโยชน์มาก

ใช้ตองห่อของ ปลีกินได้ กล้วยดิบก็แกง กล้วยห่ามบวชชี หรือไม่ก็นึ่ง กล้วยสุกกิน กินไม่ทันจงทำขนมกล้วย ส่วนหยวก เอามาแกง แกงแบบทางเหนือก็ง่ายดี แกงแบบทางใต้คืออร่อยมาก

วันนี้ฉันอยากแกงแบบทางเหนือ ใส่วุ้นเส้น ใส่ไก่ โรยใบมะกรูด แกงเพื่อระลึกถึงบ้านหลังเก่าของเรา บ้านที่มีสวนอยู่ตรงกลาง สวนซึ่งต่างจากสวนของที่ดินผืนนี้โดยสิ้นเชิง ทุกอย่างที่ตาปลูกล้วนกินได้ เรามีกล้วยเป็นดง และเราใช้กล้วยทั้งปี ยายทำขนมเทียน ทำห่อหมก ทำข้าวต้มมัด…สารพัดอาหารที่ยายใช้ใบตอง กอกล้วยจึงได้รับการดูแลอย่างดี

สำหรับฉัน ไม่มีเขียวใดสวยเท่าเขียวยอดตอง

“จะรู้สึกดีมาก ถ้าได้ถือพร้าไปตัดหยวกมาแกง” ฉันบอกเขา “หยวกจานละ 5 บาท ถูกมากก็จริง แต่หยวกในบ้านเรามีค่ากว่า”

เขาหัวเราะ

 

ฉันเล่าให้เขาฟังว่า ถ้ายายจะแกงหยวก ยายไม่ต้องตัดเอง ยายบอกให้ฉันหรือน้องไปขอแบ่งมาจากลุงแหวง ลุงเป็นชาวกัมพูชา อยู่กับตามาตั้งแต่หนุ่ม ครั้นลุงได้แต่งกับสาวไทย ตาก็ให้ปลูกเรือนหลังเล็กอยู่ท้ายสวน นอกจากช่วยงานของตา ลุงแหวงเลี้ยงหมู 2-3 ตัว ขายหมูที ลุงก็มีเงินก้อนไว้ใช้ที

ทุกวัน ลุงปั่นซาเล้งไปเก็บเศษอาหารจากร้านอาหาร หั่นหยวกเติมลงไป เป็นอาหารหมูที่ไม่ต้องเสียเงินสักบาท

วันไหนที่ยายแกงหยวก ก็หมายถึงเราไปขอแบ่งหยวกจากหมูมากิน ลุงแหวงเลือกหยวกอ่อนสุดให้ฉันแล้วฉันก็ถือหยวกแท่งขาวสะอาดนั้นกลับมาที่ครัวของยาย

ตอนเด็กๆ ฉันไม่เคยรู้สึกว่าหมูสกปรก คอกหมูของลุงแหวงสะอาด ลุงคงล้างมันบ่อย กลิ่นขี้หมูมีบ้าง ถ้าเดินไปใกล้ๆ แต่ฉันไม่รู้สึกเหม็น ลุงเลี้ยงครั้งละไม่กี่ตัว แถมดูแลอย่างดี

กลิ่นไม่เคยเดินทางไปถึงบ้านของฉันกับบ้านของยายเลย

 

แกงหยวกแบบทางเหนือง่ายมาก แช่วุ้นเส้นไว้สักหน่อย ควรน้อย ถ้ามากไป วุ้นเส้นจะอืดเต็มหม้อ ไม่น่ากิน วุ้นเส้นต่างกับหยวกตรงที่ เมื่อสุก วุ้นเส้นเพิ่มปริมาณ แต่หยวกจะยุบลงมาก ถ้าเราอยากให้แกงหยวกอร่อย เราต้องใส่ใจกับวัตถุดิบสองชนิดนี้เป็นพิเศษ

ใส่หยวกมาก ใส่วุ้นเส้นน้อย เมื่อแกงเสร็จ ควรมีหยวกมากกว่าวุ้นเส้น

ไก่ใช้ส่วนที่ติดกระดูก สับเป็นชิ้น ใส่แค่พอให้มีไก่ ฉันชอบที่ยายพูดว่า แกงหยวกเป็นแกงคนจน แต่แกงคนจนก็อร่อย ถ้าเราตั้งใจทำ ฉันยังอยากให้มันเป็นแบบนั้น ซึ่งหมายถึง ไม่ควรหนักมือกับเนื้อสัตว์

น้ำพริกแกงมีพริกแห้ง หัวหอม กระเทียม และเกลือ ใส่หัวหอมมากหน่อย กระเทียมน้อยกว่า แกงหยวกไม่ควรเผ็ดจัด ความเผ็ดของแกงหยวกควรอยู่ในระดับที่สามารถตักน้ำแกงซดได้

เนื่องจาก เผ็ดพอจะซดได้ ของแต่ละคนไม่เท่ากัน พริกจึงเป็นวัตถุดิบที่ควรคะเนตามลิ้นแม่ครัว ตำทุกอย่างให้ละเอียด แล้วเติมกะปิลงไปหนึ่งช้อนชา

หั่นหยวกเป็นชิ้นเล็กๆ แช่น้ำไว้ ตัดวุ้นเส้น ฉีกใบมะกรูดรอ

ฉันตั้งหม้อ ใส่น้ำไม่มาก เดี๋ยวน้ำจากหยวกก็ไหลออกมารวมกับน้ำแกงอยู่ดี น้ำมากไปจะกลายเป็นแกงจืดหยวก

พอน้ำเดือดค่อยใส่ไก่ รอไก่สุก ใส่น้ำพริกแกง คนให้ละลาย แล้วใส่หยวก ครั้นหยวกสุก ก็ใส่วุ้นเส้น และปรุง

ยายปรุงด้วยเกลือเท่านั้น แต่ฉันเพิ่มน้ำปลา ฉันอาจรู้สึกไปเองว่ามันอร่อยกว่า รสกลมเกลี้ยงขึ้น

ใส่ใบมะกรูดเป็นอย่างสุดท้าย เสร็จแล้วก็ปิดเตา

 

เขาถามว่ากินกับอะไรดี

“ข้าวไง” ฉันตอบทันที

ตอนเด็กเราตักแกงหยวกเยอะๆ ราดข้าว ถือคนละจาน นั่งล้อมวงกิน ไม่มีกับข้าวอื่น นอกจากแกงหยวก

“ยายชอบทำเป็นมื้อกลางวัน ทำอย่างเดียว แต่เรากินเป็นมื้อเย็น ทำไข่เจียวหมูสับอีกอย่างดีมั้ย”

ฉันรีบบอกเขา หลังคิดได้ว่าควรมีกับข้าวอีกอย่าง และฉันควรกินโปรตีนเยอะหน่อย เพราะช่วงนี้วิ่งเกือบทุกวัน

ใช้ร่างกายมาก ต้องบำรุงร่างกาย

เรื่องนี้ยายก็สอน ยายบอกว่า ยายไม่ค่อยใช้ร่างกายแล้ว กินมากก็เป็นภาระ ยายจึงกินแต่น้อย และเน้นผัก

สำหรับยาย แกงหยวกอย่างเดียวก็พอ แต่ฉันทำงานหลายอย่าง แถมยังวิ่งเกือบชั่วโมง ได้ไข่เจียวหมูสับมาเป็นกำลังเสริมย่อมดีกว่า