วิกฤติศตวรรษที่ 21 | ปัญญาประดิษฐ์กับการสงคราม

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (23)

ปัญญาประดิษฐ์กับการสงคราม

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้รับการสนับสนุนเพื่อใช้ในการสงครามตั้งแต่ต้น ขณะเดียวกันก็สามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ด้านการผลิต การสื่อสาร การขนส่ง การบริหารธุรกิจ จึงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แม้จะเกิดการซบเซาในบางช่วง

ปัญญาประดิษฐ์ได้ตั้งมั่นในช่วงทศวรรษ 1990 นี้เอง โดยใช้แนวทางการพัฒนาใหม่ จากการใช้แบบความรู้เป็นฐานหรือการพัฒนาแบบ “บนลงล่าง” มาเป็นใช้ข้อมูลเป็นฐาน เป็นแบบ “ล่างขึ้นบน” สร้างตัวแบบ “การเรียนรู้ของเครื่อง” ให้คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ข้อมูลจำนวนมากด้วยการสร้างแบบแผน และสามารถทำนายความเป็นไปของมันได้ โดยอาศัยการวินิจฉัยแบบอัลกอริธึมและโครงข่ายประสาทเทียม

ปัญญาประดิษฐ์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในปี 1996 เมื่อคอมพิวเตอร์เล่นหมากรุก “ดีพบลู” ของไอบีเอ็มสามารถเล่นชนะแชมป์หมากรุกคาสปารอฟได้

หลังจากนั้นปัญญาประดิษฐ์ก็ได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จากเครื่องที่เรียนรู้ทั่วไปสู่เครื่องที่เรียนรู้เชิงลึกในต้นศตวรรษที่ 21 เครื่องจักรได้เรียนรู้คำพูดสนทนาของมนุษย์ หรือรู้ภาษาคนได้บ้าง จดจำใบหน้าและสีหน้า แสดงอารมณ์ของมนุษย์ สามารถเล่นเกมที่ซับซ้อนขึ้นเอาชนะมนุษย์ได้

ในด้านการนำไปใช้ทางทหาร สหรัฐเป็นผู้นำหน้า ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำสงครามไปทั่วโลกและต่อเนื่อง ในสงครามเวียดนาม (ปี 1968-1973) กล่าวได้ว่ามีการใช้กึ่งปัญญาประดิษฐ์ในการสงครามอย่างจริงจัง

โดยเครื่องบินสหรัฐได้โปรยอุปกรณ์จำนวนมากลงในป่าทึบ มันเป็นไมโครโฟน ใช้ดักฟังการเดินเท้าของทหารเวียดกงและเสียงรถบรรทุก มีอุปกรณ์ดักจับการสั่นสะเทือนของพื้นดินแม้น้อยนิด ทั้งยังมีอุปกรณ์ใช้ดักจับกลิ่นแอมโมเนียในปัสสาวะของมนุษย์ เป็นเหมือนอวัยวะรับรู้

อุปกรณ์นับหมื่นเหล่านี้จะส่งข้อมูลไปยังโดรนหรือเครื่องบินลาดตระเวนทำหน้าที่เหมือนโครงข่ายเส้นประสาท เพื่อส่งข้อมูลศูนย์คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่ประมวลผลและสั่งการคล้ายเป็นสมอง ท้ายสุดได้แก่ขั้นลั่นไกสังหาร เป็นฝูงบินจะขึ้นบินมาทิ้งระเบิด เครื่องบินเหล่านี้ติดตั้งอุปกรณ์นำทางการทิ้งระเบิด สามารถทิ้งระเบิดแบบสุ่มในข่ายที่วางอุปกรณ์ไว้

ทั้งหมดเป็นการปฏิบัติการทางทหารสำคัญของสหรัฐ ได้มีการทำให้สมรภูมิเป็นเชิงอัตโนมัติ เรียกกันทั่วไปว่าปฏิบัติการอิกลูไวต์ (กระท่อมน้ำแข็งขาว)

เป็นแผนการทำลายเส้นทางขนส่งโฮจิมินห์ตั้งแต่ลาวไปจนถึงเวียดนาม

แต่แผนดังกล่าวล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เนื่องจากเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น อุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถกำหนดตำแหน่งของเป้าหมายอย่างแน่นอน ทหารเวียดนามเหนือก็ทราบว่ามีการใช้อุปกรณ์แบบนี้ และใช้หลายวิธีในการลวงให้ทหารสหรัฐเข้าใจผิด

นอกจากนี้ ปฏิบัติการดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูงมากราวปีละ 1 พันล้านดอลลาร์ (คิดเป็นค่าดอลลาร์ขณะนี้ราว 7.3 พันล้าน การทำลายรถบรรทุกหนึ่งคันต้องใช้เงินถึง 100,000 ดอลลาร์ (หรือคิดเป็นดอลลาร์ขณะนี้ราว 730,000 ดอลลาร์)

ปฏิบัติการทางทหารเชิงอนาคตจึงมีความจำกัดที่จะต้องคำนึงถึง

(ดูบทความของ Daniel Uziel ชื่อ Igloo White: the Automated Battle Field ใน thefutureofthings.com 2007)

ในขณะนี้มีเพียงสองชาติได้แก่สหรัฐกับจีนที่แข่งขันกันเป็นอภิมหาอำนาจทางปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากถึงพร้อมทางด้านบุคลากร เงินทุน และภาคธุรกิจเทคโนโลยีที่รุ่งเรืองในการผลักดันอุตสาหกรรมนี้ ต่างมีจุดอ่อนจุดแข็งของตน

จีนมีจุดแข็งในด้านเทคโนโลยีข้อมูลใหญ่ มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า มีศักยภาพที่จะก้าวกระโดดข้ามเทคโนโลยีตะวันตกได้

สหรัฐมีจุดแข็งในการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตชิพที่นำหน้าใคร ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประมวลผลข้อมูลใหญ่ที่เป็นเนื้อหาของแอพพลิเคชั่นทางปัญญาประดิษฐ์

จีนยังเห็นสหรัฐนำหน้าไป โดยสร้างเกม สงครามเชิงยุทธศาสตร์ที่ก้าวหน้า

ส่วนสหรัฐเกรงว่าจีนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อุดมสมบูรณ์ และที่สำคัญสามารถใช้บริษัทเทคโนโลยีของจีนมารับใช้เพื่องานความมั่นคงของชาติได้โดยง่ายกว่าสหรัฐ

ทั้งสองประเทศได้ทุ่มเงินนับพันล้านดอลลาร์ เพื่อชิงกันขึ้นหน้าในการทำสงครามที่มีฐานเชิงปัญญาประดิษฐ์

การเคลื่อนไหวที่น่าจับตาฝ่ายสหรัฐคือการสร้างศูนย์ปฏิบัติการร่วมปัญญาประดิษฐ์ (JAIC) ในเดือนมิถุนายน 2018 โดยได้รับงบประมาณปี 2019 เพียง 93 ล้านดอลลาร์ มีพันธกิจเพื่อเร่งรัดการนำศักยภาพทางปัญญาประดิษฐ์ไปใช้งานศึกษาผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ต่อทั้งกระทรวงและเพื่อประสานปฏิบัติงานด้านปัญญาประดิษฐ์ในปฏิบัติการร่วมต่างๆ

มีข่าวว่าในปี 2020 จะเพิ่มงบประมาณกว่าสองเท่า เป็น 268 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการพร้อมรบทางปัญญาประดิษฐ์ มีภารกิจสี่ประการ คือ

ก) ปัญญาประดิษฐ์เพื่อ maneuver and fires ประมวลข้อมูลและชี้เป้า

ข) การเป็นแพลตฟอร์มให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเครื่องมือจำนวนมากรวมถึงห้องสมุด

ค) เป็นตัวเชื่อมหน่วยนวัตกรรมและหน่วยปฏิบัติการของกระทรวง

ข้อสุดท้าย ง) หาคำจำกัดความของปัญญาประดิษฐ์เพื่อความชัดเจนในทางปฏิบัติ รวมความก็คือ ทำให้ปัญญาประดิษฐ์อยู่ในการปฏิบัติการทางทหารสหรัฐในปี 2020

(ดูรายงานของ Scott Mauclone ชื่อ AI could be in military operations as soon as next year ใน federalnewsnetwork.com 30/07/2019)

ในสหรัฐ การทหารได้เชื่อมประสานกับระบอบรัฐอย่างแน่นแฟ้น ได้แก่ มีกระทรวงกลาโหมที่รับผิดชอบด้านการทหารทั่วไป รวมทั้งการออกยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศเป็นระยะ สภาคองเกรสมีคณะกรรมาธิการยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ ที่ออกเอกสารในเรื่องนี้เช่นกัน และมีสำนักคิดทางการทหารและยุทธศาสตร์

ที่สำคัญคือ บรรษัทแรนด์ ที่ออกเอกสารวิจัยเชิงลึกว่า ระหว่างวิสัยทัศน์ทางการกับความเป็นจริงทางอัตวิสัยนั้นมีช่องว่างในทางปฏิบัติอยู่ จะลดช่องว่างนี้ได้อย่างไร

กระทรวงกลาโหมที่เป็นเจ้าของเงินงบประมาณก้อนใหญ่ที่สุดได้ทำสัญญาจ้างงานกลุ่มบรรษัททางทหารที่เป็นเอกชน ดำเนินการวิจัยและพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว

ด้านการแปรอาวุธให้เป็นแบบปัญญาประดิษฐ์ สหรัฐนำหน้าชาติอื่น ที่ปรากฏเป็นข่าวได้แก่การใช้เครื่องบินไร้คนขับหรือโดรนในการบินลาดตระเวนสอดแนมและทำลายเป้าหมาย

โดยทั่วไปอาวุธที่แปรเป็นแบบปัญญาประดิษฐ์ มีความแม่นยำสูง รวดเร็วทั้งในทางกำลังไฟและการตัดสินใจ มีซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้คำแนะนำเชิงยุทธวิธีความเร็วสูง ในยามทำศึกหรือให้เครื่องสามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้อย่างรวดเร็ว

ในระยะใกล้นี้มีการพัฒนาให้โดรนสามารถตัดสินใจด้วยตนเองมากขึ้นทุกที

โดรนของสหรัฐมีความสามารถบินด้วยตนเอง

หรือปฏิบัติการง่ายๆ เช่นบินวนเหนือเป้าหมาย

จีนก็มีการพัฒนาโดรนที่บินได้ด้วยตนเองไปอย่างมาก ได้ผลิตโดรน “ปักเป้า เอ 2” ออกจำหน่ายระหว่างประเทศ โฆษณาว่าสามารถ “บินได้อัตโนมัติเต็มที่จนถึงเป้าหมายที่ต้องการโจมตี” โดรนได้รับความนิยมเพราะสามารถบังคับทางไกลได้ ไม่ต้องเอาชีวิตทหารมาเสี่ยงในปฏิบัติการล่อแหลม จึงมีการพัฒนาและใช้บ่อยขึ้น

ยังมีการแปรอาวุธเป็นแบบปัญญาประดิษฐ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ขีปนาวุธ ทำให้มีลักษณะเหมือนโดรน เพียงแต่ขีปนาวุธใช้ครั้งเดียว ส่วนโดรนคาดหวังว่าจะนำมาใช้ใหม่

ขีปนาวุธสมัยใหม่วิ่งด้วยความเร็วสูง มีความแม่นยำ กำหนดเวลาโจมตีและเป้าหมายได้ ยิงได้ทั้งจากภาคพื้นดิน อากาศ และใต้น้ำ สามารถติดตั้งได้ในคอนเทนเนอร์บนรถไฟและเรือบรรทุกสินค้า เพิ่มความคล่องตัวเป็นอันมาก

ยานไร้คนขับแบบอื่นเช่นรถถังก็มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาป้อมปืนที่สั่งการด้วยตนเองว่าจะทำลายเป้าหมายนั้นหรือไม่

จากการที่อาวุธปัญญาประดิษฐ์สามารถปฏิบัติการด้วยความเร็วเหนือมนุษย์และมีความแม่นยำสูง ซึ่งจะทำให้กองทัพไม่เพียงปล่อยให้มันปฏิบัติการ ยังให้ออกคำสั่งด้วย ระบบบังคับบัญชาแบบปัญญาประดิษฐ์สามารถใช้ขีปนาวุธจัดการโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินและฐานทัพอากาศด้วยความรวดเร็วจนไม่เปิดเวลาสำหรับการทูตเข้ามาเจรจา และแม้แต่ผู้ปฏิบัติการภาคสนามก็อาจจะเข้าใจได้ไม่ทัน ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจนอาจทำให้เกิดสงครามโดยไม่ตั้งใจได้

(ดูรายงานของ James Vincent ชื่อ China is worried an AI arms race could lead to accidental war ใน theverge.com 06/02/2019)

อีกด้านของปัญญาประดิษฐ์และสงคราม

เห็นกันว่าการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสงครามนั้นเป็นเรื่องของประเทศมหาอำนาจใหญ่เท่านั้น เพราะว่าอาวุธที่ก้าวหน้าที่สุดมีค่าใช้จ่ายในการผลิตสูง และต้องการความเชี่ยวชาญในการใช้

แต่จากกรณีโรงกลั่นน้ำมันใหญ่ของซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีด้วยฝูงโดรนและขีปนาวุธจากกลุ่มฮูทีซึ่งต่ำกว่ารัฐในเยเมน อันเป็นประเทศล้าหลังยากจน ชี้ให้เห็นว่าช่องว่างนี้ได้ลดลง

นักวิชาการด้านเทคโนโลยีและการเมืองสหรัฐบางคนชี้ว่า ขณะนี้มีมากกว่า 75 ประเทศที่มีขีปนาวุธแบบร่อน และกว่า 30 ประเทศมีโดรนทางทหาร และในจำนวนนี้ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากตลาดค้าโดรนทางทหารได้ขยายตัว จีนก็เข้ามาผลิตโดรนทางทหารขายอย่างจริงจัง

ประเทศซาอุฯ เองก็สั่งซื้อโดรนสังหารจากจีน มีเหตุปัจจัยบางประการที่ช่วยแพร่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ออกไป คือการช่วยเหลือและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มกองกำลังระดับต่ำกว่ารัฐที่ทำให้อาวุธเหล่านี้ตกอยู่ในมือของกลุ่มต่ำกว่ารัฐ ที่สำคัญ การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มีทั้งด้านที่ซับซ้อนมีราคาแพงเหมาะสำหรับมหาอำนาจ แต่ก็มีการพัฒนากลุ่มหุ่นยนต์ขนาดเล็กที่จำแนกการทำงานที่ซับซ้อนออกเป็นงานชิ้นเล็กๆ ที่ทำได้ง่าย เช่น การสร้างโดรนขนาดเล็กเพื่อส่งพัสดุไปตามบ้าน เป็นเทคโนโลยีที่กลุ่มใดๆ ก็สามารถมีได้

ดังนั้น การคุกคามใหญ่ที่สุดต่อโรงน้ำมัน สนามบิน หรือเรือบรรทุกเครื่องบิน อาจไม่ได้มาจากระบบขีปนาวุธขนาดใหญ่ราคาแพง แต่มาจากโดรนขนาดเล็กที่ใช้แล้วทิ้งไป

สงครามในอนาคตเป็นแบบหลายขอบเขต ประเทศขนาดเล็กสามารถตอบโต้มหาอำนาจผู้รุกราน ทั้งในภาคพื้นดิน อากาศ น้ำ และไซเบอร์ ดูจากกรณีซาอุฯ ที่เข้าแทรกแซงเยเมนในปฏิบัติการร่วมหลายชาติ ชื่อ “ปฏิบัติการพายุชี้ขาด” หวังว่าจะได้ชัยชนะอย่างรวดเร็ว แต่สี่ปีแล้วก็ยังไม่สำเร็จ ผู้เขียนบทความเตือนให้รัฐบาลสหรัฐมีการเตรียมรับมือไว้ยิ่งกว่าซาอุฯ

(ดูบทความของ P. W. Singer ชื่อ The Future of War is Already Here ใน nytimes.com 18/09/2019)

อนาคตสามทางของปัญญาประดิษฐ์และการสงคราม

ความเป็นไปได้ของหนทางการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และการสงคราม มีสามประการใหญ่ ดังนี้

ก) การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ปัจจุบันอยู่ในขั้นการทำให้เครื่องจักรรู้ลึกยิ่งขึ้น และน่าจะอยู่ในขั้นนี้อีกนานหลายสิบปี ในการทำให้เครื่องจักรและอาวุธสามารถรู้จดจำใบหน้า สีหน้า รู้ภาษาคน สามารถตัดสินใจเชิงอัลกอริธึม ที่รวดเร็ว แม่นยำยิ่งขึ้น เป็นต้น เกิดมีทหารหุ่นยนต์ สงครามหุ่นยนต์ และสงครามอวกาศ สงครามไซเบอร์ที่กว้างขวางขึ้น ที่สำคัญน่าหวั่นเกรงได้แก่สงครามควบคุมจิตใจ รัฐบาลสามารถควบคุมจิตใจพลเมืองของตนและของประเทศอื่นให้เกิดการยอมรับความชอบธรรมและแนวทางค่านิยมของตน ปูตินกล่าวแก่นักศึกษารัสเซียว่า “ปัญญาประดิษฐ์คืออนาคต ไม่ใช่สำหรับรัสเซียเท่านั้น แต่ยังสำหรับมวลมนุษยชาติ มันสร้างโอกาสมหาศาล แต่ก็ก่ออันตรายได้อย่างสุดคาดคิด ใครก็ตามที่นำหน้าด้านปัญญาประดิษฐ์จะเป็นผู้ปกครองโลก” อย่างไรก็ตาม ปูตินไม่คิดว่าจะมีชาติใดขึ้นมานำหน้าแต่เพียงผู้เดียว

ข) การเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์เครือข่ายย่อย ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง คล้ายกับการมีวัฒนธรรมหลัก หรือวัฒนธรรมแห่งชาติ ก็มีวัฒนธรรมย่อยระดับภูมิภาคและท้องถิ่น โดยทั่วไปกลุ่มย่อยเป็นไปตามกลุ่มหลัก แต่ก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งเดียวกัน อาจแปรเป็นกลุ่มต่อต้านได้ในบางเงื่อนไข เหมาะสำหรับกลุ่มย่อยในการทำสงครามต่อต้าน

ค) ปัญญาประดิษฐ์ก้าวจากขั้นการรู้ลึกสู่ขั้นการรู้แจ้ง นักวิชาการตะวันตกเรียกว่าขั้นซิงกูลาริตี้ หรือขั้นเอกฐาน เมื่อมนุษย์กับหุ่นยนต์เหมือนกันจนแยกไม่ออก ความรู้ทุกสาขารวมกันอยู่บนฐานเดียว และพัฒนาไปรวดเร็ว จนสุดที่มนุษย์จะหยั่งรู้ได้ เรย์มอนด์ เคิร์ซวีล นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน คาดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในไม่นานราวปี 2045

เมื่อปัญญาประดิษฐ์ก้าวสู่ขั้นซิงกูลาริตี้แล้ว ก็มีความเป็นได้หลายอย่าง ในที่นี้มองด้านดีว่า เครื่องจักรผู้รู้แจ้ง สามารถเข้ายึดอำนาจการดูแลจัดการสังคม ได้สั่งสอนมนุษย์ให้คิดและทำใหม่ว่า สงครามเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เนื่องจากได้พัฒนาพลังการผลิตสูงจนสามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของมวลมนุษย์ได้แล้ว สงครามเป็นการทำลายความมั่งคั่งของสังคมอย่างน่าอับอายและสิ้นคิด จงสร้างสังคมแห่งสันติภาพและการร่วมมือขึ้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ทางทหารและจรวดตงเฟิงของจีน เป็นต้น