ต่างประเทศอินโดจีน : การกลับบ้านเกิดสุดไกลเกินเอื้อมของ “สม รังสี”

ความรู้สึกของคนทั่วไปเมื่อเดินทางกลับบ้านเกิดมักเป็นความสุขของการหวนรำลึกความหลังกับความคาดหวังถึงรอยยิ้มสดใสงดงามที่รอคอยต้อนรับด้วยยินดี

ทั้งหมดนั่นไม่ใช่ความรู้สึกของสม รังสี อดีตผู้ก่อตั้งและประธานพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) โดยเด็ดขาด

ความหลังของสม รังสี ที่บ้านเกิด ไม่ใช่ความสุข ความอบอุ่นกระไรนัก แต่เป็นเรื่องของการขับเคี่ยวต่อสู้ฝ่าฟันและหลบหนีการไล่ล่าจับกุมเสียมากกว่า

ยิ่งไปกว่านั้น สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ก็ไม่ได้เตรียมรอยยิ้มแจ่มใสไว้คอยต้อนรับการกลับบ้านครั้งนี้ของสม รังสี แต่อย่างใดทั้งสิ้น ตรงกันข้ามกลับกวาดเก็บคุกตะราง เคลื่อนกำลังทหารเตรียมการไว้รับมือต่างหาก

ในความคิดของสม รังสี นี่อาจเป็นเพียงการเดินทางกลับบ้านธรรมดา-ธรรมดาอีกครั้ง หลังจากใช้ชีวิตเยี่ยง “ผู้ลี้ภัย” นานปีในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส

ในความคิดของฮุน เซน การกลับบ้านหนนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนก่อความไม่สงบ ซึ่งบั้นปลายคือการก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรมของตนเองให้พ้นจากตำแหน่ง

การเดินทางกลับบ้านเกิดครั้งนี้ ก่อให้เกิดคลื่นลมทางการทูต กระทบกระแทกต่อเนื่องออกไปในหลายประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงของกัมพูชา

 

สม รังสี เผยแพร่ภาพบัตรโดยสารเครื่องบินการบินไทย เที่ยวบินวันที่ 8 พฤศจิกายน บินยาว 11 ชั่วโมง 30 นาที จากปารีสถึงกรุงเทพฯ พร้อมกับเปิดเผยไว้ด้วยว่า ได้ทำหนังสือด้วยตัวเองถึงนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอ “ความสะดวก” ในการเดินทางครั้งนี้

บอกด้วยว่า ทันทีที่ถึงกรุงเทพฯ จะเดินทางเข้ากัมพูชา ผ่านทางด่านชายแดนบริเวณจังหวัดปอยเปตของกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีไทยบอกว่าไม่อนุญาตให้สม รังสี เดินทางเข้าไทย ในทำนองเดียวกับที่เคยไม่อนุญาตโม โสชัว รองหัวหน้าพรรคซีเอ็นอาร์พี เดินทางเข้าประเทศมาแล้วก่อนหน้านี้

รัฐมนตรีต่างประเทศไทยงัดเอาหลักการของ “อาเซียน” ว่าด้วยการไม่อนุญาตให้ใช้ดินแดนไทยเป็นฐานในการดำเนินการทางการเมืองต่อประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเหตุผลในการ “ไม่อนุญาต” ครั้งนี้

เวียดนามก็อาศัยหลักการเดียวกันปฏิเสธการเดินทางเข้าประเทศของสม รังสี, มาเลเซีย กักตัวสมาชิกพรรคซีเอ็นอาร์พีเอาไว้ 2 คนก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจลงเอยด้วยการส่งตัวกลับประเทศต้นทาง

ทั้งไทย, มาเลเซีย, เวียดนาม ล้วนถูกกล่าวหาจากกลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้กันทั้งสิ้น

 

จะว่าไปแล้ว การเดินทางกลับบ้านเกิด “ธรรมดา-ธรรมดา” หนนี้ของสม รังสี ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายนัก

ตัวอย่างคำถามที่น่าสนใจก็คือ การกลับบ้านเกิดของสม รังสี ครั้งนี้ทำไมต้องใช้บัตรโดยสารปารีส-กรุงเทพฯ? ทำไมไม่เป็นปารีส-พนมเปญ?

อีกคำถามที่น่าสนใจพอๆ กันก็คือ ทำไมนายกรัฐมนตรีกัมพูชาถึงไม่ “อ้าแขนรับ” การกลับมาของสม รังสี แล้วส่งกำลังเจ้าหน้าที่ไปต้อนรับขับสู้ถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญ

รับตัวไปจัดการตามกระบิลเมือง ตามกรอบ ตามกฎกติกาที่ตนเองถืออยู่ในมือ?

แทนที่จะเคลื่อนกำลังตรึงชายแดนกัมพูชาด้านติดกับไทย และระดมกวาดจับสมาชิกพรรคซีเอ็นอาร์ซีไปมากมายอย่างน้อย 60 คนแล้วเฉพาะในปีนี้เท่านั้น

แผนรัฐประหารคืออะไร? ใครกันคือคนตาบอดตาใสที่พยายามก่อรัฐประหารขึ้นมาในกัมพูชาในยามนี้ โดยไม่ตระหนักว่ามีค่าพอๆ กับการ “อัตนิวิบาตกรรม”?

ทำไมต้องทำให้ประเทศเพื่อนบ้านตกอยู่ในสภาพที่องค์การนิรโทษกรรมสากลบอกว่า “สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน”?

ถ้าทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าเป็นเพียงการ “เรียกแขก” ร้องหาความสนใจจากนานาชาติ ใครคือคน “เรียกแขก”?

หรือเรื่องราวทั้งหมดนี้ มีเบื้องหน้า เบื้องหลัง ซุกซ่อนแฝงเร้นอยู่อีกมากมายจริงๆ?