เกษียร เตชะพีระ | “รู้จักมาร์ติน ลี: นักประชาธิปไตยอาวุโสของฮ่องกง” (3)

เกษียร เตชะพีระ

มาร์ติน ลี หรือลีชูหมิง ผู้ก่อตั้งและประธานพรรคประชาธิปไตยของฮ่องกงปัจจุบัน เป็นทนายความโดยวิชาชีพและเคยดำรงตำแหน่งประธานเนติบัณฑิตยสภาของฮ่องกงระหว่างปี ค.ศ.1980-1983 ก่อนจะเข้าสู่วงการเมืองในช่วงถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกงกลับคืนสู่จีนในปี ค.ศ.1997

นับแต่นั้นมาเขาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในฐานะนักการเมืองแอนตี้คอมมิวนิสต์ผู้เป็นตัวแทนขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของฮ่องกงในแวดวงระหว่างประเทศ

ภูมิหลังของมาร์ติน ลีนั้น เขาเป็นลูกนายพลลียินโว แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง และใช้ชีวิตวัยเด็กย้ายบ้านพลัดถิ่นไปมาอยู่ในมณฑลกว่างตงของจีนเพื่อหลีกเลี่ยงสมรภูมิต่างๆ จากสงครามรุกรานยึดครองของญี่ปุ่น ขณะที่พ่อนำทหารก๊กมินตั๋งออกรบกับกองทัพญี่ปุ่น

เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ.1945 ปรากฏว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคก๊กมินตั๋งก็หันมารบกันเองต่อในสงครามกลางเมืองเพื่อชิงอำนาจปกครองประเทศจีน

นายพลลียินโวตกที่นั่งลำบากยิ่งในสงครามกลางเมืองนี้ เพราะเขารู้ว่าในกองพลที่เขาบังคับบัญชามีทหารหนุ่มนิสัยดีจำนวนมากผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์

เขาจึงทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยให้ทหารหนุ่มเหล่านั้นบางคนหนีทัพหายไปก่อนจะถูกพวกก๊กมินตั๋งจับกุมเข่นฆ่าทิ้ง นายพลลีรู้ดีว่าที่ตนทำนั้นถือเป็นการทรยศต่อพรรคก๊กมินตั๋ง แต่เขาก็เห็นแล้วว่าทหารหนุ่มเหล่านี้เป็นทหารดีที่สุดใต้การบังคับบัญชาของตน แล้วจะให้จู่ๆ จับพวกนี้ยิงทิ้งหมดได้อย่างไร

เอาเข้าจริงลียินโวเคยพบกับโจวเอินไหล แกนนำสำคัญคนหนึ่งของคอมมิวนิสต์จีนและนายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อทั้งคู่ไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสในวัยหนุ่มสมัยคริสต์ทศวรรษที่ 1920 ด้วย

ตอนนั้นลียินโวเรียนเภสัชศาสตร์อยู่ที่เมืองลียง และเคลื่อนไหวการเมืองอยู่ในหมู่พลพรรคก๊กมินตั๋งอย่างแข็งขันแล้ว ขณะโจวเอินไหลเองก็เคลื่อนไหวอย่างเอาการเอางานในหมู่นักศึกษาฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนในฝรั่งเศสเช่นกัน

ลียินโวกับโจวเอินไหลไม่ได้คบหาเป็นเพื่อนกันในฝรั่งเศส แต่ก็ได้ยินกิตติศัพท์ของกันและกันและเคารพนับถือกันอยู่

กระทั่งวันหนึ่ง ทั้งคู่ได้นั่งลงเสวนากัน แต่ละฝ่ายก็พยายามโน้มน้าวจูงใจอีกฝ่ายให้กลับใจเปลี่ยนอุดมการณ์มาเข้ากับตนเสีย

ทว่าหลังจากคุยกันอยู่หนึ่งวันเต็มๆ การเสวนาก็จบลงโดยทั้งคู่จับมือกันแล้วแยกย้ายจากกันไป โดยต่างก็ตระหนักว่าความพยายามกล่อมให้อีกฝ่ายกลับใจนั้นล้มเหลว

เมื่อสงครามกลางเมืองในจีนคับขันงวดตัวใกล้สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ นายพลลียินโวก็ตัดสินใจพาครอบครัวอพยพมาอยู่ฮ่องกงในปี ค.ศ.1949 มาร์ติน ลี หวนรำลึกถึงฉากนี้ว่า:

“เมื่อกองกำลังคอมมิวนิสต์ข้ามแม่น้ำแยงซีลงใต้ เราต้องตัดสินใจทิ้งเมืองกวางโจวที่เราอาศัยอยู่ตอนนั้น ผมอายุได้ 11 ขวบ และเพื่อนวัยเด็กของผมทั้งหมดที่โรงเรียนบอกผมว่าจะไปไต้หวัน แต่พ่อบอกผมว่าเราจะไปฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษกัน และผมเองก็ไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับฮ่องกง ผมเลยถามพ่อว่าทำไมเราไม่ไปไต้หวันล่ะครับในเมื่อเพื่อนของผมทั้งหมดเขาไปที่นั่นกัน พ่อตอบผมว่าเจ้ายังเด็กเกินไป ไว้เจ้าโตขึ้นพ่อจะบอกว่าทำไม”

ที่ฮ่องกง ลียินโวถอดเครื่องแบบนายพลเข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่วิทยาลัยวาห์ยัน เกาลูน ซึ่งลีผู้ลูกก็เรียนอยู่ที่นั่นด้วย มาร์ติน ลี เล่าต่อไปว่า:

“ต่อมาเมื่อน้องชายกับผมเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1950 โดยผมเรียนศิลปศาสตร์ ส่วนน้องเรียนแพทยศาสตร์ คืนหนึ่งพ่อก็เรียกเราสองคนเข้าไปในห้องของพ่อแล้วบอกว่า ตอนนี้เจ้าสองคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว พ่อจะบอกให้ว่าทำไมเราถึงมาฮ่องกงแทนที่จะไปไต้หวัน

“นั่นก็เพราะรัฐบาลก๊กมินตั๋งที่ไต้หวันนั้นทุจริตคอร์รัปชั่นเกินไป และพ่อก็ใช้เวลามากมายในชีวิตไปกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น พ่อไม่อยากใช้ชีวิตที่เหลือรับใช้รัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชั่นแบบนั้น และพ่อก็ไม่อยากอยู่เมืองจีนต่อเพื่อช่วยพวกคอมมิวนิสต์เช่นกัน เพราะพวกคอมมิวนิสต์โจมตีสถาบันครอบครัว สถาบันครอบครัวน่ะเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม กระนั้นแล้วพวกเขามาทำลายหน่วยพื้นฐานของสังคมได้อย่างไร? พ่อไม่เอาด้วยหรอก

“นั่นคือเหตุผลที่ทำไมเรามาฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และพ่อเองก็ไม่รู้ว่ากองกำลังคอมมิวนิสต์จะเดินหน้าบุกเข้าฮ่องกงด้วยหรือเปล่า เพราะมันเป็นเรื่องง่ายสำหรับพวกเขาที่จะพิชิตเมืองจีนที่เหลือทั้งหมด ถ้าหากพวกคอมมิวนิสต์ทำแบบนั้น แม่ของเจ้ากับพ่อได้ตกลงปลงใจกันแล้วว่าเราสองคนจะขึ้นเรือออกไปและโดดน้ำตายแถวท่าเรือด้วยกัน ด้วยความหวังว่าพวกคอมมิวนิสต์จะปล่อยลูกไว้เฉยๆ ไม่มายุ่งเกี่ยว”

เรื่องหนึ่งที่มาร์ติน ลี แปลกใจในวัยเด็กคือการที่พ่อย้ายบ้านที่พำนักในฮ่องกงแทบจะทุกปี ลียินโวเผยเหตุผลให้ลูกๆ ฟังภายหลังว่า:

“ทุกๆ ปีโจวเอินไหล (นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนสมัยนั้น) จะส่งผู้แทนของเขามาฮ่องกงเพื่อเชิญพ่อกลับไปช่วยงานเขาในเมืองจีน พ่อไม่อยากรับใช้พวกคอมมิวนิสต์ ดังนั้นพ่อก็เลยย้ายบ้านเพื่อหลีกหนีพวกเขาเสีย ด้วยความหวังว่าพวกเขาจะไม่มากวนใจพ่ออีก”

อดีตนายพลลียินโวผู้เลือกปฏิเสธทั้งไต้หวันของก๊กมินตั๋งและจีนแผ่นดินใหญ่ของคอมมิวนิสต์สิ้นชีวิตลงเมื่อปี ค.ศ.1989 สิริรวมอายุได้ 92 ปี

ด้วยภูมิหลังแอนตี้คอมมิวนิสต์ตั้งแต่รุ่นพ่อทำนองนี้ อุบัติการณ์ที่คาดไม่ถึงก็คือมาร์ติน ลี กลับกลายเป็นวีรบุรุษโดยบังเอิญของบรรดาผู้ปลื้มปักกิ่งในฮ่องกงไปเสียได้ เมื่อเขาเรียนจบออกมาประกอบวิชาชีพทนายในปี ค.ศ.1966 แล้วได้ตกลงรับว่าความให้จำเลยที่เป็นกุลีสังกัดสหพันธ์สหภาพแรงงานของฮ่องกงเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1960

กุลีผู้นั้นถูกตำรวจฮ่องกงจับกุมด้วยข้อหาครอบครองยาเสพติดอันตราย เขายืนกรานว่าเขาบริสุทธิ์และตำรวจปั้นข้อหายัดยาให้ เขาถูกศาลชั้นต้นตัดสินว่ามีความผิดและกำลังยื่นอุทธรณ์ มาร์ติน ลีเล่าว่า:

“ผมจำได้ว่าสมัยนั้นผู้คนทั่วไปในฮ่องกงไม่ชอบขี้หน้าพวกคอมมิวนิสต์เพราะพวกนั้นก่อความวุ่นวายไว้มากระหว่างการจลาจลในปี ค.ศ.1967 ดังนั้นก็เลยไม่มีทนายคนไหนอยากรับว่าความให้พวกเขา”

การจลาจลในฮ่องกงเมื่อปี ค.ศ.1967 เป็นกระแสลุกลามต่อเนื่องมาจากการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนซึ่งเกิดขึ้นปีก่อนหน้า การจลาจลซึ่งปลุกปั่นก่อการโดยพวกคอมมิวนิสต์ในฮ่องกงครั้งนั้นส่งผลให้มีคนตาย 51 คน โดย 15 คนในจำนวนนั้นตายเพราะโดนระเบิด

“แต่ขึ้นชื่อว่าทนายแล้ว เราไม่มีสิทธิ์เลือก” มาร์ติน ลีกล่าวต่อ “เรายึดหลักการรถแท็กซี่รับจ้างส่งผู้โดยสารครับ กล่าวคือเมื่อใดที่คดีตกมาถึงคุณและคุณเชี่ยวชาญพอที่จะว่าความคดีนั้นและลูกความยินดีที่จะจ่ายค่าทนายให้แล้ว คุณก็ต้องรับคดีไว้

“มิช้านานผมก็ค้นพบว่ามีอะไรบางอย่างผิดพลาดในการดำเนินคดีนี้ เพราะจำเลยพูดสำเนียงแต้จิ๋วและไม่เข้าใจสำเนียงกวางตุ้งที่พูดกันในฮ่องกง ทว่าการไต่สวนในศาลทำกันด้วยสำเนียงกวางตุ้งแล้วแปลเป็นอังกฤษอีกที จำเลยซึ่งฟังทั้งสำเนียงกวางตุ้งและภาษาอังกฤษไม่ออกจึงไม่เข้าใจว่ากำลังพูดอะไรกันในศาล”

ทนายลียื่นอุทธรณ์ด้วยเหตุผลประเด็นนี้และชนะคดี ทำให้ต้องไต่สวนพิจารณาคดีกันใหม่ ปรากฏว่าจำเลยได้รับการปล่อยตัวพ้นผิดไปในที่สุด

“พวกคอมมิวนิสต์อยากแบกผมขึ้นบ่าแห่ฉลองและเชิญผมไปเยือนปักกิ่งเพื่อพบผู้นำของพวกเขา ทว่าหลักการรถแท็กซี่รับจ้างนั้นน่ะเรียกร้องกะเกณฑ์ให้ผมต้องทำคดีนี้ก็จริง แต่มันไม่ได้เรียกร้องกะเกณฑ์ให้ผมต้องทำอะไรอื่นหลังจากนั้นด้วยนี่นา ผมก็เลยไม่ขอรับคำขอร้องทั้งสองประการนั้นครับ”

ในช่วงเริ่มกระบวนการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกงเมื่อปี ค.ศ.1983 มาร์ติน ลี ยังมีโอกาสได้พบกับสีจงซุน บิดาของสีจิ้นผิง ผู้นำจีนคนปัจจุบัน ซึ่งตอนนั้นสีผู้พ่อดำรงตำแหน่งรองประธานสภาประชาชนแห่งชาติของจีน ณ มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่งด้วย เมื่อเขาร่วมคณะผู้แทนนักวิชาชีพหนุ่มสาว 12 คนจากฮ่องกงไปเยือนจีน เพื่อแสดงทรรศนะเกี่ยวกับอนาคตของฮ่องกง

ก่อนพบหน้าพูดคุยกับสีจงซุน มีกระแสข่าวร่ำลือถึงหูคณะผู้แทนฯว่าสีจงซุนเป็นผู้มี “หัวเสรีนิยม” อย่างไรก็ตาม มาร์ติน ลี เล่าย้อนหลังว่าเขาจำอะไรเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษเกี่ยวกับการประชุมพบปะครั้งนั้นไม่ได้ นอกจากว่ามันเป็นไปฉันมิตร

อันที่จริงตอนนั้นทางการปักกิ่งเล็งมาร์ติน ลี เป็นเป้าในการขยายแนวร่วมในหมู่ชาวฮ่องกงอยู่ กระทั่งว่าสูเจียถุน ผู้อำนวยการสำนักข่าวซินหัวสาขาฮ่องกง เคยเสนอแนะเมื่อปี ค.ศ.1987 ให้ลีร่วมกับ อัลเลน ลี นักธุรกิจนิยมปักกิ่งและพรรคพวกก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นร่วมกัน แต่มาร์ติน ลีปฏิเสธ

จุดแตกหักกับทางการปักกิ่งมาถึงเมื่อมาร์ติน ลี กับ เซโต วาห์ เพื่อนนักประชาธิปไตย ซึ่งร่วมอยู่ในคณะกรรมการยกร่างกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง ป่าวร้องประณามการปราบปรามเข่นฆ่าผู้ประท้วง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อปี ค.ศ.1989 และประกาศบอยคอตการประชุมยกร่างกฎหมายฯดังกล่าว ทางการปักกิ่งจึงตอบโต้โดยห้ามทั้งคู่เข้าร่วมกระบวนการยกร่างกฎหมายฯต่อไปบ้างจนกว่าพวกเขาจะยกเลิก “ท่าทีต้านจีน” ของตน

มาร์ติน ลี จึงกลายเป็นนักประชาธิปไตยอาวุโสแนวหน้าของฮ่องกงนับแต่นั้นมาจนอายุ 81 ปีในปัจจุบัน