วิเคราะห์ | พายุในถ้วยชา

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้

กำลังพิสูจน์สำนวน

A storm in teacup.

พายุในถ้วยน้ำชา

อันหมายถึง ปัญหาที่อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ แต่จริงๆ แล้วเล็กนิดเดียว

อย่างแหลมคม

แหลมคม ว่า ข่าวใหญ่ที่เป็นข่าวพาดหัวสื่อมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

มิใช่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องเล็กนิดเดียว

เจรจาตกลงกันได้ ทุกอย่างก็จบ รัฐนาวาเหล็กก็ลอยลำอย่างสบายใจต่อไป

จริงหรือ?!?

ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึงกรณีพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์

พรรคภูมิใจไทยเริ่มมีการเคลื่อนไหวไม่ปกติมาตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน

โดยระหว่างการประชุมพรรค

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย แจ้งต่อที่ประชุมมีรายการของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ผู้ดำเนินรายการมีการพูดพาดพิงตนเองและพรรคภูมิใจไทย

โดยให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง

สร้างความเสียหายให้แก่ตนและพรรคภูมิใจไทย มีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และการหมิ่นประมาท

พร้อมตั้งข้อสังเกตเชิงกล่าวหาว่า เป็นการตั้งแท่นเพื่อปูทางไปสู่กรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีหรือไม่

ทั้งนี้ สื่อในเครือข่ายดังกล่าว ได้เสนอบทวิเคราะห์ก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง

อาทิ ชิ้นหนึ่งวิเคราะห์ว่า

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านยื่นเป็นรายบุคคลแน่นอน

ทั้งนี้ ฝ่ายค้านจองกฐินรัฐมนตรี ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ

และนายศักดิ์สยาม ที่ถือเป็นคนเดียวที่อยู่นอกพรรคพลังประชารัฐ

โดยนายศักดิ์สยาม ฝ่ายค้านจะอภิปราย “คนนอก” ที่เชื่อมโยงกับนายศักดิ์สยาม ด้วยการเน้นไปที่อภิมหาโปรเจ็กต์โครงการยักษ์ทั้งหลาย

รวมทั้งจะเปิดแผลความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานในกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของบริษัทเอกชน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ทำให้พรรคภูมิใจไทยอาจขู่พรรคร่วมรัฐบาลว่า หากคะแนนรัฐมนตรีของภูมิใจไทยได้น้อยกว่าคนอื่น พรรคจะถอนตัวจากรัฐบาล

จากบทวิเคราะห์รายงานดังกล่าว

รวมถึงการจัดรายการผ่านทางโทรทัศน์ ที่นายศักดิ์สยามเห็นว่าให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงประกาศจะดำเนินคดี

ทั้งนี้ นายศุภชัย ใจสมุทร แถลงหลังการประชุมพรรคภูมิใจไทยว่า จากการพิจารณากรณีดังกล่าว ทางพรรคจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ดำเนินรายการทั้ง 3 คน และบริษัทต้นสังกัด ในฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

โดยนายศักดิ์สยามจะไปแจ้งความที่ จ.บุรีรัมย์

พร้อมกันนี้หัวหน้าพรรคจะทำหนังสือมอบอำนาจให้ ส.ส.เขตของพรรคทั้ง 39 คน ไปดำเนินการแจ้งความในพื้นที่ของตัวเอง รวมทั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทั้ง 12 คน

ซึ่งรวมถึงตัวนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ก็จะไปแจ้งความด้วยเช่นกัน

เรียกว่า ยกพรรคชนสื่อ อย่างเต็มที่

 

ทําให้ในเวลาต่อมา มีแคมเปญตอบโต้ออกมาจากสื่อในเครือเนชั่น

ที่ระบุว่า

ประชาชน, ข้าราชการ ทั่วประเทศพบเห็นพฤติกรรมของผู้แทนพรรคภูมิใจไทย เข้าข่ายแทรกแซง หรือสั่งการโดยมิชอบ ร้องเรียนมาที่รายการ “เนชั่นสุดสัปดาห์” โดยตรง

หรือผ่านช่องทาง Facebook โดยการ Inbox มาที่ Facebook fanpage…สื่อทุกสื่อของเนชั่น

เรียกว่า ยกสื่อทั้งเครือ ชนพรรคภูมิใจไทย เช่นกัน

โดยเครือเนชั่นยืนยันว่า เป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบตามปกติ และทำตามหน้าที่

แต่กระนั้น

ล่าสุด เครือเนชั่นได้ประกาศเลื่อนการเพิ่มทุนของบริษัทออกไปไม่มีกำหนด

เนื่องจากพบกลุ่มการเมืองแทรกแซงผู้ถือหุ้น เพื่อขัดขวางมติการเพิ่มทุน

ฝ่ายบริหารอ้างว่า การกระทำดังกล่าวเนื่องจากกลุ่มการเมืองนั้นไม่พอใจการนำเสนอข่าวของเครือเนชั่น

ขณะที่นายศักดิ์สยามก็บอกว่า ถือเป็นเรื่องที่ ส.ส.ทุกคนจะต้องถูกตรวจสอบโดยประชาชน

แต่ควรจะทำทุกพรรคการเมือง

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการดำเนินการฟ้องร้องเนชั่นยังคงดำเนินต่อไป

 

กรณีดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างพรรคกับสื่อเท่านั้น

แต่เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน

กลับมีรายงานข่าวแพร่ในสื่อมวลชนต่างๆ สอดคล้องกันว่า

“…กรณีเรื่องที่ทีวีช่องหนึ่งโจมตีการทำงานของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการคมนาคม และเลขาธิการภูมิใจไทย. โดยพรรคได้มีการฟ้องเอาผิดสื่อดังกล่าวและทยอยแจ้งความดำเนินคดีนั้น ล่าสุดทางแกนนำพรรคภูมิใจไทยแจ้งไปยังพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้วว่า รู้ถึงตัวผู้ที่ปล่อยข่าว ซึ่งอยู่ร่วมในคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว อีกทั้งสื่อดังกล่าวมีความใกล้ชิดกับพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงแจ้งไปยังผู้ใหญ่ในรัฐบาลว่า หากบุคคลดังกล่าวไม่หยุดปล่อยข่าวให้ร้ายพรรค ภท.อาจจะส่งผลกับการยกมือในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายบุคคลของฝ่ายค้านที่จะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม”

สอดคล้องกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่บอกว่า ส่วนที่สื่อบางฉบับมาตรวจสอบพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียว ก็งง มันเกิดอะไรขึ้น เสียดายความสัมพันธ์อันดีที่มีร่วมกัน จริงๆ หากต้องการทราบเรื่องอะไร ให้โทร.มาถามก็ได้ แต่กลับมาพูดในทางตรงกันข้าม แบบนี้มีทิฐิหรือไม่

“ผมรู้นะ ว่าใครอยู่เบื้องหลัง แต่ผมจะไม่บอก เพราะเป้าหมายจะรู้ตัว และผมจะไม่ไปหารือกับใครทั้งนั้น ผมอยากให้รัฐบาลไม่ต้องมาปวดหัวกับเรื่องแบบนี้ ให้เอาเวลาไปคิดเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจดีกว่า เรื่องปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ”

 

แกะรอยตามคำพูดของแกนนำพรรคภูมิใจไทย และรวมถึงการลุยดำเนินคดีสื่อนั้น ทำให้เกิดคำถามว่า ใครคือผู้ปล่อยข่าว

ซึ่งก็คงไม่ธรรมดา เพราะพรรคภูมิใจไทยกล่าวหาว่า “อยู่ร่วมในคณะรัฐมนตรี”

และได้มีการแจ้งไปยังแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้หยุดการกระทำดังกล่าวแล้ว

ซึ่งนั่นก็สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันบาดหมางในพรรคร่วม และหากไม่ยุติอาจส่งผลต่อการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในช่วงเดือนธันวาคมได้

นี่ย่อมเป็นการบ้านให้พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล จะต้องสะสาง ทั้งคนที่ปล่อยข่าว และคนที่ถูกกล่าวหาว่าปล่อยข้อมูลให้สื่อ!

มิฉะนั้น เรื่องนี้อาจจะมิใช่แค่พายุในจอกน้ำชา

แต่จะเป็นพายุใหญ่ ท้าทายเรือเหล็กของรัฐบาลโดยตรง

 

นอกจากพรรคภูมิใจไทยแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ก็น่าจับตามองอีกพรรค

จากกรณีที่นอกจากเป็นแกนจุดพลุให้ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว

ยังมีการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าเป็นผู้เหมาะสมที่จะนั่งประธาน กมธ.ชุดนี้ด้วย

โดยผู้ที่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันในกรณีนี้คือ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์

ซึ่งเคลื่อนไหวอย่างก้าวร้าวดุดัน แบบชนิดไม่เกรงใจใคร

โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล

ทั้งที่นายเทพไทรู้ดีว่า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจาก ส.ส.เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมิถุนายน

ตอกย้ำว่า นายอภิสิทธิ์ไม่ยอมยืนเคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี

และที่สำคัญ นายอภิสิทธิ์ยังแสดงจุดยืนแจ่มชัด ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ พล.อ.ประยุทธ์สนับสนุนอย่างเต็มที่

แม้จะแจ่มชัดในจุดยืนดังกล่าว แต่นายเทพไทก็ยังชูชื่อนายอภิสิทธิ์ขึ้นมา

ขณะพรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่ขัดขวาง ทั้งที่คนของพรรคส่วนหนึ่งก็ร่วมอยู่กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ตอนนี้

บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นลักษณะแยกกันเดินอย่างชัดเจน ระหว่างการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคการเมืองในสภา

แน่นอน ย่อมทำให้พรรคพลังประชารัฐอึดอัด คับข้อง และลำบากใจอย่างไม่ต้องสงสัย

ที่สุดก็มีคนในพรรคพลังประชารัฐออกมาสกัดนายอภิสิทธิ์ และยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ มิใช่พรรคประชาธิปัตย์

พร้อมทั้งยืนกรานให้ประธาน กมธ. จะต้องมาจากพรรคแกนนำ

หนึ่งในผู้สกัดพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ

ซึ่งก็เจอการตอบโต้จากนายเทพไท อย่างดุเดือดรุนแรง ว่าอย่ามาเทียบชั้น และไม่อยากลงไปเล่นให้ใครเลียปาก

พร้อมยังจี้ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ให้ส่งสัญญาณถึงพรรคพลังประชารัฐเพื่อไม่ให้ขัดขวางนายอภิสิทธิ์

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ให้เป็นเรื่องของรัฐสภา

ที่นายสิระออกมาปฏิเสธว่า พรรคพลังประชารัฐไม่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่เป็นความจริง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์คือหัวหน้าพรรคตัวจริงของพรรคพลังประชารัฐ

แม้แต่ชื่อพรรคพลังประชารัฐก็มาจากโครงการประชารัฐของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

และที่พรรคพลังประชารัฐได้รับเลือกตั้ง ส.ส.เข้ามาจำนวนมาก ก็เพราะการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ซึ่งเปรียบเสมือนการซื้อเสียงล่วงหน้าของรัฐบาล

เพราะฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์คือหัวหน้าพรรคตัวจริงของพรรคพลังประชารัฐ

ท่าทีและความเห็นนายเทพไท แม้จะเป็นความคิดเห็นส่วนตัว

แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็มิได้ห้ามปราม หรือให้คำนึงถึงมารยาทการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

ตรงกันข้ามกับมีท่าทีสนับสนุนนายอภิสิทธิ์อย่างไม่ปิดบังด้วย

นั่นแสดงว่า พร้อมให้การศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้า ต่างจากพรรคพลังประชารัฐที่ละล้าละลัง ด้านหนึ่งต้องการ “นำ” ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ

แต่ก็ยากที่จะบอกจุดยืนว่า “แก้” หรือนำเพื่อ “สกัด” การแก้รัฐธรรมนูญ

ภาวะที่แจ่มชัดไม่ได้นี้เอง ทำให้พรรคพลังประชารัฐเสียเปรียบประชาธิปัตย์

ที่สามารถเล่นไพ่หน้าไหนก็ได้

หากถูกสกัดก็โยนไปยังพรรคแกนนำ

หากได้ไฟเขียวก็พร้อมลุย

ได้เปรียบ “การเมือง” ทุกด้าน

ถือเป็นมิตรทางการเมืองอันพะอืดพะอม

ซึ่งจะว่าเป็นเรื่องธรรมดาแบบพายุในถ้วยน้ำชา ก็คงพอได้

แต่คำถามก็คือ พลังประชารัฐจะใจใหญ่ไปได้ตลอดทางหรือไม่