ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 พฤศจิกายน 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | กรองกระแส |
เผยแพร่ |
กรองกระแส
4 เดือน รัฐบาล
พลังประชารัฐ แข็งกร้าว
ต่อพรรคร่วมรัฐบาล
ไม่ว่าเมื่อมองไปยังข้อขัดแย้งเกี่ยวกับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
ไม่ว่าเมื่อมองไปยังข้อขัดแย้งเกี่ยวกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ไม่ว่าเมื่อมองไปยังข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการถือครองที่ดินอันเป็นของ ส.ป.ก.4-01 และป่าเสื่อมโทรมจำนวนกว่า 1,700 ไร่
มิได้เป็นปัญหาอันเนื่องมาจาก “ฝ่ายค้าน”
มิได้เป็นปัญหาอันเนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือแม้กระทั่งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
เด่นชัดยิ่งว่าเป็นปัญหาอันมาจากพรรคพลังประชารัฐ
กรณีตำแหน่งประธานรัฐธรรมนูญเป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคภูมิใจไทย กรณีอันเกี่ยวกับการรุกที่ดินกว่า 1,700 ไร่เป็นปัญหาของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐที่อาจจะไปสัมพันธ์กับความรับผิดชอบของพรรคชาติไทยพัฒนา
เท่ากับว่าพรรคพลังประชารัฐกำลังจะมีปัญหากับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา อันเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
เป้าหมายพลังประชารัฐ
ต้องการอำนาจเบ็ดเสร็จ
หากถามว่าทำไมพรรคพลังประชารัฐต้องการเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
เพราะต้องการการนำที่เหนือกว่าพรรคประชาธิปัตย์
เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์เสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคพลังประชารัฐไม่เพียงแต่ไม่ต้องการให้คนของพรรคประชาธิปัตย์มีอำนาจนำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเป้าหมายอย่างแท้จริงคือ พรรคพลังประชารัฐต้องการกำกับเส้นทางของรัฐธรรมนูญ
เป้าหมายอย่างแท้จริงคือ ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะกลไกของรัฐธรรมนูญเป็นคุณต่อการสืบทอดอำนาจของพรรคพลังประชารัฐ
ขณะที่ต่อกรณีของพรรคภูมิใจไทย ที่มีการขุดคุ้ยและโจมตีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอย่างเป็นระบบ เป็นเพราะพรรคพลังประชารัฐต้องการทวงคืนกระทรวงคมนาคมและต้องการให้คนของตนไปดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี
เป้าหมายแท้จริงก็คือ ต้องการการกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กำหนดทิศทางของรัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐอย่างแท้จริง
ทิศทางพลังประชารัฐ
กับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ปฏิกิริยาของพรรคประชาธิปัตย์ต่อตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพราะไม่พอใจที่พรรคพลังประชารัฐไม่ต้องการแบ่งปันบทบาทให้กับพรรคประชาธิปัตย์
ปฏิกิริยาของพรรคภูมิใจไทยต่อการขุดคุ้ยโจมตีกระทรวงคมนาคมยิ่งรุนแรงหนักหน่วง
คำแถลงยาวเหยียดของพรรคภูมิใจไทย ไม่เพียงแต่มองเป้าหมายของพรรคพลังประชารัฐอย่างทะลุปรุโปร่ง หากแต่ยังทะลวงไปยังเครือข่ายของพรรคพลังประชารัฐที่ใช้สื่อของตนเพื่อต้องการด้อยค่าพรรคภูมิใจไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ปฏิกิริยาของพรรคประชาธิปัตย์ ปฏิกิริยาของพรรคภูมิใจไทย จึงสะท้อนให้เห็นความรู้สึกของพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องการบทบาทของตนเอง
เป็นปฏิกิริยาโดยตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นปฏิกิริยาโดยตรงไปยัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่ดำรงอยู่ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ พรรคพลังประชารัฐ
เหมือนกับเป็นคำถามว่า 2 ท่านนี้ต้องการเช่นนั้นหรือ
4 เดือนของรัฐบาล
รอยร้าว ยิ่งร้าวลึก
ปฏิกิริยาที่ต้องการรวบอำนาจของพรรคพลังประชารัฐ และปฏิกิริยาอันสะท้อนกลับมาจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และอาจจะเป็นจากพรรคชาติไทยพัฒนา
ไม่เพียงสะท้อน 4 เดือนของการร่วมรัฐบาล หากแต่ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การแสดงให้เห็นบทบาทและความหมายของ 53 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 52 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และ 11 ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา
เป็นไปไม่ได้ที่ 116 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐจะดำรงอยู่ได้อย่างโดดๆ
แม้ว่าจะมี 250 ส.ว.เป็นฐานรองแห่งอำนาจ แต่หากขาด 53 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 52 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย 11 ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา
การก้าวเดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะมากด้วยอุปสรรค