เปิดบทบาท “3 คุณแม่” หญิงแกร่ง พปชร. “มาดามเดียร์-โฆษกแหม่ม-ปารีณา”

บทบาท ส.ส. นอกเหนือการทำหน้าที่ในสภาและลงพื้นที่แล้วนั้น ส.ส.ทุกคนต่างมีคนที่อยู่เบื้องหลังนั่น คือ “ครอบครัว” ของตัวเองด้วย

หากเรามองว่า ส.ส.เป็นอาชีพหนึ่งของสังคม พวกเขาเหล่านี้ก็ต้องมีเวลาให้กับครอบครัว พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็น “คุณพ่อ-คุณแม่” หรือ “สามี-ภรรยา” ที่ต้องบริหารเวลาระหว่างครอบครัวกับงานในหน้าที่ ส.ส.ให้สมดุล

ไม่เช่นนั้นอาจสอบตกได้

พรรคพลังประชารัฐได้ชื่อว่ามีสัดส่วน ส.ส.ผู้หญิงในสภาจำนวนมาก

โดยหลายคนก็เป็นนักการเมืองมานาน และหลายคนก็เพิ่งได้เป็น ส.ส.สมัยแรก

โดยบทบาท “ผู้นำหญิงทางการเมือง” อีกบทบาทหนึ่งที่ต้องพูดถึงคือการเป็น “คุณแม่” นั่นเอง

โดยเฉพาะกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐและผู้มีบทบาทโดดเด่นทางการเมืองทั้ง 3 คน ได้แก่ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ “โฆษกแหม่ม” ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ “เอ๋” ปารีณาไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี

เริ่มที่ “มาดามเดียร์” เล่าทั้งรอยยิ้มถึงบทบาทคุณแม่ตั้งแต่ก่อนมาทำงานการเมือง เพราะทำงานธุรกิจสื่อและงานวงการฟุตบอล จึงกลับบ้านดึกทุกวัน ช่วงเวลาอยู่กับลูกคือช่วงเช้า จะตื่นมาส่งลูกไปโรงเรียน และช่วงวันเสาร์-อาทิตย์จะให้เวลากับลูกเต็มๆ ยกเว้นมีประชุมหรือภารกิจสำคัญเข้ามา

ก่อนตัดสินใจลงสนามการเมือง ได้พูดคุยกับสามี (ฉาย บุนนาค) และลูกๆ (น้องพอเพียง 10 ขวบ – น้องพอใจ 8 ขวบ) เมื่อก่อนนี้นอกจากตื่นมาส่งลูกไปโรงเรียนตอนเช้า ถ้าโรงเรียนมีกิจกรรมก็ต้องตามไปให้กำลังใจลูกๆ ไม่ว่าเราจะงานยุ่งแค่ไหน

แต่ด้วยงานทางการเมือง จึงจัดเวลาด้วยตัวเองไม่ได้ ทำให้เสียโอกาสที่จะไปอยู่กับลูก

แต่ครอบครัวก็เข้าใจ เขาให้ทำงานเต็มที่ ซึ่งพยายามสื่อสารทุกครั้งถึงเหตุผลต่างๆ เราไม่ได้ทิ้งเขา แต่ด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งก็นำมาปลูกฝังลูกๆ เรื่องความรับผิดชอบด้วย

ส่วนคุณฉายก็ให้คำแนะนำต่างๆ โดยก่อนมาลงการเมืองนั้น ตนเองมาจากธุรกิจสื่อ คนจึงตั้งคำถามเยอะ ซึ่งคุณฉายก็ชัดเจนว่าในเรื่องสื่อและสิ่งที่กำลังเดินหน้าไปทำงานการเมืองทำอย่างไรถึงจะแยกขาดจากกัน แม้สังคมภายนอก คนยังเหมารวมอยู่ ก็ไม่เป็นไร เพราะเราตั้งใจแยกจากกันอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เพื่อทำให้กองบรรณาธิการได้ทำงานตามอุดมการณ์และเป็นมืออาชีพ

ทั้งนี้ “มาดามเดียร์” เล่าพร้อมหัวเราะว่า ตัวเองยังโดนแซวเลยว่า โดนเตะออกจากกรุ๊ปไลน์บริษัททุกอัน ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะเราเดินเข้าสู่ถนนการเมืองแล้ว

ส่วนกระแสโจมตีต่างๆ ก็ต้องยอมรับว่าเราเป็นผู้หญิง เพราะที่ผ่านมาสนามการเมือง ผู้หญิงอาจยังมีน้อย เมื่อผู้หญิงเข้ามา จึงมักถูกถามว่าเปลืองตัวไหมซึ่งเราไม่ยอมรับคำพูดเหล่านี้

แต่ก็เป็นคำพูดที่เราเก็บมาเป็นเครื่องเตือนใจ ที่ในจุดหนึ่งเราก็ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว

มากันที่ “คุณแม่แหม่ม” ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย เล่าความในใจต่อสามีว่า ก่อนมาลงสู่สนามการเมือง ไม่ได้บอกลูกๆ เพราะลูกยังเล็ก 6 และ 8 ขวบ แต่บอกสามี หลังทำหนังสือลาออกจากนิด้าแล้ว ซึ่งเขาก็ตกใจ เพราะรับราชการมา 23 ปี ในทางวิชาการได้เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุ 38 ก็ถือว่าสูงสุดแล้วในทางวิชาการ จึงดูว่าจะทำประโยชน์อะไรเพื่อส่วนรวม

เมื่อประตูทางการเมืองเปิด ผู้ใหญ่ให้โอกาส จะได้นำความรู้มาทำประโยชน์เพื่อสังคมได้มากกว่า จึงตัดสินใจทันที ไม่ได้คิดอะไรมาก

ส่วนบทบาทแม่ ก็ต้องขอบคุณสามี เพราะเป็นสามีที่ประเสริฐที่สุด ไม่ได้ชมออกสื่อ เรารู้สึกในใจแต่ไม่เคยบอกเขามาก่อน หลังเขาตกใจที่เราบอกเขาว่าลาออก ผ่านมาไม่กี่วัน ขณะอยู่ที่บ้านก่อนนอน สามีบอกว่า “แหม่มที่บอกว่าจะทำงานการเมือง ไม่ต้องห่วง ไปทำให้เต็มที่ จะดูแลบ้านและครอบครัวให้เอง”

เมื่อมีเวลาก็จะมาช่วยดูแลลูก สมัยก่อนไม่มีเวลา เพราะการเป็นอาจารย์ต้องสอนวันหยุดด้วย ส่วนวันธรรมดาก็สอนกับเป็นกรรมการไปประชุมตามองค์กรต่างๆ หลังเป็นนักการเมืองจึงมีวันเสาร์-อาทิตย์ ยกเว้นที่ต้องลงพื้นที่จึงได้พาลูกไปเรียนเปียโน เรียนว่ายน้ำ และทานข้าว ส่วนสามีชอบชวนดูภาพยนตร์ที่บ้าน โดยสามีชอบดูแนวแอ๊กชั่น เสียงดังๆ แต่ตัวเองชอบดูหนังเครียดๆ ที่ต้องคิด แนวจิตวิทยา และครอบครัวชอบไปเที่ยวใกล้ๆ กทม. เช่น เขาใหญ่

โดย “ดร.แหม่ม” ขอไม่เปิดเผยภาพลูกๆ เพราะน้องยังเด็กอยู่ และขอให้เป็นพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัว

สุดท้ายกับ “คุณแม่เอ๋” ในการเป็น “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” ดูแลลูกชายเพียงคนเดียว “น้องเก้า-ทวีทอง ไกรคุปต์” วัย 10 ขวบ เรียนโรงเรียนนานาชาติที่กรุงเทพฯ

โดย “ปารีณา” พาลูกชายเข้าสภาตั้งแต่หลังแรกคลอด สมัยก่อนคนที่ชอบมาเล่นด้วยคือ “สุเทพ เทือกสุบรรณ”

เมื่อโตขึ้น เข้าโรงเรียนแล้ว ก็ไปสภาน้อยลง แต่การเป็น ส.ส.ราชบุรี และลูกเรียนอยู่ที่ กทม. ทำให้ต้องแบ่งเวลาให้ดีในการทำหน้าที่ ส.ส.ในพื้นที่และการดูแลลูก

โดย “คุณแม่เอ๋” เล่าว่า อยากให้ลูกเป็นนักร้อง ไปประกวด แต่เขาชอบเล่นเกมกับฟุตบอล ซึ่ง “น้องเก้า” ก็บอกว่า โตขึ้นอยากเป็นแบบคุณแม่ ได้เป็น ส.ส.เข้าสภา และเล่าว่า รู้ว่าคุณแม่ทำงานเหนื่อย แต่คุณแม่ก็มีเวลาให้เสมอ

โดย “ปารีณา” เล่าอีกว่า ครอบครัวเราเป็นนักการเมือง คุณพ่อทวี ไกรคุปต์ ก็ทำงานหนัก ทำให้คุณแม่ของตัวเองต้องดูแลลูกๆ เป็นหลัก

ดังนั้น เมื่อตื่นเช้ามาจะส่งลูกไปโรงเรียน จากนั้นจึงไปทำงานที่ จ.ราชบุรี เมื่อทำงานเสร็จ จะกลับมาทานข้าวเย็นกับลูก ทำอาหารเอง และพาลูกเข้านอน เล่านิทานให้ฟัง เล่นด้วยกัน

ส่วนการแสดงความรักของ “น้องเก้า” นั้น “คุณแม่เอ๋” เล่าด้วยรอยยิ้มว่า ลูกเป็นเด็กผู้ชายและลูกคนเดียว จึงอยากอยู่กับเพื่อน ซึ่งแม่มีกิจกรรมที่ไม่สนุก เวลาไปงานต่างๆ ไม่เหมาะกับวัยของลูก เมื่อเจอเพื่อนเขาก็จะวิ่งเล่น อีกทั้งมีเวลาจำกัดในการอยู่ด้วยกัน

เช่น ครั้งหนึ่งมีเวลาอยู่กับลูกแค่ 1 ชั่วโมง และต้องไปซื้อของด้วย แต่ลูกก็ทิ้งเพื่อน เพื่อมาซื้อของกับเรา เราก็ดีใจ ว่ารักแม่มากกว่าเพื่อนเหรอ (พร้อมหัวเราะ)

ทั้งหมดนี้เป็นบทบาทการเป็น “3 คุณแม่” หญิงแกร่งแห่งพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งการศึกษาผู้นำทางการเมือง นอกจากอุดมการณ์หรือตำแหน่งต่างๆ แล้ว สิ่งที่ต้องศึกษาควบคู่กันคือ “ตัวตน” และ “ภูมิหลัง” ของแต่ละคน เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองทั้งสิ้น

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่คงอยู่ตลอดคือ “ครอบครัว” นั่นเอง