คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ทบทวนเรื่อง “พระพุทธรูป” ภายใต้ร่มเงา “ผีพราหมณ์พุทธ”

กรณีพุทธะอุลตร้าแมนที่ผ่านมา ผมไม่ได้เขียนถึงเพราะมีสิ่งอื่นที่คิดไว้ว่าจะเขียนก่อน อีกทั้งมีคนพูดกันมากแล้ว

แต่ในเรื่องนี้ ที่จริงผมคิดว่าศิลปะมิได้มีหน้าที่แต่ในทางสร้างสรรค์หรือสรรเสริญ แต่มีหน้าที่สำหรับวิพากษ์วิจารณ์ด้วย

ดังนั้น ต่อให้ศิลปินเขาไม่ได้บอกในแง่ดีว่าเขามองเห็นพระพุทธะเป็นฮีโร่อย่างอุลตร้าแมน หากบอกว่ากำลังวิพากษ์วิจารณ์การนับถือพระพุทธรูปของเราตรงๆ เราก็สมควรรับฟังแล้วเขาก็ไม่ได้ทำผิดอะไร

ถ้าเราไม่เห็นด้วยก็เพียงวิพากษ์วิจารณ์กลับไปด้วยเหตุผล ไม่ใช่เอาเขาไปขอขมาพระภิกษุ (ซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ตั้งแต่ตอนไหน)

เพราะเท่ากับใช้อำนาจบังคับให้เขายอมรับว่าเขาทำความผิด

ผมคิดว่าเรามีความสับสนระหว่างศิลปะเพื่อการเคารพบูชา และศิลปะที่เป็นงานศิลปะเฉยๆ

กรณีเทวรูปฮินดูแสดงได้ชัด

 

เคยมีบริษัทสื่อใหญ่แห่งหนึ่งสร้างพระพิฆเนศวรในลักษณะเหมือนเทพเจ้ากรีก มีคนเห็นว่างามแปลกตาก็มาก

แต่ส่วนหนึ่งก็เห็นว่ามันผิด “ประติมานวิทยา” เพราะพระคเณศนั้นต้อง “ลัมโพทร” หรือท้องยื่น ความอ้วนกลมของท่านสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันก็สะท้อนเรื่องจักรวาลหรือปัญญาอันมากมาย

การเกณฑ์ให้ท่านผอมจึงเป็นการละเลยความหมายอันนี้ไป

ซึ่งที่จริงก็ไม่ผิด หากรูปนั้นมิใช่รูปสำหรับการเคารพบูชาแต่เป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง

คือต้องบอกว่าคนฮินดูมีความเชื่อทางประติมานวิทยาอยู่ เทพแต่ละองค์มีสัดส่วนและลักษณะกว้างๆ ที่บังคับไว้ในคัมภีร์ศิลปศาสตร์ การทำรูปเคารพตามคัมภีร์นั้น เชื่อกันว่าจะก่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์

ส่วนการละเมิดจะทำให้เกิดทุกข์โทษนานาประการ

ดังนั้น แม้อินเดียจะมีความเจริญในด้านศิลปะแค่ไหน แต่รูปเคารพตามเทวสถานก็มักทำตามแบบเดิมๆ ที่เคยทำมาแต่อดีต

หากมีผู้แย้งว่า ไฉนจึงมักปรากฏเทวลักษณะแปลกๆ ของเทวรูป โดยเฉพาะพระคเณศทั้งขนาดเล็กและที่ปรากฏในงานเทศกาลต่างๆ

ก็ต้องบอกว่า ปางแปลกๆ นั้น ส่วนมากเป็นงานศิลปะเพื่อการตกแต่งและประดับ

ส่วนที่เอาใช้ในเทศกาลที่แปลกๆ ก็ไม่ได้มีมากนัก และเขาถือกันว่าเอามาบูชาเพียงไม่กี่วันก็จำเริญน้ำแล้ว

 

ส่วนพระพุทธรูป ในสมัยเมารยะคือหลังพุทธกาลเล็กน้อยไม่ปรากฏมีพระพุทธรูปด้วยซ้ำ

เวลาทำรูปสลักพุทธประวัติ ท่านก็ทำเป็นบัลลังก์ว่างๆ ตอนตรัสรู้ก็มีแค่บัลลังก์ว่างๆ ใต้ต้นโพธิ์

ตอนปรินิพพานก็มีแท่นว่างๆ ใต้ควงไม้สาละ หรือบ้างก็ทำเป็นรอยพระบาทคู่ ธรรมจักร ไม่ก็ตรีรัตนะ

เมื่อผมได้เห็นรูปเหล่านั้นครั้งแรกก็รู้สึกว่าคนโบราณนี่เท่มากๆ เลยครับ ขนาดท่านพุทธทาสเองก็ยังชมเชยว่าคนโบราณเข้าใจเรื่องธรรมะดีถึงกับให้มีจำลองรูปสมัยเมารยะไว้ในสวนโมกข์

มีบางท่านอธิบายว่า คงเป็นเพราะระบบความเชื่อในอดีตที่ไม่ให้ทำรูปพระพุทธองค์ คือเป็นข้อห้ามในทางความเชื่อ

แต่ผมเข้าใจว่า เขามองพุทธะที่เป็นสภาวะมากกว่าเป็นตัวตนบุคคล จึงปล่อยให้ตัวพุทธะนั้นว่างไว้

ครั้นต่อมาพระพุทธรูปยุคแรกก็ถูกรังสรรค์โดยได้รับอิทธิพลของ “ฝรั่ง” คือชนชาติกรีก-โรมันที่เข้ามาในอินเดียในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์

และในที่สุดจากพระพุทธรูปชนิด “เหมือนคนจริง” ตามหลักศิลปะของกรีก ค่อยๆ คลี่คลายมาสู่รูปเคารพที่มีความเป็นนามธรรมมากขึ้นในสมัยหลัง

ต่อมาในสมัยมหายาน ด้วยแนวคิดตรีกายของพุทธะ ยิ่งทำให้พระพุทธรูปมีความวิจิตรและมีความหมายหลากหลายขึ้นไปอีกอย่างมาก

พระพุทธรูปในคติพุทธจึงมิได้เป็นรูปแทนบุคคลคือพระศากยมุนีเท่านั้น แต่ยังเป็นการนำเอา “พุทธคุณ” เช่น ปัญญาธิคุณ บริสุทธิ์คุณ มหากรุณาธิคุณ ซึ่งล้วนแต่เป็นคุณสมบัตินามธรรมมาทำให้ปรากฏเป็นรูปเคารพ

ดังนั้น ความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปตามคติพุทธ คือการสำแดงสภาวะนามธรรมของพุทธะให้ปรากฏ แล้วน้อมนำจิตใจของผู้กราบไหว้เพ่งมองให้เข้าถึงสภาวะนั้นๆ ด้วย และเป็นสิ่งช่วยให้ระลึกถึงพุทธคุณดังกล่าวอยู่เป็นนิตย์ นี่ว่าโดยอุดมคตินะครับ

 

แต่ในทางปฏิบัติ “ความศักดิ์สิทธิ์” ของพระพุทธรูปตามความเชื่อชาวบ้าน ได้อาศัยพิธีกรรมของพราหมณ์มาช่วยเสริมสร้างขึ้น โดยมีพิธี “พุทธาภิเษก” ซึ่งปรับมาจากพิธีเทวาภิเษกของพราหมณ์

พิธีเทวาภิเษกประกอบด้วยสองส่วนใหญ่ คือการชำระให้สิ่งนั้นบริสุทธิ์ จากนั้นจึงประจุพลังทางจิตวิญญาณ หรือ “ปราณ” เข้าในเทวรูป เทวรูปจึงแปรสภาพจากก้อนหินดินทรายมาเป็นสิ่งที่มี “ชีวิต”

ความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปจึงบิดผันจากคติความศักดิ์สิทธิ์แบบพุทธ มาสู่ความศักดิ์สิทธิ์แบบพราหมณ์ คือประกอบด้วยอำนาจทิพยศักดิ์ที่จะดลบันดาลสิ่งต่างๆ ตามความปรารถนาได้

ที่จริงจะบอกว่าเป็นความศักดิ์สิทธิ์แบบพราหมณ์ล้วนๆ ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะพุทธศาสนาในฝ่ายวัชรยานก็ให้ความสำคัญกับพระพุทธรูปในฐานะเป็นสิ่งแทน “กายของพระพุทธะ” ที่มีความศักดิ์สิทธิ์เช่นกันด้วย

ทางฝ่ายวัชรยานถือว่า ไม่ได้มีเพียงพระพุทธคุณในเชิงนามธรรมเท่านั้นที่สำคัญ แต่กาย วาจา ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากปราศจากกายและวาจา ก็ยากที่จะเข้าถึง “ใจ” หรือสภาวะนามธรรมได้ พระพุทธรูป คัมภีร์ และสถูป จึงเป็นสิ่งสำคัญสามประการแทนกาย วาจา และใจของพุทธะทั้งหลาย

อีกทั้งกายของพุทธะโดยเฉพาะในลักษณะสัมโภคกายนั้น เป็นสิ่งสำคัญมากในการปฏิบัติภาวนาตามแบบตันตระ คือต้องนำเอาสภาพแห่งกาย วาจา ใจของพุทธะนั้นมาแปรเปลี่ยนกาย วาจา ใจของเราเอง พุทธานุสติของฝ่ายเขาจึงไม่ใช่การระลึกถึงพระพุทธคุณเฉยๆ แต่ภาวนาจนกระทั่งสภาพของเราและพระพุทธะทั้งทางกาย วาจา ใจไม่ต่างกัน

ดังนั้น ในฝ่ายวัชรยาน การสร้างพระพุทธรูปจึงมีการบรรจุสิ่งต่างๆ ลงไป เป็นต้นว่า ไม้แกนกลาง อันเป็นตัวแทนของเส้นพลังงาน (นาฑิ) หรือศูนย์รวมของจักระทั้งหลาย ม้วนมนต์ที่แสดงพลังในจักรต่างๆ เหมือนที่ปรากฏในกายละเอียดของมนุษย์ รวมทั้งอัญมณี แร่ธาตุ สมุนไพร ใบชา ดอกไม้แห้ง ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่าการบรรจุสิ่งเหล่านี้จะทำให้พระพุทธรูปนั้นมีพุทธานุภาพ

แล้วจึงมีการพุทธาภิเษกต่อไป

 

ย้อนกลับมาในสังคมไทย ผมคิดว่ามีลักษณะที่พิเศษยิ่งไปกว่าที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น เพราะนอกจากจะมีพิธีกรรมแบบพราหมณ์เกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปแล้ว ที่จริงพระพุทธรูปในสังคมไทยในร่มผีพราหมณ์พุทธ ตกอยู่ใต้อำนาจของ “ผี”

พูดโดยย่อ ศาสนาผีพื้นเมืองสามารถหยิบเอารูปเคารพหรือสัญลักษณ์ในศาสนาอื่นๆ มารับใช้ความเชื่อของตน เช่น นำพระพุทธรูปหรือเทวรูปมาแทนสิ่งเคารพในศาสนาผีได้อย่างเนียนๆ

พระพุทธรูปในสังคมไทยตั้งแต่โบราณจึงสามารถใช้แทนบุคคลที่ตายไปแล้วหรือบรรพบุรุษ เช่น บูรพมหากษัตริย์ ผีมเหศักดิ์ต่างๆ ของชุมชน เช่น พระแม่อยู่หัวของทางลุ่มทะเลสาบสงขลาและทางนครฯ นั้น เป็นพระพุทธรูปแทนดวงวิญญาณเจ้าแม่อยู่หัว บรรพชนโนรา จะนำออกมาให้ลูกหลานกราบไหว้แก้บนช่วงงานโนราลงครูทุกปี

ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว มีพระพุทธรูปทรงเครื่องมากมาย ซึ่งล้วนเป็นพระพุทธรูปแทนพระประยูรญาติของพระมหากษัตริย์ต้นกรุง รวมทั้งยังมีพระพุทธรูปแทนพระองค์รัชกาลที่หนึ่งและรัชกาลที่สองคือพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ ด้วย

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของเราจำนวนมากมาย เช่น หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อปากแดง (ซึ่งลือกันว่าให้หวยแม่น) หลวงพ่อบ้านแหลม ฯลฯ ต่างก็มีของ “แก้บน” ที่ชอบ อย่างไข่ต้ม กล้วยน้ำว้า น้ำแดง ฯลฯ รวมทั้งมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ให้คุณให้โทษได้ในสามวันเจ็ดวัน

และหากลูกเต้าเหล่าเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ หากยกเป็นลูกบุญธรรมของหลวงพ่อเสียก็เชื่อว่าจะโตวันโตคืนหายเจ็บไข้

ความสัมพันธ์ดังกล่าวข้างต้น จึงมิใช่ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกชนกับรูปแทนพระศาสดาหรือองค์คุณของพระศาสดา แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง “ผี” กับลูกหลานที่เป็น “ปกติ” เสียจนเราลืมไปว่ารูปเคารพข้างหน้านั้นเป็น “พุทธรูป”

 

ดังนั้น กรณีพุทธอุลตร้าแมนจึงเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับการปฏิบัติต่อพระพุทธรูปของคนไทยโดยทั่วไป ที่ทำให้สิ่งเคารพในศาสนาหนึ่งใช้แทนอีกความเชื่อหนึ่งได้อย่างแนบสนิทแม้อาจขัดกันโดยพื้นฐานความคิด แต่นี่ก็ช่วยให้เข้าใจว่า เหตุใดคนไทยจึงมักโกรธมาก เมื่อมีการกระทำอะไรต่อพระพุทธรูปในแบบที่เราตีความว่าไม่แสดงความเคารพ

เพราะพระพุทธรูปสัมพันธ์กับเราเกินกว่าความสัมพันธ์แบบศาสนิกกับศาสดา แต่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันไม่อาจละเมิดได้ เหมือนผีกับลูกหลาน

ผมขอทิ้งท้ายว่า ถ้าอยากนับถือพระพุทธรูปอย่างชาวพุทธ คงต้องช่วยกันปลดปล่อยตนเองจากความศักดิ์สิทธิ์แบบเดิม ไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ที่ควรเป็น

และปลดปล่อยให้พระพุทธรูปมีความหมายอย่างอิสระในชีวิตแต่ละคน

เว้นแต่ยังชอบแบบ “ผี พราหมณ์ พุทธ” ผสมๆ นัวๆ เนียๆ ก็ไม่ว่ากันครับ