บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /สหรัฐตัด ‘จีเอสพี’ ไม่เห็นต้องดราม่า-ตื่นตูม

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

สหรัฐตัด ‘จีเอสพี’

ไม่เห็นต้องดราม่า-ตื่นตูม

 

กรณีสหรัฐอเมริกาประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือจีเอสพี (Generalized System of Preferences) แก่ไทย 537 รายการ มูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีผลปฏิบัติในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยอ้างว่าไทยไม่สามารถยกระดับการดูแลสิทธิแรงงานตามหลักสากล กลายเป็นประเด็นดราม่าค่อนข้างอึกทึกทีเดียว

บางฝ่ายเชื่อว่าน่าจะเป็นการตอบโต้ที่ไทยแบนการใช้สารเคมี 3 ชนิดที่ใช้ในการเกษตร ซึ่งทำให้บริษัทสหรัฐเสียประโยชน์ เพราะการตัดจีเอสพีเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากไทยมีมติแบนสารเคมีดังกล่าว

ส่วนนักวิชาการที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ก็พยายามนำไปโยงว่า อุตส่าห์เอาใจสหรัฐด้วยการซื้อรถยานเกราะลำเลียงพลมูลค่าเกือบ 3 พันล้านบาท แต่ก็ยังถูกตัดจีเอสพี นำมาสู่ประโยคที่ว่า “ได้รถถัง เสียจีเอสพี”

กระทรวงพาณิชย์แถลงว่า ปีที่ผ่านมาสินค้าไทยได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐ 3,500 รายการ แต่ไทยใช้สิทธิเพียง 1,485 รายการ หากคิดจาก 537 รายการที่จะถูกตัดสิทธิในครั้งนี้ ก็เพียง 40% ของสินค้าที่ใช้สิทธิจีเอสพี หรือกระทบต่อการส่งออกรวมของไทยเพียง 0.01%

และหาก 537 รายการนี้ไม่ได้รับยกเว้นภาษี ก็จะทำให้เสียภาษีเฉลี่ยร้อยละ 4.5% หรือรวมแล้วคิดเป็นภาษีที่ต้องจ่ายประมาณ 1,800 ล้านบาท มันไม่ใช่ว่าเราจะสูญเสียทั้งหมด 4 หมื่นล้านบาท

 

สหรัฐให้สิทธิจีเอสพีไทยมาตั้งแต่ปี 2519 และมีการทบทวนมาโดยตลอด และต่ออายุเป็นครั้งคราวไป

การให้จีเอสพีของสหรัฐต่อชาติต่างๆ นั้น ก็มีหลักเกณฑ์เดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ

จุดประสงค์หลักก็เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา

อย่างไรก็ตาม มีการวางเงื่อนไขว่าประเทศที่จะได้รับสิทธิจีเอสพี จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

เช่น ประชากรต้องมีรายได้ต่อหัวต่อปี ไม่เกิน 12,735 ดอลลาร์ (ไทยอยู่ที่ 7,200 ดอลลาร์)

ต้องเปิดตลาดสินค้าและบริการอย่างสมเหตุผล

ต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอ ต้องคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล เป็นต้น

การให้จีเอสพี ดูเผินๆ ก็เหมือนพ่อพระใจดี

แต่หากพิจารณาให้ดีก็เหมือนสร้างบุญคุณที่ทำให้ประเทศผู้รับต้องเกรงใจและยอมต่อแรงกดดันบางอย่างตามที่ประเทศเจ้าบุญคุณต้องการ

และประเทศผู้ให้สิทธิก็ยังได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ช่วยให้ผู้ประกอบการของประเทศผู้ให้สิทธิลดต้นทุนการผลิตสินค้าเพราะสามารถซื้อวัตถุดิบจากประเทศผู้ได้รับสิทธิโดยไม่ต้องเสียภาษี

อย่างกรณีอเมริกาที่ตัดสิทธิจีเอสพีไทย ก็เริ่มมีเอกชนของสหรัฐออกมาบ่นแล้วว่า ทำให้ไม่มีแหล่งซื้อวัตถุดิบราคาถูกมาผลิตสินค้า เพราะเดิมสามารถซื้อได้จากจีนในราคาถูก

แต่เมื่อทรัมป์เปิดศึกการค้ากับจีนโดยเก็บภาษีสินค้าจากจีนสูงมาก ก็ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น เมื่อมาตัดสิทธิจีเอสพีไทยอีก พวกเขาก็ยิ่งแย่

มีความเป็นไปได้มากที่การตัดสิทธิจีเอสพีไทยครั้งนี้ สหรัฐมีวัตถุประสงค์กดดันให้ไทยเปิดตลาดให้กับสินค้าบางอย่างจากสหรัฐ โดยการแบนสารเคมี 3 ชนิดซึ่งถือว่าเข้าข่ายกีดกันการค้า ก็น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่ง รวมทั้งการที่ไทยไม่นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง

แต่สหรัฐก็คงไม่พูดออกมาโต้งๆ ว่าตัดจีเอสพีไทยด้วยสาเหตุนี้ เพราะจะเป็นเรื่องน่าอาย จะถูกกล่าวหาได้ว่าเห็นแก่เงิน ไม่สนใจความปลอดภัยในสุขภาพของประชาชน จึงเลี่ยงไปอ้างเรื่องมาตรฐานแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ไทยได้ปรับปรุงเรื่องแรงงานซึ่งเกี่ยวโยงกับปัญหาค้ามนุษย์จนสหรัฐยอมขยับไทยขึ้นไปอยู่เทียร์ 2 จากเดิมเทียร์ 3

แม้แต่พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชาวอเมริกัน ยังทวีตข้อความแสดงความประหลาดใจว่าอะไรคือเหตุผลแท้จริงในการตัดจีเอสพีไทย แต่เขาไม่เชื่อว่ารัฐบาลทรัมป์จะใส่ใจเรื่องสิทธิแรงงานจริงๆ แปลให้ชัดก็คือมาตรฐานแรงงานในอเมริกาก็ไม่ได้ดีอะไร

 

การตัดจีเอสพีไทย ไม่น่าแปลกใจและไม่น่าตื่นเต้น หากรู้ธรรมชาติและลักษณะนิสัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบันที่มีความบ้า เพี้ยน ไร้มาตรฐาน เอาแน่เอานอนไม่ได้ ผิดแปลกไปจากอดีตผู้นำสหรัฐทุกคนที่โลกรู้จัก กระทั่งดำเนินนโยบายการค้าและการต่างประเทศที่สร้างความปั่นป่วนให้กับโลก เปิดศึกรอบทิศแม้แต่กับประเทศพันธมิตรเก่าแก่อย่างยุโรป ญี่ปุ่น สร้างความบาดหมางทั้งด้านการค้าและการทูตไปทั่ว

อย่างที่ทราบกันนโยบายของทรัมป์คือ “อเมริกา เฟิร์สต์” ผลประโยชน์ของอเมริกาต้องมาก่อน สิ่งเดียวที่ทรัมป์มุ่งทำคือลดขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ ประเทศไหนเกินดุลกับสหรัฐมาก ก็โดนหมายหัวไว้ก่อน ซึ่งในเอเชียก็คือจีน ส่วนยุโรปก็คือเยอรมนี สภาพที่เกิดขึ้นก็คือความสัมพันธ์ของสหรัฐกับจีนและยุโรปย่ำแย่อยู่ในจุดต่ำสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

อันที่จริงไทยก็อยู่ในประเทศที่ถูกทรัมป์จับตามองในฐานะประเทศที่เกินดุลการค้าตั้งแต่ 3 เดือนแรกที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง

แต่เนื่องจากเกินดุลไม่มากถึงกับไปเตะตา ก็เลยยังไม่ถูกจัดการ หากแต่มุ่งบดขยี้จีนกับยุโรปเป็นหลัก หรือแม้แต่ญี่ปุ่นก็โดนด้วย ทั้งที่ญี่ปุ่นก็ซื้อยุทโธปกรณ์จากสหรัฐทุกปี ก็ยังโดนกดดันเล่นงานในประเด็นการค้า ดังนั้น ใครที่ค่อนแคะว่าไทยอุตส่าห์เอาใจด้วยการซื้ออาวุธจากสหรัฐแล้วยังโดนตัดจีเอสพี จึงเป็นตรรกะที่ไม่น่าถูกต้อง

ไม่มีใครเอาใจสหรัฐยุคทรัมป์ได้ และเอาใจไม่ถูก เพราะทรัมป์อารมณ์แปรปรวน ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่สนใจที่จะยึดถือคุณค่าหรือแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานอะไรทั้งสิ้น

ขณะเดียวกันก่อนหน้าจะตัดจีเอสพีไทย สหรัฐก็ประกาศยกเลิกจีเอสพีที่เคยให้กับอินเดียด้วยเช่นกันเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเศรษฐกิจอินเดียเติบโตแข็งแกร่ง

 

การตัดสิทธิจีเอสพีเกิดขึ้นเป็นระยะเป็นเรื่องปกติ และอันที่จริงสหภาพยุโรป (อียู) เคยตัดจีเอสพีไทยมาแล้ว ตั้งแต่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเริ่มตัดบางรายการสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 และแจ้งให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทราบล่วงหน้าว่าจะยกเลิกจีเอสพีไทยทุกรายการสินค้าตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 ว่า (ที่แจ้งล่วงหน้าก็เพื่อให้ไทยมีเวลาปรับตัว) โดยนอกจากไทยแล้วก็มีจีน มัลดีฟส์ เอกวาดอร์ ถูกยกเลิกด้วย

สาเหตุที่ยกเลิกเพราะธนาคารโลกได้จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper-middle income country) ติดต่อกันมากกว่า 3 ปี ดังนั้น ไทยจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ของอียูที่จะได้รับจีเอสพีอีกต่อไป

กรณีอียูคงไม่มีใครโยงอีกว่า เป็นเพราะอียูรู้ล่วงหน้าว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทำรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ก็เลยตัดจีเอสพี

การตัดจีเอสพีคงเป็นเรื่องน่าตื่นตูม ตกอกตกใจ หากว่ามีไทยเพียงประเทศเดียวในโลกนี้จาก 120 กว่าประเทศที่ถูกสหรัฐตัด

หากอยู่กับความจริง จีเอสพีไม่ใช่สิ่งที่แน่นอนหรือยั่งยืน หากเสพติดการพึ่งพาจีเอสพีตลอดไป ก็จะตกเป็นเบี้ยล่างของประเทศผู้ให้และทำให้ผู้ประกอบการของเราอ่อนแอเพราะไม่ต้องแข่งขันมาก

ถ้าเราต้องพึ่งพาจีเอสพีไม่สิ้นสุด หมายความว่าเราไม่สามารถยกระดับการพัฒนา ยกระดับรายได้ของประชาชน ความท้าทายที่สำคัญกว่าการรักษาจีเอสพี คือการยกระดับรายได้คนไทยให้เกิน 12,735 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี