สุจิตต์/ ‘มหัศจรรย์มหาศิลาแลง’ เมืองกำแพงเพชร โดยเจ้านครอินทร์ รัฐสุพรรณภูมิ

"มหัศจรรย์มหาศิลาแลง" กำแพงเมืองกำแพงเพชร ด้านป้อมมุมเมืองตะวันตกเฉียงใต้ [ภาพถ่ายจากมติชนทีวี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562]

สุจิตต์

‘มหัศจรรย์มหาศิลาแลง’

เมืองกำแพงเพชร

โดยเจ้านครอินทร์ รัฐสุพรรณภูมิ

เจ้านครอินทร์เสวยราชย์เมืองกำแพงเพชร [ขณะนั้นยังไม่ได้ครองรัฐอยุธยา] มีหลักฐานบอกไว้ในจารึกกฎหมายลักษณะโจร พบในเมืองเก่าสุโขทัย

จารึกบอกไว้ตอนต้นว่า พ.ศ.1940 เสด็จขึ้นเสวยราชย์ ทำพิธีราชาภิเษกที่เมือง “กำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์” ซึ่งเป็น “แดนพระธรรมราชสีมา” “ดุจดาวดึงสา”

กำแพงเพชร น่าจะเริ่มขยับขยายจากนครชุมตั้งแต่พะงั่วมีอำนาจเหนือสุโขทัย เรือน พ.ศ.1900 แล้วสืบเนื่องจนสำเร็จในแผ่นดินเจ้านครอินทร์ จากนั้นเพิ่มเติมเรื่อยๆ ไม่ได้เสร็จในคราวเดียว

 

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เมื่อดูจากชื่อเมืองทั้งสามบนสองฝั่งแม่น้ำปิง [แม้ไม่พบหลักฐานว่าชื่อเหล่านั้นมีเมื่อไร? คราวเดียวกันหรือไม่?] จะเห็นว่าทั้งหมดมีนามเกี่ยวข้องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ คือ กำแพงเพชร, เทพนคร, ไตรตรึงษ์

พระอินทร์เป็นอุดมการณ์ทางศาสนา-การเมืองของเจ้านายรัฐสุพรรณภูมิ [จิตร ภูมิศักดิ์ เรียก “ตระกูลอินทร์”] พระนามเชื้อวงศ์สุพรรณภูมิองค์สำคัญเกี่ยวข้องนามพระอินทร์ ตรงตามจารึกที่ว่า “ดุจดาวดึงสา” คือ เจ้านครอินทร์ หมายถึง เจ้าแห่งเมืองของพระอินทร์ ชื่อเมืองทั้งสามเกี่ยวข้องพระอินทร์ ดังนี้

กำแพงเพชร หมายถึง เมืองมีกำแพงป้อมปราการมั่นคงแข็งแรง และงดงามเสมือนเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ที่มีกำแพงทำด้วยแก้ว มีบอกในไตรภูมิพระร่วง และสมบัติอัมรินทร์คำกลอน ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ดังนี้

เอาสูงพื้นหมื่นแสนพระเมรุมาศ                เป็นอาสน์ทองรองดาวดึงสา

กว้างยาวหมื่นโยชน์คณนา                               ประดับปราการแก้วแกมกัน

สี่ทิศมีมหาทวาเรศ                                        ระหว่างเขตหมื่นโยชน์ระยะคั่น

ประตูรายหมายยอดสำคัญพัน                           มีสระสวนทุกหลั่นทวาไร

เทพนคร หมายถึง เมืองเทวดา [ตรงกับกรุงเทพมหานคร] หมายถึงเมืองของพระอินทร์

ไตรตรึงษ์ หมายถึง เมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์

 

ชื่อจริง เมืองจริง

 

ชื่อเมืองทั้งสามไม่ใช่ตำนานนิทาน แต่เป็นนามจริงสมัยเจ้านครอินทร์ และเป็นที่รับรู้สืบเนื่องถึงสมัยหลังๆ พบหลักฐานชื่อเมืองไตรตรึงษ์ ดังนี้

  1. ไตรตรึงษ์เป็นนามเมืองและเป็นนามเจ้าเมือง พบในจารึกกฎหมายลักษณะโจร [พ.ศ. 1940] ทำขึ้นในแผ่นดินเจ้านครอินทร์ ว่า “…พระราชมาตุละบพิตรมนตรีอนุชิต ลุงตนเลี้ยง…เจ้าเมืองไตรตรึง (ส์)” มาตุละ คือ ลุง (เลี้ยง) ข้างแม่
  2. ไตรตรึงษ์, เทพนคร, กำแพงเพชร เป็นที่รับรู้สืบเนื่องถึงแผ่นดินบรมไตรโลกนาถ พบในยวนพ่าย [พรรณนาไว้ตามลำดับจากใต้ขึ้นเหนือ] สรรเสริญพระเกียรติบรมไตรโลกนาถ ทั้งหมดมีโคลง-ร่ายรวม 294 บท ตอนท้ายโคลง 3 บท เป็นคำถวายพระเกียรติเสมือนพระอินทร์ เจตนายกชื่อสามเมืองตามลำน้ำปิงจากอยุธยาขึ้นไปตามลำดับ [จากใต้ขึ้นเหนือ] เริ่มจากไตรตรึงษ์, เทพ (นคร), กำแพงเพชร ดังนี้

ชยชยยศโยคก้อง            ไตรตรึงษ์

บุญเบิกเวียงทองปือ                   ไต่เต้า

[ยศกึกก้องไตรตรึงษ์ บุญบารมีผดุงบ้านเมืองเหมือนเต็มไปด้วยทองทุกหนแห่ง]

ชยชยานุภาพท้าว                       เทียมทิน-กรแฮ

เมืองเทพคนธรรพ์ฤๅ                    อยู่ถ้อย

[อานุภาพดังดวงทินกร ทั้งเมืองเทพ (นคร) เต็มไปด้วยเสียงไพเราะของคนธรรพ์สรรเสริญ]

ชยชยเมื่อปราบอ้อม                  กำแพงเพชร

ผืนแผ่นผายเสมา                       ออกกว้าง

[เมื่อปราบถึงเมืองกำแพงเพชร แผ่นดินก็กว้างขวาง]

 

พ.ศ.1940 ในจารึกกฎหมายลักษณะโจร

 

พ.ศ.1940 มีพิธีราชาภิเษกขึ้นเสวยราชย์เมืองกำแพงเพชร เป็นผลงานการคำนวณของ ดร.ประเสริฐ ณ นคร จากศักราชตามประเพณี มีระบุในจารึกหลักที่ 38 ศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร

พ.ศ. 1940 รัฐอยุธยาอยู่ในแผ่นดินพระรามราชา [เสวยราชย์อยุธยา ระหว่าง พ.ศ. 1938-1952] พระรามราชา เป็นโอรสพระราเมศวร เชื้อสายละโว้

ขณะนั้น รัฐสุพรรณภูมิขัดแย้งกับเชื้อสายรัฐละโว้ จึงแยกตัวออกต่างหากแล้วมุ่งค้าสำเภากับจีน โดยไม่ร่วมครองรัฐอยุธยา [มีคำอธิบายอยู่ในหนังสือ กรุงศรีอยุธยาของเรา ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2527]

 

เจ้านครอินทร์

ผู้เสวยราชย์เมืองกำแพงเพชร พ.ศ.1940 คือ เจ้านครอินทร์แห่งรัฐสุพรรณภูมิ เป็นคำอธิบายในหนังสือวิชาการหลายเล่มของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ [ผู้ทรงคุณวุฒิของกรมศิลปากร]

เจ้านครอินทร์ เป็นโอรสของขุนหลวงพะงั่ว กษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิ [ตรวจสอบหลักฐานทั้งไทย, จีน, ฮอลันดา โดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ในบทความเรื่อง “สมเด็จพระนครินทราชาธิราช : ความขัดแย้งทางอำนาจ และความคลาดเคลื่อนของหลักฐาน” ในหนังสือ Ayutthaya Underground สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562 หน้า 141-142]

 

รัฐสุโขทัย ไม่อิสระแท้

สุโขทัยเป็นรัฐขนาดเล็กรัฐหนึ่ง ซึ่งอยู่ดินแดนภายใน ห่างไกลทะเล และถูกประกบด้วยสองรัฐใหญ่ใกล้ทะเลอย่างสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) และอยุธยา-ละโว้ (ลพบุรี)

ดังนั้น รัฐสุโขทัยไม่เป็นเอกเทศที่มีอิสระทางการเมืองและการค้าตามความเข้าใจปัจจุบันที่คลาดเคลื่อนไปไกล แต่ต้องยอมอยู่ใต้บงการรัฐใหญ่กว่าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

รัฐสุพรรณภูมิ (โดยขุนหลวงพะงั่ว) ร่วมกับรัฐอยุธยา (โดยสมเด็จพระรามาธิบดี) แผ่อำนาจควบคุมรัฐสุโขทัย (แผ่นดินพญาลิไท) ตั้งแต่หลัง พ.ศ.1900 ดังนั้น เมืองนครชุม (กำแพงเพชร) อยู่ในอำนาจของรัฐสุพรรณภูมิ จึงเริ่มแผนขยายเมืองครอบคลุมสองฝั่งแม่น้ำปิง

[สรุปจากงานค้นคว้าของนักปราชญ์และนักวิชาการ ได้แก่ ดร.ประเสริฐ ณ นคร, ศรีศักร วัลลิโภดม โดยเฉพาะ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์]