เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์ / ความตาย…เรื่องธรรมดา

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

ความตาย…เรื่องธรรมดา

 

เราได้รับรู้กับ 4 คำนี้ของชีวิตมาตั้งแต่ยังเด็ก “เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย”

เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในพุทธประวัติที่เราได้เรียนกันมาตั้งแต่ประถม และด้วยความเป็นจริงยิ่งกว่าจริงของชีวิตที่ทุกคนต้องเจอใน 4 ข้อนี้ ที่ฉุดให้เจ้าชายสิทธัตถะสงสัยและใคร่หาทางออกของชีวิตจนต้องหนีออกจากวังเพื่อตามหา “คำตอบ” นั้น

และสิ่งที่เป็นสัจธรรมที่พระพุทธองค์ได้ประทานในเวลาต่อมาคือ “อนิจจัง” ทุกอย่างไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีเกิดขึ้นและดับไป

ชีวิตคนเราก็เป็นเช่นนั้น ไม่ได้วิเศษวิโสกว่าอีกา กว่าเชื้อแบคทีเรีย หรือเจ้ามดตัวเล็กๆ เลย ที่สุดท้ายจะนายกฯ หรือขอทาน ก็ต้องเดินร่วมกัน ณ จุดแห่ง “ความตาย” ทุกคน

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รายการ “เจาะใจ” ได้มีโอกาสร่วมจัดงานกับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้คือ Allianz Ayudhya ร่วมด้วย Healthy Living และชีวามิตร ในหัวข้อว่า “อยู่สบาย” และ “ตายดี”

ในช่วงแรกที่เป็นการพูดถึง “อยู่สบาย” มีวิทยากรมาพูดบนเวที 5 คนด้วยกัน โดยพูดถึงเรื่องการมีชีวิตที่อยู่สบายในแง่มุมต่างๆ ซึ่งตัวผู้พูดมีประสบการณ์ตรง ทั้งเรื่องการทำงาน เรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะการลดน้ำหนักของสาวๆ    การเป็นโรคซึมเศร้า แล้วก็เรื่องการได้ใกล้ชิดกับความตายในฐานะนักแปลหนังสือ และผู้ที่ใกล้ชิดกับความตายในฐานะแพทย์ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย

ส่วนช่วงที่ 2 คือ “ตายดี” เป็นการยกเวทีของรายการ “เจาะใจ” ในช่วงคอลัมนิสต์มาไว้ที่นี่ โดยมี ดู๋-สัญญา เป็นผู้ดำเนินรายการ มี 3 คอลัมนิสต์ประจำของรายการได้แก่ โหน่ง-วงศ์ทนง, เอ๋-นิ้ว

กลม และอุ๋ย-บุดด้าเบลส พร้อมด้วยคอลัมนิสต์รับเชิญ 1 ท่านคือ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ผู้ก่อตั้ง “ชีวามิตร”

ช่วงนี้เป็นการพูดคุยที่เน้นเรื่อง “การตาย” โดยเฉพาะ เป็นการพูดคุยที่ต่างจากช่วงแรก เพราะทุกท่านยังไม่เคยมีประสบการณ์ตรงมาก่อนแน่นอน…(ฮา)

แต่หลายคนก็มีโอกาสเฉียดใกล้ ดังที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้

 

“เอ๋-นิ้วกลม” เปิดเรื่องตรงที่ว่า ในครอบครัวคนจีนอย่างเอ๋ ไม่ยอมให้พูดถึงเรื่อง “ตาย” กันเลย เพราะดูเป็นเรื่องไม่เป็นมงคล ซึ่งจะว่าไปครอบครัวคนไทยก็ด้วย…. เอ๋ไม่ได้มีประสบการณ์ตรงกับการเผชิญความตายจากคนใกล้ชิด แต่ที่มาเล่าคือจาก “สัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิด”

เอ๋เล่าว่า วันก่อนที่จะสูญเสียสุนัขที่รักไปนั้น เจ้าทองก็มีอาการเจ็บป่วยอยู่เดิม เพราะอายุอานามก็ปาเข้าไป 13 ปีแล้ว คิดเป็นคนก็ราว 90 ปี วันนั้นเอ๋ยังลูบหัวลูบหางให้อาหาร และมันก็มีอาการตอบสนองด้วยดี แม้จะรู้ว่าเหนื่อยก็เถอะ

วันรุ่งขึ้น พี่สาวเรียกเอ๋ให้มาดูสุนัข เอ๋มาแตะตัวพบว่าเจ้าทองไม่หายใจ ตัวแข็งแล้ว เนื้อตัวก็เย็นเฉียบ เอ๋รู้สึกขึ้นมาโดยพลันว่า ความตายได้จู่โจมเข้ามาในชีวิตเขาแบบไม่ทันตั้งตัว เขาบอกว่าความรู้สึกของเมื่อวานต่างกันลิบกับวันนี้ ที่เขาไม่มีเจ้าทองแล้ว ชีวิตที่ใกล้ชิดเมื่อวานนี้ บัดนี้ไม่มีแล้ว

มันสูญหายไปอย่างเฉียบพลัน แล้วเอ๋ก็รู้สึกได้ว่า “ความตาย” มันเป็นอย่างนี้นี่เอง

 

ส่วน “โหน่ง-วงศ์ทนง” ก็ใกล้เคียงกัน ผิดแต่เป็นคน ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง และไม่ถึงขั้นสูญเสีย แต่เกือบสูญเสีย คนนั้นคือ “พ่อ” ของเขา

โหน่งเล่าว่า เขากับพ่อในช่วงสิบปีมานี้มีปัญหากันด้วยวิธีคิด ตามประสาผู้ชายคนละวัย ที่คนหนึ่งมองอย่างมีประสบการณ์ อีกคนมองอย่างเชื่อมั่นในสิ่งที่คิด ถึงขั้นไม่ได้ติดต่อกันเลย

วันหนึ่งพี่ชายโทร.มาหา บอกว่า “ให้รีบมาดูใจพ่อ”

คำว่ารีบมาดูใจ มันบ่งบอกถึงความซีเรียสเต็มๆ แน่นอนที่เขาก็รีบไปหาพ่อที่โรงพยาบาลทันที โชคดีที่พ่อไม่ถึงขั้นสุดท้ายของชีวิต กลับฟื้นคืนมาอยู่ต่อได้ แต่นั่นมันทำให้เขาได้รู้สึกใกล้ความสูญเสียมากกว่าที่เคยเป็น และนั่นเป็นโอกาสที่ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้ชายสองคนนี้ใกล้ชิดกันมากขึ้นกว่าเดิม

โหน่งเล่าให้ฟังว่า ไม่ว่าพ่อจะขัดแย้งกับเขาอย่างไร แต่ลึกๆ แล้วก็รัก และภูมิใจในตัวเขามากๆ พ่อเล่าในโอกาสที่รอดกลับมาพูดคุยได้ว่า หมอถามพ่อว่าเป็นอะไรกับโหน่ง-วงศ์ทนง เห็นนามสกุลเหมือนกัน

ดวงตาพ่อตอนพูดมีความภาคภูมิใจฉายอยู่ไม่น้อย

 

ถึงคราวของ “อุ๋ย-บุดด้าเบลส” อุ๋ยเล่าบนเวทีว่า เขาได้เคยร่วมกิจกรรม Happy Dead Day มาก่อน เป็นกิจกรรมที่ชวนให้คนมีชื่อเสียงคิดว่าถ้าถึงวันตายของตนจะออกแบบอย่างไร

วันตายของอุ๋ย ได้ออกแบบไว้ว่า จะให้การเสื่อมสลายของร่างกายอันเป็นธรรมชาติหลังจากชีวิตเราจบสิ้นลงแล้วได้ปรากฏต่อสายตาผู้อื่น เพื่อสะท้อนความเป็นสัจธรรมของชีวิต โดยเขาทำเป็นวิดีโอจำลองร่างของเขาที่นอนแน่นิ่งในโลง และค่อยๆ เสื่อมสลายไปจนเหลือแต่กระดูก จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของเปลวเพลิงจะจัดการกับโครงกระดูกเหล่านั้น

อุ๋ยบอกว่า เขาทราบดีว่าความตายเป็นเรื่องของธรรมชาติ และความตายก็คือความสูญเสียของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เขาเคยฝึกทำใจให้กับการสูญเสียอยู่เหมือนกัน โดยฝึกกับความรู้สึกของการสูญเสีย “คนรัก” เป็นบทเรียนเบื้องต้น

แต่เขาก็สงสัยว่า ถ้าเป็นการสูญเสียที่มาจาก “ความตาย” เขาจะรับมือกับมันได้จริงแค่ไหน

 

ด้าน “คุณหญิงจำนงศรี” ที่บนเวทีเรียกกันว่า “ป้าศรี” เล่าให้ฟังว่า ป้าศรีได้ใกล้ชิดกับความตายมาตั้งแต่อายุ 2 ขวบกว่าๆ เพราะแม่มีอันต้องเสียชีวิตลง ป้าศรีรู้ดีว่ามันคือการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ที่วัยเด็กตอนนั้นแทบจะรับมือไม่ได้ อย่างเมื่อถึงวัยไปโรงเรียน เพื่อนก็จะถามว่า แม่เธอไม่มาส่งเหรอ เป็นต้น

และด้วยวัย 80 ปีของป้าศรี ทำให้ป้าศรีเข้าใจเรื่องของความตายได้อย่างดี ป้าศรีบอกว่า ที่คนกลัวความตายนั้น เพราะชีวิตผูกพันกับเสา 3 เสา คือ ความผูกพัน ความมีอำนาจ และความรู้

ความตาย ทำให้ความผูกพันที่มีต่อคนรอบข้างอันเป็นที่รักหายไป

ความตาย ทำให้อำนาจที่มีอยู่ เช่น เรื่องหน้าที่การงาน เรื่องหัวโขนทั้งหลาย ซึ่งบอกความเป็นตัวตนจบสิ้นลง

ความตาย ทำให้ความรู้ ความทรงจำ ที่เคยมี ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป

และสุดท้าย ทุกคนได้ให้แง่มุมที่น่าสนใจไว้หลายอย่าง โดยเฉพาะกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ อาทิ โหน่งให้ข้อมูลว่า ในการทำแบบสอบถามกับคนต่างๆ ว่า อะไรคือสิ่งที่อยากทำมากที่สุด แต่ละคนก็จะมีคำตอบที่เป็นความต้องการที่หลากหลายกันออกไป และเมื่อถามว่า หากเหลือเวลาแค่ 7 วัน อะไรคือสิ่งที่อยากทำมากที่สุด พบว่าคำตอบส่วนใหญ่เลยบอกว่า จะอยู่และทำดีกับคนที่รักและคนใกล้ชิดให้มากที่สุด

คำถามคือ แล้วทำไมเราต้องรอให้ถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตก่อนแล้วถึงค่อยคิดทำล่ะ?

 

อุ๋ยบอกว่า เราไม่รู้หรอกว่าเมื่อความตายมาใกล้จะทำใจหรือทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การอยู่ ปัจจุบัน รับรู้กับปัจจุบัน และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

เอ๋บอกว่า ตนเคยจัดงานศพให้กับตนเอง และได้มีโอกาสดูวิดีโอที่คนใกล้ชิดพูดถึงตน

เอ๋บอกว่าดูไปก็ร้องไห้ออกมา เป็นครั้งแรกที่เขาได้รู้ว่าคนอื่นคิดกับเขาอย่างไร ทำให้เขารู้สึกว่าในเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่เขาควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร

ส่วนป้าศรี ทิ้งท้ายแบบผู้อาวุโสว่า สำหรับผู้ใกล้ความตาย ควรจัดการทุกอย่างไว้ให้พร้อม ด้วยการทำพินัยกรรมให้เรียบร้อย บอกถึงความต้องการในการรักษาพยาบาลของตนในช่วงสุดท้าย จัดการเรื่องทรัพย์สินที่อาจเป็นชนวนความแตกแยกของครอบครัวได้ จัดการเรื่องความสัมพันธ์ต่างๆ ให้เรียบร้อย

เพราะความตายไม่ได้มีผลอะไรกับผู้ตาย แต่มีผลอย่างมากกับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่

คุณล่ะ เตรียมตัวพบกับ “ความตาย” ไว้ดีแค่ไหนครับ.