มนัส สัตยารักษ์ | พระเอก vs พลเอก

ภัยน้ำท่วมคลี่คลายจนจะกลายเป็นภัยแล้งไปแล้ว แต่ผมก็ยังไม่ลืมภาพและเหตุการณ์ที่ดูประหนึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่าง “พลเอก” กับ “พระเอก”…พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพระเอกบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ หรือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน กับอดีตพระเอกหนัง ที่มาเป็นพระเอกตัวจริงในชีวิตจริงของวันนี้

ความจริงเป็นเรื่องเก่าที่ไม่จำเป็นต้องเขียนเล่าซ้ำซาก อันจะก่อให้เกิดความบาดหมางหรือเหยียบย่ำน้ำใจกันเพิ่มขึ้น

แต่ผมยอมรับว่ายังประทับใจไม่หายกับข่าวที่บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ “เอาเรื่องคนโกงไม่วางมือ” ตรงข้ามกับนายกรัฐมนตรีที่ปล่อยปละละเลยให้คนโกงได้ “ลอยนวล” มาตลอดทั้ง 5 ปีที่ได้อำนาจการเมือง

สมดังที่สื่อต่างประเทศให้เอกลักษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเป็นผู้ฟื้นฟู “วัฒนธรรมโกงลอยนวล” ขึ้นในสังคมไทย!

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนและพูดถึง “วัฒนธรรมลอยนวล” ในบทความ “รัฐลอยนวล” ว่าอยู่คู่กับรัฐไทยมานานแล้ว ตัวอย่างที่อาจารย์นิธิกล่าวถึงส่วนใหญ่เป็นเรื่องรุนแรงทางการเมืองนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องซ้อมทรมาน อุ้มหาย สังหารโหด หรือจับกุมคุมขังโดยไม่ส่งฟ้องศาล ฯลฯ

ผู้กระทำล้วน “ลอยนวล” ทั้งสิ้น

ความที่ผู้กระทำเสมือนได้รับการยกเว้นไม่ถูกลงโทษ (impunity) นี้ ไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้นที่เกิดขึ้นซ้ำซากจนกลายเป็น “วัฒนธรรม” แต่เกิดขึ้นทั่วไป โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียอาคเนย์ อาจมีการกล่าวถึง เป็นข่าว สอบสวน ครั้นแล้วก็เงียบหายไป

เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นก็เช่นเดียวกับเรื่องรุนแรงทางการเมือง ในขณะที่จีนในยุคสีจิ้นผิงเห็นเป็นเรื่องสำคัญ จีนไม่มีการลอยนวล ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมียศสูงถึงพลเอกหรือไม่ จีนใช้โทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต และยึดทรัพย์

แต่ไทยซึ่งมีกฎหมายและองค์กร “ปราบโกง” ไว้ในรัฐธรรมนูญ กลับตรงกันข้าม…หลายกรณีลอยนวล

จนเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นกลายเป็นเรื่องชินชา เป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมไทย… “ใครๆ เขาก็ทำกัน” จนกลายเป็นวัฒนธรรม

กรณีพลตำรวจเอกยืมเงินเจ้าของธุรกิจอาบอบนวด 300 ล้านบาท กับกรณีพลเอกยืมนาฬิกาเพื่อน จึงถูกสำนักข่าวญี่ปุ่น “นิกเกอิ” รายงานตอกย้ำว่า ไทยมีวัฒนธรรมปล่อยให้ผู้มีอำนาจและมีเงิน “ลอยนวล”

พระเอกบิณฑ์ เริ่มต้นงานช่วยชาวบ้านน้ำท่วมด้วยการเสียสละเงินของตัวเอง 1 ล้านบาท แล้วเปิดหมายเลขบัญชีธนาคารรับบริจาค ประชาชนที่คุ้นเคยกับกิจกรรมจิตอาสาของบิณฑ์ต่างร่วมใจกันบริจาค จนบิณฑ์สามารถนำเงินไปช่วยเหลือโดยตรงเป็นรายครอบครัวอย่างรวดเร็วทันการณ์ ครอบครัวละ 5,000 บาท

พอเริ่มเปิดบัญชีรับบริจาค ก็มีทุจริตชนหัวใสปลอมหมายเลขบัญชีเผยแพร่ไปในสื่อโซเชียลทันที แต่ด้วยความที่บิณฑ์เคยได้รับประสบการณ์ทำนองนี้มาก่อน จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบและดำเนินคดีทันควัน สามารถหยุดพฤติกรรมชั่วร้ายได้ โดยที่เครดิตของบิณฑ์ยังไม่เสียหายแต่อย่างใด

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ดูเหมือนเพิ่งตื่น กว่าจะพร้อมคณะออกทีวีเปิดรับบริจาคน้ำท่วมตามรูปแบบโบราณ ใครก็ไม่ทราบเรียกพระเอกบิณฑ์มาร่วมรายการทีวีด้วย แต่ไม่มีบทบาทอะไร

อดคิดไม่ได้ว่า เขาเอาพระเอกบิณฑ์มาเป็น “หัวเชื้อเครดิต” หรือเปล่า?

เพราะยอดเงินที่บริจาคให้รัฐบาลน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับที่ประชาชนบริจาคให้บิณฑ์ จนรัฐบาลต้องเอาตัวเลข “งบประมาณ” จากกระทรวงที่เกี่ยวข้องมารวมเพื่อโชว์ออกจอทีวี

คนจัดรายการนี้ (น่าจะเป็นนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ) รู้หรือเปล่าว่า ความพยายามในการสร้างเครดิตให้รัฐบาลแบบตลบตะแลงอย่างนี้ได้ผลเป็นลบ เครดิตของพลเอกที่เหลือน้อยอยู่แล้วจะกลายเป็นติดลบทันที!!

ความเป็นพระเอกของบิณฑ์ ทำให้ได้รับการประชาสัมพันธ์การดำเนินการโดยอัตโนมัติ ทำให้ประชาชนได้รู้ถึงความคืบหน้าโดยที่บิณฑ์ไม่ต้องออกแรงแถลงข่าว เพราะสื่อทั้งหลายล้วนเข้าใจตรงกันว่าชาวบ้านต้องการรู้อะไร ในขณะที่ประชาชนไม่สนใจข่าวจากรัฐบาลพลเอก

บิณฑ์ให้เรารู้ว่ามีผู้บริจาคเท่าไร เราต่างรู้ว่าเมื่อเขาปิดการรับบริจาคมีเงินเข้าบัญชีกว่า 422 ล้านบาท รวมกับที่ประชาชนมอบให้โดยตรงอีก 4 ล้านบาท เป็นรับทั้งสิ้นกว่า 426 ล้านบาท

บิณฑ์แจ้งให้เราทราบเป็นระยะว่า ได้ถอนมาแจกจ่ายให้ครอบครัวผู้ประสบภัยที่ไหน เป็นเงินเท่าไร เหลืออีกเท่าไร และจะแจกให้หมด เพื่อว่าจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบกับเงินที่เหลือ

บิณฑ์บอกให้เราทราบว่าเขามีข้อมูลรายละเอียดของผู้ประสบภัย รวมถึงอาคารโรงเรียนที่เสียหาย จากทางอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

บิณฑ์ประชุมกับผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต.มาก่อนที่จะแจก ไม่ได้แจกอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า โดยมีหลักฐานการแจก

และที่บิณฑ์แจกนอกรายการ “ช่วยอุทกภัย” แก่คนพิการนั้นเป็นเงินส่วนตัว ไม่ใช่เงินบริจาคจากประชาชน

วันที่ 28 ตุลาคม พนักงานสอบสวนของ สภ.เมืองยโสธร พ.ต.ท.ศรัณย์พงศ์ จักษุกรรฐ รอง ผกก. (สอบสวน) พร้อมด้วย พ.ต.ท.มิตรชัย บุญล้ำ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ได้นำสำนวนฯ มาพบพระเอกบิณฑ์ เพื่อให้ลงลายมือชื่อ

พร้อมกันนี้ได้นำภาพถ่ายผู้ต้องสงสัยที่คาดว่าเป็นคนบงการอยู่เบื้องหลังการฉ้อโกงเงินช่วยเหลือน้ำท่วมมาให้พระเอกบิณฑ์ดูด้วย

สื่อมวลชนพาดหัวข่าวตัวเป้งว่า “บิณฑ์ ชี้ตัวคนโกงบริจาคน้ำท่วม” บางสื่อพาดหัวว่า “บิณฑ์ไม่วางมือ ชี้ตัวคนโกง” และ “เอาผิดโกงเงินน้ำท่วม” สรุปแล้วเรื่องทุจริตโกงเงินบริจาคช่วยน้ำท่วมไม่ลอยนวลไปตามวัฒนธรรมไทย-ไทยแน่นอน

ซึ่งเท่ากับพระเอกบิณฑ์ช่วย “ปราบโกง” แทนรัฐบาล

รายละเอียดเบื้องหลังพฤติกรรมฉ้อโกงครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านบางคนที่บ้านไม่ได้ถูกน้ำท่วมร่วมมือกันมารับเงินบริจาค

ผู้ฉ้อโกงบางคนพยายามนำเงินมาคืนพระเอกบิณฑ์ แต่พระเอกไม่รับ แนะนำให้ไปคืนกับตำรวจและให้การไปตามความจริง ตรงจุดนี้ผมถือเป็นชัยชนะของพระเอกที่เหนือพลเอกอย่างแท้จริง เพราะมันหมายถึงความโปร่งใสในอนาคตหรือในครั้งต่อไปในทุกกรณีอีกด้วย

เรายังไม่มีข่าวจากพลเอก ทั้งๆ ที่อุทกภัยกำลังจะกลายเป็นภัยแล้งอยู่แล้ว บางทีอาจต้องรอฟังผลวิเคราะห์จากสำนักข่าวญี่ปุ่น “นิกเกอิ” อีกรอบก็ได้