คนของโลก : อเล็กซานเดอร์ เออร์ทูลา จากความรักสู่อัตวินิบาตกรรมสุดเศร้า

อเล็กซานเดอร์ เออร์ทูลา นักศึกษาเอกเคมี มหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา วัย 22 ปี เป็นนักศึกษาเรียนดี ที่มีกำหนดรับปริญญาในวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา

และครอบครัวที่เป็นผู้อพยพชาวฟิลิปปินส์ก็มาร่วมแสดงความยินดีกับลูกชายคนนี้ด้วย

ทว่าก่อนเริ่มพิธีมอบปริญญาบัตร เออร์ทูลาได้ก่อเหตุฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงมาจากอาคารจอดรถในย่านร็อกซ์บิวรี่ ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ อย่างน่าสลดใจ

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดเป็นคำถามว่า อะไรคือแรงจูงใจในการก่อเหตุ

และคำตอบที่ได้กลับกลายเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่า “ความรัก” มีอำนาจและอิทธิพลเหนือคนคนหนึ่งอย่างไร

 

จากการสอบสวนของอัยการซัฟฟอล์กเคาน์ตี้ พบว่าเออร์ทูลานั้นคบหากับแฟนสาวเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยที่มีชื่อว่า “อิน ยอง ยู” นักศึกษาชาวเกาหลีใต้ โดยอัยการระบุว่า ยูที่คบหากับเออร์ทูลาเป็นเวลา 18 เดือนแล้วนั้นอยู่ในที่เกิดเหตุขณะแฟนหนุ่มก่อเหตุกระโดดลงจากอาคารจอดรถ

นั่นตรงกับคำให้การของยูเองที่ระบุว่า ตนค้นหาตำแหน่งสมาร์ตโฟนของเออร์ทูลาไปในที่เกิดเหตุและพยายามจะห้ามแฟนหนุ่มไม่ให้ก่ออัตวินิบาตกรรมสุดเศร้าในเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม อัยการได้ตั้งข้อหายู วัย 21 ปีฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนาในคดีฆ่าตัวตายของเออร์ทูลา หลังจากตรวจสอบพบว่า เออร์ทูลาต้องเผชิญกับการข่มเหงทั้งทางร่างกาย การทำร้ายด้วยวาจา

และการทำร้ายจิตใจเป็นเวลานานหลายเดือนที่ผ่านมา

 

ราเชล โรลลินส์ อัยการท้องถิ่นเปิดเผยรายละเอียดว่า ยูเข้าครอบงำ ควบคุมเออร์ทูลาโดยสมบูรณ์ในช่วงความสัมพันธ์ที่กินระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา และมักจะส่งข้อความเชิงข่มขู่ว่าจะทำร้ายตัวเองเพื่อควบคุมเออร์ทูลาให้ทำอย่างที่ตนเองต้องการ

“ข้อความจำนวนมากแสดงให้เห็นชัดเจนถึงพลังของความสัมพันธ์ซึ่งนางสาวยูใช้ในการเรียกร้องและข่มขู่ ด้วยความเข้าใจว่าเธอมีอิทธิพลเหนือกว่าและควบคุมเออร์ทูลาได้ทั้งทางจิตใจและทางอารมณ์” โรลลินส์ระบุในการแถลงข่าวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

การข่มเหงของยูที่กระทำต่อเออร์ทูลา “มีความถี่มากขึ้น มีพลังอำนาจมากขึ้น และเรียกร้องมากขึ้นในช่วงเวลาที่นำไปสู่การเสียชีวิตของเออร์ทูลา” โรลลินส์ระบุ

พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า เมื่อสองเดือนก่อน ยูและเออร์ทูลารับ-ส่งข้อความกันจำนวนมากถึง 75,000 ข้อความ และในจำนวนนี้ 47,000 ข้อความ เป็นข้อความข่มเหงอย่างไม่ขาดสายของยูที่ส่งให้กับคู่รักของตน

ข้อความเหล่านั้นเป็นข้อความที่ยูไล่ให้เออร์ทูลาไปฆ่าตัวตายจำนวนหลายร้อยหรืออาจถึงหลายพันข้อความ ด้วยข้อความอย่าง “ไปตายซะ!” รวมไปถึงข้อความที่ระบุซ้ำไปซ้ำมาว่า เธอและครอบครัวของเออร์ทูลาและโลกใบนี้คงจะดีขึ้นหากไม่มีเออร์ทูลาอยู่บนโลกใบนี้แล้ว

การข่มเหงดังกล่าวถูกบันทึกลงในไดอารี่ของเออร์ทูลาเองด้วย รวมถึงพยานจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน และครอบครัวก็ยืนยันตรงกันถึงวิบากกรรมที่เออร์ทูลาได้รับจากแฟนสาว

 

เวลานี้ ยูที่มีกำหนดจบการศึกษาในเดือนพฤษภาคม 2020 เดินทางกลับเกาหลีใต้บ้านเกิดไปแล้ว โดยมีรายงานว่าเธอมีตัวแทนทางกฎหมายอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

ด้านอัยการสหรัฐเชื่อว่ายูจะเดินทางกลับมาสู้คดีโดยสมัครใจ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นอาจต้องร้องขอไปทางตำรวจสากล เพื่อออก “หมายแดง” ให้มีการส่งตัวยูมาเข้ากระบวนการทางกฎหมายในสหรัฐต่อไป

คดีนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับคดีของ “มิเชล คาร์เตอร์” ที่เคยก่อคดีลักษณะคล้ายๆ กันในปี 2014 โดยคาร์เตอร์ส่งข้อความให้คอนราดแฟนหนุ่ม ท้าทายให้ฆ่าตัวตาย แต่คดีดังกล่าวแตกต่างกับคดีของยู ตรงที่คาร์เตอร์และคอนราดมีความสัมพันธ์และสื่อสารผ่านทางโลกออนไลน์ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ขณะที่ยูมีความสัมพันธ์กับเออร์ทูลานานถึง 18 เดือน

สำหรับคดีของคาร์เตอร์ ศาลตัดสินให้เธอต้องโทษจำคุก 15 เดือน ฐานบีบบังคับให้ผู้อื่นก่อเหตุฆ่าตัวตาย ขณะที่ทนายความอยู่ระหว่างการอุทธรณ์โทษ

คดีของคาร์เตอร์ยังเป็นแรงบันดาลใจให้สภารัฐแมสซาชูเซตส์ร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า “คอนราดส์ลอว์” กฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อลงโทษจำคุกผู้ที่ยุยงบีบบังคับให้ผู้อื่นฆ่าตัวตายด้วยโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี

หากใช้มาตรฐานการพิจารณาคดีลักษณะเดียวกัน ยูอาจต้องโทษที่รุนแรงกว่าคาร์เตอร์ แต่เวลานี้คงต้องติดตามว่าอัยการสหรัฐจะนำตัวยูมาดำเนินคดีได้อย่างไร