สมหมาย ปาริจฉัตต์ : EXTRA TIME …. เส้นทางสู่ครูพันธุ์ใหม่ (5) 

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เวทีเสวนา ว่าที่ครูรุ่นใหม่เล่าเรื่อง ประสบการณ์เรียนรู้และแรงบันดาลใจจากครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีหยุดลง พิธีกรประกาศเชิญ ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมและเปิดงานเป็นทางการ

“ไม่รู้ว่าผมคิดผิดหรือถูกที่ทำโครงการเอ็กซ์ตร้าไทม์” อธิการบดีเอ่ยประโยคแรก หลังกล่าวต้อนรับทุกคน

ผู้ฟังไม่แน่ใจว่าผู้พูดเจตนาถามตัวเอง หรือต้องการขอความเห็นจากผู้ฟัง ทั้งคนที่รับรู้ความเป็นมาของโครงการนี้มาแล้ว และผู้ที่เพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรก

ยังไม่มีคำเฉลยหรือคำตอบใดๆ ดร.สมบัติกล่าวต่อ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตและพัฒนาครูของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งเห็นว่าการแก้ปัญหา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำคัญสุด

ที่ผ่านมาการทดสอบความสามารถนักเรียนในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลออกมาต่ำสุดในประเทศ เมื่อมีเหตุการณ์ไม่สงบต่างๆเกิดขึ้นยิ่งกระทบไปใหญ่ ในฐานะมหาวิทยาลัยเลยต้องมาคิด ราชภัฏยะลาผลิตครูอย่างไร ถึงทำให้คุณภาพการศึกษาในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำสุด

ราชภัฏก็บอกว่าเป็นเพราะการจัดการศึกษาระดับมัธยมส่งเด็กมาอย่างไร ระดับมัธยมก็โทษต่อไปยังระดับประถม อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้วมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นจำเลยด้วยวันยังค่ำ ปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้ที่การศึกษาไทยเป็นอย่างนี้

ในฐานะรับผิดชอบทั้งการผลิตและพัฒนาครูด้วย หากปล่อยให้เป็นอยู่อย่างนี้ต่อไป คุณภาพการศึกษาก็ต่ำสุด การศึกษาจึงต้องนำมากกว่ายุทโธปกรณ์

เราจึงต้องมาทบทวนว่าในฐานะสถาบันผลิตครูจะผลิตครูอย่างไร เปลี่ยนความคิดผู้บริหาร อาจารย์ จำเลยเบอร์หนึ่งคือมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คนแรก คืออธิการบดีต้องยอมรับผิดก่อน

 

กิจกรรมเอ็กซ์ตร้าไทม์ extra time เริ่มทดลองทำกับนักศึกษาหลักสูตรประถมศึกษา 1 ห้องก่อนที่อยู่หอพัก สอนนอกเวลา และทำวิจัยควบคู่ไป มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณสนับสนุนสร้างหอพัก 4 หลัง รับนักศึกษาได้ 2,000 คน เด็กนักศึกษาได้เรียนเพิ่ม 1-3 ทุ่ม ทุกวัน 3 ปี เป็นเวลา 2,000 ชั่วโมง เหลือเฟือที่จะทำให้นักศึกษามีคุณภาพ ไปเป็นครูที่ดี มีวินัย เสียสละ มีจิตอาสา

ให้ผู้รับผิดชอบหลักสูตรไปดูนักศึกษายังขาดอะไรบ้างไปออกแบบมา เด็กสายครุศาสตร์ห้องเรียนเหมือนกันไปสอนโรงเรียนทั่วไปก็ได้ โรงเรียนตาฎีกาก็ได้ มีชมรมทูบีนัมเบอร์วันขยายเครือข่ายออกไป คนเหล่านี้คืออนาคตที่จะไปช่วยบ้านเมืองของเรา เป็นครูที่ใช่ ช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่

“โครงการครูนักสร้างแรงบันดาลใจ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ต่อไปจะหาได้ไม่ยาก ดอกไม้กำลังจะบานและสมบูรณ์ เด็กกลุ่มอื่นมหาวิทยาลัยก็ดูแล แต่ขอกลุ่มแรกก่อน ”

“เราจะทำตรงนี้ให้ดีที่สุด” เสียงสั่นเครือ หยาดน้ำตาทำท่าจะไหลริน ทั้งห้องประชุมนิ่งเงียบสนิท

ผลจากกิจกรรมเอ็กซตร้าไทม์ บริหารหอพักเป็นที่อบรมบ่มเพาะ จัดเวลาเพิ่มพิเศษให้ จนถึงการเข้าร่วมโครงการพัฒนาเครือข่ายครูสร้างแรงบันดาลใจในสถาบันผลิตครู ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนักศึกษา-อาจารย์ในห้วงเวลาหนึงปีที่ผ่านมา เป็นคำตอบว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยคิดไม่ผิด

ผมนั่งสังเกตการณ์อยู่ด้วย อดคิดตามไม่ได้ กระบวนการหล่อหลอมความเป็นครูผู้มีจิตวิญญาณเริ่มแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่อยู่ปีหนึ่ง เมล็ดพันธุ์ครูดีกำลังงอกงาม เติบโตต่อไปจากรุ่นที่ 1 สู่รุ่นที่ 2,3 ฯ พร้อมกับการระดมสรรพกำลังทุกฝ่ายเข้ามาช่วยสร้างครูพันธุ์ใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย

อธิการบดีกล่าวจบ พิธีกรเชิญประธานมูลนิธิฯกล่าวปาฐกถาพิเศษ

 

“โชคดีที่ได้มาฟังนักศึกษาสะท้อนความเห็น ได้ฟังความในใจของท่านอธิการบดี จากประสบการณ์ไปเยี่ยมครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 2 รุ่น ไม่ใช่ครูที่มีตำแหน่งอะไรสูง มูลนิธิไม่ได้ตั้งเกณฑ์สูง แต่ง่ายๆ เป็นครูสอนคน ไม่ใช่สอนแต่หนังสือ ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์”

“เราพบว่ามีครูดีอยู่ทั่วโลก เด็กก้าวหน้าได้เพราะครู ต้องช่วยกันตามหาครูดีที่มีใจ ไม่ใช่เพื่อรับพระราชทานรางวัลเท่านั้น แต่มาช่วยกันทำงานพัฒนาต่อไป

“เราจะทำหน้าที่ครูที่ดีได้อย่างไร ต้องรู้ว่าเด็กยุคนี้เปลี่ยนไปแล้ว เด็ก 10 ขวบวันนี้ไม่ใช่เด็ก 10 ขวบเมื่อก่อน จากยุคเบบี้บูม เจนเอ็กซ์ เจนวาย จนถึงเจนแซต ถ้าครูไม่สามารถหาความรู้ได้เท่า เขาจะไม่ฟัง

บทบาทของครูที่แท้จริงเป็นอย่างไร ครูเหนี่ยวนำ ต้องชักนำให้เพื่อนครูได้ทำตามด้วย กระบวนการคัดเลือกจึงมีตามลำดับ ครูขวัญศิษย์ ครูคุณากร ครูยิ่งคุณ จนถึงครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

“เราจะโตในสังคมโลกต่อไปได้ เราต้องรู้คนอื่นเขาเก่งแค่ไหน ไม่ใช่เราเก่งแค่ไหน เด็กใต้พูดภาษาได้มากที่สุด 4 ภาษา ไปที่ไหนมีโอกาสมากกว่า แต่เด็กไม่ว่าปกติ เด็กพิเศษ ต้องการความรัก ความอบอุ่นทั้งสิ้น”

วีดิทัศน์ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าของแต่ละประเทศฉายขึ้นจอ ภาพครูไซนุดดินจากมาเลเซีย กับคำเตือนในศตวรรษที่ 21 มี 15 ข้อ

“ครูช่วยกันได้ทั่วโลก ใช้กูเกิล สไกป์ เจอกันทางหน้าจอ เชื่อมโลกเข้าด้วยกัน ทุกประเทศมีวัฒนธรรมของตัวเอง อย่างพม่าเวลาจะพูดกับครู เด็กจะยกมือไหว้กอดอก” องค์ปาฐกกล่าวต่อ

“ทักษะการมีชีวิตรอดหายไปจากเด็กไทย ไฟดับ แก๊สหมด ทำอะไรไม่ได้ ทั้งๆ ที่ถ่านเต็มบ้าน แต่หุงข้าวด้วยถ่านไม่เป็น ครูจึงลงไปทำงานกับชาวบ้านด้วย เพราะสิ่งที่ทำให้คนเป็นคนไม่ใช่แค่วิชาการ ยังมีดนตรี กีฬา ศิลปะ”

“ครูเก่งในพื้นที่ยากลำบากจะสร้างนวัตกรรม เอาดินมาสอนสูตรคูณ เอาพื้นทรายมาแทนกระดาษให้เด็กเขียน ทำทีวีจากกระดาษหมุน ฝึกคัดลายมือทำให้เด็กมีสมาธิ จิตนิ่ง จิตสงบ ครูต้องทำงานเป็นทีม เป็นแบตเตอรี่ให้พลังกับลูกศิษย์ การศึกษาคงไม่ได้วัดกันเฉพาะ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้เท่านั้น”

“ไปเยี่ยมครูเขมร ถามเด็กทำไมถึงรักประเทศเขมร เพราะประเทศนี้เป็นประเทศแรก เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขา เด็กกล้าสื่อสาร ไม่กลัวคนแปลกหน้าพร้อมเข้าไปคุยด้วย ครูต้องทำให้เด็กกล้าแสดงออก” 

 

ประธานมูลนิธิฯ กล่าวจบ ก่อนปิดท้ายด้วยภาพ The Power of teaching by Sir Ken Robinson ข้อคิด คำคมของนักการศึกษาระดับโลกชาวอังกฤษ

พิธีกรประกาศเชิญอธิการบดีมอบกริชเป็นของที่ระลึก ดร.กฤษณพงศ์ ใส่เหรียญบาทลงในพาน ตามวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิม ใครให้ของมีคมต้องมอบเหรียญเงินกลับคืน

มิฉะนั้นมิตรภาพที่มีให้กันอาจขาดสะบั้นลง