วงค์ ตาวัน | ไม่หักด้ามพร้าคืออยู่เป็น

วงค์ ตาวัน

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่ ประกาศจุดยืนในท่ามกลางมรสุมที่รุมกระหน่ำจากทุกสารทิศ โดยลุกขึ้นชูแนวทาง “อยู่-ไม่-เป็น” และปฏิเสธแนวทาง “อยู่เป็น” อย่างหนักแน่น เท่ากับเป็นการนำเสนอประเด็นให้สังคมไทยขบคิดพิจารณากันว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องร่วมกันปฏิเสธการ “อยู่เป็น”

รวมทั้งเป็นการยืนยันว่า ไม่ว่าจะถูกสกัดกั้นกดดันขนาดไหน ก็จะไม่ยอมเลือกวิธีการหลบหลีกหรือประนีประนอมยอมความ ไม่ขอทำตัวแบบอยู่เป็น

“เดินหน้าไปตามแนวทางเดิมไม่แปรเปลี่ยน จะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น”

อันที่จริง การเกิดและเติบโตของพรรคอนาคตใหม่ที่มาแรงอย่างรวดเร็วนั้น ชัดเจนว่า เพราะสอดรับกับอารมณ์ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่และคนรุ่นทั่วไปที่อยากเห็นการเมืองเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่

ก้าวไปจากจุดยืนเดิมๆ ของนักการเมืองพรรคการเมืองที่มีอยู่

“เมื่อนายธนาธรและอนาคตใหม่ทำให้คนในส่วนนี้เชื่อมั่นและมีความหวัง จึงปลุกให้พลังคนรุ่นใหม่กว่า 6 ล้านเสียง ตื่นตัวและเดินเข้าคูหาเมื่อ 24 มีนาคม จนทำให้อนาคตใหม่มี ส.ส.เข้าสภาเป็นอันดับ 3”

หลังผ่านการเลือกตั้งมาไม่กี่เดือน มีแต่เรื่องราวและคดีความที่ประเดประดังเข้าใส่นายธนาธรและแกนนำอนาคตใหม่ รวมทั้งเชื่อกันว่ากลุ่มอำนาจนอกระบบตั้งธง กำหนดชะตากรรมของพรรคการเมืองพรรคนี้เอาไว้แล้ว

ทั้งยังเกิดปรากฏการณ์ ส.ส.บางส่วนโหวตในสภาโดยไม่ยึดมติพรรค รวมทั้งมีผู้สมัคร ส.ส.และสมาชิกบางส่วนต่อต้านพรรค ยื่นใบลาออก

“วิเคราะห์ได้ไม่ยากว่า เพราะแกนนำพรรคไม่ยอมเลือกแนวทาง “อยู่เป็น” ในบางกรณีที่แหลมคม ทำให้คนของอนาคตใหม่จำนวนหนึ่งรับไม่ไหว ไม่อยากเสี่ยงไปด้วย”

แต่บทสรุปล่าสุดของนายธนาธรและแกนนำอนาคตใหม่ในท่ามกลางกระแสลมกระโชกแรงขณะนี้ ก็คือยืนยัน ขออยู่ไม่เป็นอย่างหนักแน่นแน่นอน

ลงเอยในอนาคตอันใกล้ แนวทางนี้จะทำให้พรรคนี้ไปไม่รอด ถึงจุดล้มคว่ำอวสานหรือไม่

คำตอบจากกลไกอำนาจก็ส่วนหนึ่ง

แต่กระแสของคนรุ่นใหม่ที่เคยสนับสนุนอย่างเต็มที่ และกระแสของคนส่วนใหญ่ในสังคม จะเห็นด้วยหรือสนับสนุนนายธนาธรและพรรคนี้ต่อไปหรือไม่

จะเป็นจุดชี้ขาดว่า พรรคนี้จะเดินต่อไปได้หรือไม่ หรือถ้าล้มแล้วจะลุกขึ้นมายืนได้ต่อไปอีกหรือไม่!?

การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรคมีบทบาทสำคัญมาตลอด ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งก็ยิ่งเดินหน้าไม่หยุดหย่อน จนเริ่มเป็นกระแสใหญ่ในสังคม ผู้คนทั่วไปเริ่มตระหนักว่า ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญก็จะไม่แก้ปัญหาการบริหารประเทศ โดยเฉพาะจะไม่อาจแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชนได้

ในบทบาทของ 7 พรรคฝ่ายค้านในการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องนับว่า เพื่อไทย อนาคตใหม่และพรรคประชาชาติ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่สุด

โดยเฉพาะนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เดินสายพูดทุกครั้งในทุกเวทีของประเทศไทย

“จนกระทั่งพรรคการเมืองในสภาก็ต้องยอมรับ ไม่อาจฝืนกระแสนี้ได้ ทั้งเมื่อ 7 พรรคฝ่ายค้าน เสนอญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้พรรคฝ่ายรัฐบาลบางพรรคต้องรีบเสนอญัตตินี้ร่วมด้วย”

ในหมู่พรรครัฐบาลนั้น นับว่าประชาธิปัตย์มีบทบาทในการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเป็นราวที่สุด เพราะอุตส่าห์ชูเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการเจรจาตอนร่วมจัดตั้งรัฐบาล

แต่ดูเหมือนคนส่วนใหญ่ก็ยังมองว่า ประชาธิปัตย์อาจจะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญแบบเอาพอสมควรเท่านั้น รวมทั้งที่ชูเป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล ก็เป็นการช่วยให้ภาพลักษณ์ดูดีขึ้น เพื่อกลบข้อครหาว่าไปร่วมรัฐบาลสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ

“พูดง่ายๆ ว่า ไม่อาจฝากความหวังไว้กับประชาธิปัตย์ได้มากนักในเรื่องนี้!”

จนกระทั่งเมื่อสภาหันมาสนใจการแก้รัฐธรรมนูญ ผ่านการผลักดันญัตติตั้ง กมธ.ขึ้นมาเดินหน้าจริงจัง เป็นจังหวะที่มีการชูนายอภิสิทธื์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นมาเป็นผู้ทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการชุดนี้

“มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้าน”

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้นายอภิสิทธิ์เข้ามาเป็นผู้ถือธงนำแก้รัฐธรรมนูญ มองไปที่จุดยืนอันไม่แจ่มชัดของอดีตหัวหน้าประชาธิปัตย์คนนี้

บทบาทเมื่อครั้งเป็นนายกฯ ที่เริ่มต้นจากการเจรจาลับในค่ายทหาร และในช่วงเป็นรัฐบาลที่แอบอิงกับอำนาจทหาร

ในช่วงวิกฤตการเมืองก็เคยนำเสนอนายกฯ มาตรา 7

“ที่สำคัญ ร่วมเป่านกหวีดกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่กลายเป็นม็อบชัตดาวน์ประเทศ ทำให้ทุกอย่างเข้าสู่ทางตัน เหลือทางรถถังทางเดียว!!”

จนทำให้ประชาธิปไตยล้มคว่ำ เกิดรัฐบาลทหารมา 5 ปี พอเลือกตั้งก็ได้อดีตหัวหน้ารัฐบาลทหารมาเป็นนายกฯ ต่อ

ปัญหาก็คือ เสียงนกหวีดที่เริ่มดังขึ้นในปลายปี 2556 และกลายเป็นลุกลามบานปลาย จนเกิดรัฐประหาร 2557 จนได้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เห็นพ้องกันวันนี้แล้วว่าต้องรื้อต้องแก้นั้น

จากจุดเริ่มต้นปลายปี 2556 และกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น เป็นกระบวนการเดียวกันมิใช่หรือ!!!

ขณะที่ประชาธิปัตย์โดดเข้ามาร่วมวงแก้รัฐธรรมนูญอย่างคึกคัก ชูนายอภิสิทธิ์มาเป็นประธานกรรมาธิการ ขณะที่คนที่เหน็ดเหนื่อยเดินสายไปทั่วประเทศ จนกระแสแก้รัฐธรรมนูญจุดติด ก็คือ 7 พรรคฝ่ายค้าน

ขณะเดียวกันเมื่อไม่นานมานี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภา และเป็นผู้นำอาวุโสของประชาธิปัตย์ ก็ออกมาสนับสนุนการแก้ไขรัฐรรมนูญ สนับสนุนบทบาทของสภาในเรื่องนี้

แต่ขณะนี้นายชวนกล่าวย้ำว่า ตนเองก็ไม่เคยรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่แรก

“เหมือนจะดูดีมีความหวัง แต่ก็ไม่วายหักมุมด้วยคำกล่าวที่ว่า แต่ก็ไม่ควรแก้รัฐธรรมนูญแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่า!!”

อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า แปลว่าอะไร

“ไปถามเด็กรุ่นใหม่ก็คงจะตอบว่า ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่าก็แปลว่า “อยู่เป็น” นั่นเอง!”

ไม่น่าแปลกใจสไตล์ของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นพรรคเก่าแก่อายุกว่า 70 ปี เหมือนดูดีอยู่คู่กับระบบรัฐสภามายาวนาน แต่ก็มีลีลาชัดเจนมาตลอด นั่นคือ “อยู่เป็น”

“พรรคนี้เล่นบทอยู่เป็น ตั้งแต่คำศัพท์นี้ยังไม่เกิด”

ตัวอย่างรูปธรรมง่ายๆ ก็คือ เมื่ออำนาจนอกระบบมาแรง เมื่อลงเอยมีรถถังออกมาล้มประชาธิปไตย จะไม่เห็นบทบาทลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจกองทัพจากประชาธิปัตย์

มิหนำซ้ำ พอรัฐประหารผ่านพ้นไป ก็จะหันมาโทษพรรคการเมืองอื่นว่า ไปก่อเงื่อนไขจนทำให้เกิดรัฐประหาร

ไม่เคยต้านรัฐประหาร แต่กลับหันมาโทษพรรคการเมืองด้วยกันว่า ทำให้เขาต้องมารัฐประหาร

“ทั้งที่นักประชาธิปไตยขนานแท้นั้น จะต้องไม่ยอมรับเลยว่ามีเงื่อนไขอะไรแม้แต่เรื่องเดียวที่ทำให้มีการรัฐประหารล้มประชาธิปไตยได้”

นี่จึงต้องจับตากันต่อไปว่า บทบาทของสภาชุดนี้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เห็นพ้องกันแล้วว่า เป็นอุปสรรคต่อการก้าวไปข้างหน้าของประเทศ

เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยกลุ่มอนุรักษนิยมการเมือง ต้องการแช่แข็งการเมืองไทยให้อยู่ภายใต้อำนาจของนายกฯ ที่มียศพลเอกนำหน้าไปเรื่อยๆ

แต่ลงเอยสภาจะแก้รัฐธรรมนูญแบบไหน

แบบไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่าซึ่งก็คือแปลว่า “อยู่เป็น”

หรือจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างถึงแก่นด้วยจุดยืนแบบ “อยู่ไม่เป็น” กันแน่!?!