คำ ผกา | เศรษฐกิจไม่ถดถอยแค่โตช้า

คำ ผกา

รัฐบาลบอกว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้ถดถอย เพียงแค่โตช้า

แต่หันไปอ่านข่าวเห็นว่าจีดีพีที่ตั้งเป้าไว้ 4% ลดลงเหลือ 2.8% เงินบาทก็แข็งโป๊กแม้คนที่ไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ก็รู้ว่า การส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบแน่ๆ

และถามว่าทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยอะไร

ก็ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและการท่องเที่ยวนี่แหละ

ประเทศไทยที่ไม่มีนวัตกรรม ไม่มีเทคโนโลยีอะไรเป็นของตัวเอง ที่พอจะถูๆ ไถๆ อยู่กันไปได้ก็เพราะขายงาน “บริการ” ขายชายหาด ทะเล ภูเขา กับขายแรงงานราคาถูก เป็นที่ที่ต่างชาติมาลงทุนหากำไรจากส่วนต่างของค่าแรง และคุณภาพชีวิตราคาถูกของคนไทย

แต่ ณ วันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ใดๆ ที่เป็นสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวของไทยก็ไม่เย้ายวนอีกต่อไป เพราะมีแต่เก็บของเก่าขาย ธรรมชาติที่มีอยู่ก็รีดนาทาเร้นมาขายอย่างเดียว ไม่มีการทำนุบำรุงรักษาดูแลหรือสร้างเพิ่มให้มันดีขึ้น ความปลอดภัยก็ต่ำ

ในขณะที่ที่ประเทศอื่นๆ ในโลกเขาพัฒนาจุดขายเพื่อการท่องเที่ยวกันโครมๆ

พูดง่ายๆ ว่าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนี้ คู่แข่งเรามีแต่จะมากขึ้น

ไม่ต้องไปไกล เอาแค่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว เวียดนาม เมียนมา เราก็สู้เขาไม่ได้แล้ว

ยิ่งมาเจอเรื่องเงินบาทแข็งค่า มาเมืองไทยนอกจากจะแพงกว่าที่อื่น ยังสนุกน้อยกว่า สวยน้อยกว่า ปลอดภัยน้อยกว่า

ถามว่า นักท่องเที่ยวไม่ลดลงยังไงไหว

เงินบาทแข็ง และเราอาจถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี

ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมีความเย้ายวนกว่าในแง่ของการลงทุน ผลก็คือ นักลงทุนพากันย้ายฐานการผลิตออกไป

นักลงทุนไทยก็ใช้ประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งขนเงินไปลงทุนต่างประเทศ และไม่รู้ว่ามันเกี่ยวข้องกันหรือเปล่าที่เราต้องมาเจอข่าวโรงงานนั้นโรงงานนี้ทยอยปิดกันรายวัน ซึ่งไม่รู้ว่าจะทำให้มีคนตกงานแบบไม่รู้ตัวล่วงหน้าอีกเท่าไหร่

ยังไม่นับข่าวคนฆ่าตัวตายหนีปัญหาเศรษฐกิจ

นั่งจับเข่าคุยกันตามประสาชาวบ้านก็จะได้ฟังคนบ่นเรื่องทำมาหากินยากขึ้น เงินหายากขึ้น ค้าขายยากขึ้น ซึ่งก็เข้าใจไม่ยาก ถ้าในครอบครัวหนึ่งมีคนตกงานสัก 1 คน รายได้หายไปจากครอบครัวเดือนละสักสองหมื่นบาทจากการตกงานของคนคนนั้น อะไรจะเกิดขึ้น

เขาอาจจะต้องลดรายจ่ายอย่างหนัก

การลดรายจ่าย หมายถึงความสามารถในบริโภคลดลง ที่เคยดูหนัง ฟังเพลง กินข้าวนอกบ้านก็ต้องงด

กับข้าวจากสามอย่างต่อมื้อ อาจจะเหลือหนึ่งอย่างต่อมื้อ

จากเคยกินสามมื้อ อาจจะเหลือสองมื้อ

การบริโภคที่ลดลงก็ต้องส่งผลต่อภาคส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร แม่ค้าขายหมูปิ้ง

อย่างว่าโง้นว่างี้ แม้แต่บริษัทขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นอาหารยามยากยังได้รับผลกระทบเหอะ

ภาวะว่างงานนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับกลุ่ม “คนงาน” ในโรงงานเท่านั้น แม้แต่คนที่จบปริญญาโท ปริญญาเอก ในยุคนี้ก็กำลังจะกลายเป็น “คนจน” กลุ่มใหม่ มีทั้งกลุ่มที่หางานทำไม่ได้เลย (ในยุคที่เด็กเกิดน้อย “ลูกค้า” ของมหาวิทยาลัยน้อยลงทุกปี มหาวิทยาลัยเอกชนต้องดิ้นรนเอาตัวรอด รับนักศึกษาจีน หรือลดขนาด ลดบุคลากร และที่ปิดกิจการไปก็ไม่น้อย)

กับกลุ่มที่ได้งานแต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขของการเป็นพนักงานในสัญญาจ้าง

และในการเป็นพนักงานในสัญญาจ้างนี้ก็ว่ากันว่าเงินเดือนก็น้อย งานก็หนัก

มีคุณภาพชีวิตต่ำตมไม่แพ้ชนชั้นกรรมาชีพไร้การศึกษา และมีอีกจำนวนหนึ่งที่เมื่อครบสัญญจ้างแล้ว ไม่ได้รับการต่อสัญญา เช่น ไม่สามารถทำผลงานขอตำแหน่งวิชาการได้ตามเกณฑ์ ผลก็คือมีคนระดับ

“ปัญญาชน” จบปริญญาโท ปริญญาเอก จำนวนหนึ่งทีเดียวที่มาตกงานตอนอายุสี่สิบกว่าๆ

อันเป็นวัยกลางคนที่ยากจะเริ่มต้นหางานทำใหม่

นี่ยังไม่นับสาขาอาชีพที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติทางเทคโนโลยี เช่น คนทำงานธนาคาร ที่มีข่าวเสมอเรื่องการปิดสาขา และพนักงานธนาคารตอนนี้ต้องผันตัวเองมาขาย “ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน” รวมถึงขายประกันต่างๆ แทน และถ้าขายไม่ได้ก็น่ากลัวว่าจะไม่ได้ทำงานต่อ

หรืออาชีพ “สื่อ” ที่ฉันมีประสบการณ์ตรง อาชีพคอลัมนิสต์ที่ในยุครุ่งเรืองของนิตยสาร การเป็นคอลัมนิสต์ ฟรีแลนซ์สามารถยังชีพได้อย่างสบาย นอกจากรายได้จากการเขียนคอลัมน์ ยังมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการเอาคอลัมน์มารวมเล่มขาย

แต่ในยุคของ “สื่อใหม่” คอลัมนิสต์ คือคนที่มีความเชี่ยวชาญจากอาชีพใดอาชีพหนึ่งที่เป็น “งานประจำ” อยู่แล้ว เช่น เป็นนักวิชาการ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นนักกฎหมาย ฯลฯ

การเป็นคอลัมนิสต์จึงเหมือนเป็นงานอดิเรก เป็นผลพวงของงานประจำมากกว่าจะเป็น “อาชีพ” ด้วยตัวของมันเอง

เพราะฉะนั้น ฉันจึงเห็นเพื่อนร่วมอาชีพ “คอลัมนิสต์” ด้วยกันเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว “ตกงาน” ยากจนกันเป็นเบือ

ไม่ต้องพูดถึงอาชีพนักเขียน

ที่ตอนนี้แทบจะชี้ตัวออกมาไม่ได้เลยว่ายังมีนักเขียนไทยคนไหนที่สามารถยังชีพได้ด้วยการเขียนหนังสือย่างเดียวบ้าง

(เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วฉันเคยประกาศอย่างภูมิใจว่า ตัวเองเป็นนักเขียนที่ยังชีพอยู่ได้ด้วยการเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว อันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยในปัจจุบันนี้)

ภาวะเศรษฐกิจ “โตช้า” ที่เราเผชิญในปัจจุบัน มีทั้งส่วนที่อาจเป็นปัจจัยภายนอกอันเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน เช่น สงครามการค้า อเมริกากับจีน

แต่มีบางอย่างที่หากเรามีรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ มันจะสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้

เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เราควรจะรู้ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วว่า เราจะขายการท่องเที่ยวแบบสุกเอาเผากิน ขายระยะสั้น ขายแบบพ่อแม่ให้มายังไงก็ขายอย่างงั้น คือ สักแต่มีทะเลสวยมาก ก็ขายทะเลสวยๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม ไม่เพียงแต่ไม่ทำอะไรเพิ่มยังปล่อยให้มีการทำลายทะเล ทำลายธรรมชาติ สร้างสิ่งปลูกสร้าง ทำผังเมืองเละตุ้มเป๊ะ จนพังกันไปเป็นที่ที่ แล้วก็ไปขุดหาแหล่งขายใหม่ไปเรื่อยๆ เหมือนผีตองเหลืองย้ายบ้าน

พูดง่ายๆ เราไม่เคยพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเราให้เป็นการค้าขายที่ยั่งยืน กอบโกยกันเป็นที่ที่ พังทลายกันเป็นที่ที่ สุดท้ายก็อับเฉาเปล่าเปลี่ยวไปถ้วนหน้ากัน

จะค้าขายกับการท่องเที่ยวให้ยั่งยืนต้องทำอย่างไร?

สาธารณูปโภคต้องดี น้ำ ไฟ สุขาภิบาล การดูแลความสะอาด เทคโนโลยีการเก็บ ทำลายขยะ ผังเมืองที่ส่งเสริมความงามของชุมชน การควบคุมสิ่งปลูกสร้าง อาคาร การให้ความสำคัญกับคนในท้องถิ่น

คุณภาพชีวิตของเจ้าบ้านกับนักท่องเที่ยวต้องเท่ากัน ต้องพัฒนาการคมนาคม การขนส่งมวลชน รถเมล์ รถไฟ รถราง

ไม่ใช่ไปภูเก็ตแล้วได้แต่ฝังตัวอยู่ในโรงแรมหรือรีสอร์ต ไม่ได้ออกไปไหนเลย

ตรงกันข้าม ถ้ามีการเชื่อมต่อของขนส่งมวลชน นักท่องเที่ยวได้ไปอำเภออื่นๆ ตำบลอื่นๆ ได้เดิน ได้ปั่นจักรยาน ได้นั่งรถข้ามจังหวัด แวะเที่ยวได้ไม่มีที่สิ้นสุด

ซึ่งการเที่ยวแบบนี้จะก่อให้เกิดการกระจายรายได้มากกว่า

นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยวอื่นๆ ควบคู่กันไป ทั้งการทำเทศกาลศิลปะ ภาพยนตร์ ดนตรี สามารถพยากรณ์เทรนด์การท่องเที่ยวล่วงหน้า เพื่อวางแผนการตลาดให้ล้ำไปกว่าประเทศคู่แข่ง

จนทำให้แม้ค่าเงินบาทแข็ง ประเทศไทยก็ยังเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยวที่ใครก็โค่นลงไม่ได้

ถามว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เราได้วางแผนระยะยาวอะไรอะไรแบบนี้ไหม?

คำตอบคือไม่

รถสาธารณะเพิ่มขึ้นสักกี่คันในทั่วประเทศไทย?

ไม่ต้องพูดถึงผังเมืองที่อัปลักษณ์อย่างเสมอหน้ากันในทุกจังหวัดของประเทศ

ยกเว้นบางเมืองที่โชคดีที่ทำผังเมืองดีๆ ไว้ในยุคที่เทศบาลยังเข้มแข็งอยู่

เรื่องการส่งออก – ถ้ายี่สิบปีที่แล้ว เราได้วางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของเราให้ออกจากการเป็นประเทศที่พึ่งพิงการส่งออก และเป็นแหล่งแรงงานไร้ฝีมือราคาถูก พูดง่ายๆ คือการเป็นประเทศไทย 4.0 นั้น ถ้าได้เริ่มตั้งแต่สองทศวรรษก่อนหน้านี้ ในปีนี้ เรื่องค่าเงินบาทแข็งก็จะไม่ส่งผลต่อเราหรือการตัดจีเอสพีก็ไม่ส่งผลต่อเรา เพราะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ โตแล้ว รวยแล้ว แกร่งแล้วอย่างแท้จริง

หรืออย่างเลวที่สุด แม้จะไม่รวยมาก ไม่แกร่งมาก แต่ถ้า 20 ปีที่แล้ว เราไม่มีรอยสะดุดทางการเมือง อย่างน้อยที่สุด มันจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศหลายอย่าง

เช่น การเปลี่ยนโฉมหน้าการคมนาคมไทยจากระบบถนนไปสู่ระบบรางและการเชื่อมต่อประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ในโลกด้วยระบบราง

การลงทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจังแก่ทรัพยากรมนุษย์

การ empower ภาคชนบท และภาคเกษตรให้แข็งแกร่งพอจะมีแรงรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (เช่น กองทุนหมู่บ้าน โอท็อป จำนำข้าว) แทนที่จะยืนรับมรสุมด้วยร่างกายผ่ายผอม ก็จะเป็นการยืนรับมือกับมรสุมด้วยร่างกายที่แข็งแรงมีภูมิคุ้มกันที่สะสมเอาไว้พร้อมรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้

หรือเรื่องอาชีพหลายๆ อาชีพที่จะสูญหายไปจากโลกใบนี้จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือที่เรียกกันว่าเป็น disruptions ในแบบต่างๆ

เช่นที่เกิดขึ้นกับธุรกิจธนาคาร ธุรกิจสื่อ เช่น ในไทยที่โรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เจ๊งระเนระนาด บุคลากรในวงการสื่อตกงานครั้งมโหฬาร

หรือการเปลี่ยนโฉมหน้าของธุรกิจค้าปลีก และอื่นๆ

รวมทั้งภาวะสังคมสูงวัยที่ใครๆ เขาก็เตือนเรามาตั้งปี 2540 กว่าๆ ว่า ประเทศไทยต้องวางแผนรับมือสังคมสูงวัยเสียตั้งแต่วันนี้ รวมถึงการวางแผนเรื่องการศึกษา เพราะจำนวนเด็กในสถานศึกษาจะลดลงในทุกระดับ

พูดอย่างหยาบคือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ควรเป็นและควรมีตั้งแต่ 20 ที่แล้ว ไม่ใช่เรื่องปฏิรูปประเทศ แต่เป็นการวางแผนการพัฒนาประเทศบนฐานของลักษณะกลุ่มประชากรที่เปลี่ยนไป

และทั้งหมดนี้ต้องใช้ความรู้ทางการทำนายสังคมที่อยู่บนฐานของการสำมะโนประชากรอย่างละเอียดบวกกับการเก็บข้อมูลเชิง socio- economics ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ต้องเป็นฐานข้อมูลให้ทุกหน่วยงานภาครัฐนำไปวางแผนไปล่วงหน้าทั้งสิ้น

ลองคิดดูถ้า 20 ปีที่แล้ว เราปฏิรูประบบการขนส่งสาธารณะและการสร้าง connectivity ผ่านการขนส่งระบบรางสำเร็จทั้งหมด

ถ้ายี่สิบปีที่แล้ว เรายกระดับเกษตรกรให้กลายเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหรือธุรกิจการเกษตรได้สำเร็จ

ถ้า 20 ปีที่แล้ว เราทำให้ชนชั้นกลางระดับล่าง ย้ายขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางจากการที่ลูกหลานของเขาได้รับการศึกษา ช่างไฟ ช่างประปา หรือชาวนา มีลูก หลานเป็น เชฟ เป็นศิลปิน เป็นหมอ เป็นโปรแกรมเมอร์ เป็นนักทำสารคดี เป็นนักการเมือง เป็นนักการเงิน ฯลฯ ถ้า 20 ปีที่แล้ว เราลงหลักปักฐานพัฒนากองทุนประกันสังคมให้มั่นคง ออกดอกออกผลอย่างที่มันควรจะเป็น

ถ้า 20 ปีที่แล้ว หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของเราขยายไปถึงการดูแลผู้สูงอายุได้ถึงขั้นสร้างเป็นโครงการบ้านพักคนชราขายพร้อมบริการครบวงจรในราคาที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้

ถ้า 20 ปีที่แล้ว เราได้ลงหลักปักฐานเรื่อง public housing ต่อยอดจากโครงการบ้านเอื้ออาทร

ถ้า ถ้า และถ้า…ซึ่งเหล่านี้เปรียบเสมือการเตรียมฐานรากหรือ foundation ให้กับประเทศ

ถ้าฐานรากเราแข็งแรง ต่อให้เจอสงครามการค้า สงครามค่าเงิน หรือจะเจอกับ disrupts ใดๆ ก็จะเผชิญกับมันแบบไม่ป้อแป้ สิ้นหวัง ไร้อำนาจต่อรองได้ขนาดนี้

แต่น่าเศร้ามันไม่เปิดขึ้น

และสิ่งที่เกิดขึ้นแทนคือการรัฐประหารถึงสองครั้งที่ได้ปล้นเอาโอกาสแห่งการพัฒนาฐานรากนี้ออกไปจากสังคมอย่างหมดจด

สิ่งที่เราเหลืออยู่ตอนนี้มีแค่

นายกฯ ที่ออกมาพูดว่าจุดเด่นของประเทศไทย (ในบริบทแห่งการเป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียนซัมมิท) ว่าเรามียิ้มสยามอันหมายถึงรอยยิ้มที่ซื่อสัตย์ มีอาหารอร่อย และมีบ้านเมืองสวยงาม

ฟังแล้ว อือม เอ่อ คือ บ้านอื่นเมืองอื่นเขาก็ยิ้มเป็น อาหารเขาก็อร่อย บ้านเมืองเขาก็สวยงามเหมือนกันหรือเปล่าคะ

ไอ้คุณลักษณะสามประการนี้ บ้านไหน เมืองไหน เขาก็มีกันทั้งนั้นแหละ

หลายบ้านหลายเมือง เขายิ้มได้กว้างขวาง จริงใจกว่าเราด้วยซ้ำเพราะ มีรัฐบาลที่ให้เกียรติในข้าวแดงแกงร้อนจากภาษีประชาชน อะไรอย่างนี้เป็นต้น

มีรัฐมนตรีแรงงานที่บอกว่า ประเทศเราไม่ได้เสรีภาพอะไรนักหนา ไม่เห็นต้องเป็นสากลอะไรกับเขา กฎหมายเราก็กฎหมายเรา อย่าไปเอาอย่างประเทศอื่น

อเมริกาจะมาใช้จีเอสพีกดดันไทยให้ออกกฎหมายให้ลูกจ้างด่านายจ้างได้ แบบนี้ก็วุ่นสิ

หรือมีรัฐมนตรีออกมาบอกว่า ช่วงนี้คนไทยไม่ออกมาใช้เงินเพราะรอซื้อรถอัลติสรุ่นใหม่

เรามีอยู่แค่นี้จริงๆ