อภิญญา ตะวันออก : สู่ฝันแบบสังฆราช (ฉบับมหาโฆษนันทะ)

อภิญญา ตะวันออก

สมเด็จพระอัครมหาสังฆราชาธิบดี (เทพ วงศ์) ทรงได้รับโปรดเกล้าเป็นสมเด็จพระสังฆราชลำดับที่1 ถึง 2 รัชกาล

อนึ่ง นอกจากคุณสมบัติที่พระคุณเจ้ามีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจการเมืองแล้ว ความแตกต่างจากพระสังฆราชฝ่ายมหานิกายทั่วไปคือ

มิได้เคยบวชและจำพรรษาอยู่วัดหลวงเวัดอุณาโลมวัดลังกาฯ มาแต่แรก

และมิได้ปรีชาชาญทางอักษรศาสตร์หรือบาลีวิทยา

หนึ่งในคุณสมบัติทั่วไปของประมุขสูงสุดฝ่ายสงฆ์แต่อดีต

นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องแปลก ที่ทรงลำดับพระสังฆราชลำดับที่ 1 ตามธรรมเนียมเดิมซึ่งเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกายในที่นี้คือ “สมเด็จพระอภิสิริสุคนธามหาสังฆราชาธิบดี” (บัว กรี) ซึ่งเป็นพระสังฆราชลำดับที่ 2 และประทับ ณ วัดบัวตุมวไต วัดสายธรรมยุติแห่งแรกที่สร้างมาตั้งแต่เริ่มมีพระราชวังเขมรินทร์ หากแต่แปลกกว่านั้น เมื่อวัดหลวงแห่งธรรมยุติกนิกายนี้ กลายเป็นที่ประทับร่วมของสมเด็จพระสังฆราชทั้งสองไปเสียแล้ว

นัยที ครรลองของความไม่เที่ยงและกฎแห่งความเป็นจริงนี้ เกิดและเป็นไปในหมู่เถรวาทเขมร โดยเฉพาะตำแหน่งพระสังฆราชที่แต่ไหนแต่ไรก็ขับเคี่ยวกันมาอย่างหนัก ไม่ต่างบริบททางการเมือง

ดังนี้ สุภาษิต “2 สังฆราช 2 รัชกาล และ 1 วัดเดียวกัน” จึงใช่ว่าจะไม่มีเสียที่ไหน?

เพราะนอกจากที่เขมรแล้ว นัยที อดีตกว่า 100 ปี ทั้ง 2 คณะนิกายนี้ก็เคยไม่ลงรอยกันทั้งยามที่เป็นเมืองขึ้น ยามสงครามและยามที่บ้านเมืองสงบ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับฝ่ายใดมีอำนาจ

ตำแหน่งพระสังฆราชที่นับว่าได้รับการยอมอย่างกว้างขวางและเป็นสังฆราชแห่งมวลชน มิใช่แต่ราชสำนักและฝ่ายนักปกครอง คือสมัยสังคมเรียด (Sangkum) ที่มีประมุขแห่งรัฐนโรดมสีหนุ และเป็นยุคของการแหกธรรมเนียมโดยการให้สงฆ์ฝ่ายมหานิกายขึ้นเป็นพระสังฆราชเบอร์ 1 แทนฝ่ายธรรมยุต

กระทั่งระบอบนี้ถูกโค่นไปในปี ค.ศ.1970 และหลังปี 1993 ที่คณะพุทธศาสนาและกัมพูชาได้กลับมารื้อฟื้นอย่างเต็มรูปอีกครั้ง โดยแม้จะมีปฐมกษัตริย์องค์ใหม่ที่มาจากอดีตกษัตริย์องค์เก่า แต่ใช่ว่าจะมีอำนาจเต็มและเข้มแข็งเหมือนเดิม

ดังนี้ สมเด็จบัว กรี ที่แม้จะเป็นธรรมยุตผู้ติดตามราชสำนักมาแต่ต้น แม้เมื่อครั้งพลัดถิ่น และเมื่อได้รับการสถาปนา แต่มีศักดิ์เป็นรองจากมหานิกายที่หนุนโดยสมเด็จฯ ฮุน เซนอย่างดุษณี โดยมิพักดูลำดับชั้นนั่นเลย ลำพังชั้นยศ “”สมเด็จอัครมหาสังฆราชาธิบดี” ของสมเด็จเทพ วงศ์ ก็ดูจะเข้ากันดีกับบรรดาศักดิ์ “สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช” ของสมเด็จฯ ฮุน เซนอย่างหาที่สุดมิได้

สำหรับดุลยภาพของเถรวาทภิกษุกับราชสำนักและการเมืองซึ่งเป็นเรื่องของ “อำนาจ” 

 

ในเวลาเดียวกัน การมาถึงของพระมหาโฆษนันทะ คือความโกลาหลช่วง 2-3 ปีแรกๆ แห่งการสถาปนาประมุขสงฆ์เขมร 2 ฝ่าย สมเด็จเทพ วงศ์และสมเด็จบัว กรี-ตัวแทน 2 ฝ่ายที่ไม่สู้ลงรอยใดๆ ในเชิงอำนาจอันทับซ้อน และทำให้สมเด็จเถรวาทซึ่งเป็นภิกษุทั้งสองต้องพลอยทับซ้อนไปด้วย

อย่างไรก็ตาม พระมหาโฆษนันทะซึ่งธุดงค์ต่างแดนสู่กัมพูชาด้วยแคมเปญ “ธรรมยาตรา” ที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากประชาชน หาได้สนใจการถวายตำแหน่งพระเถระชั้น “สมเด็จ” เลยไม่

กระนั้น เมื่อพระบาทนโรดม สีหนุทรงโปรดเกล้าสมเด็จเทพ วงศ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายมหานิกาย และพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้น “สมเด็จ” แก่นายฮุน เซน ตลอดจนสมเด็จพระสังฆราชแก่ท่านบัว กรีอย่างครบถ้วนในคราเดียวกัน

จึงโปรดเกล้าพระมหาโฆษนันทะ พระเถระผู้ทำงานด้านศาสนาตามชายแดนไทย-กัมพูชาตลอดจนองค์กรสงฆ์อื่นๆ เป็นเวลาหลายปี การนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่พระมหาโฆษนันทะ จึงสมควรที่ภิกษุรูปนี้จะได้รับฐานันดรชั้น “สมเด็จ” ดังกล่าวด้วย แม้ว่านัยทีแล้วเขาไม่ปรารถนายศศักดิ์เหล่านั้นก็ตาม

นัยที แม้ไม่ยึดติดยศศักดิ์เหล่านี้ก็ตาม แต่การที่สังกัดมหานิกายเดียวกับสมเด็จเทพ วงศ์ ความโกลาหลทางวรรณะก็มักจะเกิดขึ้นเนื่องๆ อันมาจากความศรัทธาของเหล่าศาสนิกชนที่แสดงออกต่อพระมหาโฆษนันทะ โดยเฉพาะต่อสาธารณะ ราวกับเป็น สมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง

แม้จริงแล้ว แนวคิดกระแสธรรมนอกกระแสแบบท่านพุทธทาส (พระธรรมโกศาจารย์) นั้นต่างหากที่มีอิทธิพลต่อสมเด็จพระมหาโฆษนันทะ ผู้ไม่สนใจอำนาจแบบสงฆ์เถรวาทที่ก่อตั้งจนเกิดความผิดเพี้ยน และห่างไกลจากแก่นสารของธรรมะซึ่งเชื่อกันว่ามีอยู่ในวิถีแบบ ธรรมยาตรานั้นด้วย

คุณูปการนั้น คือเกิดความตื่นรู้ในหมู่สงฆ์และเถรวาทกัมพูชาจำนวนไม่น้อย

แต่นั่นก็ไม่เท่ากับที่แคมเปญนี้ มุ่งตรงและกระตุ้นเร้าให้ชาวเขมรสนใจต่อกระบวนสันติภาพ

 

ดูกร คำว่า “สมเด็จ” นี้ (และสังฆราชด้วยนั้น) หาได้เป็นส่วนเกินของธรรมะเลย หากว่าผู้ได้รับตำแหน่งดังกล่าวจะอยู่ภายในกรอบแห่งฐานะ ที่ขึ้นต่อสถาบันการเมืองและราชสำนักอันเกี่ยวกับพิธีกรรม

แต่สำหรับสมเด็จพระมหาโฆษนันทะนั้น นอกจากไม่ดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่เสริมส่งฝ่ายรัฐอำนาจแล้ว

ยังสร้างกระบวนวิธีที่ขนานไปอีก สิ่งนั้นก็คือความเป็นอิสรภาพทางความคิดของประชาชนผู้อ่อนแออย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยโครงการที่น่าหวั่นเกรง นั่นคือการบ่มเพาะความคิดแบบ “นักสันติธรรม” บนแผ่นดินธรรมที่ครั้งหนึ่งชุ่มโชกไปด้วยสงคราม

ทำไมน่ะหรือ?

สำหรับมุมมองด้านความมั่นคงทางการเมืองแล้ว นี่เป็นสิ่งที่น่าหวาดระแวง โดยเฉพาะเมื่อปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทำให้กระแสแห่งความเป็นพุทธะที่มีหลักการแห่งความเป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้น (เล็กๆ) ในกัมพูชา

ถูกแล้ว มันก่อให้เกิดความหวาดระแวงและรู้สึกว่าเป็นภัยคุกคามของกลุ่มฝ่ายนักการเมือง ซึ่งถืออำนาจบนความอ่อนแอของทุกองคาพยพและประชาชน

อา ถูกแล้ว มันคือการมาถึงที่ก่อความไม่สบายใจต่อฝ่ายการเมือง และเถรวาทหัวเก่าผู้มีอำนาจตั้งแต่ชั้นสมเด็จ

ความรู้สึกที่ไม่มั่นคงเหล่านั้น ที่เกิดจากกิจกรรมธรรมะแห่งสันติธรรม ที่ส่งเสริมกระบวนความรู้อันสูงค่ากว่าประชาธิปไตย

แต่หาไม่ มันคือความรู้สึกบางอย่าง ที่ไม่มั่นคงทุกครั้ง ต่อการมาถึงกัมพูชาของพระชรารูปนี้

ท่ามกลางริ้วขบวนจากมวลชนทุกสารทิศช่างไม่ต่างนักรบ (ทางจิตวิญญาณ) ที่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนทางสังคม โดยเฉพาะการที่มันเคลื่อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง อันทบทวีจำนวน

อย่างเห็นได้ชัดว่า คณะสมเด็จพระมหาโฆษนันทะได้ก่อให้เกิดความรักความศรัทธาที่เบ่งบาน และบางทีก็ขยายตัวออกไปอย่างไร้ขอบเขต

ก่อด้วยความทรงประสิทธิภาพในเครื่องมือไขปัญหาที่เหมาะต่อชาวประชาเขมร มันยังมีวิถีที่ใกล้เคียงกับคำว่า “เถรวาทปฏิรูป” อีกความหมายอันเร้นลับเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่เรียกกันนัยทีว่าวิถีพุทธแนวใหม่ อันไม่เคยปรากฏในกัมพูชามาก่อน (อย่างน้อยก็ปีนั้น)

สำหรับความอ่อนล้าแร้นแค้นที่กัดกินจิตใจมายาวนาน มันได้ถูกเยียวยาและรับการปลดปล่อยด้วยคุณภาพของธรรมโอสถ ที่เกิดจากการปฏิบัติและแรงสั่นสะเทือนภายในทั้งต่อชนผู้ปัจเจกและคณะสังคม

มันคือปาฏิหาริย์แห่งการตื่นรู้ฉบับมหาโฆษนันทะ ภิกขุผู้เมตตาต่อศาสนิกทุกฝ่าย แต่มีความหมายเป็นภัยต่อรัฐ

 

พลันการจดจำบ่ายฤดูร้อนวันหนึ่งที่วัดพนมได้ถูกตรึงไว้อย่างมิอาจสลัดหลุด อากาศที่ร้อนและแสงแดดที่แผดเผา

ได้บงการให้สายตาของฉันจับจ้องอยู่ที่กิจกรรมของพระสงฆ์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นกับภารกิจการเดินธุดงค์ธรรมยาตรา

อนิจจาบันดาล นับแต่บ่ายวันหนึ่งที่วัดพนมในปีนั้น อีกกว่าค่อนชีวิตชองการหลับใหล และจมดิ่งไปกับกระแสอื่น

โอ เถรวาทปฏิวัติ-เถรวาทวิชาและปาฏิหาริย์แห่งการตื่นรู้ฉบับกัมพูชา

พลัน ข้าพเจ้าก็จดจำได้ถึงเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งซึ่งภายนอกกำแพงวัง และคลื่นมนุษย์ที่พากันมาเฝ้ารอพระเถระชรารูปหนึ่ง

สมเด็จพระมหาโฆษนันทะภิกขุ ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาและรอยยิ้มเจียนิจ