รบ.ตู่เดินหน้าปลุกเสก “อีอีซี” ทางเลือกสุดท้ายดัน ศก.ไทย ขึ้นแท่นประเทศชั้นนำของภูมิภาค

กระพือข่าวมาระยะหนึ่งแล้ว สำหรับโครงการพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ระยอง จันทบุรี และฉะเชิงเทรา เชื่อมต่อความเจริญกับเมืองหลวงกรุงเทพฯ โดยกำหนดเป้าหมายให้เดินหน้าโครงการภายในปีนี้…ปีที่รัฐบาลให้นิยามว่า “ปี 2560 ต้องเป็นปีลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม” หลังจากพยายามผลักดันให้ปีที่ผ่านมาเป็นปีทองแห่งการลงทุน แต่ไม่สำเร็จ

เพราะเผชิญกับปัจจัยลบทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะความผันผวนเศรษฐกิจโลกทำให้ต่างชาติละเมียดละไม ชั่งใจในการลงทุนอย่างหนัก เพราะถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ดี ผลิตสินค้าออกมาก็ไม่รู้จะขายใคร

ขณะที่นักลงทุนในประเทศ แรกๆ ก็พยายามสร้างความเชื่อว่า ที่ยังไม่ลงทุนเพราะกังวลเศรษฐกิจโลก

แต่ช่วงต้นปีนี้ ผลสำรวจความเห็นผู้บริหารทั่วประเทศ จัดทำโดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับ ส.อ.ท. ระบุชัดว่า ผู้บริหาร (ซีอีโอ) ถึง 64.58% ขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้การลงทุนไทยไม่ขยายตัว

รองลงมา 45.83% ขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโลก

และ 39.58% เกิดจากภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง ซึ่งการไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจในประเทศ

อาจหมายถึงผลงานบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ยังไม่เข้าตาด้วย!!!

 

ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยจึงมีเพียงการลงทุนของภาครัฐ และการท่องเที่ยว

แต่เม็ดเงินในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังน้อยนิด การลงทุนจากเอกชนคือเครื่องยนต์สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจอยู่ดี

ข้อมูลบ่งชี้การลงทุนที่ซบเซา ยืนยันได้จากสถิติการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม ในช่วง 12 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2559 พบว่า การประกอบและขยายกิจการโรงงาน (ร.ง.4) มีจำนวนทั้งสิ้น 5,215 โรงงาน ลดลง 4.66 % เงินลงทุน 4.78 แสนล้านบาท ลดลง 21.12% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 5,470 โรงงาน มูลค่าลงทุนรวม 6.06 แสนล้านบาท

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่า ปี 2559 มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติยื่นลงทุนจริง 490,000-500,000 ล้านบาท ใกล้เคียงเป้าหมายทั้งปี 500,000 ล้านบาท

ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนที่มีโครงการ หรือร่วมลงทุนในไทยอยู่แล้ว

ส่วนนักลงทุนหน้าใหม่พบว่ายังมีน้อย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ชัดเจน ทำให้เอกชนมีการลงทุนอย่างรอบคอบ

ขณะที่ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนปีที่ผ่านมาสูงกว่าเป้าหมาย มียอดรวมอยู่ที่ 584,350 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 550,000 ล้านบาท จำนวน 1,546 โครงการ

โดยมูลค่าขอรับส่งเสริมลงทุนสูงกว่าปี 2558 คิดเป็น 196% ที่มีมูลค่า 197,740 ล้านบาท

ขณะที่จำนวนโครงการสูงกว่าปีที่ผ่านมา 56% ที่มีจำนวน 988 โครงการ

ด้านดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ก็ระบุว่าอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลง อยู่ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ รถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ เครื่องดื่มต่างๆ

ทำให้ภาพรวมทั้งปีเอ็มพีไอขยายได้แค่ 0.5%

ด้วยภาวะการลงทุนที่ซบเซานี่เอง รัฐบาลจึงพยายามหาเครื่องมือกระตุ้น ไปจนถึงผ่าตัดประเทศครั้งใหญ่ให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากขึ้น และยั่งยืน ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น จากปัจจุบันเติบโต 3% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยต่างเติบโตระดับ 6-7% เพราะหากประเทศไทยไม่เร่งพัฒนาพื้นที่หรือโครงการเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาจรั้งท้ายอาเซียนที่เติบโตแบบก้าวกระโดดก็ได้

เพราะปัจจุบันหลายประเทศในเอเชียมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ จีนใช้เวลา 25 ปี ในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่สำคัญที่สุดของโลก

มาเลเซีย กำหนด 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาอุตสาหกรรมผลิตสมัยใหม่และอุตสาหกรรมหลัก จนสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันและมีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจถึง 6% ในปี 2557

เวียดนาม เปิดนิคมอุตสาหกรรมการผลิตทั่วประเทศ เน้นอุตสาหกรรมแรงงานและปิโตรเคมี ส่งออกเติบโต

และอินเดีย เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 382 แห่งทั่วประเทศ

ขณะที่อีอีซี รัฐบาลได้กำหนดโครงการลงทุนสำคัญ ประกอบด้วย สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต ท่องเที่ยว และเมืองใหม่/โรงพยาบาล รวม 15 โครงการ วงเงินลงทุนจากรัฐและเอกชน 1.5 ล้านล้านบาท บนพื้นที่ 200,000 ไร่

ขณะเดียวกันได้ออกกฎหมาย คือ ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ควบคู่ไปด้วย

เดิมทีคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2559 หรือภายในไตรมาสแรกของปีนี้

แต่ด้วยรายละเอียดทางกฎหมายที่มีความเกี่ยวพันแทบทุกกระทรวง จึงต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างรอบคอบ

ล่าสุดคาดว่าจะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประกาศใช้ช่วงเดือนเมษายนนี้

แต่เพื่อกันเหนียวกรณีกฎหมายเกิดปัญหาล่าช้าเช่นเดียวกับกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน นายกรัฐมนตรีจึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขับเคลื่อนนโยบายอีอีซี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เพื่อเดินหน้าพัฒนาโครงการเออีซีระหว่างรอการพิจารณา พ.ร.บ.อีอีซี

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารอีอีซีได้ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการ ก่อนรายงานต่อที่ประชุมอีอีซีชุดใหญ่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เดือนมีนาคมนี้

โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างทบทวนวงเงินลงทุนโครงการอีอีซีช่วง 5 ปี (2560-2564) จะเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาท จากเดิมประเมินไว้ที่ 1.5 ล้านล้านบาท เนื่องจากพบว่าวงเงินที่คาดไว้เดิมอาจไม่เพียงพอ เพราะจะมีการลงทุนทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนรวมอุตสาหกรรมอื่นแห่งอนาคตที่พร้อมลงทุนเป็นรายแรกๆ เช่นกัน

นอกจากคณะกรรมการบริหารอีอีซี ยังโชว์ผลงานแรกด้วยการเสนอนายกรัฐมนตรี จัดตั้งเขตส่งเสริมพิเศษอู่ตะเภาขึ้นเป็นที่แรกในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้สามารถกำหนดสิทธิประโยชน์ขั้นสูงสุดให้กับนักลงทุนที่ภาครัฐจะชวน ให้มาลงทุน อาทิ สิทธิประโยชน์ทางภาษี 15 ปี โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการลงทุน คือ ศูนย์ซ่อมอากาศยานเพิ่มเติม อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานเริ่มลงทุนกลางปีนี้ รวมทั้งวางแผนให้รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกสามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา พร้อมเปิดให้เอกชนร่วมทุนปลายปีนี้

ขณะที่ความคืบหน้าการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รัฐบาลอยู่ระหว่างจะประกาศแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนอีก 2 เดือนข้างหน้า เพื่อให้เอกชนมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปีนี้ ขณะที่อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ ในส่วนของเอกชนที่พร้อมลงทุน นำโดยกลุ่ม ปตท. ได้กำหนดกรอบลงทุนระยะเวลา 10 ปี 4 แสนล้านบาท เพื่อยกระดับไทยสู่ฮับภูมิภาคด้านไบโอชีวภาพ

จากภาพความก้าวหน้าของอีอีซี ได้สร้างความหวังว่าไทยจะเติบโตทัดเทียมประเทศชั้นนำ จนเอกชนหลายฝ่ายออกมาสนับสนุน และขอให้เกิดขึ้นจริงและเร็วที่สุด

เพราะหากช้าไปกว่านี้ คงไม่ใช่แค่ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่ลดลง แต่ความเชื่อมั่นต่อฝีมือรัฐบาลอาจลดลงด้วย…