วิเคราะห์ : พิษประท้วงฮ่องกง เศรษฐกิจตกต่ำที่ยากจะฟื้น

การประท้วงเรียกร้องเสรีภาพในฮ่องกงที่ขยายตัวจากการต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน กินเวลายาวนานกว่า 5 เดือนแล้ว

เวลานี้เริ่มส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

เมื่อสัปดาห์ก่อนฮ่องกงเปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 พบว่าเศรษฐกิจหดตัวลงมากกว่าที่คาดไปถึง 3.2 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

นับเป็นการหดตัวแบบฮวบฮาบ หลังจากไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจฮ่องกงหดตัวลงอยู่ที่ 0.5 เปอร์เซ็นต์

ในเชิงเทคนิค การที่เศรษฐกิจหดตัวลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน นั่นหมายถึงเวลานี้เกาะศูนย์กลางการเงินและเศรษฐกิจแห่งเอเชียได้เข้าสู่ช่วงเวลาของ “เศรษฐกิจตกต่ำ” อย่างเป็นทางการแล้ว

นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจต่างมองตรงกันว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำดังกล่าวจะต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าเลยทีเดียว

ก่อนหน้านี้ฮ่องกงต้องเผชิญกับผลกระทบเชิงลบจากเศรษฐกิจโลกอยู่แล้ว โดยเฉพาะผลกระทบจาก “สงครามการค้า” ระหว่างสองชาติเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน

ไม่เพียงเท่านั้น ฮ่องกงยังได้รับผลกระทบจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของจีน ค่าเงินหยวนที่อ่อนตัวลงส่งผลให้การใช้จ่ายของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในฮ่องกงปรับลดลง นอกจากนี้ ยังทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดต่ำลงด้วย

และเมื่อเกิดการประท้วงนอกจากจะยังไม่สิ้นสุดแล้ว ยังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น นั่นก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจฮ่องกงเข้าสู่ “ภาวะวิกฤต”

 

โฆษกคณะผู้บริหารฮ่องกงระบุหลังเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจระบุว่า แม้ฮ่องกงจะเริ่มมีแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่ปีก่อนหน้า แต่การตกต่ำลงอย่างทันทีทันใดในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลชัดเจนจากเหตุการณ์ทางสังคมในท้องถิ่น

“แรงกดดันส่วนใหญ่มาจากความวุ่นวายทางการเมือง สงครามการค้าเองจะทำให้จีดีพีเติบโตช้าลง แต่ความวุ่นวายทางการเมืองจะทำให้จีดีพีหดตัวลง” ทอมมี่ อู๋ นักเศรษฐศาสตร์ฮ่องกงที่ทำงานกับ “ออกซ์ฟอร์ดอีโคโนมิกส์” องค์กรระดับโลกซึ่งทำหน้าที่คาดการณ์และทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณสำหรับภาคธุรกิจและภาครัฐระบุ

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนต่างคาดหมายว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ต่อไปตลอดปีนี้ และค่อนข้างแน่นอนว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะมีต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

“การเติบโตของจีดีพีของฮ่องกงจะร่วงลงไปในแดนลบในปี 2019 และ 2020 และผมไม่เห็นว่าการประท้วงในฮ่องกงจะสิ้นสุดลงอย่างไร” ไอริส ปัง นักเศรษฐศาสตร์จาก “เกรเตอร์ไชน่า” ระบุ และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจฮ่องกงจะหดตัวลง 0.1 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และจะเติบโตขึ้นเล็กน้อยที่ 0.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020

นอกจากนี้ ยังคาดด้วยว่าหากการประท้วงต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า จีดีพีก็จะร่วงตามลงไปด้วย

 

การประท้วงฮ่องกงส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน ล่าสุดตัวเลขนักท่องเที่ยวตกลงถึง 37 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสที่ 3 เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า

ตัวเลขเมื่อเดือนสิงหาคมพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤต “โรคซาร์ส” ระบาดเมื่อปี 2003 โดยในเดือนตุลาคม จำนวนนักท่องเที่ยวตกลงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับปี 2019 ที่ผ่านมา

ธุรกิจโรงแรมมีห้องว่างคิดเป็นสัดส่วนถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจหลายๆ แห่งต้องปรับลดชั่วโมงทำงาน และให้พนักงานหยุดงานเพื่อรับมือกับการท่องเที่ยวชะลอตัว

สายการบินอย่าง “คาเธ่ย์แปซิฟิก” รวมถึง “แควนตัส” ของออสเตรเลีย มียอดผู้โดยสารลดลงอย่างมากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยสายการบิน “แควนตัส” อาจต้องสูญเสียรายได้ถึง 25 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

การประท้วงที่รุนแรงลุกลามไปจนถึงการเผาทำลายร้านค้า โดยเฉพาะธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจีนแผ่นดินใหญ่ อย่าง “แบงก์ออกไชน่า” หรือ “เสี่ยวมี่” รวมไปถึงสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ตกเป็นเป้าของกลุ่มผู้ประท้วงสายฮาร์ดคอร์

ส่งผลให้ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกทรุดตัวลง 23 เปอร์เซ็นต์ในเดือนสิงหาคม เป็นการติดลบมากที่สุดในประวัติศาสตร์

 

แน่นอนว่ารัฐบาลฮ่องกงไม่ได้นิ่งเฉย รัฐมนตรีคลังประกาศมาตรการทางเศรษฐกิจในการสนับสนุนภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ของรัฐลงครึ่งหนึ่ง การอุดหนุนเงินให้กับคนขับแท็กซี่และเรือเฟอร์รี่

นอกจากนี้ ยังมีการอัดฉีดเงิน 2,000 ล้านฮ่องกงดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก และผ่านงบฯ อัดฉีดอีก 19,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงเพื่อช่วยคงไว้ซึ่งตำแหน่งงาน และบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินของผู้ได้รับผลกระทบ

แม้สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจจะยังไม่มีจุดสิ้นสุด ตัวเลขเศรษฐกิจยังดิ่งลงเรื่อยๆ แต่ตลาดหลักทรัพย์ฮั่งเส็ง (เอชเอสไอ) ของฮ่องกงยังคงปิดตลาดในแดนบวกที่ 4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ นั่นแสดงให้เห็นว่า “วิกฤตทางการเมือง” ยังไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนมากนัก โดยเฉพาะตลาดไอพีโอ ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา Anheuser-Busch InBev (ABInBev) เจ้าของธุรกิจเบียร์ยักษ์ใหญ่ เปิดไอพีโอเป็นครั้งแรก และสามารถระดมทุนได้ถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นับเป็นการเปิดไอพีโอที่ระดมทุนได้มากที่สุดเป็นอันดับสองในรอบปี เป็นรองเพียงแค่ Uber (UBER) เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การประท้วงยังไม่มีท่าทียุติลง เศรษฐกิจยังคงตกต่ำลงเรื่อยๆ ผลร้ายย่อมตกกับประชาชนชาวฮ่องกงเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้