วิเคราะห์ : ทำไมต้องหยุดเสพติด “ถ่านหิน”

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

การประชุมสุดยอดอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพปีนี้ มองในมิติสิ่งแวดล้อมประเด็นน่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นคำเตือนของเลขาธิการสหประชาชาติ “อันโตนิโอ กูเตอร์เรส” ที่ระบุว่า เมืองต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน มีความเสี่ยงสูงที่จะเจอน้ำทะเลทะลักท่วมเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้

หนึ่งในนั้นคือกรุงเทพมหานครและเมืองชายฝั่งริมอ่าวไทย

“กูเตอร์เรส” มาไทยครั้งนี้ เพื่อร่วมประชุมสุดยอดกับผู้นำกลุ่มอาเซียน และหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ข้อมูลที่นำมาเปิดเผยนั้น เลขาฯ ยูเอ็นอ้างอิงจาก “ไคลเมต เซ็นทรัล” ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกาที่เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน

เดิมที “ไคลเมต เซ็นทรัล” วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการส่งกระสวยอวกาศเอ็นเดฟเวอร์ (Endeavour) เมื่อปี 2543

เวลานั้นยานเอ็นเดฟเวอร์ติดตั้งเครื่องมือส่งสัญญาณเรดาร์ในการสร้างแผนที่ระดับความสูงทั่วโลกแบบ 3 มิติที่เรียกว่า digital elevation model หรือ Coastal DEM เพื่อเก็บข้อมูลพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกเช่นสถิติจำนวนประชากรและพื้นที่คาดการณ์ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง

เมื่อนำผลมาวิเคราะห์ พบว่ามีผู้คนในพื้นที่เอเชียแปซิฟิก 6 ประเทศจะได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลสูงในปี 2593 จำนวน 54 ล้านคน ได้แก่ จีน 29 ล้านคน บังกลาเทศ 5 ล้านคน อินเดีย 5 ล้านคน เวียดนาม 9 ล้านคน อินโดนีเซีย 5 ล้านคน

และไทย 1 ล้านคน

 

ต่อมาผู้บริหารของ “ไคลเมต เซ็นทรัล” นำข้อมูลดังกล่าวมาตรวจสอบอีกครั้งพบว่าการวัดด้วยเครื่องมือ Coastal DEM มีจุดผิดพลาดหลายแห่ง เช่นวัดความสูงที่ยอดไม้ ไม่ใช่ผิวดิน

จึงนำข้อมูลมาปรับปรุงใหม่โดยใช้อุปกรณ์ซึ่งใช้แสงเลเซอร์ส่องผ่านอากาศที่เรียกว่า (Lidar) มีความละเอียดและทันสมัยมากกว่ามาช่วยปรับแก้ข้อมูลที่ได้จาก Coastal DEM ของกระสวยอวกาศ

ผลการวิเคราะห์ครั้งล่าสุด พบว่าผู้คนที่จะเผชิญกับความเสี่ยงน้ำท่วมในอนาคตมีจำนวน 237 ล้านคน มากกว่าข้อมูลเดิม 183 ล้านคน

จำนวนคนที่ได้รับผลกระทบในประเทศต่างๆ มีดังนี้ จีน 93 ล้านคน

บังกลาเทศ 42 ล้านคน

อินเดีย 36 ล้านคน

เวียดนาม 31 ล้านคน

อินโดนีเซีย 23 ล้านคน

ไทย 12 ล้านคน

ข้อมูลชุดใหม่นี้ ใช้สมมุติฐานว่า ชาวโลกยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับปานกลาง

นั่นหมายถึงว่า หากปริมาณก๊าซเรือนกระจกมีมากขึ้น คนที่อยู่ในแนวชายฝั่งย่อมได้รับผลกระทบรุนแรงเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะเมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มสูง น้ำท่วมทะเลร้อนขึ้น แผ่นน้ำแข็งในขั้วโลกละลายเร็วขึ้น ระดับน้ำท่วมสูงขึ้น

 

เลขาฯยูเอ็นจึงออกมาเตือนชาวเอเชียผ่านทางสื่อว่า หยุดเสพติดถ่านหินได้แล้ว

โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินเป็นนโยบายล้าหลัง ส่งผลเลวร้ายต่อโลกโดยรวม

การเลิกใช้ถ่านหินอาจช่วยควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น

ฉะนั้น การก้าวข้ามเพื่อให้พ้นจาก “ถ่านหิน” เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อแก้ไขวิกฤติโลกร้อน

เลขาฯ ยูเอ็นเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ เดินไปข้างหน้าด้วยการใช้ภาษีคาร์บอนและปฏิรูปนโยบายพลังงาน

เสียงเรียกร้องของ “กูเตอร์เรส” จะมีผู้นำอาเซียนคนไหนได้ยินแล้วนำมาปฎิบัติเป็นแนวทางของประเทศหรือเปล่า

ทุกวันนี้รู้ๆ กันอยู่ว่าถ่านหินเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานหลักโดยเฉพาะย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วส่งผลให้เกิดความต้องการพลังงานมากขึ้น

ยิ่งเร่งให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจมากเท่าไหร่ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งมีปัญหามากขึ้นเป็นทวีคูณ

ประมาณ 1 ใน 3 ของพลังงานไฟฟ้าในเวียดนามใช้ถ่านหิน และโรงไฟฟ้าใหม่ๆ อีกหลายแห่งเตรียมเปิดสวิตช์ในปี 2593

ส่วนเมืองไทยการลงทุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง

ในขณะที่พื้นที่ชายฝั่งทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างเผชิญกับภัยน้ำท่วมและการรุกล้ำของน้ำทะเลเนื่องจากภาวะโลกร้อนเพิ่มระดับการคุกคาม

 

บางคนอาจเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องขำๆ แต่ถ้ามีโอกาส อยากให้เปิดอินเตอร์เน็ตแล้วคลิกไปดูคลิปที่มีชื่อว่า Ghana”s coastal erosion : The village buried in sand ของสำนักข่าวบีบีซี

ในคลิป นักข่าวชื่อ “โทมัส นาดิ” รายงานความเป็นไปของหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ Fuveme ประเทศกานา ริมฝั่งทะเลทวีปแอฟริกาตะวันตก เจอกับภัยน้ำทะเลเพิ่มสูง คลื่นซัดถล่มชายหาดที่อยู่ของชาวประมง จนผู้คนต้องทิ้งบ้านเรือนหนีตาย

สภาพของ Fuveme ปัจจุบันเหลือแค่กองทรายถมทับบ้านร้าง

นักข่าวสัมภาษณ์ “แฟรงก์ โคฟิกาห์” ชาวประมงที่เคยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวได้คำตอบว่า ในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้มีผู้คนอยู่กันคึกคักราว 1 พันคน เป็นหมู่บ้านสวยงามน่าอยู่มาก ต้นมะพร้าวเป็นทิวแถว เต่าทะเลคลานต้วมเตี้ยมริมหาด นกนางนวลบินร่อนโฉบหาปลา ในทะเลมีโลมา ปลาฉลามเล่นน้ำผลุบโผล่

“แต่วันนี้ ผลจากโลกร้อน มันทำให้ทุกอย่างพินาศสิ้น พวกเราต่างเดือดร้อน” แฟรงก์บอกนักข่าวบีบีซี

คนกานารู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งที่ทำได้ก็แค่สร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลไม่ให้ซัดถึงชุมชนริมชายฝั่งเท่านั้น

ถ้าคลื่นแรง น้ำทะเลท่วมสูงซัดจนเขื่อนพังเมื่อไหร่ ชื่อหมู่บ้านต่างๆ ริมชายฝั่งกานาต้องโดนลบทิ้งจากแผนที่โลก