จัตวา กลิ่นสุนทร : “สยามรัฐ” ในสายธารการเปลี่ยนแปลง

ฟื้นความหลังนำเรื่องเก่าๆ มาเล่า ด้วยเหตุเพราะเป็นสถานที่ทำงานเดิม คือสำนักงานหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ชีวิตหักเหมากระทั่งทุกวันนี้

สำนักงานอันอยู่ยั้งยืนยงริมถนนสาย “ประวัติศาสตร์” กำลังจะต้องเปลี่ยนแปลง “โยกย้าย” ออกไปพร้อมกับเพื่อนสำนักงานอื่นๆ สู่สถานที่ตั้งแห่งใหม่

ถ้าโลกไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ได้เป็นโลกของอินเตอร์เน็ต การทำข่าว หาข่าว ส่ง(ภาพ)ข่าว การสื่อสาร ค้าขายด้วยระบบออนไลน์ “หนังสือพิมพ์” ยังสามารถเป็นสื่อสำคัญยืนหยัดชี้นำสังคม เฝ้าตรวจสอบจ้องมองการทำงานของผู้อาสาที่เสนอตัวเข้ามาบริหารประเทศ นักการเมือง ตลอดจนผู้ที่สมรู้ร่วมคิดกันเบียดบังอำนาจประชาชนเพื่อเข้ามาแสวงหาประโยชน์

คงจะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย หาก “หนังสือพิมพ์” ซึ่ง(เคย)มีชื่อเสียง ทรงอิทธิพลต่อสังคม จะมีอันเป็นไป ต้องโยกย้ายเปลี่ยนแปลง จนถึงเลิกล้มกิจการกระทั่งต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเอง เรียกว่าประกอบธุรกิจอยู่ไม่ได้อีกต่อไป

แต่สำหรับทุกวันนี้ข่าวคราวเรื่องของหนังสือพิมพ์ที่ต้องขยับปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ด้วยการเดินตามเทคโนโลยีอันทันสมัย ย่อมจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ประกาศปิดตัวกันไปฉบับแล้วฉบับเล่า ไม่เว้นแม้แต่วิทยุ โทรทัศน์ ต้องต่อสู้ปรับปรุงกันอย่างขนานใหญ่ ดิ้นรนช่วงชิงหารายได้จากการโฆษณากันอย่างหนัก ทุกช่อง ทุกสถานี ต่างช่วยกันแบกขนเอาดารามาเสนอขายสินค้าออนไลน์กันทั้งนั้น

 

คนทำหนังสือพิมพ์ก็เช่นเดียวกัน มีความจำเป็นต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เมื่อต้นสังกัดแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปไม่ไหว ที่ยังพอมีกำลังวังชาและความสามารถพิเศษพอโยกย้ายเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นได้ก็รอดตัวไป ที่ต้องมา “ตกงาน” เอาตอนอายุมากๆ ไม่รู้จะทำอะไร ย่อมจะพูดไม่ออกบอกไม่ถูกก็มีจำนวนมาก

หนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน และ ฯลฯ ที่ยังพยายามประคองตัวอยู่กระทั่งทุกวันนี้ ต้องขอคารวะด้วยความจริงใจในอุดมการณ์อันมั่นคงแน่วแน่

ซึ่งหนึ่งในจำนวนหนังสือพิมพ์เหล่านั้นคือหนังสือพิมพ์ค่าย “สยามรัฐ”

ผมเป็น “บรรณาธิการบริหาร” หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 จนถึง พ.ศ.2529 รวมเวลา 10 ปีเต็มพอดี ก่อนได้รับการไว้วางใจให้เป็น “บรรณาธิการ” ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน”

ไม่ต้องบอกกล่าวหรือคุยโวโอ้อวดอะไรกับการเปลี่ยนแปลง นิตยสารรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง จากหนังสือแท็บลอยด์ ไซซ์ขนาดไม่กี่หน้า ราคา 3 บาท ซึ่งร่วงโรยลงไปจนแทบไม่มีใครรู้จัก มาเป็นหนังสือขนาด 4 หน้ายก ปกหน้าเป็นกระดาษอาร์ต พิมพ์สี่สี ระบบออฟเซ็ต ปรับใหม่ทั้งเล่ม เพิ่มราคาหน้าปกเป็น 4 บาทใน พ.ศ.นั้น ไม่ได้เป็นเรื่อง่ายๆ สักเท่าไร ซึ่งต้องยอมรับการตัดสินใจของฝ่ายจัดการที่ยอมลงทุนในการปรับปรุงครั้งนั้นจนกระทั่งยอดพิมพ์เพิ่มขึ้น

ผู้คนในอาชีพสื่อมวลชน สื่อหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ร่วมสมัย (ปี พ.ศ.2520-2534) ยังคงจำกันได้ ทั้งนักเขียนเรื่องสั้น สารคดีจำนวนมากได้กลับมาแจ้งเกิดในสนามแห่งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อกว่า 40 ที่ผ่าน

ใครยังนึกภาพไม่ออก หรือไม่เชื่อ บังเอิญได้มีโอกาสพบกับท่าน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, หัวหน้าพรรค “ประชาธิปัตย์” (คนที่ 8) และ ส.ส.จังหวัดพังงา 6 สมัย ลองถามท่านก็ได้ เชื่อว่าคงยังสามารถจำความหลังเมื่อครั้งที่เคยได้เดินขึ้น-ลงสำนักงานหนังสือพิมพ์ริมถนนราชดำเนินแห่งนี้ทุกๆ สัปดาห์ได้อยู่

เนื่องจากก่อนท่านรองนายกฯ จะเข้าสู่ “การเมือง” เป็นสมาชิกพรรค “ประชาธิปัตย์” กระทั่งพรรคได้ส่งลงสมัคร ส.ส.จังหวัดพังงา สู้กับ ส.ส.เดิม จนกระทั่งชนะ ท่าน(นายหัว) บรม ตันเถียร (เสียชีวิต) พรรคกิจสังคม อดีต ส.ส.ผูกขาดหลายสมัยของจังหวัดพังงา

ท่านจุรินทร์เขียนการ์ตูน (การเมือง) โดยใช้นามปากกาว่า “อู๊ดด้า” อยู่กับ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เป็นเวลาไม่น้อยจนเป็นที่รู้จักของนักอ่านอย่างกว้างขวาง

 

ช่วงการปรับเปลี่ยนเนื้อหารูปเล่ม “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ประเทศเราเพิ่งผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ นิสิต-นักศึกษาถูกเข่นฆ่าล้มตายหายสูญ อีก 18 คนถูกจับกุมคุมขังเพื่อดำเนินคดีในศาลทหาร และปัญญาชนจำนวนมากสิ้นหวังทิ้งเมืองหันหน้าเข้าสู่ป่าเขาในหลายเขตแดนทั่วประเทศ เพื่อจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐ

การ “ยึดอำนาจ” จากรัฐบาลพรรค “ประชาธิปัตย์” ที่เรียกว่าการ “ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” เดือนตุลาคม พ.ศ.2519 แม้จะมี “ทหาร” (ในคณะรัฐมนตรีขณะนั้น) เป็นหัวหน้าคณะ แต่เมื่อตั้งรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ กลับมี “นายกรัฐมนตรี” และ “คณะรัฐมนตรี” เป็นพลเรือนเกือบทั้งคณะ

โดยอดีตคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ (สยามรัฐ) ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ไม่ต้องการเอ่ยชื่อเพราะหลายท่านเสียชีวิตแล้ว) แต่ได้มีการควบคุมหนังสือพิมพ์ ประกาศปิดหนังสือพิมพ์ โดยคำสั่ง “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ฉบับที่ 42 (ปร.42)

หนังสือพิมพ์ค่ายริมถนนราชดำเนินไม่ได้เห็นเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไรกับคำสั่งดังกล่าว ซึ่งคิดว่าไม่น่าแตกต่างกับสื่อมวลชนอื่นๆ ซึ่งยังคงทำหน้าที่ของวิพากษ์วิจารณ์ เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา เพราะมิใช่ไม่เคยเห็นบ้านเมืองต้องอยู่ในสภาพบรรยากาศอย่างนี้

แต่หนังสือพิมพ์เก่าแก่(ค่ายสยามรัฐ)ฉบับนี้ได้ตีพิมพ์ออกจำหน่ายระหว่างมีการประกาศ คำสั่ง “คณะปฏิวัติ “ฉบับที่ 17 (ปว.17) สมัย “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” เรืองอำนาจมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ทำการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนจนกระทั่งถึงรัฐบาลซึ่ง (น้าชาติ) “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” เป็น “นายกรัฐมนตรี” มาจากการเลือกตั้ง เห็นดีด้วย จึงได้ออกพระราชกำหนดยกเลิก “คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 (ปร.42) เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2533

 

กองบรรณาธิการ “สยามรัฐ” ทำงานภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่ตั้งเป้าหมายว่าจะพัฒนา “ประชาธิปไตย” อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยตั้งเวลาไว้เกินกว่า 10 ปี แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลชุดดังกล่าวยังไม่ทันจะตื่นจากความฝันนี้ก็เกิดการ “ยึดอำนาจ” เปลี่ยนเป็น “รัฐบาลทหาร” อีกครั้ง

โดย “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” (เสียชีวิต) (จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พ.ศ.2483) ได้ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 15) โดยนายทหารที่คุมกำลังส่วนใหญ่ของกองทัพที่เรียกว่ากลุ่ม “ยังเติร์ก” ให้การสนับสนุน

รัฐบาลบริหารงานดำเนินไปท่ามกลาง “ประชาธิปไตย” แบบไทยๆ พร้อมกับความแปรปรวนของ “เศรษฐกิจ” โลก รวมทั้งภาวการณ์การขาดแคลน “น้ำมัน” ราคาผันผวน เสถียรภาพรัฐบาลจึงไม่มั่นคง ท่ามกลางฝ่ายค้านที่เข้มแข็งอย่างพรรค “กิจสังคม” และ ฯลฯ ซึ่งท่านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังนั่งอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค และมีคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐคอยวิพากษ์วิจารณ์โจมตี รัฐบาลจึงเอนเอียงแทบจะไปไม่เป็น?

นายกรัฐมนตรีพยายามบริหารงานบ้านเมืองอย่างสุดความสามารถ พร้อมการสนับสนุนของทหาร แต่ “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” ซึ่งมีฉายาว่า “อินทรีบางเขน” (ท่านมีบ้านพักอยู่บางเขน) พานาวารัฐบาลฝ่าคลื่นลมต่อไปไม่ไหวต้อง “ลาออก” กลางสภา ท่านอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 2 ปี 4 เดือน

 

“การเมือง” ประเทศของเราเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” (เสียชีวิต) ได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 16) พร้อมการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทั้งสถาบันต่างๆ “กองทัพ” และ “พรรคการเมือง” เมื่อปี พ.ศ.2523

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน, รายสัปดาห์” ของค่ายราชดำเนินปรับปรุงกองบรรณาธิการ โดยฝ่ายจัดการได้นำ “บทประพันธ์” ของท่าน “หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากจัดพิมพ์ซ้ำ ออกจำหน่าย

กองบรรณาธิการทำหน้าที่สื่อกันด้วยความหวัง อยู่กับ “รัฐบาลเปรม” อีก 8 ปีเศษ (2523-2531)