มุกดา สุวรรณชาติ : ถึงเวลากระจายอำนาจ เลือกผู้ว่าฯ กทม. ทำได้ทันที

มุกดา สุวรรณชาติ

อุปสรรคและเวทีการต่อสู้อยู่ข้างหน้าทั้งสิ้น

ถึงยุคปัจจุบัน อุปสรรคที่ขวางอยู่ตรงหน้าของระบอบประชาธิปไตย กลับเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและระบบยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม

ดังนั้น ฝ่ายเผด็จการอาจไม่จำเป็นต้องเอากำลังอาวุธมาทำการรัฐประหารโดยตรงก็สามารถใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจัดการให้ฝ่ายตรงข้ามต้องยุติบทบาททางการเมือง

ในการต่อสู้ที่ซับซ้อน ฝ่ายประชาธิปไตยต้องทันเกม ต้องไม่ยอมให้องค์กรการต่อสู้ที่ประชาชนมีศรัทธาสลายไปได้ง่ายๆ

ดังนั้น จะต้องรักษาอุดมการณ์ประชาธิปไตยไว้ รักษาคนส่วนใหญ่ไว้ให้ได้ มุ่งแก้ไขอุปสรรคที่เป็นยุทธศาสตร์

ต้องมองหาเวทีการต่อสู้ที่เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ ร่วมสร้างชัยชนะให้เป็นกำลังใจ สร้างความตื่นตัวให้ประชาชน หรือให้มีผลกับการปูรากฐานประชาธิปไตย

คนที่เป็นผู้นำการต่อสู้ ต้องคิดว่าเราไม่ใช่ผู้นําเชิงสัญลักษณ์ แต่จะต้องมีวิธีทำให้การต่อสู้ประสบความสำเร็จ

การขึ้นภูเขาสูงไม่มีเส้นทางที่พุ่งตรงขึ้นไป ส่วนใหญ่แล้วเป็นเส้นทางคดเคี้ยว วกวนขึ้นๆ ลงๆ ในขณะเดินบนเส้นทางนี้เราจะพบเห็นชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของประชาชน ว่าหนักแค่ไหน นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมคนต้องอยู่ องค์กรต้องอยู่ และร่วมมือกันต่อสู้เพื่อให้ประสบความสำเร็จ

 

การเลือกตั้งท้องถิ่น
คือยุทธศาสตร์ของทุกฝ่าย
เลือกผู้ว่าฯ กทม. ทำได้ทันที

เมื่อเดือนเมษายน 2562 พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับได้ประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว นับตั้งแต่การมีรัฐประหาร 2557 ก็ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น จนถึงบัดนี้เป็นเวลา 5 ปี

แต่ขณะนี้สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป มีรัฐธรรมนูญ 2560 คสช.ก็ต้องยอมให้มีการเลือกตั้งหลังจากยื้ออยู่นาน การเลือกตั้งทั่วไปได้เรียบร้อยลงในเดือนมีนาคม และบัดนี้ก็มีการตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งถือว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ในเมื่อการเลือกตั้งระดับประเทศเรียบร้อยแล้ว การเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งเป็นรากฐานประชาธิปไตยที่ลงถึงประชาชนในทุกระดับ เพื่อส่งเสริมการกระจายอำนาจซึ่งเป็นเป้าหมายของการปฏิรูปประชาธิปไตยที่สำคัญ สมควรรีบดำเนินการโดยเร็ว เพราะเหตุที่ว่างเว้นมานานแล้ว

ปัจจุบันการปกครองระดับท้องถิ่น มีจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น 7,852 แห่ง แยกประเภทได้ดังนี้

– องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง

– เทศบาล 2,442 แห่ง

– เทศบาลนคร 30 แห่ง

– เทศบาลเมือง 179 แห่ง

– เทศบาลตำบล 2,234 แห่ง

– องค์การบริหารส่วนตำบล 5,331 แห่ง

– องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา)

ในจำนวนทั้งหมดที่กล่าวมา การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.น่าจะเริ่มได้ก่อน เพราะนี่คือเมืองหลวง เป็นเขตปกครองใหญ่ที่สุด เป็นการบริหารท้องถิ่นซึ่งผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะมีถึง 4.5 ล้านคน

และผู้บริหารปัจจุบันก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มาจากการแต่งตั้ง คสช.ซึ่งก็อยู่มาย่างเข้าปีที่ 4 แล้ว

 

การบริหารกรุงเทพมหานคร
อยู่ในมือ ปชป. 12 ปี
ภายใต้การแต่งตั้ง
และควบคุมของ คสช.อีก 3 ปีกว่า

ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่งผู้ว่าฯ สองคนมาบริหาร กทม. นับแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2547 ที่ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ชนะเลือกตั้งครั้งแรก และลงแข่งอีกครั้งในปี 2551 ขณะที่เกิดเหตุการณ์ยึดทำเนียบ ปลดนายกฯ สมัคร สุนทรเวช แต่เมื่อชนะกลับอยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องลาออกในเดือนพฤศจิกายน 2551 เพราะ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีรถดับเพลิง รวมเวลาที่บริหาร กทม. 5 ปีเศษ

ช่วงนั้นการเมืองใหญ่กำลังวุ่นวาย มีการยึดสนามบิน ปลดนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยุบพรรคพลังประชาชน เปลี่ยนขั้วรัฐบาล ตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร ได้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ เมื่อธันวาคม 2551 หลังจากเป็นรัฐบาลไม่นาน ก็มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในเดือนมกราคม 2552 และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ปชป.จึงได้บริหาร กทม.อย่างต่อเนื่องอีก 4 ปี จนครบวาระช่วงปี 2552-2556

ระหว่างการดำรงตำแหน่ง แม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ในปัญหาการบริหารงาน ไม่ว่าจะเรื่องติดกล้องวงจรปิด CCTV ครบ 2 หมื่นตัว และทำงานได้จริงหรือไม่ การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ หรือการก่อสร้างสนามฟุตบอลบางกอกอารีน่าที่ล่าช้า

แต่คนส่วนหนึ่งมองว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ จึงอยู่ครบวาระ

มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ผลคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งคุณชายสุขุมพันธุ์ได้เป็นผู้ว่าฯ ด้วยคะแนน 1,256,349 ส่วน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ตามมาด้วยคะแนน 1,077,899 ทั้งสองคนทำลายสถิติการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่นายสมัคร สุนทรเวช เคยได้คะแนนสูงสุดเมื่อปี 2543 ครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิสูงถึง 64% ประมาณ 2.7 ล้านคน

สมัยที่ 2 ระหว่างปี 2556-2560 แค่เริ่มต้นมาก็เจอ กกต.ให้ใบเหลืองกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากกรณีที่ผู้สนับสนุนปราศรัยใส่ร้ายคู่แข่งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.สมัยสอง ทำให้ต้องพักการปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 5 เดือน ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะยกคำร้องเมื่อไม่ปรากฏว่ามีความผิด

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้เผชิญกับวิกฤตในเรื่องทั่วไป คือกรณีที่มีฝนตกลงมาแล้ว กทม.ระบายน้ำไม่ทัน ทำให้เกิดปัญหารถติด ทั้งที่อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ก็เพิ่งสร้างเสร็จ แต่ผู้ว่าฯ กทม.หลุดปากว่า “เราเป็นเมืองน้ำ เราเป็นเมืองฝน ไม่มีจุดเสี่ยงเลยเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่อยากให้มีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ให้ไปอยู่บนดอยครับ” ต่อมาเกิดการแตกแยกระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กับ ปชป. หลังจากนั้นผู้ว่าฯ กทม.ก็ถูกตรวจสอบอย่างหนักหน่วง ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558 เป็นต้นมา ทั้งจากประชาชนทั่วไป องค์กรอิสระอย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสมาชิก ปชป.

18 ตุลาคม 2559 คสช.ใช้มาตรา 44 ปลดสุขุมพันธุ์จากผู้ว่าฯ กทม. และตั้ง พล.ต.อ อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ แทน นับถึงตอนนี้ เป็นผู้ว่าฯ แต่งตั้งเกิน 3 ปีแล้ว

 

ใครจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.

ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไม่มีกฎบังคับให้ต้องลงในนามพรรคการเมือง ดังนั้น จึงอาจจะมีผู้สมัครอิสระลงแข่งจำนวนมาก แต่ในความเป็นไปได้ของสถานการณ์ปัจจุบันจะต้องมีพรรคการเมืองสนับสนุนพรรคเดียวหรือหลายพรรค สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะมาถึง (เมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้) ตอนนี้มีบุคคลที่น่าสนใจ 2 คน

1. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน แม้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ไม่ได้ประกาศตัวว่าจะลง แต่เนื่องจาก คสช.แต่งตั้งมาทำงานถึง 3 ปีแล้วพอมีประสบการณ์สามารถสานต่องานได้อีกครั้ง

และพรรคพลังประชารัฐก็ยังไม่มีตัวลงที่แน่นอน ถ้าหากตกลงกันได้ ก็จะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวคนหนึ่ง การลงแบบอิสระที่พลังประชารัฐรับรอง แม้บอกว่าเป็นอิสระแต่ก็มีฐานเสียงจำนวนหนึ่ง คะแนนของพลังประชารัฐใน กทม.ครั้งที่ผ่านมา 24 มีนาคม 2562 เกือบ 80,0000 คะแนน ถ้าบวกการจัดการในเขตพื้นที่ก็น่ากลัว

แต่ถ้ามีจุดอ่อน จุดตาย ที่ทำไว้ ก็คงชนะยาก

2. คนที่ประกาศตัวว่าจะลงอิสระและเป็นข่าวดัง คืออดีตรัฐมนตรีว่าการคมนาคม ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดูจากความรู้ ปริญญาตรี โท เอก วิศวกรรม และความแน่วแน่ตั้งใจ ทำให้มีคนเริ่มเชียร์กันพอสมควร แต่ก็ต้องการแรงสนับสนุนจากพรรคต่างๆ เช่นกัน โอกาสของชัชชาติขึ้นอยู่กับว่าต้องมีพรรคฝ่ายค้านพรรคใดพรรคหนึ่ง ไม่เพื่อไทยก็ต้องอนาคตใหม่สนับสนุน

การสนับสนุนเพียงแค่ไม่ส่งลงแข่งตัดคะแนนกันเองก็ถือว่าใช้ได้

แต่เนื่องจากพื้นที่ กทม.เป็นเขตกว้างมาก มี ส.ส.ถึง 30 คน และยังมีผู้ต้องการสมัครเป็น ส.ก.ทุกเขตถึง 50 เขต ดังนั้น จึงมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในทางการเมือง ที่มิใช่จะตกลงกันได้ง่ายๆ เพราะพรรคการเมืองก็อยากมี ส.ก.ไว้เป็นฐานเสียงทุกพรรค

ในอดีตการลงสมัครอิสระมีคู่แข่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่ๆ คนที่สามารถทำคะแนนสูงๆ เช่น ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้ 3 แสนกว่าทั้ง 2 ครั้ง หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล (หม่อมปลื้ม) ก็ได้ 3 แสนกว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เมื่อลงครั้งแรกได้ 400,000 ดังนั้น ถ้าชัชชาติจะใช้กระแสสร้างคะแนนส่วนบุคคลขึ้นมา ก็จะได้ประมาณ 400,000 ซึ่งยังไม่มีโอกาสชนะ การต้องพึ่งพาฐานเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็น จะตกลงกันได้หรือไม่ อย่างไร

เพราะแม้แต่พรรคเพื่อไทยที่ตัวเองเคยสังกัด ก็ยังอยากจะส่งแข่ง พรรคอนาคตใหม่ก็เช่นกัน

 

รูปแบบการแข่งขัน

แม้การเลือกตั้งยังไม่ถูกกำหนด แต่รูปแบบของการแข่งขันน่าจะพอแบ่งได้คร่าวๆ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 พรรคใหญ่ส่งลงทุกพรรค ทั้งเพื่อไทย อนาคตใหม่ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ถ้าเป็นแบบนี้ โอกาสชนะของผู้สมัครอิสระ ทั้งอัศวินหรือชัชชาติก็มีน้อยและยังไม่แน่ว่าพรรคไหนจะชนะ

ลองดูตัวอย่าง พ.ศ.2543 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 58.87

ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจำนวน 23 คน โดยผู้สมัครแต่ละรายได้รับคะแนนเสียงเรียงจากมากไปน้อย (ตารางที่ 1)

สถานการณ์สมัยนั้น การเมืองยังไม่แบ่งข้าง แต่คะแนนของผู้สมัครมาจากส่วนตัวเป็นหลัก แต่สถานการณ์ปัจจุบัน คะแนนอาจกระจายออกไป 4 พรรคใหญ่ แต่ละพรรคจะได้สูงกว่าปี 2543 เยอะ ผู้ชนะอาจได้ไม่ถึง 900,000 คะแนน

รูปแบบที่ 2 เกิดการแบ่งข้างเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน เช่น ฝ่ายค้านไม่ส่ง แต่หนุนชัชชาติ ฝ่ายรัฐบาลก็ส่งคนเดียว ทำให้ผู้สมัครอื่นๆ เป็นตัวประกอบ คะแนนจะแบ่งออกมาเหมือนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2556 เป็นไปได้ว่าผู้ชนะจะต้องได้คะแนนเสียงเกินกว่าหนึ่งล้านสองแสน รูปแบบนี้ ถ้าฝ่ายหนึ่งรวมกันได้ อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรวมกัน ฝ่ายที่รวมได้ชนะแน่นอน

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2556 มีลักษณะแบ่งข้าง มีผู้ใช้สิทธิ์ 64% (ตารางที่ 2)

ดูจากคะแนนที่ 1 และที่ 2 คะแนนรวมกันเกือบ 90%

เมื่อเลือกข้าง ก็ไม่ดูผลงานและนโยบาย

สภาพการหาเสียงเลือกตั้ง ในครั้งนั้น แม้เป็นการเมืองท้องถิ่นกลับคล้ายการเลือกตั้งในการเมืองใหญ่ คือมีการแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน ไม่เหมือนในอดีตที่ประชาชนไปลงคะแนนให้ผู้สมัครอิสระหลายคน ทำให้คะแนนกระจายไปยังผู้สมัครคนรองๆ รวมกัน 5-7 แสนคะแนน บางครั้งรวมแล้วเกือบ 1 ล้านคะแนน

แต่ครั้งนี้ ผู้สมัครจาก ปชป.และเพื่อไทยสองคนทำคะแนนรวมกันเกินกว่า 2.3 ล้าน คิดเป็น 89% ผู้สมัครอื่นๆ อีก 23 คน ได้คะแนนรวมกันไม่ถึง 11% ผู้ที่ได้ที่ 3 ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวแปร เพราะได้ประมาณ 6% เท่านั้น

รูปแบบที่ 3 พรรคเพื่อไทยไม่ส่งแข่ง แต่พรรคอนาคตใหม่ส่ง ปชป.ส่ง พปชร.ก็ส่ง รูปแบบนี้ ชัชชาติก็มีโอกาสชนะ ถ้าอัศวินลงให้ พปชร.หนุน ก็มีโอกาสเช่นกัน แต่ก็ไม่ง่าย ขึ้นอยู่กับตัวคู่แข่งว่าดีเด่นขนาดไหน และช่วงการหาเสียงว่าใครทำให้คน กทม.เชื่อถือได้มากกว่ากัน

รูปแบบที่พรรคใหญ่ 3 พรรคขึ้นไปส่งคนแข่ง หรือเลือกหนุนผู้สมัครอิสระ ทำให้คะแนนแตกเป็น 4 ส่วน ยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดขึ้น ผู้ชนะน่าจะต้องมีคะแนนประมาณ 900,000

สถานการณ์จะชัดเจนขึ้นในอีกเดือนกว่าๆ สภาพเศรษฐกิจแบบนี้ยิ่งนานไปไม่มีผลดีกับรัฐบาล การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบอาจเป็นทางออกทางหนึ่ง นอกจากนั้น ถ้ามีการเลือกทั้ง อบต., อบจ. และเทศบาล อาจกระจายความสนใจของประชาชน ทั้งยังจะมีการกระจายรายได้ครั้งใหญ่ในระดับทั่วประเทศ

แรงกดดันที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้รับในวันนี้ ถ้าเทียบกับปี 2549-2553 ยังน้อยกว่ามาก เพราะไม่ได้เป็นรัฐบาลที่เป็นเป้าการโค่นล้ม ที่โดนทุกลูก ทุกดอก ครั้งนั้นแม้บาดเจ็บแต่ก็ผ่านมาได้ สู้ต่อได้

แต่คราวนี้การเคลื่อนไหวคล่องตัวกว่า ไม่ต้องตั้งรับอย่างเดียว เลือกเดินเกมให้ดี ไม่มีแพ้